พัฒนากระบวนการคิด มีจิตสาธารณะ ตอนที่ 2 : Khon Kaen New Spirit (2)


นครขอนแก่น ก็เหมือนบ้านหลังใหญ่ ที่เราทั้งหลาย ต่างก็อยากเห็นบ้านสะอาด น่าอยู่ รื่นรมย์ แต่ในความเป็นจริง เมื่อบ้านหลังใหญ่ มีคนอาศัยก็เยอะ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่บ้านจะต้องมีมุมที่สกปรก มีฝุ่น มีขยะ มีมลภาวะ มีมุมมืด แสงสว่างส่องไม่ทั่วถึง ....แต่พวกเราก็ต่างยินดี “อาสา” ช่วยกันเก็บกวาด ทำความสะอาดในมุมของตนเอง แล้วก็ช่วยหาวิธีการ เก็บกวาดมุมอื่นๆตามกำลัง แม้มันยังไม่สมใจเรา แต่ก็ยังดีที่มีคนอาสาช่วยกันดูแลบ้านของพวกเรา “นครขอนแก่น”

วันอาทิตย์ ผมเข้าห้อง “เรียนรู้” ช้าไปสักครึ่งชั่วโมง สมาชิกในห้องนั่งเรียงราย กำลังเล่าเรื่องผ่านภาพวาดตัวเอง ที่ให้สื่อถึงอารมณ์และความรู้สึกของตน ในเช้านี้ และเรื่องราวของการเรียนรู้ในวันเสาร์ที่ผ่านมา... ผมไม่ทันวาด แต่ก็กล่าวว่า รู้สึกดีที่ได้ตื่นมาเจอทุกๆท่านอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นกัลยาณมิตร ลืมไปเลยว่า เมื่อวันเสาร์ ตอนเราเริ่มเรียน กระบวนกรให้พวกเราพูดถึงความรู้สึกเช่นกัน ผมจึงกล่าวในวันแรกว่า ผมรู้สึกงงๆ เพราะการมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ ไม่ทราบรายละเอียดอะไรมากนัก แต่ยินดีที่ได้รับเกียรติให้มาเรียนรู้

จากนั้น เราเริ่มทำกิจกรรมเขียนโพสการ์ดเพื่อแสดงตัวตนของตัวเองว่าทำงานที่ไหน อย่างไร มีความสามารพิเศษหรืองานอดิเรกอะไร และอยากให้ “กัลยาณมิตร” ช่วยเหลืออะไรที่เกี่ยวกับงานจิตอาสาที่ทำอยู่ แล้วนำไปว่างไว้บนแผนที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆร่วมกัน

การฟังเรื่องราวผ่าน “นักจิตอาสา” ผู้ทรงคุณวุฒิ โดย ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก หรือพี่เป๋งของพวกเรา ที่มาเล่าให้เราฟัง วิธีการ เรื่องราวการทำงานจิตอาสา แนวคิด วิธีการ หลายเรื่องโดนใจพวกเรา หลายคำแทงใจพวกเราจนอาจจะทรุดตัวลง แต่ก็สะท้อนมุมมองนักพัฒนาได้เป็นอย่างดี ท่านสอนพวกเราเรื่องเศรษฐกิจของนักพัฒนาว่าต้องอยู่ได้ ไม่ลำบากและมีเงินออม รวมไปถึงใจและกายที่ต้องพร้อม... ผมเก็บประเด็นได้ไม่มาก แต่คำสำคัญที่โดนใจผมมากคือ ท่านกล่าวว่า “ถ้าคุณดำรงความดีไว้ได้ คุณก็จะหนุ่มสาวอยู่เสมอ”

จากนั้น พวกเราก็ได้รับ อาสาสมัครที่จะทำหน้าที่ “ขายฝัน” เพื่อ “ชวนลุย” แล้ว “คุยไอเดีย” เพื่อคนที่คิดว่าอยากจะทำงานอะไรสักอย่างที่ฝันอยากให้เกิดขึ้น แล้วชวนเพื่อนๆที่สนใจไปนั่งตั้งวงสนทนา แลกเปลี่ยนมุมมอง แชร์ความคิด แลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างกัน ในช่วงเช้ามี 5 กลุ่ม (5 วง) ให้เลือกเข้าตามหัวข้อที่สนใจ ซึ่งเป็นหัวข้อที่สมาชิกเป็นคนเสนอตัวอยากตั้งวง......คุย

ช่วงเช้า ผมเลือกเข้าวงที่ครูสอญอตั้งประเด็นของการ ทำสวนเกษตรหลังโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว เสียดายที่ผมจำหัวข้อไม่ได้ เขาอุตส่าห์ตั้งชื่ออย่างน่ารัก สมาชิกท่าใดพอจำได้บ้างก็บอกหน่อยนะครับ...... เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ครูสอญออยากพานักเรียนทำสวนเกษตรบนพื้นที่ท้ายโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ ควบคู่กับการสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตรบนพื้นที่ 3 ไร่ ที่มีที่นาสาธิตอยู่แล้วประมาณ 2 งาน มุมมอง ทัศนะ และแหล่งข้อมูลจากเพื่อนๆที่สนใจมาร่วมวง น่าจะพอทำให้ครูสอญอ เดินต่อไปสร้างฝันได้

ส่วนภาคบ่าย มี 4 วงที่ “คุย” เรื่องใหม่ จากสมาชิกเช่นกัน ผมเองก็เป็นผู้ตั้งวงคุยเรื่อง คอรัปชั่นฉันไม่ขอรับ มีสมาชิกสนใจไม่มาก....จึงมีประเด็นไม่มากนัก แต่ผมกลับเป็นผู้เล่าเสียมากกว่า เพราสมาชิกในวงของผมมีเพียง 5 คน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกน้อยใจอะไรที่สมาชิกในห้องร่วม 50 คน เพราะเราคิดเสมอว่า การเรียนรู้ แม้มีแค่ 2 คนสนทนากัน ก็ถือเป็นกำไรที่ได้แลกเปลี่ยนทัศนะกัน การแลกเปลี่ยนทัศนะ แม้ไม่เมามัน ไม่สนุกอย่างวงอื่น (แอบชายตามองไปรอบๆ) เพราะจริงๆ ใจก็อยากเป็นสมาชิกในวงอื่น แต่เมื่อได้กำหนดจะตั้งวงเองแล้วก็ต้องทำให้ดี (เชื่อว่าหลายคนก็อยากจะนั่งฟังในกลุ่มอื่นๆด้วย แต่ข้อจำกัดเรื่องเวลา จึงอยู่ได้แค่กลุ่มเดียว)

ช่วงท้าย เราก็แลกเปลี่ยน เรื่องที่เรา “เรียนรู้” ร่วมกันว่า การตั้งวงคุยกันเพื่อช่วยกัน “คิด” แล้ว “พูด” เพื่อจะได้ “ไอเดีย” ไปสู่การ “ลงมือทำ” เพื่อเป็นส่วนเล็กๆในการพัฒนานครขอนแก่น บ้านของพวกเรา แม้จะเป็นเพียงดวงเล็กๆก็ตามที

และตอนท้ายสุด การได้ขมวดปม “พูด” สรุปความรู้สึกของสองวันที่ผ่านมา บนเส้นทางของการเรียนรู้ที่เอามาแบ่งปันกัน ดูจะถึงรสถึงขิงที่รวมความ “ฮา” ปะปน “รอยยิ้ม” และ “เสียง” ที่กลั่นกรองความคิดและความรู้สึก สื่อสารให้กันและกัน แล้วพวกเราก็จำต้องจากกันเพื่อกลับไปทำหน้าที่เหมือนที่ก่อนเราจะมาพบกันที่ห้องเรียนนี้ 2 วันจึงดูสั้นไปถนัดตา เพราไม่ถนัดใจอยากอยู่ต่อเพื่อเล่าและเรียน เรื่องราวที่ดีงามในมุมเล็กๆของแต่ละคน.... นครขอนแก่น ก็เหมือนบ้านหลังใหญ่ ที่เราทั้งหลาย ต่างก็อยากเห็นบ้านสะอาด น่าอยู่ รื่นรมย์ แต่ในความเป็นจริง เมื่อบ้านหลังใหญ่ มีคนอาศัยก็เยอะ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่บ้านจะต้องมีมุมที่สกปรก มีฝุ่น มีขยะ มีมลภาวะ มีมุมมืด แสงสว่างส่องไม่ทั่วถึง ....แต่พวกเราก็ต่างยินดี “อาสา” ช่วยกันเก็บกวาด ทำความสะอาดในมุมของตนเอง แล้วก็ช่วยหาวิธีการ เก็บกวาดมุมอื่นๆตามกำลัง แม้มันยังไม่สมใจเรา แต่ก็ยังดีที่มีคนอาสาช่วยกันดูแลบ้านของพวกเรา “นครขอนแก่น”

เก็บตกจากการเรียนรู้

พี่แคล้ว ดูจะเป็นพระเอกของงานนี้ เพราะงานของพี่แคล้ว ดูจะเป็นงานที่น่าสนใจของมวลสมาชิก คือการทำงานเพื่อ “คนไร้บ้าน” แต่ไม่รู้ใจ ไม่ไร้จิตวิญญาณ ทำให้พวกเรารู้และลึก คือรู้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ว่าในสังคม มีคนไร้บ้าน ซึ่งเราๆท่านๆต่างคิดว่าเขาเป็นปัญหาสังคม แต่แท้จริง เขาอาจไม่ใช่ปัญหาของสังคม แต่สังคมอาจเป็นปัญหาสำหรับเขาก็ได้ หลายคนมีบ้านมีมรดกอยู่ แต่ต้องออกจากบ้านมา เพราะบ้านไม่ใช่ที่ที่เขาอยากอยู่ ฯ

เรื่องเล่าจากการเดินทางไป “ถ่ายภาพ” เพื่อเรียนรู้ปัจจุบัน ก็สะท้อนมุมมอง แนวคิดได้อย่างมาก ในช่วงแรกของวันเสาร์ พวกเราได้รับมอบหมายให้ “เล่า” เรื่องขอนแก่นในอดีตในความทรงจำ ส่วนช่วงท้ายของวันอาทิตย์ พวกเราได้รับหน้าที่ให้ช่วยกันคิดเพื่อ “อนาคต” ของเมืองขอนแก่น แต่กระนั้น ผมเชื่อว่า ส่วนสำคัญที่สุดคือ การเรียนรู้ปัจจุบัน วิเคราะห์ให้เห็นสถานการณ์จริง สภาพการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ ใครจะรู้ว่าความเจริญอย่างสะพานลอยฟ้าของ “รถไฟรางคู่” ที่ข้ามหัวเรา แล้วต่อไปนี้ พวกเราต้องลอดใต้ทางยกระดับอันใหญ่โต มองในแง่การพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมก็ต้องชื่นชมและชูใจ แต่ปัญหาที่ตามมาจากการ “พัฒนา” ก็เป็นเรื่องใหม่ที่อาจจะกลายเป็นปัญหาของเมือง ชุมชนข้างทางรถไฟจะเป็นอย่างไรในภาคต่อ อีกไม่นาน รถไฟฟ้ามวลเบา ระยะทาง 20 กว่ากิโลเมตร ก็กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง อำนวยความสะดวกให้คนเมือง แต่ผลกระทบที่แท้จริงคืออะไร???? นั่นคือคำถามที่(อาจจะ)ค้างคาใจเรา หรืออาจจะคาใจผมคนเดียว ในทางพุทธศาสนา จึงสอนหลักคิดให้เราอยู่กับปัจจุบัน เพื่อเรียนรู้และพัฒนา

การมาเรียนรู้ร่วมกันคราวนี้ เราได้กัลยาณมิตรเพิ่ม หลายคนได้รู้ว่ามีคนที่ทำงานคล้ายๆกัน และสามารถเชื่อมต่อภารกิจเพื่อให้งาน “อาสา” สำเร็จผลมากขึ้น และลดความซ้ำซ้อนลงได้ หลายคนเตรียม “ยื่นมือ” และ “ผสานใจ” ไปช่วยเหลือภารกิจที่สนใจจากการตั้งวงขายของ ผมเองก็อยากจะไปช่วยให้มาก แต่ติดแค่ว่า ผมเองยังมีภารกิจอยู่มากในการ “พัฒนา” เขตปกครองตนเองมหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่หลายภารกิจ การเชื่อมภารกิจของ เขตปกครองตนเอง มข. ไปเชื่อมงานจิตอาสาของ “มหานครขอนแก่น” เป็นความท้าทายที่ต้องเชื่อมโยงกันให้ได้ (ในอนาคต) แต่ผมก็ได้พูดในเวทีสุดท้ายก่อนปิดห้องเรียนในบ่ายวันอาทิตย์ว่า แม้ว่าเราจะทำงานกันคนละแบบ เหมือนเส้นขนาน ที่ไม่อาจมีทางมาบรรจบกัน ก็คงไม่เป็นไร เพราะก็ดีใจที่อย่างน้อยๆ ทุกๆเส้นทางก็เป็นเส้นที่ที่ช่วยกันทำเรื่องดีๆเพื่อบ้านของพวกเรา

ร้าน “คลาย” - KIND เป็นห้องเรียนสำคัญของชาวนครขอนแก่นแห่งใหม่ เปิดมาหลายเดือน แต่เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเย็นวันที่ 6 พฤษภาคม 60 วันที่พวกเราไปใช้สถานที่เพื่อการเรียนรู้ เพื่อนๆเคยชวนผมอยู่ร่ำไป ผมไม่มีโอกาสไปสักที สัปดาห์ก่อนหน้า สาขาการสอนภาษาไทย ก็ไปจัดกิจกรรม “ตั้งวงเล่า” เพื่อเล่านิทานแก่นักเรียนตัวน้อยๆฟัง เพื่อทั้งสองฝ่ายได้ฝึกทักษะและเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน จึงเป็นพื้นที่ตัวอย่างของการเรียนรู้ของคนเมือง เป็นสถานที่ในฝันที่ผมอยากให้เกิดมี โดยเฉพาะในพื้นที่ของ เขตปกครองคตนเองมหาวิทยาลัยขอนแก่น คลาย จึงเป็นแบบอย่างของการ “อาสา” เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ หากมีโอกาส จะไปขอให้สถานที่เพื่อใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้และ ตั้งวง ของงานที่ทำนะครับ

ทีมงานของโครงการผู้นำแห่งอนาคต Khon Kaen New Spirit เป็นทีมงานที่เข้มแข็ง และที่สำคัญ การมองเห็นโอกาสของการจับพวก “นักจิตอาสา” มารวมตัวกันได้ เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายคน ก็พบกันบ้างในเวทีต่างๆ เช่น เวทีของวิชาชีพ เวทีการการทำงานในบทบาทต่างๆ เจอกันบ้างในงานอาสา แต่การพาคนทำงานอาสามานั่งคิด พูด คุย แบ่งปันกันเป็นการเฉพาะนั้น ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะเชื่อมกัน โดยเฉพาะการเชื่อมใจ เชื่อมสายใยของการทำงาน “จิตอาสา” อย่างพวกเรา หรือพูดให้ง่ายคือ เอาคนที่พูดภาษาเดียวกันมาพบปะกัน จึงได้เห็นเวทีที่ทให้เด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน วัยทำงาน มานั่งอยู่ด้วยกันแล้วเกิดเวทีที่มีความสุขตลอดสองวัน จึงต้องขอบคุณจากใจ ด้วยจิตคารวะ

ท่านอื่นๆ นอกจากพี่แคล้ว แห่งคนไร้บ้าน (แต่ไม่ไร้ใจ) หลายท่าน ทำงานดีๆทั้งนั้น แต่หากจะกล่าวในที่นี้ เรื่องราวก็อาจจะดูยืดยาว ยืดเยื้อ เพราะหลายคนอาจจะอ่านมาไม่ถึงบรรทัดนี้ด้วยซ้ำ เพราะคนไทย “อ่านน้อย” และหากเขียนมากไปกว่านี้ เกรงว่าจะไม่เหลือพื้นที่ให้เพื่อนๆคนอื่นๆได้เขียนเล่าเรื่องราวในมุมของตนเองเลย ...... อยากฟังและอ่านทัศนะของท่านอื่นๆด้วย

สุดท้ายของบันทึกเรื่อง Khon Kaen New Spirit นี้ หวังว่า....จะได้มีโอกาสได้เล่าเรื่องราวของ Khon Kaen New Spirit ในวาระต่อๆไปอีกหลายวาระ แม้ว่าห้องเรียนจะปิดไปแล้ว และแม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่หมดไป แต่ใจของเราจะไม่หมดแน่นอน ผมเชื่อมั่นอย่างนั้นเสมอ สู้ๆครับ ผู้นำแห่งอนาคต

จึงทำให้ผมกลับมาทบทวนว่า วันหยุด 2 วันนี้ คุ้มค่ากว่าการนอนพักหรือการไปพักผ่อนกับครอบครัว


ณ มอดินแดง

7 พฤษภาคม 2560






หมายเลขบันทึก: 628378เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2017 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2017 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าสนใจมากค่ะ สร้าง รวมกลุ่ม เคลื่อนงานอย่างอาสา

"...สู้ๆครับ ผู้นำแห่งอนาคต

จึงทำให้ผมกลับมาทบทวนว่า วันหยุด 2 วันนี้ คุ้มค่ากว่าการนอนพักหรือการไปพักผ่อนกับครอบครัว..."

Yes, it's a path for future leaders.

No. It's NOT better but one of the necesary steps to gain awareness of our environment. Rest is good for health reasons. Familiy is and must be "the top priority" for society development. If we can win support from our family, we can win support from other families too. That's how we build a great pyramid - one block at a time.

เรารักครอบครัวครับ เดือนนี้ก็มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน 2 วันที่ว่า จึงขอปลีกเวลาไปเรียนรู้ก่อน ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในงานพัฒนาบนเวทีแห่งการเรียนรู้ หลายคน ทำงานประชาสังคมก้เพื่อพัฒนาระบบครอบครัวให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพราะคนไร้บ้านหลายคน "ไม่อยากอยู่บ้าน" ไม่ใช่เพราะไม่มีบ้านอยู่ 2 วันแห่งการเรียนรู้ จึงมีวันหยุดยาวที่จะมาเติมเต็ม "ครอบครัว" ครับ

ขอบคุณทุกกำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท