(๓) สร้างเสริมเด็กปฐมวัย ๓ ดี : สูงดี ฟันดี พัฒนาการดี


ช่วงเช้าวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ ผู้เข้าประชุมได้ทำความรู้จักกัน แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แบ่งปันความสุขจากการทำงาน

ดอกไม้ ผึ้ง ต้นยางนา นก ได้ผสมผสานเกสรทางความคิด หลอมรวมระดมจิตใจที่เต็มไปด้วยความสุขเบิกบานใจ

หลังทบทวนความสุขส่วนตน ความสุขของกลุ่ม เสริมสร้างพลังความสุขให้ทั้งห้องประชุมบรรยากาศสว่างไสว

เต็มไปด้วยความอบอุ่นของความเป็นพี่เป็นน้อง บางกลุ่มมีแม่-ลูกด้วย จับไม้จูงมือต่อเนื่องไปเพิ่มสัมพันธภาพกันที่โต๊ะอาหาร

กลับมา .... เกรงว่าท้องจะตึงเกินไป เดินเบา ๆ รอบห้องประชุม จะได้ไม่ง่วง

ยกเว้นวิทยากรขาเดิน ที่เป้าหมายยังไม่ใกล้ ๑๐,๐๐๐ ก้าว เป็นโอกาสที่จะเพิ่มการขยับร่างกาย จ้ำเอา ๆ ^_,^


จากกลุ่ม ๔ คนเดิม หาเพิ่มอีก ๒ รวมเป็น ๖ คน คละรู้จักเก่าเติมผสมผู้มาใหม่ คล้าย ๆ ชีวิตจริงในการสร้างเครือข่าย

บรรยากาศเดิมอบอุ่นดี มีจุดร่วมเรื่องที่จะพูดคุย วงสนทนาจึงเฮฮาเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

ธรรมชาติของกลุ่มจะคัดเลือกบอกกันได้เองว่า ใครควรเป็นเจ้าบ้านอยู่ประจำ ๑ คน

หมดเวลารอบแรก สมาชิก ๕ คนที่เหลือ โบยบินแยกกันไป Shopping ความรู้จากกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ซ้ำกัน

พอเจ้าบ้านเล่าสรุปความเรื่องที่สมาชิกกลุ่มพูดคุยรอบแรก .... ประสบการณ์ของ "ฉัน" เกี่ยวกับทำงานแบบบูรณาการ งานส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย "สูงสมส่วน ฟันไม่ผุ พัฒนาการสมวัยในชุมชน"

จากนั้น สมาชิกใหม่ที่มารวมกลุ่มรอบ ๒ ฟังเจ้าบ้านจบแล้ว จะเปลี่ยนเป็นผู้เล่าบ้างว่า กลุ่มเดิมของตัวเองเพื่อน ๆ ในกลุ่มเล่าประสบการณ์อะไรให้ฟังบ้าง

แบ่งปันเวลากันในกลุ่ม ให้ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข

^_,^

มาดูกันนะคะ บรรยากาศกลุ่มสุขี สาระจะมากมีเข้มข้นเพียงใด

กลุ่ม We are together

• ยะลา (ศูนย์อนามัยที่ ๑๒ ยะลา) รับผิดชอบ cluster แม่และเด็ก พี่เริงฤทัยเป็นเจ้าบ้าน

• องค์ประกอบหลากหลาย

• ส่วนใหญ่ เป็นนักวิชาการการบูรณาการค่อนข้างยาก (ไปด้วยกันยาก) จึงเริ่มต้นที่ตนเอง เรียนรู้เรื่องอื่นๆ เช่น DSPM เรื่องฟัน เพื่อให้การทำงานพื้นที่ เช่น สอนแล้วได้รับการยอมรับ ๓ in ๑

• ผดด. (ผู้ดูแลเด็ก) ทำงานเก็บข้อมูลให้ รพ.สต. ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ลงกราฟ โดย รพ.สต.มาสอนครู ครูช่วยน้อง รพ.สต. (ช่วยกันทำงาน)

• ผู้นำชุมชนมีส่วนร่วมในการบูรณาการ ผู้นำก่อนจะมีส่วน เราเก็บข้อมูลความรู้คืนให้เขา ว่าชุมชนมีปัญหาอะไร เห็นปัญหา เช่น ฟันผุ อ้วน เตี้ย เท่าไหร่ และแก้ปัญหากับชุมชน ชุมชนจะสนับสนุนทรัพยากร เรื่อง เงิน คน ของ

• สร้างภาคีด้านบูรณาการเป็นสิ่งสำคัญ (สาธารณสุข ทุกส่วน) ครู ผดด. ชั้นประถม อปท. และ พม.(สร้างอาชีพให้แม่และเด็กที่มีปัญหา) ชุมชน อสม. ผู้ปกครอง ผู้นำศาสนา มาวางแผนร่วมกัน

• คืนข้อมูลเวลาปฐมนิเทศ ครูทำเรื่องปฐมนิเทศปีละ ๑ ครั้ง ก็เชิญ หมอ ไปสอน เป็นการบูรณาการ

• มีวิธีการบูรณาการในการทำงาน ไม่ใช่ทำครั้งเดียว

• ศพด.อ่อนหวาน มีการทำงานอาหาร ให้นักโภชนากรมาทำอาหารให้เด็กชิม (มีส่วนร่วม)

• รพช. (โรงพยาบาลชุมชน) มีกิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่ บูรณาการทุกส่วน (ตั้งแต่ฝากท้อง one stop service) ที่ ศพด. ก็มี รร.พ่อแม่

• การออกกำลังกายใน ศพด.

• ครูของ ศพด. จัดการเรียนรู้ ฟัน โภชนาการ พัฒนาการ ให้กับผู้ปกครอง

• ต้องวางแผนร่วมกัน แต่ก่อนวางแผนจะไปด้วยกันแต่ไปไม่ได้ เพราะว่างไม่พร้อมกัน จึงต้องให้คนที่จะออกต้องรู้หลายเรื่อง (๓ จังหวัดชายแดน จะออกไปยาก)

^_,^

กลุ่มสิงห์เหนือเสือใต้ (พัทลุง เชียงใหม่)

• เจ้าบ้าน คือ คุณครูหน่อย (จ.เชียงใหม่) เทศบาลตำบลหนองควาย ใกล้ๆ ราชพฤกษ์

• ทั้งหมดรวมกันที่ตัวเด็ก (วัตถุประสงค์) เชื่อมโยงกับนโยบายประเทศ ทำอย่างไรให้เด็ก สูงสมส่วน ฟันไม่ผุ พัฒนาการสมวัย

• เริ่มจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รพ.สต. รพช.(โรงพยาบาลชุมชน) สสอ.(สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ) สสจ.(สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ชมรมอื่นๆ

• ส่งเสริม ให้ความรู้ดำเนินการ ติดตาม

• ให้สำเร็จทั้ง ๓ เรื่อง

• ท้องถิ่น อบต. เทศบาลตำบล กำนัน ผญบ.(ผู้ใหญ่บ้าน) ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ในท้องถิ่นตนเอง

• ส่วนที่สำคัญ คือ พ่อแม่ ฝึกฝนปฏิบัติในการพัฒนาเด็ก

• ครูจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน (เด็กปวดฟันก็พัฒนาไม่ได้ เรียนรู้ไม่ดี) ช่วยประสานงานต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมาย นโยบาย ให้เด็กเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศ

• ยกตัวอย่างการบูรณาการ

• ศพด.อยู่ใกล้ รพ.สต. เดินไปประสานงานได้ อย่างเรื่องฟัน เด็กสามารถเดินไปทำฟันโดยภารโรงไปส่ง หมอเข้ามาประสานงานที่ ศพด.

• งานพัฒนาการเด็ก (หางดง) นำร่อง DSPM ตั้งแต่ ปี ๒๕๕๘ ก่อนใช้มีปัญหา มีแบบแล้ว ใช้เป็น ค่าถูกต้องหรือไม่

• สสจ.จะส่งคนมีความรู้ DSPM มาอบรมให้มีมาตรฐานเดียวกัน

• เจอเด็กผิดปกติก็ส่งต่อไปตามลำดับ

• การประสานงาน ครูไม่สามารถบอกผู้ปกครองเรื่องผลการประเมินพัฒนาการ ต้องให้ผู้ปกครองประเมินเองได้ ต้องให้เขายอมรับผลการประเมินจะได้ร่วมกันพัฒนาเด็ก ทำมา ๓ ปี ผลลัพธ์ คือ เด็กทุกคนมีพัฒนาการที่ดี

• ปัญหาในการทำงานมี ก็แก้ไขไปทุกปี

• มีเครือข่าย ผดด. มาร่วมกันประสานงาน ทำให้งานพัฒนาเด็กทั้งสามส่วนเป็นไปได้ด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

^_,^

กลุ่มตลาดสี่ภาค

• เจ้าบ้าน คือ คุณหมอเก๋ (รพช.เชียรใหญ่)

• ภาคเหนือ ใช้กลยุทธ์ ๔M ดูภาพรวม ประเมิน เช็ค และเจาะดูรายบุคคลถ้ามีปัญหา

• อีสาน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา ทุกคนไม่รู้ปัญหาของพื้นที่ก็ดึงทุกภาคส่วนมาดูร่วมกัน เกิดเป็นนโยบายของผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ อสม. ไปตรวจคัดกรอง

• ภาคใต้ คืนข้อมูลสู่ชุมชน และดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้งบของ สปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพ) มาทำร่วมกัน ต่อไปจะจัด event ใหญ่ มีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็น KM

• ภาคกลาง สสจ.ดึงผู้เกี่ยวข้อง สสจ. พมจ. ท้องถิ่น มาสื่อสาร รพ.สต.ทำงานได้มีนโยบายเดียวกัน เวลานิเทศติดตามก็ร่วมกัน ถ้าพบปัญหาเกี่ยวข้องกับใครก็ให้รับผิดชอบ

• เพิ่มเติมจากสมาชิกกลุ่มอื่นที่มารอบสอง

• ขาดคน ก็ดึงคนมาช่วยจาก รพ.สต.อื่น หาคนช่วย เช่น ทันตาภิบาลตรวจพัฒนาการได้

• ตัวอย่างผู้ปกครองมามีส่วนร่วม ตั้งกลุ่มไลน์ ผู้ปกครองรู้สึกดีที่ได้มาดูที่โรงเรียน ไม่ใช่ให้ครูดูอย่างเดียว

^_,^

กลุ่มสามจังหวัดภาคเหนือ (นางฟ้าลาเวนเดอร์)

• เจ้าบ้าน คือ คุณหนิง (กลุ่มเวชฯ รพร.นครไทย)

• เน้นเรื่องกลุ่มเป้าหมาย อยู่ตรงไหนก็ไปบริการให้ถึง

• มองระบบบริการในเด็กปฐมวัยว่าสามารถให้บริการตรงไหนบ้าง ตั้งแต่ ANC วางระบบตั้งแต่ตรงนี้ บูรณาการตามสิทธิประโยชน์ คัดกรองทั้งแลบ ทั้งฟัน one stop service รร.พ่อแม่ ตั้งแต่แม่เริ่มตั้งท้อง

• ระบบดูแลเด็กปฐมวัย WCC มีผู้ปกครองและเด็ก ๐ - ๕ ปี และผู้ให้บริการสหวิชาชีพ และชุมชน ครบทุกระบบ โภชนาการ ตรวจพัฒนาการ DSPM ตรวจทันตสุขภาพ มีปัญหาส่งต่อ oss

• ในชุมชน เป็นสองส่วน คือ ชุมชน และ ศพด.

• เด็กในศูนย์ มีครูพี่เลี้ยง ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ อปท. เครือข่ายต่างๆ วางระบบบริการ คัดกรองสุขภาพแบบบูรณาการ ฝึกแปรงฟัน ฝึกล้างมือ ถ้ามีปัญหาก็ให้บริการใน รพ.สต. แก้ปัญหาทุกส่วน

• ตัวอย่าง มีศพด.อ่อนหวาน ป้องกันฟันผุและพัฒนาการสมวัย

• คืนข้อมูลและ MOU เช่น การจัดหาอาหารที่โรงเรียน ผู้ปกครองต้องไม่นำขนมให้เด็ก ดูแลสุขภาพต้องดูแลอย่างไร อุปกรณ์ที่ต้องสนับสนุน เช่น DSPM กติกาสังคมร่วมกัน เวลาทำกิจกรรมต้องเชิญผู้ปกครองมามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ช่วงมารับลูกกลับบ้านมีเวลา ๑-๒ ชั่วโมง

• การเสนอแนะ การทำกิจกรรมชุมชน เดิมมี รร.ผู้สูงอายุ แยกกลุ่มอายุ ถ้าจะมีบูรณาการก็ทำ ๓ กลุ่มวัยในชุมชน (สูงวัย วัยแรงงาน เด็ก) เข้าไปทำโครงการที่วัด หรือศูนย์ในชุมชน (เจ้าหน้าที่ แกนนำ อปท.) กิจกรรมหลักก็ทำ บูรณาการ แบ่งเป็นฐานคัดกรองสุขภาพตามวัย

• ใช้วัยแรงงานไปสอนเรื่องสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุไปเล่านิทานให้เด็ก ให้นำปราชญ์ชาวบ้านมาถ่ายทอดวัฒนธรรมที่จะสูญหาย งบประมาณใช้แค่ค่าอาหารว่าง ไปเยี่ยมบ้านที่มีผู้ติดบ้าน หรือเด็กผิดปกติ

• ข้อเสนอแนะ จากผู้มาเยือน คือ การมีส่วนร่วม เครือข่ายเป็นเจ้าภาพ สนับสนุนงบ

• (จากหมออ้อ) จุดเด่นกลุ่มนี้ คือ setting ในการทำงานที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และบูรณาการกับกลุ่มวัยอื่น ๆ ด้วย

^_,^

กลุ่มกำแพง

•เจ้าบ้าน คือ คุณเล็ก หนองบัวลำภู

• บทบาท รพช. ท้องถิ่น รพสต. การคิดร่วมกันของกลุ่ม

• รพช.ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ รับส่งต่อ

• ท้องถิ่น ให้งบประมาณ ทำแผนพัฒนา นิเทศติดตามผล ดูว่าศูนย์จัดตารางอาหารแบบไหน ท้องถิ่นจะให้คำแนะนำเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย มีโครงการการดูแลสุขภาพช่องปากและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก

• รพ.สต. การตรวจพัฒนาการ ในเด็ก ๔ กลุ่มวัย มีการตรวจช่องปากและสอนผู้ปกครองทุกด้าน (ตรวจช่องปาก ดูแลลูก เสริมพัฒนา เสริมโภชนาการ ฝึกการแปรงฟันแห้งแบบ hand on)

• ANC กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ตรวจสุขภาพช่องปากและแนะนำโภชนาการ (ต้องตรวจฟันเพราะถ้ามีปัญหาจะส่งผลถึงพัฒนาการและโภชนาการของเด็ก) มี รร.พ่อแม่

• ผดด.จะเขียนโครงการไปท้องถิ่น สนับสนุนงบ ก็จะเชิญ รพ.สต.ไปเป็นวิทยากร สอน ผู้ปกครอง

• สอนการแปรงฟันแห้งในชุมชน อสม.มีการประชาสัมพันธ์เรื่องการแปรงฟันแห้ง ผู้ปกครองจะไปดูแลสุขภาพบุตรหลานและให้คำแนะนำเพื่อนบ้าน ผดด.ให้เด็กทำตามสุขบัญญัติ

• เพิ่มเติมจากสมาชิกมาใหม่รอบสอง

• ศูนย์อนามัยเขต ถ่ายทอดนโยบาย นิเทศ ติดตาม

• สสจ.รับนโยบายและชวนเครือข่าย (พมจ., กศจ.) ประชุมชี้แจงนโยบาย ติดตามงาน

• ระบบส่งต่อ ถ้าเด็กมีพัฒนาการช้า กระตุ้นไม่ได้ สสจ.ก็ส่งต่อให้ พมจ.ดูแลต่อ

^_,^

กลุ่มบูรณาการเด็กปฐมวัยยุค ๔.๐

• เจ้าบ้าน คือ ผอ.วีระชัย (เทศบาลตำบลช่องลม ลานกระบือ กำแพงเพชร)

• ศูนย์อนามัย นโยบาย สนับสนุนวิชาการ ประสานงานภายใน (โภชนาการ ทันตฯ)

• สสจ. ส่งเสริม สิ่งแวดล้อม โรคติดต่อ ทันตฯ

• รพ.สต.บูรณาการดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์

• อสม. สำรวจข้อมูลรายงาน รพ.สต.ทำทะเบียนติดตามหญิงตั้งครรภ์ หลังคลอด เด็ก ๐-๕ ปี

• เด็ก ๐-๕ ปี มีการลงทะเบียน แล้ว อสม.ติดตามมารับบริการ

• เด็กใน ศพด. ประสาน อปท. แจ้ง ผดด. ตรวจสุขภาพ ชั่ง น้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจพัฒนาการ WCC ตามกลุ่มอายุ

• อปท. (อบต. ทต. อบจ.) ศูนย์เด็กเล็ก ดูเด็กในศูนย์ว่าทำครบมั้ย

• เดิม ผอ.วีระชัย ทำเรื่องสันทนาการเด็กและเยาวชนไม่รู้เรื่อง ศพด. หลังจากนั้นได้ย้ายมา ผอ.ด้านบริหารจึงได้ไปดู ศพด. จึงได้ไปพัฒนา ให้ความสำคัญ กองการศึกษาต้องลงปช่วยครู ศพด. ถ้าจะบูรณาการ คนทำต้องลงพื้นที่จริง สำรวจสภาพปัญหาที่แท้จริง จะเห็นว่า ศูนย์เด็กเล็กไม่ได้ตามมาตรฐาน ต้องไปเพิ่มเติมความรู้ให้ทำ ต้องขอบคุณทางสาธารณสุขที่มีเกณฑ์มาให้ เดิมเป็นศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ ต่อมาเป็นศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ

• ดูสภาพปัญหาจริง ลงพื้นที่จริง อปท.ต้องลงไปช่วย ครูต้องพัฒนาการจัดกิจกรรม ถ้าลงไปจริง เด็กพัฒนาได้ ผอ.เคยไปอยู่ ๓ ปี ศพด.ก็ผ่านการประเมิน หลักง่ายๆ คือจัดกิจกรรมให้ครบทั้ง ๖ กิจกรรมหลัก จัดสภาพแวดล้อมใน ศพด. พื้นที่เป็นทางเท้าลงสี BBL เวลาเด็กเดินก็สอนเด็ก ทั้งไทย อังกฤษ ใส่เลขไปให้เด็กเรียน ตีเส้นตรง ฝึกระเบียบ ถือเป็นการฝึกพัฒนาการ เดินให้ตรง การจัดห้องเอื้อต่อการเรียน ตามมาตรฐาน

• มีห้องสื่อบูรณาการครบทุกมุม เด็กมีตารางที่จะทำกิจกรรมชัดเจน ครูต้องเวียนกันมา

• มีห้องเล่านิทาน มีหนังสือนิทาน ๕๐๐ กว่าเรื่อง สภาพบริเวณต้องน่านั่ง เด็กเปลี่ยนอิริยาบถได้ ไม่ต้องเล่านาน ผู้ปกครองต้องเวียนกันมาเล่า

• ถัดไปมีศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น

• ศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เด็กไปดำนากับครู ได้เรียนรู้จากของจริง วิถีชาวบ้าน ปลูกพืช ผลไม้ก็ได้กิน

• หลักการไม่เน้นทฤษฎีเยอะ แต่ต้องทำจริง มาตรฐานยืนพื้น คือ ศูนย์เด็กเล็กมาตรฐานของกรมอนามัย และของ อปท. และศูนย์เด็กเล็กแห่งชาติ ต้องจับเกณฑ์ไว้ ต้องทำจริง ต้องลงไปนิเทศบ่อย

• ศพด.ต้องประสาน รพ.สต. วัด DSPM เช่น สอนการใส่เสื้อ

• ส่วนตัว ผอ. วีระชัย วันนี้ได้เครือข่าย วิทยากร สามารถเชิญไปให้ความรู้ได้

• เรื่องชุมชน ทุกคนต้องเข้ามา ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น

• คืนข้อมูลให้ชุมชน อสม. อนามัย

• ลงพื้นที่จริง สำรวจพื้นที่จริง

^_,^

กลุ่มเรา

เริ่มเสนอเฉพาะประเด็นที่ไม่ซ้ำละ ไม่งั้นได้ต่อภาคค่ำแน่เลย

• เจ้าบ้าน คือ คุณน้องจารุวรรณ (รพ.น้ำพอง) ทันตาภิบาล

• เครือข่าย รพ. ท้องถิ่น สสจ. สสอ. ศพด.

• ที่แตกต่าง คือ ที่น้ำพอง เน้น พัฒนาการ โภชนาการ ฟัน คือ อบรม อสม.เชี่ยวชาญ ไปเยี่ยมบ้าน ถ้าเจอผิดปกติ ครูจะส่งต่อ ให้ รพ.สต. รพช. ส่วน อสม.ช่วยงานได้เยอะทั้งในชุมชนและคลินิก พัฒนาการ

• ผดด. ครูจะขาดเรื่องการตรวจฟันแม่นยำ ต้องอบรมบ่อยๆ จนครูรู้จัก ตรวจ white spot lesion ได้ (รอยโรคฟันผุระยะแรก มีลักษณะเป็นรอยโรคจุดขาวขุ่นที่ผิวฟัน : ผู้เขียน)

^_,^

กลุ่มรวมมิตร

• เจ้าบ้าน คือ น้องอังคณา (โนนภูทอง หนองบัวลำภู)

• ภาคีเครือข่าย เหมือนทุกที่

• มีความรู้ในการคัดกรองส่งต่อ ออทิสติก LD (Learning disorder)

• รพ.สต.มีส่วนในการเชื่อมโยงภาคี ทั้ง ผู้ปกครอง อปท.

• มีการหยอดยาน้ำเสริมธาตุเหล็ก โดย อสม.ช่วยหยอด

^_,^

เป็นอย่างไรบ้างคะ ช่วงอยู่ในห้องประชุมใหญ่ก็ฟังเพลินเลยนะคะ

พอมาอ่านที่พี่ฝน พี่สุรัตน์บันทึกไว้ใน Powerpoint ยิ่งละเอียด

ผู้เขียนเห็นประสบการณ์ที่มีความเหมือนกันในแต่ละจังหวัดที่เป็นชุดบริการสุขภาพโดยภาคส่วนสาธารณสุข และทุกจังหวัดมีความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสาธารณสุขและภาคท้องถิ่น ทั้งฝ่ายบริหารและผู้ปฏิบัติ คือ คุณครูของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีระบบการส่งต่อเด็กที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพิ่ม ทั้งด้านสุขภาพช่องปาก ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ

ส่วนที่แตกต่างกันไป คือ ความเอาใจใส่ ความจริงจัง ความต่อเนื่องในการนำนโยบายของท้องถิ่นไปปฏิบัติ ในการเข้าไปคลุกคลีส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กผ่านการประเมินแต่ละมาตรฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความแตกต่างของระดับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ในการส่งเสริมโภชนาการ การดูแลช่องปาก ส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้านต่าง ๆ ขณะมาที่ศูนย์ ซึ่งจะเป็นช่องทางการสร้างความรอบรู้ (Health literacy) ให้ผู้ปกครอง สามารถนำกลับไปทำเองได้ที่บ้านส่งเสริมเด็กทุกด้านอย่างเหมาะสม ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีที่บ้านตนเอง หรือวางแผนร่วมกันผลิตเองด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้ทรัพยากรร่วมกัน มีระบบยืมหมุนเวียนกันใช้ เป็นต้น

ในภาคประชาชนที่เด็กยังอยู่ที่บ้าน ยังเล็กเกินที่จะเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือช่วงที่เด็กกลับมาจากศูนย์เด็ก อยู่กับผู้เลี้ยงดูเด็กตัวจริง เริ่มเห็นกิจกรรมที่ส่งผ่านความรู้ การตรวจคัดกรองพัฒนาการ โภชนาการ การฝึกปฏิบัติแปรงฟัน ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ผ่านกิจกรรมกลุ่ม ๓ วัยในชุมชน หรือบุคลากรสาธารณสุขฝึกปฏิบัติให้ผู้ปกครองโดยตรง

ที่เป็นตัวอย่างดีมาก คือ ผู้ปกครองสามารถประเมินพัฒนาการ โภชนาการ สภาวะฟันของลูกหลานเองได้ และยอมรับผลการประเมินโดยครูหรือบุคลากรสาธารณสุข จึงจะเป็นจุดที่เติมให้ผู้เลี้ยงดูใส่ใจสร้างเสริมสุขภาพ ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านและต่อเนื่อง ยิ่งเร็วยิ่งดี

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจมาก คือ การคืนข้อมูลให้ผู้นำชุมชนและแกนนำรับทราบ ยกระดับเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาร่วมกันทั้งชุมชน ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการบูรณาการ ชุมชนจะมีส่วนสนับสนุนทรัพยากร เรื่อง คน เงิน ของ

ฟังมาทุกกลุ่มจากประสบการณ์ตรง พื้นที่เราเองก็ได้ประโยชน์ กลับไปเตรียมทีมกลุ่มเด็กปฐมวัย เรื่องคืนข้อมูลให้ถึงผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง เพื่อสร้างการรับรู้และสนใจพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัยร่วมกัน

ยังไม่จบบันทึกชุดนี้นะคะ อีกหนึ่งตอน ลองติดตามว่าพอให้ผู้เข้าประชุมเข้ากลุ่มพื้นที่เดียวกันจาก ๙ จังหวัด จะต่อยอดการทำงานของพื้นที่ตนเองอย่างไร

เดี๋ยวตอนสุดท้ายแล้วนะคะ โปรดติดตาม

สวัสดีค่ะ

^_,^



ความเห็น (5)

เจ้าบ้าน คือ คุณครูหน่อย (จ.เชียงใหม่) เทศบาลตำบลหนองปาย ใกล้ๆ ราชพฤกษ์

เอ เทศบาลตำบลหนองควาย หรือเปล่าน้าาาาา

น่าจะอย่างนั้น ขอบคุณเจ้าของพื้นที่แถว ๆ หางดงนะคะ ขอบคุณมากค่ะคุณครูเงา ^_,^

-สวัสดีครับพีหมอ

-อ่านบันทึกนี้มีหลายกลุ่ม

-สะดุดตรง "กลุ่มกำแพง"

-แต่เจ้าบ้านอยู่หนองบัวลำภู

-55

-ขอบคุณครับ


ขอบคุณมากค่ะคุณเพชรฯ เดี๋ยวบันทึกหน้า มีจาก...กำแพงเพชร จริง ๆ นะคะ อ.ลานกระบือ ค่ะ

  • เรียนรู้ร่วมกัน ภาพเล็กๆที่นำมาปะติดปะต่อ จะได้ภาพใหญ่ที่สมบูรณ์
  • เปิดใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์กันและกัน ประโยชน์เอนกอนันต์เลยนะครับ
    ขอบคุณความรู้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท