การเมาสุรากับการประกันภัย


วานนี้ (1 มิถุนายน 2560) มีข่าวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวงการประกันภัย ซึ่งผมมองว่ามีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประชนชนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ และบริษัทประกันภัยในฐานะที่เป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการจ่ายสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย นั่นคือ การปรับแก้ไขข้อความที่เป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่รถยนต์ ทั้งนี้ทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้แจ้งว่าได้มีการออกคำสั่งให้มีการแก้ไขแบบข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance) โดยเนื้อหาสาระสำคัญคือ การปรับแก้ข้อยกเว้นที่บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบหากผู้ขับขี่รถยนต์มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อยกเว้น ซึ่งเดิมกำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าผู้ขับขี่ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงจะเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นที่บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ประกาศคำสั่งนายทะเบียนล่าสุดลงวันที่ 16 มีนาคม 2560 ได้แก้ไขข้อยกเว้นจาก "ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดเกินกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์" เป็น "ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์" เท่านั้น (ตัดคำว่าเส้นออกไป) ทั้งนี้ตามคำสั่งระบุว่า เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522[1] ที่กำหนดไว้ว่าหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่า “เมาสุรา” เท่ากับว่าลดข้อกำหนดเกี่ยวกับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไปถึง 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว


หมายความว่า ต่อไปผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอออล์ ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม เช่น ไวน์ บรั่นดี รัม เหล้า เหล้าปั่น เบียร์ วอดก้า หรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ประเภทอื่นๆ หากถูกจับตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมก็จะถือว่า “เมาสุรา” โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับสำหรับการทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป นั่นหมายความว่าสำหรับผู้ที่ซื้อประกันภัยรถยนต์ที่สัญญาเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมาเป็นต้นไป จะเริ่มใช้เงื่อนไขข้อยกเว้นที่บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบหากผู้ขับขี่รถยนต์มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวใช้บังคับกรณีที่ผู้ขับขี่รถเอาประกันภัยภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance)[2] เท่านั้น ดังนั้นการปรับเปลี่ยนปริมาณแอลกอฮอล์ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อความคุ้มครองของการประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Third Party Insurance) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือที่เรียกกันว่าประกัน พ.ร.บ. ซึ่งกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องมี เพื่อความคุ้มครองต่อความสูญของชีวิต ร่างกาย และผู้ประสบภัยจากรถยนต์เป็นสำคัญ ทั้งนี้เพราะในเงื่อนไขประกัน พ.ร.บ. ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นเกี่ยวกับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี้รถยนต์ไว้นั่นเอง จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามคำสั่งดังกล่าว

โดยตามคำสั่งนายทะเบียน คปภ. ที่ออกใหม่นี้หากผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีการเอาประกันภัยภาคสมัครใจไว้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และขับรถยนต์ไปประสบอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากกรมธรรม์ แต่ในส่วนของผู้ประสบภัย[3]หรือบุคคลภายนอก (Third Party) ที่ได้รับความเสียหายจากรถคันที่เอาประกันภัยดังกล่าวยังคงได้รับความคุ้มครอง โดยบริษัทประกันภัยของรถคันที่เอาประกันภัยฝ่ายผิดจะต้องให้ความคุ้มครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แล้วบริษัทประกันภัยจะไปไล่เบี้ยเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทจ่ายไปจากผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อไป

ทั้งนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า อุบัติเหตุบนถนนในประเทศไทย มีสถิติผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน จำเป็นต้องใช้หลายมาตรการในการขับเคลื่อนและมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยจากสถิติข้อมูลพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่พบอันดับต้นๆ คือ การเมาแล้วขับ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ทำงานร่วมมือกับหลายฝ่ายและหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิเมาไม่ขับ คณะกรรมการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางและมาตรการต่างๆ เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ลำพังมาตรการเดิมๆ ที่เคยใช้รณรงค์ลดอุบัติเหตุ ในช่วงเทศกาลวันหยุดเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจัง และหนึ่งในกลไกสำคัญคือการใช้มาตรการทางด้านประกันภัยอย่างเต็มศักยภาพเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ ประกอบกับการศึกษาข้อมูลต่างๆทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย อย่างรอบคอบแล้ว สำนักงาน คปภ. เห็นว่า การปรับแก้ข้อยกเว้นในกรมธรรมประกันภัยรถยนต์เรื่องลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกกำหนด จะเป็นผลดีต่อประชาชนมากกว่า โดยจะเป็นมาตรการที่ช่วยส่งเสริมการณรงค์เมาไม่ขับและช่วยสนับสนุนความปลอดภัยทางถนนตามแผนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน อันจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นตนในฐานะนายทะเบียนจึงออกคำสั่งให้แก้ไขแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน และเสริมสร้างวินัยจราจรแก่ประชาชน ซึ่งหลังจากนี้ทั้งผู้ขับขี่รถยนต์และบริษัทประกันภัยจะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามประกาศคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งบริษัทประกันภัยต้องปรับแก้เอกสารเกี่ยวข้องกับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความพร้อมด้านข้อมูลที่จะต้องแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับเงื่อนไขที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

หากดูจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนพบว่าจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นทุกปี ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บนั้นมีแนวโน้มลดลง แต่กลับพบว่า ในปี 2559 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนกลับเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 2,000 กว่ารายซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นสูงมาก

ตารางแสดงสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน [4]

ปี พ.ศ.

จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ

จำนวนผู้เสียชีวิต

จำนวนผู้บาดเจ็บ

2555

61,194

8,745

22,344

2556

61,868

7,500

21,072

2557

62,769

6,374

20,765

2558

69,371

6,268

18,160

2559

83,966

8,283

7,508

ทั้งนี้สาเหตุหลัก 5 อันดับแรกของการเกิดเกิดอุบัติเหตุทางถนนนั้นพบว่า มีสาเหตุการเมาสุราเป็นอันดับแรก รองลงมาคือการขับรถเร็วเกินกำหนด การตัดหน้ากระชั้นชิด ทัศนวิสัยไม่ดี และหลับใน ตามลำดับ[5]

การออกคำสั่งเกี่ยวกับข้อยกเว้นความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัย กรณีที่ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงเป็นมาตรการที่หวังจะช่วยลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดจากเมาแล้วขับนั่นเอง

ทั้งนี้โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุเมื่อเปรียบเทียบระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกับโอกาสเกิดอุบัติเหตุจราจร พบว่าคนที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้การเคลื่อนไหวช้าลงและโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่าเลยทีเดียว[6]

ตารางเปรียบเทียบระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกับโอกาสเกิดอุบัติเหตุจราจร

ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (mg% )

โอกาสเกิดอุบัติเหตุเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มสุรา

20

ใกล้เคียงกับคนไม่ดื่มสุรา

30

จะมีอาการสนุกสนาน ร่าเริง

50 (เกิน 50 ถือว่าเมาสุรา)

จะทำให้การเคลื่อนไหวช้าลง โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 2 เท่า

80

โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 3 เท่า

100

จะเมาเดินไม่ตรงทาง โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 6 เท่า

150

โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 40 เท่า

200

จะเกิดอาการสับสน

300

จะเกิดอาการง่วงซึม

400

จะเกิดอาการสลบ อาจถึงตาย

โดยปกติแอลกอฮอล์ที่ถูกดื่มเข้าไปในร่างกายจะถูกร่างกายดูดซึม และจะสามารถพบแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปได้ในเลือด ลมหายใจ ปัสสาวะ น้ำลาย และเหงื่อ ปัจจุบันวิธีการตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นการตรวจวัดเฉพาะแอลกอฮอล์ชนิดที่เป็น Ethyl Alcohol อย่างเดียว เนื่องจากเป็นแอลกอฮอล์ที่มนุษย์สามารถดื่มได้ โดยการทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือไม่ สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่โดยสามารถตรวจได้จากตัวอย่างทดสอบ (Specimen) 3 ประเภท ทั้งนี้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้ใช้วิธีการในการตรวจตามลำดับดังต่อไปนี้[7]

1. ลมหายใจ (Breath)

2. ปัสสาวะ (Urine)

3. เลือด (Blood)

ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุไว้ว่าการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากปัสสาวะหรือเลือดนั้นให้ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถทดสอบจากลมหายใจได้เท่านั้น

ทั้งนี้ในข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวกำหนดไว้ว่า ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเมาสุรา

1. กรณีตรวจวัดจากเลือด เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

2. กรณีตรวจวัดจากลมหายใจหรือปัสสาวะ ให้เทียบปริมาณแอลกอฮอล์โดยใช้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นเกณฑ์มาตรฐานดังนี้

2.1 กรณีตรวจวัดจากลมหายใจให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับ 2,000

2.2 กรณีตรวจวัดจากปัสสาวะ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับเศษ 1 ส่วน 1.3

วิธีการตรวจจากเลือดและปัสสาวะนั้น ค่อนข้างยุ่งยากเนื่องจากต้องมีอุปกรณ์ในการเก็บตัวอย่างที่เหมาะสม นอกจากนี้ในการตรวจจากตัวอย่างเลือดนั้นต้องส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และทำการเจาะเลือดภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมจึงจะสามารถดำเนินการได้ รวมทั้งการเจาะเลือด เพื่อตรวจหาแอลอฮอล์ต้องขอความยินยอมจากผู้ที่จะถูกเจาะเสียก่อน เว้นแต่ในรายที่ผู้ป่วยหมดสติ ไม่สามารถให้ความยินยอมได้ และมีความจำเป็นรีบด่วนเกี่ยวกับ การช่วยชีวิตผู้ป่วย อาจเจาะได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม แต่โดยทั่วไปที่ผมเคยสอบถามจากแพทย์หลายท่านพบว่า มักไม่นิยมตรวจระดับแอลกอฮอล์ก่อนการรักษาเท่าไรนัก เพราะไม่ค่อยมีผลต่อการวางแผนการรักษามากนัก ยกเว้นในบางกรณีที่ผู้ประสบอุบัติเหตุจนมีผลกระทบต่อสภาวะทางสมองหรือความรู้สึกตัวลดลง นอกจากนี้การตรวจหาค่าปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากเลือดและปัสสาวะต้องนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการและต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญในการตรวจวิเคราะห์[8] ส่วนการตรวจแอลกอฮอล์จากลมหายใจด้วยการเป่าผ่านเครื่องมือตรวจนั้น เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกกว่าตัวอย่างทดสอบสองประเภทแรกมาก และยังตรวจได้ผลรวดเร็วและสามารถตรวจได้ในสถานที่เกิดเหตุจึงมักเป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ในการตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของตำรวจในการตรวจผู้ขับขี่ที่อาจทำผิด พ.ร.บ. จราจรที่ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น[9] โดยการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์จากลมหายใจ (Alveolar Air) พบว่ามีค่าใกล้เคียงกับแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดแดงมากที่สุด แต่ควรเก็บลมหายใจเพื่อตรวจหลังจากดื่มแอลออฮอล์มาแล้วเกินกว่า 15 นาที เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากแอลกอฮอล์ที่ค้างอยู่ในปากผลที่ได้จึงไม่คลาดเคลื่อน[10]

เครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ (Breath Analyzer Test) แบ่งตามลักษณะของเครื่องได้เป็นสองประเภท คือแบบพกพา (Mobile) และแบบประจำที่ (Stationary) ถ้าแบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้งาน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ เครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจแบบตรวจคัดกรอง (Screening) และเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจแบบตรวจยืนยันผล (Evidential) โดยที่เครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจแบบตรวจคัดกรอง เป็นเครื่องที่ใช้ในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด โดยวิธีเป่าลมหายใจเข้าเครื่องวัด ผลที่แสดงจะเป็นตัวหนังสือว่าเกิน หรือไม่เกินค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ เช่น แสดงเป็น pass หรือ Fail หรืออาจแสดงเป็นตัวเลขก็ได้

เครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์แบบตรวจยืนยันผล เป็นเครื่องที่ใช้ในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด โดยวิธีเป่าลมหายใจเข้าเครื่องวัด ผลที่ได้จะแสดงเป็นตัวเลขว่ามีปริมาณในหน่วย mg/100ml เช่น 50 mg/100ml (แสดงว่า ในเลือด 100 มิลลิลิตรมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ 50 มิลลิกรัม) เป็นต้น[11]

เมื่อพิจารณาคำสั่งดังกล่าวประกอบกับหลักปฏิบัติในตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน มีประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่หลายประเด็น ทั้งในแง่ของการปฏิบัติและในแง่ของกฏหมาย ซึ่งผมขอแยกทีละประเด็นดังต่อไปนี้

1. ตามคำสั่งได้กำหนดไว้ว่าต้องเป็นการตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นแทบจะไม่มีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดในจุดที่เกิดอุบัติเหตุเนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ต้องรีบช่วยชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุ และต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล การไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ของผู้ที่ปฏิบัตหน้าที่ ณ จุดเกิดเหตุ (การตรวจระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดส่วนใหญ่นิยมใช้ตรวจที่ด่านตรวจของตำรวจเท่านั้นโดยใช้วิธีการเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจ แต่ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุมักไม่ค่อยมีการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด การรายงานว่าผู้ขับขี่เมามักเกิดจากการสังเกตจากการลักษณะการพูดคุย หรือการได้กลิ่นแอลกอฮอล์จากตัวผู้ขับขี่เท่านั้น ไม่ได้มาจากผลการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งการสังเกตจากลักษณะการการพูดคุยหรือการได้กลิ่นแอลกอออล์จากตัวผู้ขับขี่ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้ว่าผู้ขับขี่เมา) นอกจากนี้การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่น่าเชื่อถือที่สุดคือการวัดจากตัวอย่างเลือดซึ่งต้องวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการและต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญและทราบผลช้าทำให้ และข้อกำหนดที่ระบุไว้ว่าต้องส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และทำการเจาะเลือดภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมทำให้ไม่ค่อยมีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากตัวอย่างเลือด ส่วนใหญ่การตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือการตรวจจากลมหายใจด้วยการเป่าลมผ่านเครื่องตรวจวัดซึ่งนิยมใช้ตามด่านตำรวจที่ตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ในช่วงกลางคืนหรือช่วงเทศกาลที่มีการขับขี่รถยนต์กันเป็นจำนวนมากเท่านั้น ซึ่งการวัดแอลกอฮอล์ด้ายการเป่าลมผ่านเครื่องตรวจวัดไม่สามารถนำไปอ้างอิงเวลาเกิดอุบัติเหตุและมีการเรียกร้องสินไหมตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ เนื่องจากมักมีข้อโต้แย้งในเรื่องความน่าเชื่อถือของเครื่องมือและวิธีที่ให้ผู้ขับขี่เป่าลมหายใจ นอกจากนี้ทั้งการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากตัวอย่างเลือด ปัสสาวะหรือลมหายใจก็ตามยังมีจุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งคือ ปริมาณแอลกอฮอล์นั้นจะค่อยๆสลายตัวไปเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นการตรวจ ณ เวลาที่ต่างกันจึงทำให้ได้ค่าปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่อาจไม่เท่ากันจน เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถกตรวจยืนยันระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดในครั้งแรก กับครั้งต่อๆมาในเวลาที่ต่างกันได้ ดังนั้นนี่จึงเป็นจุดอ่อนอย่างมากของการบังคับใช้ข้อยกเว้นตามคำสั่งดังกล่าว หรือ แม้แต่การนำตัวผู้ขับขี่รถยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุส่งสถานพยาบาล ส่วนใหญ่แพทย์ก็มักไม่ได้สั่งให้มีการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เนื่องจากแพทย์หรือพยาบาลเองก็เกรงว่าจะถูกต่อว่าหรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิ์นั่นเอง

2. ถึงแม้คำสั่งนายทะเบียน คปภ. ที่ออกมาจะแก้ไขข้อความข้อยกเว้นความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยกรณีอุบัติเหตุจากการขับขี่รถยนต์จากผู้ขับขี่ที่เมาสุรา จากเดิมดำหนดไว้ว่าผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดเกินกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ซึ่งประกาศดังกล่าวออกมาตั้งแต่ 16 มีนาคม 2560 แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ กฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522[12] ซึ่งระบุว่า ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 3 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(1) กรณีตรวจวัดจากเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เว้นแต่ผู้ขับขี่ในกรณี ดังต่อไปนี้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

(ก) ผู้ขับขี่ซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

(ข) ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

(ค) ผู้ขับขี่ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่สําหรับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้

(ง) ผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรืออยู่ระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่"

ซึ่งหากตีความตามประกาศฉบับนี้หมายความว่า

- บุคคลอื่นๆ มีข้อกำหนดตามกฎหมายเดิม คือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จึงถือว่าเมาสุรา

- กรณีที่ผู้ขับขี่มีอายุไม่เกิน 20 ปี หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา

- กรณีที่ผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือ ผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา[13]

ดังนั้นเท่ากับว่าคำสั่งฉบับใหม่ของ คปภ. ว่าด้วยข้อยกเว้นความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยกรณีอุบัติเหตุจากการขับขี่รถยนต์จากผู้ขับขี่ที่เมาสุรา ก็ยังไม่สอดคล้องกับนิยามคำว่าเมาสุราตามกฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อยู่ดี เพราะตามคำสั่ง คปภ. กำหนดนิยามคำว่า เมาสุราไว้ว่าต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แต่กฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดนิยามคำว่าเมาสุรานอกจากตรวจวัดจากเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์แล้วยังมีนิยามเพิ่มเติมคือถ้าเป็นผู้ขับขี่มีอายุไม่เกิน 20 ปีหรือผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือ ผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็ให้ถือว่าเมาสุราแล้ว

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตุที่อาจเป็นประเด็นถกเถียงและตีความทางกฎหมายเนื่องจากนิยามยังไม่ตรงกันกล่าวคือ ในประกาศคำสั่ง คปภ. ใช้คำว่า ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้ระบุว่าตรวจวัดด้วยวิธีใด ทั้งนี้การวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดนั้นทำได้ 3 วิธีคือ ทางเลือด ทางปัสสาวะ และทางลมหายใจตามตัวอย่างทดสอบที่กล่าวมาข้างต้น แต่ในกฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กรณีตรวจวัดจากเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นการวัดจากเลือดเท่านั้น ไม่ใช่จากลมหายใจหรือปัสสาวะ ทั้งนี้อาจเกิดข้อถกเถียงได้ว่าการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์อาจให้ค่าที่แตกต่างกันได้ แล้วจะถือว่าวิธีใดเป็นวิธีทดสอบที่มีมาตรฐานสูงสุด (Gold Standard Test)

3. การขัดแย้งกันระหว่างเงื่อนไขข้อยกเว้นของสัญญาประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจกับเงื่อนไขข้อยกเว้นของสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident) หรือ พีเอ (PA) รวมทั้งสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ เช่น อ.1 (AI) อ.2 (ADD ) และ อ.3 (ADB) ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุก็มีข้อยกเว้นที่กรมธรรม์ประกันภัยจะไม่คุ้มครองกรณีการกระทำของผู้เอาประกันภัยอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา เช่นกัน กล่าวคือเงื่อนไขข้อยกเว้นของสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ กำหนดไว้ว่า “การประกันภัยตามกรธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง ความสูญเสียหรือความเสียหายใดๆอันเกิดจากหรือสืบเนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้

ก. การกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา สารเสพติดหรือยาเสพติดให้โทษจนไม่สามารถครองสติได้ คำว่า “ขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา” นั้น ในกรณีที่มีการตรวจเลือดให้ถือเกณฑ์มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป”

ซึ่งเงื่อนไขข้อนี้มีความคล้ายกับเงื่อนไขข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เดิม คือกำหนดให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบหาก ผู้เอาประกันภัย (ในกรณีสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ) หรือผู้ขับขี่ (ในกรณีสัญญาประกันภัยรถยนต์) ประสบภัย หากพบว่า มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ดังนั้นเมื่อ คปภ. มีคำสั่งให้แก้ไขข้อยกเว้นในสัญญาประกันภัยรถยนต์ให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเหลือเพียง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่ไม่ได้สั่งให้แก้ไขข้อยกเว้นของสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ซึ่งปัจจุบันยังคงให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ย่อมสร้างความไม่เข้าใจแก่ผู้เอาประกันภัยที่อาจมีทั้งสัญญาประกันภัยรถยนต์และสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ กล่าวคือ หากผู้เอาประกันภัยมีทั้งสัญญาประกันภัยรถยนต์และมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อผู้เอาประกันภัยเกิดขับขี่รถยนต์แล้วไปเกิดอุบัติเหตุ หลังเกิดอุบัติเหตุหากมีการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดแล้วพบว่า ผู้เอาประกันภัยขับขี่รถประสบอุบัติเหตุในขณะที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ 120 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ตามข้อยกเว้นของสัญญาประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ แต่ยังไม่ถึง 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ตามข้อยกเว้นของสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ หากอุบัติเหตุดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยที่ขับขี่รถไปประสบอุบัติเหตุจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต แปลว่าผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถยนต์คันที่ประสบอุบัติเหตุ เนื่องจากข้อยกเว้นตามคำสั่งใหม่ของ คปภ. เกี่ยวกับ การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจกำหนดไว้ว่า บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นหากผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่บริษัทประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยมีสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุจะต้องจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้เอาประกันภัย เนื่องจากยังไม่เข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุเพราะปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ 120 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เท่านั้นยังไม่ถึง 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งหากทั้งสัญญาประกันภัยรถยนต์และสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุนั้นออกภายใต้บริษัทประกันภัยเดียวกัน จึงเป็นไปได้สูงที่จะสร้างความไม่เข้าใจให้แก่ผู้เอาประกันภัย เนื่องจากเงื่อนไขข้อยกเว้นภายใต้บริษัทเดียวกันกลับแตกต่างกัน

ดังนั้นนี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทั้งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) บริษัทประกันวินาศภัยซึ่งขายทั้งประกันภัยรถยนต์และสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลรวมทั้งสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุด้วย กับบริษัทประกันชีวิตซึ่งไม่สามารถขายประกันภัยรถยนต์ได้แต่ขายสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลรวมทั้งสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุได้ ต้องมาหารือร่วมกันว่าจำเป็นต้องปรับเงื่อนไขให้สอดคล้องกันหรือไม่



อ้างอิง

[1] กฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

[2] ผู้ขับขี่ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจแบบใหม่ แบ่งออกเป็น 2 แบบตาม คือ

1. แบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ ( Un-Named Driver ) เป็นกรมธรรม์แบบเดิมที่คุ้มครองผู้ขับขี่คนใดก็ได้ที่ผู้เอาประกันภัย ยินยอมให้ขับขี่เสมือนหนึ่งเป็น ผู้เอาประกันภัย

2. แบบระบุชื่อผู้ขับขี่ ( Named Driver ) เป็นกรมธรรม์แบบใหม่ที่นำเอาอายุผู้ขับขี่มาเป็นองค์ประกอบในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย และคุ้มครองแต่ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดต่อค่าเสียหายที่เกิดขึ้นของอุบัติเหตุแต่ละครั้งด้วย กรมธรรม์แบบนี้ผู้เอาประกันภัยต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ใช้รถส่วนบุคคล และสามารถระบุชื่อผู้ขับขี่ได้ ไม่เกิน 2 คน

ทั้งนี้ผู้ขับขี่และเจ้าของรถอาจเป็นคนคนเดียวกันหรือคนละคนก็ได้ โดย เจ้าของรถ หมายความว่า ผู้ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในรถหรือผู้มีสิทธิ์ครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อและหมายความรวมถึงผู้นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเขามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวด้วย

[3] ผู้ประสบภัย หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัยเนื่องจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทางหรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุกหรือติดตั้งในรถนั้น และหมายความรวมถึง ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายด้วย. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535.

[4] สถิติอุบัติเหตุจำแนกตามรูปแบบการขนส่่ง. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม. http://www.news.mot.go.th/motc/portal/graph/Transport%20Safety.pdf สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2560.

[5] 10 อันดับ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนน. มูลนิธิเมาไม่ขับ. https://www.tipinsure.com/NewsAndActivities/news_content_v2/105 สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2560.

[6] การวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ. กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546. fd.surinpho.go.th/files_download/P4VE8F.doc สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2560.

[7] กฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

[8] องค์ความรู้เรื่องสารเสพติด. การตรวจวัดแอลกอฮอล์. http://www.sri.cmu.ac.th/~srilocal/drugs/knowledge-details.php?knowledge_id=28. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2560.

[9] พระราชบัญญัติจราจรทางบก. พ.ศ. 2522

[10] เวชศาสตร์การจราจร (Traffic Medicine). http://www.si.mahidol.ac.th/sirirajcme/profession/LaM/lae346.7.asp สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2560.

[11] องค์ความรู้เรื่องสารเสพติด. การตรวจวัดแอลกอฮอล์. http://www.sri.cmu.ac.th/~srilocal/drugs/knowledge-details.php?knowledge_id=28. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2560.

[12] กฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

[13] กฎหมายเมาแล้วขับฉบับใหม่ ที่นักดื่มต้องรู้. https://finance.rabbit.co.th/blog/dunk-driving-lawyers-thailand สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2560.

หมายเลขบันทึก: 629179เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2017 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2017 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท