บทสรุปผู้บริหาร "โครงการเด็กดีมีที่เรียน มมส." (๑ มิ.ย. ๒๕๖๐)


โครงการส่งเสริมผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ให้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (โครงการเด็กดีมีที่เรียน) เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ มหาววิทยาลัยมหาสารคามเป็น ๑ ใน ๙ มหาวิทยาลัยที่ร่วมทำข้อตกลงความร่วมมือกับ สพฐ. และ สกอ. และดำเนินการรับนิสิตอย่างต่อเนื่องโดยมีสำนักศึกษาทั่วไปเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

ช่วงปีการศึกษา ๒๕๕๓ - ๒๕๕๖ กลุ่มเป้าหมายของโครงการเด็กดีมีที่เรียนของมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นโรงเรียนในจังหวัดมหาสารคามจำนวน ๕๘ โรงเรียน ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการส่งเสริมคนในจังหวัดให้เรียนในมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน ปัญหาที่พบในการดำเนินโครงการคือ นักเรียนไม่มารายงานตัวหรือแม้ส่วนที่มารายงานตัวก็สละสิทธิ์ในภายหลัง และมีอาจารย์ประจำหลักสูตรสะท้อนถึงคุณภาพการเรียนที่ค่อนข้างอ่อนของนิสิตในโครงการฯ และคณะกรรมการคัดเลือกปี ๒๕๕๗ มีคำแนะนำให้สำนักศึกษาทั่วไปติดตามผลการเรียนของนิสิตเพื่อประกอบการประเมินผลการดำเนินงาน

เพื่อให้ได้นักเรียนที่เป็นคนดีตามเจตนารมณ์ของโครงการฯ ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา สำนักศึกษาทั่วไปเริ่มเข้าพื้นที่สร้างเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานักเรียนตามเจตนารมณ์ทั้งระบบอย่างเป็นองค์รวม กระผมในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป ได้รับมอบหมายให้สร้างเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ในเขตจังหวัดมหาสารคาม มีการทำข้อตกลงในระดับพื้นที่ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒๖ (สพม.๒๖) สร้างเครือข่ายกับกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาลเมืองมหาสารคาม ทั้งยังได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในภาคอีสานให้เข้าร่วมยกร่างแนวทางการประเมินคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน จนปัจจุบันถือเป็นเล่มคู่มือมาตรฐานในการคัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการเด็กดีมีที่เรียนของ สพฐ. พร้อมกันนั้น สำนักศึกษาทั่วไปได้ขอขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก ๑๐ โรงเรียน เพื่อสรรหาผู้นำนักเรียนที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย

ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ - ๒๕๕๘ ในช่วงครบรอบของการปรับปรุงหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป มีการกำหนดผลการเรียนรู้ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปตามผลการศึกษาของเครือข่ายรายวิชาศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย ให้มีคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ๙ ประการ โดยย่อได้แก่ ๑) เป็นคนดีมีคุณธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒) รู้รอบรู้กว้างขวาง ๓) เห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น สังคม และวัฒนธรรม ๔) เรียนรู้ตลอดชีวิต ๕) มีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ๖) มีจิตอาสา จิตสาธารณะ ช่วยเหลือผู้อื่น ๗) นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ ๘) มีทักษะทางเทคโนโลยีและทันสมัย ๙) มีทักษะด้านการสื่อสารด้านภาษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุผลการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ สำนักศึกษาทั่วไป จึงได้กำหนดให้มีนโยบายส่งเสริมคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปขึ้นตั้งแต่นั้นมา

ในการนี้ ผู้บริหารสำนักศึกษาทั่วไป ได้ผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่มักมองว่า สำนักศึกษาทั่วไปไม่มีนิสิตในสังกัดตนเอง ให้บริการด้านการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนเท่านั้น มองใหม่โดยให้ความสำคัญกับผู้เรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปทุกคน ถือเป็นนิสิตกลุ่มเป้าหมายของสำนักศึกษาทั่วไป ที่ต้องได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้มีคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป จึงได้ได้ริเริ่มกระบวนการสร้างผู้นำนิสิตผ่านกิจกรรมส่งเสริมคุณลักษณะฯ ต่าง ๆ เช่น โครงการฯ รับน้องสร้างสรรค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี สร้างวิสัยทัศน์ร่วม และบ่มเพาะเจตคติที่ดีในการเป็นนิสิตแกนนำขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย โครงการเด็กดีคืนถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ได้ฝึกฝนตนเอง ผ่านกิจกรรมการช่วยให้น้องนักเรียนโรงเรียนเดิมรู้จักตนเอง มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนตั้งแต่เนิ่น โครงการค่ายอาสาพัฒนา โดยส่งเสริมให้บูรณาการกับการทำงานชมรมสังกัดกองกิจการนิสิต เป็นต้น

การดำเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตลอด ๓ ปีที่ผ่าน ทำให้เกิดผลลัพธ์ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพมาก จำนวนนักเรียนมารายงานตัวมากขึ้น จากเดิม ๔๗ คนในปีการศึกษา ๒๕๕๖ เป็น ๑๑๔ คนในปีการศึกษา ๒๕๖๐ นิสิตที่มาช่วยกิจกรรมส่งเสริมคุณลักษณะฯ และกิจกิรรมขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นตามลำดับ จากเดิมปี ๒๕๕๗ เพียงประมาณ ๑๐ - ๒๐ คน เพิ่มเป็น ๘๐ - ๑๐๐ คนในปีการศึกษาที่ ๒๕๖๐ นิสิตแกนนำรวมตัวกันแต่งตั้งชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี สามารถพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาน้อง ๆ ได้ ช่วยงานขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย ผ่านการช่วยงานกิจกรรมในหลักสูตรต่าง ๆ ดังที่กระผมได้เขียนบันทึกไว้หลายที่ต่างกรรมต่างวาระ



หมายเลขบันทึก: 629132เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2017 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2017 05:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ใช่เป้าหมายคือไหมค่ะ อ.ต๋อย

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต ๒๗ คือร้อยเอ็ด

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต ๒๖ คือมหาสารคาม

เกิดอะไรขึ้นกับโครงการเด็กดี ค่ะ อ.ต๋อย


โครงการเด็กดีมีที่เรียนยังมีต่อไปครับ แต่ถูกดึงไปไว้กองกิจการนิสิตครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท