LLEN มหาสารคาม : คิดการใหญ่ "สภาพัฒนาการศึกษาจังหวัดมหาสารคาม" (๑)


วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ช่วงเย็นหลังจากรับประทานอาหารค่ำ ที่ศูนย์การศีกษาลำปาว ผมมีโอกาสได้ร่วมสนทนากับ ทีมแกนนำของ "สภาพัฒนาการศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์" ฟังท่าน ๆ คุยแลกเปลี่ยนนำเสนอกัน ใจผมก็ได้แต่ฝันไปว่า จังหวัดมหาสารคาม น่าจะมี "สภาพัฒนาการศึกษาจังหวัดมหาสารคาม" บ้าง

ท่านประธานสภาฯ บอกว่า ระบบและกลไกของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. จะมีภาระเกี่ยวกับงานบุคคล โยก ย้าย แต่งตั้ง จัดหาบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัด หากจะแก้ปัญหาทางการศึกษาได้อย่างเท่าทัน น่าจะมียุทธศาสตร์และการพัฒนาที่แหลมคม และแม่นตรงกับปัญหา ท่านบอกหลายรอบว่า ท่านบอกว่า เมื่อท่านทราบปัญหาด้านการศึกษาของจังหวัดบ้านเกิดแล้ว ยากยิ่งที่จะน่งดูดาย

เท่าที่ผมจับประเด็นได้ หากเปรียบเทียบกับระดับประเทศแล้ว สภาพัฒนาการศึกษาฯ จะแตกต่างกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ตรงที่ ไม่ได้มีแค่ฝ่าย "บุ๋น" ทำวิจัยเสนอยุทธศาสตร์ ประเมินผล และสะท้อนผลการบริหารงานของฝ่ายขับเคลื่อนเท่านั้น แต่สภาพัฒนาการศึกษาฯ ยังจะทำหน้าที่เป็นฝ่าย "บู๊" ด้วย โดยร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในและนอกระบบ ทั้งภาครัฐ มีศึกษานิเทศก์ ตัวแทนผู้อำนวยการ ตังแทนครู ภาคประชาชน ได้แก่ ตัวแทนชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียน ภาคการเมือง ภาคเอกชน และหน่วยงานอิสระ คือ แอคชั่นเอดประเทศไทย (Actionaid Thailand) เข้ามาช่วยเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ นอกจากนี้แล้วยังมีภาควิชาการที่ดึงเอามหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้ามีส่วนร่วมด้วย

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ผมไปช่วยครูตุ๋ม ศิริลักษณ์ ชมภูคำ ขยายผลความสำเร็จในการช่วยนักเรียนแถวหลังที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยเฉพาะนักเรียนพิเศษ บกพร่องหรือพิการด้านการเรียนรู้ ช่วงเปิดงาน ได้มีโอกาสสนทนากับ รอง ผอ.เขต ของ สพป. มหาสารคาม ผมเล่าเรื่อง สภาพัฒนาการศึกษาของจังหวัดกาฬสินธุ์ให้ท่านฟัง ท่านแสดงความสนใจ และลองให้ผมลองคิดว่า หากจะมีสภาพัฒนาการศึกษาจังหวัดมหาสารคาม มันควรจะมีองค์ประกอบอย่างไร

ผมไม่ต้องคิดเรื่องนี้ใหม่เลยครับ เพราะนี่เป็นความฝันตั้งแต่ผมผันชีวิตตนเองมาสนใจเรื่องการศึกษา โครงการแรกที่เริ่มลงมือตลุยทำ ทำจนมาถึงวันนี้ก็ยังไม่หยุดพยายามหาช่องทางทำ คือ โครงการ LLEN ซึ่งย่อมาจาก Local Learning Enrichment Network หรือ โครงการพัฒนาเครือข่ายหนุนเสริมการเรียนรู้ในเขตพื้นที่ จังหวัดมหาสารคาม ที่เราเรียกว่า "LLEN มหาสารคาม" โครงคิดของ LLEN ร้อยละ ๘๐ เป็นอันเดียวกันกับแนวคิดเรื่อง สภาพัฒนาการศึกษาฯ ที่กล่าวถึงนี้ อีกร้อยละ ๒๐ ที่เหลือคือการสร้างกลไกเชิงโครงสร้าง คณะกรรมการ หรือหน่วยงานขึ้นมารองรับการทำงานให้เป็นที่ยอมรับเท่านั้น

ต้วแทนของแต่ละองค์ประกอบของ LLEN มหาสารคาม ดังภาพ น่าจะกลายมาเป็นสมาชิกของสภาพัฒนาการศึกษา



บทบาทหน้าที่ ต้องมีทั้ง "บุ๋น" และ "บู๊" เหมือนสภาพัฒนาการศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ อาวุธหรือเครื่องมือคือ กระบวนการมีส่วนร่วม จากล่างขึ้นบน ค้นหาและให้เกียรติคนในพื้นที่เป็นสำคัญ ค้นหาแนวปฏิบัติที่ได้ผลของครูในพื้นที่ แล้วขยายผลสู่กันและกัน สร้างชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์หรือ PLC หลายระดับ ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนด้วยกระบวนการบนฐานปัญหาหรือ PBL

เสียดายที่ต้องตื่นแล้ว .... คิดใหญ่ แล้ว เดินไปทีละก้าว .... วิสัยทัศน์ต้องไกล ใจต้องหนักแน่น ... (ให้กำลังใจตนเอง)


หมายเลขบันทึก: 629097เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2017 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2017 08:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท