Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รัฐใดบ้างที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายโรเจอร์ ซึ่งเกิดในไทยเมื่อ ๒๕๓๑ จากบิดาสัญชาติอเมริกันและมารดาสัญชาติไทย


กรณีศึกษานายโรเจอร์แห่งเทศบาลคูคต อำเภอลำลูกกา

: จุดเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐอธิปไตยและมนุษย์ที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาที่ยังไม่อาจได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย จึงถูกถือเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

งานเพื่อการวัดผลการศึกษาวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐

เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=1...

--------------

ข้อเท็จจริง

--------------

นายโรเจอร์เกิดเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑ ณ โรงพยาบาลรังสิต หมู่ ๘ ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ประเทศไทย จากนางสมเพียร คนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และนายโทมัส โจเซฟ คนสัญชาติอเมริกันในทะเบียนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งบุพการีทั้งสองของนายโรเจอร์จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย ณ สำนักทะเบียนอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๐

นายโรเจอร์ได้รับการแจ้งการเกิดตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรต่อสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลคูคต ดังปรากฏตามสูติบัตร ประเภท ทร.๓ ออกโดย สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลคูคต ขอให้สังเกตว่า สูติบัตรนี้ระบุว่า ดช.โรเจอร์ไม่ได้สัญชาติไทย

นอกจากนั้น นายโรเจอร์ยังได้รับการแจ้งการเกิดตามกฎหมายอเมริกัน ดังปรากฏตาม Certification of Birth Abroad of a Citizen of the United States of America ออกโดย Foreign Service of the United States of America, Department of State เพื่อนายโรเจอร์ ในชื่อ "Rungrot O’Connell" เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑

ต่อมา นายโรเจอร์ถูกบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในสถานะคนที่ไม่ได้สัญชาติไทย โดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลคูคต เอกสารนี้ระบุว่า นายโรเจอร์มีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วย ๗ เอกสารนี้ระบุข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับสูติบัตรที่ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลคูคตข้างต้น

จนถึงปัจจุบัน นายโรเจอร์ยังไม่ได้ถือบัตรประชาชนซึ่งแสดงสิทธิในสัญชาติไทย

---------

คำถาม

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล รัฐใดบ้างที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ของนายโรเจอร์ ? เพราะเหตุใด ?

----------------

แนวคำตอบ

-----------------

ประเด็นของเรื่อง เป็นคำถามเพื่อให้กำหนดตัวรัฐเจ้าของตัวบุคคลของมนุษย์/บุคคลธรรมดา ซึ่ง ก็คือ เป็นเรื่องของการพิจารณาสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลตามกฎหมายเอกชน เราจึงต้องมาพิจารณาว่า รัฐอธิปไตยใดที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับบุคคลธรรมดาตามข้อเท็จจริงอันเป็นโจทย์ อันทำให้มีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของบุคคลธรรมดาดังกล่าว

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ข้อเท็จจริงที่ทำให้รัฐอธิปไตยหนึ่งมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล” ของบุคคลธรรมดาคนใด ย่อมเกิดจากสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลธรรมดานั้นใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ความเป็นคนที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐนั้น และ (๒) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐนั้น และ (๓) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐนั้น

เมื่อเราพิจารณาข้อเท็จจริงของนายโรเจอร์ตามข้อเท็จจริงที่ให้มา เราก็อาจสรุปได้เป็น ๓ ข้อวิเคราะห์ กล่าวคือ

ในประการแรก เราอาจสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ตามข้อเท็จจริง สหรัฐอมริกามีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของนายโรเจอร์ เพราะเขาได้รับการรับรองในทะเบียนราษฎรของสหรัฐอเมริกาในสถานะคนสัญชาติอเมริกัน ดังจะเห็นว่า นายโรเจอร์จึงถือเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติอเมริกันที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน กล่าวคือ หนังสือเดินทางเพื่อแสดงตนเป็นคนสัญชาติอเมริกัน จะเห็นว่า สัมพันธภาพระหว่างสหรัฐอเมริกาและนายโรเจอร์เป็นไปโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา และเป็นสัมพันธภาพโดยการเกิด อีกทั้งยังนำไปสู่การรับรองสถานะคนสัญชาติอเมริกันให้แก่นายโรเจอร์ทั้งที่เขามีมารดาสัญชาติไทยและเกิดในประเทศไทย ขอให้ตระหนักว่า รัฐอเมริกัน โดยสถานกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทย ได้แสดงตนเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติ และรัฐเจ้าของภูมิลำเนาทางทะเบียนราษฎร กล่าวคือ ภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชน ให้แก่นายโรเจอร์มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ อันเป็นปีที่เขาเกิด แต่รัฐอเมริกันคงมิใช่รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของนายโรเจอร์ ด้วยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เขาได้อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาจึงเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติและรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนเท่านั้น

นอกจากนั้น เราตั้งข้อสังเกตได้เลยว่า ประเทศไทยย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับนายโรเจอร์ทั้งโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาและโดยหลักดินแดน ซึ่งทั้งสองจุดเกาะเกี่ยวนี้ย่อมนำมาซึ่งสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดแก่นายโรเจอร์ เพียงแต่สถานะความเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของรัฐไทยยังไม่ปรากฏขึ้นให้จับต้องได้ เพราะการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยให้แก่นานโรเจอร์ยังไม่เกิด แต่ในอนาคตที่การรับรองนี้เกิดขึ้น รัฐไทยก็จะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลประเภทรัฐเจ้าของสัญชาติของนายโรเจอร์ทันที

ในประการที่สอง สำหรับประเทศไทยนั้น ประเทศนี้ก็แสดงตนเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายโรเจอร์ เพียงแต่ รัฐไทยยอมแสดงตนเป็นเพียงรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชน แม้ว่า รัฐไทยจะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของมารดาของนายโรเจอร์ อันทำให้โรเจอร์น่าจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา และรัฐไทยก็มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นถิ่นที่เกิดของนายโรเจอร์ แต่สำนักทะเบียนอำเภอลำลูกกา ก็กลับบันทึกรายการสถานะบุคคลของเขาเป็น “คนต่างสัญชาติอเมริกัน” เขาจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยทะเบียนราษฎร เราจึงพบว่า รัฐไทยจึงแสดงตนเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของนายโรเจอร์เท่านั้น กรมการปกครองไทยจึงออกเอกสารตามกฎหมายนี้เพื่อแสดงว่า เขาเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทยเท่านั้นเอง จะเห็นว่า สัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยและนายโรเจอร์เป็นไปทั้งโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาและโดยหลักดินแดน และเป็นสัมพันธภาพโดยการเกิดเช่นกัน แต่เมื่อพิจารณาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่สำนักทะเบียนลำลูกกาทำเพื่อนายโรเจอร์นั้น เขาได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรเป็น “ราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว” เท่านั้นเอง

ในประการที่สาม ปรากฏชัดเจนว่า รัฐไทยได้เข้ามาเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของนายโรเจอร์ตั้งแต่เกิด กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑ จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เพราะเขาอาศัยอยู่กับบิดาและมารดาในประเทศไทยมาตั้งแต่เกิด โดยหลักกฎหมายภูมิลำเนาสากล บุตรผู้เยาว์ย่อมมีภูมิลำเนาตามบุพการีซึ่งใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ ในวัยเยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โรเจอร์ย่อมมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชน ณ ถิ่นที่บิดาและมารดามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนอยู่ร่วมกัน และเมื่อเขาบรรลุนิติภาวะใน พ.ศ.๒๕๕๑ เราก็ฟังได้ว่า นายโรเจอร์มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐไทย มิใช่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นใดบนโลก รัฐไทยในวันนี้ จึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของนายโรเจอร์ นอกจากจะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลด้วยเหตุที่เป็นรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของนายโรเจอร์ อีกด้วย

โดยสรุป จึงมี ๒ รัฐบนโลกนี้ที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายโรเจอร์ กล่าวคือ รัฐไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้ง (๑) รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของนายโรเจอร์ และ (๒) รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของนายโรเจอร์ ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น ก็ทำหน้าที่รัฐเจ้าของสัญชาติของนายโรเจอร์

หากในอนาคต จะมีการขอการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาและโดยหลักดินแดนของนายโรเจอร์ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทยอีกด้วย ในทันทีที่สำนักทะเบียนของรัฐไทยรับรองสถานะคนสัญชาติไทยให้แก่นายโรเจอร์ รัฐไทยก็จะมีสถานะรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายโรเจอร์ ประเภทรัฐเจ้าของสัญชาติอีกด้วย โดยผลของการรับรองดังกล่าว นายโรเจอร์ก็จะมีสถานะเป็นมนุษย์/บุคคลธรรมดา/บุคคลตามธรรมชาติ ซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงโดยการเกิดกับ ๒ รัฐอธิปไตยพร้อมๆ กัน อันจะทำให้รัฐทั้งสองมีโอกาส “ร่วมกัน” ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองนายโรเจอร์ในสถานะคนสองสัญชาติ กล่าวคือ อเมริกันและไทย ขอให้เราตระหนักว่า บรรยากาศฉันท์มิตรของประชาคมระหว่างประเทศ ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาย่อมเป็นโอกาสที่ทั้งสองรัฐจะร่วมกันดูแลนายโรเจอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่า กรณีจะเป็นเช่นใด นายโรเจอร์ก็คือ “พลเมืองโลก (World Citizen) ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศสมัยใหม่” อย่างปฏิเสธมิได้ จึงเป็นเสรีภาพของเขาที่จะเข้าใช้สิทธิในสถานะคนสัญชาติไทยหรือไม่

--------------

หมายเหตุ

---------------

ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เทศบาลอำเภอคูคตได้รับรองสถานะคนสัญชาติไทยโดยการเกิดให้แก่นายโรเจอร์ในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ พร้อมทั้งใช้ พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ เพื่อออกบัตรประชาชนเพื่อให้นายโรเจอร์ใช้แสดงตนเป็นคนสัญชาติไทย

หมายเลขบันทึก: 629474เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2017 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2017 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท