ร่างรายงาน[ผู้ต้องหา]06ภาคผนวก


ในการถ่ายภาพการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพถ้ามีประชาชนมามุงดูควรให้ภาพติดด้วย และผู้ต้องหาควรมีใบหน้ายิ้มแย้มเพื่อเป็นพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาได้รับสารภาพด้วยความเต็มใจ - โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, คู่มือการฝึกหัดราชการ นรต.ชั้นปีที่ 4 ประจำปีการศึกษา 2530 การกำหนดหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจนครบาลและภูธร, น.22.

ภาคผนวก ก.

ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่จะไม่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในลักษณะประจาน

การนำตัวผู้ต้องหาคดีอาญาออกแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี  ได้วางแนวปฏิบัติในการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหรือแพร่ภาพไว้  ดังนี้
- ลักษณะที่ 30 ข้อ 1(ค)  ห้ามมิให้ผู้มีหน้าที่ในการให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าวให้ข่าวดังต่อไปนี้
 ข้อ 4 คดีที่อยู่ในระหว่างการสืบสวนหรือสอบสวนยังไม่เสร็จ  เช่น  แนวการสืบสวน  สอบสวน  การจับกุม  ตรวจค้น  และการรวบรวมพยานหลักฐาน  เป็นต้น
 ข้อ 5 เหตุการณ์หรือเรื่องราวซึ่งถ้าหากเปิดเผยต่อประชาชนอาจเป็นแบบที่บุคคลอื่นจะถือเอาเป็นตัวอย่างในการกระทำขึ้นอีก  เช่น  แผนประทุษกรรมต่างๆของคนร้าย  หรือวิธีการที่แสดงถึงการฉ้อโกง  การกระทำอัตวินิบาตกรรม  และวิธีการอันชั่วร้ายอื่นๆ
- ลักษณะที่ 30 ข้อ 5  กำหนดเรื่องการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน  ดังนี้
 1.  ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนไม่ว่ากรณีใด  ให้ผู้มีอำนาจแถลงข่าวถือปฏิบัติตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี  ลักษณะที่ 29 บทที่ 1 ข้อ 1(2)
 2.  ไม่ควรนำตัวผู้ต้องหามาแถลงขาวหรือแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน  โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่ให้การปฏิเสธ  เว้นแต่กรณีผู้ต้องหาให้การปฏิเสธแต่คดีมีพยานหลักฐานของกลางน่าเชื่อถือว่าผู้ต้องหากระทำผิดจริง  เช่นคดียาเสพติด  ส่วนกรณีผู้ต้องหาให้การรับสารภาพอาจจะนำมาแถลงข่าวได้หากเกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนหรือต่อทางราชการ  ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจแถลงข่าวและจะต้องถือปฏิบัติตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี  ลักษณะที่ 30 ข้อ 1(ค) โดยเคร่งครัด
 3.  ห้ามมิให้ทำป้ายชื่อแขวนคอผู้ต้องหาแล้วนำออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน  หรือแพร่ภาพ  นอกจากเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน  หรือกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อถ่ายรูปเก็บรวบรวมในสมุดภาพแฟ้มประวัติคนร้ายเท่านั้น
เมื่อการแถลงข่าวถือเป็นดุลยพินิจของตำรวจจึงมักปรากฏว่ามีการนำตัวผู้ต้องหาออกมาแถลงข่าวอยู่เป็นประจำ  ทั้งๆที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือเวียนภายในหน่วยงานกำชับมิให้การแถลงข่าวกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้ต้องหา  กระทบต่อการทำงานและชื่อเสียงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  แต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ  เช่นผู้เสียหายอื่นๆจะได้ทราบว่าผู้ต้องหาถูกจับแล้วและจะได้ดำเนินการต่อไป  เพื่อให้ประชาชนทราบข่าวอาชญากรรม  เป็นสิทธิของประชาชนที่จะรับรู้ข่าวสาร  และเป็นการปรามผู้ที่คิดจะกระทำผิด   เป็นการแพร่ภาพบุคคลและวิธีการกระทำผิดเพื่อมิให้ประชาชนทั่วไปตกเป็นเหยื่อ  หรือเพื่อการแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ  หรือในคดียาบ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพและต้องการแถลงข่าวต่อสาธารณชนเพื่อให้รับรู้ว่ากากระทำของตนนั้นเป็นการทำลายชาติและเยาวชน
ส่วนการทำป้าชื่อแขวนคอผู้ต้องหา  ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีได้ห้ามไว้อย่างชัดเจน  แต่ปรากฏว่ายังมีการปฏิบัติอยู่  โดยเปลี่ยนจากทำป้ายชื่อแขวนคอเป็นให้ผู้ต้องหายืนถือป้ายชื่อหรือวางไว้ด้านหน้าผู้ต้องหา  ที่เป็นเช่นนี้เพราะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนรับทราบการกระทำผิดและจะได้ระมัดระวัง  เป็นการลงโทษผู้ต้องหาทางอ้อมและเพื่อให้ผู้ต้องหาละอายใจ

การนำตัวผู้ต้องหาคดีอาญาออกทำแผนประกอบคำรับสารภาพ

เมื่อผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ  พนักงานสอบสวนจะพาผู้ต้องหาไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ  แล้วจดบันทึกเอาไว้ว่าผู้ต้องหาได้นำชี้ที่ทางแห่งใด  และให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อไว้ในเอกสาร  ซึ่งเรียกกันว่าบันทึกการนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ  รวมทั้งจัดให้มีการถ่ายภาพการนำชี้นั้นด้วย   ซึ่งทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนมักให้ผู้ต้องหาแสดงท่าทางประกอบการกระทำผิดในขณะนำชี้ที่เกิดเหตุแล้วจดบันทึกไว้ว่าผู้ต้องหาแสดงท่าทางในการกระทำอย่างไร  รวมทั้งถ่ายภาพหรือถ่ายวิดิโอเทปการแสดงรายละเอียดการกระทำผิดนั้นด้วย  และเรียกการนำชี้ที่เกิดเหตุและการแสดงท่าทางขณะกระทำผิดของผู้ต้องหาว่าการทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ   ซึ่งการทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพเป็นเครื่องขี้ให้เห็นว่าผู้ต้องหาได้ให้การรับสารภาพโดยสมัครใจ
ในการนำชี้ที่เกิดเหตุแม้ว่าผู้ต้องหาให้การภาคเสธ (ไม่ถือเป็นการรับสารภาพ)  แต่ถ้าเห็นว่าหากให้ผู้ต้องหานำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำที่รับสารภาพบางส่วนจะสามารถเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี  ก็ควรให้ผู้ต้องหานำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพดังกล่าวเช่นเดียวกัน  อนึ่งในการถ่ายภาพการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพถ้ามีประชาชนมามุงดูควรให้ภาพติดด้วย  และผู้ต้องหาควรมีใบหน้ายิ้มแย้มเพื่อเป็นพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาได้รับสารภาพด้วยความเต็มใจ
ส่วนการติดตามสื่อมวลชนไปทำข่าว  สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยมีหนังสือเวียนกำชับมิให้พนักงานสอบวนจัดให้สื่อมวลชนไปทำข่าว   รวมทั้งกำชับมิให้แจ้งกำหนดวันเวลาที่จะนำผู้ต้องหาไปชี้ที่เกิดเหตุให้สาธารณชนทราบ  และหากเป็นการสมควรอาจจะใช้วัสดุปกปิดใบหน้าของผู้ต้องหาขณะนำชี้ที่เกิดเหตุ  ทั้งนี้เพื่อมิให้การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเป็นการประจานผู้ต้องหาให้เป็นที่เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียง
เห็นได้ว่าประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีให้อำนาจพนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปชี้ที่เกิดเหตุได้กรณีที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ  และให้เป็นดุลยพินิจที่จะซักถามหรือให้ผู้ต้องหาอธิบายวิธีและอาการแห่งการกระทำความผิด  แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจที่จะนำตัวผู้ต้องหาไปแสดงท่าทางกระทำผิดต่อหน้าสาธารณชน  เพราะหากพิจารณาด้วยสติปัญญาให้ดีจะพบว่าประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี  ลักษณะที่ 30 ข้อ 1(ค)  กำหนดห้ามมิให้เปิดเผยเหตุการณ์หรือเรื่องราวซึ่งถ้าหากเปิดเผยต่อประชาชนอาจเป็นแบบที่บุคคลอื่นจะถือเอาเป็นตัวอย่างในการกระทำขึ้นอีก  เช่น แผนประทุษกรรมตางๆของคนร้ายหรือวิธีการอันชาวร้ายอื่นๆ  เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 62859เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท