เรียนรู้จากการรับฟังเรื่องราวชีวิตผู้ป่วย(1)


แต่เดิมคิดว่า เราเป็นพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี แต่นี่กลับเป็นพี่พนักงานทำความสะอาดกลับเข้าถึง เข้าใจคุณป้ามากกว่าเรา

 เรียนรู้จากการรับฟังเรื่องราวชีวิตผู้ป่วย(1)

 สุพัฒน์  สมจิตรสกุล

[email protected]
          

              ในโรงพยาบาลของเราจะมีกระบวนการพูดคุยกับผู้ป่วย โดยกำหนดกันว่า ให้ไปพูดคุยเรื่องราวชีวิตของผู้ป่วย ( ความเป็นมาของชีวิต ตั้งแต่เกิด ความทุกข์ ความสุข ชีวิตครอบครัว ความเป็นอยู่ ) โดยให้ไปรับฟังและเก็บเรื่องราวมาให้ได้มากที่สุด โดยเน้นว่า ให้พูดคุยเรื่องความเจ็บป่วยให้น้อยที่สุด (เพราะมันจะเป็นเรื่องราวของเรา) แล้วนำเรื่องราวทั้งหมดบันทึกแล้วมาเล่าให้เพื่อนๆฟัง สัปดาห์ละครั้ง โดยไม่มีรูปแบบของการเล่า เรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่ได้เข้ารับฟัง
        เมื่อวานนี้ได้นั่งฟังน้องพยาบาลที่ได้พูดคุยเรื่องราวชีวิตของผู้ป่วยที่มารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งได้แง่คิดจากการฟังครั้งนี้พอสมควร
           พวกเราเริ่มต้นด้วยการให้ทุกคนวางจากงานที่จับอยู่ชั่วขณะ เพราะสถานที่พูดคุยเป็นบริเวณ ห้องพยาบาล(Nurse Station) และขอให้น้องที่ได้ไปพูดคุย เล่าเรื่องราวที่ได้พูดคุย
 ผู้ป่วยที่ไปพูดคุย เป็นหญิงสูงอายุ พักรักษาตัวที่ห้องพิเศษ ส่วนใหญ่คุณป้าจะนอนพักอยู่คนเดียว มารักษาแต่ละครั้งคุณป้าจะมาด้วยอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน  ซึ่งเป็นผลจากโรคที่คุณหมอบอกว่า คุณป้าป่วยเป็นไตวาย และทุกครั้งจะขอนอนพักในโรงพยาบาลทุกครั้ง ครั้งละประมาณ 1 สัปดาห์ และไม่ค่อยมีใครมาเฝ้า ซึ่งจะสร้างความอึดอัดใจต่อพยาบาลที่ดูแลว่าไม่จำเป็นต้องให้พักในโรงพยาบาล ควรที่จะกันห้องผู้ป่วยรายอื่นๆที่มีความจำเป็น  แต่เมื่อเราได้ฟังเรื่องราวชีวิตของคุณป้า และกลับต้องคิดไปอีกแบบ
                   คุณป้าเป็นแม่หม้ายสามีเสียชีวิตมาหลายปีแล้ว มีลูกชายอยู่คนเดียวรับราชการเป็นตำรวจอยู่ต่างจังหวัด นานๆจึงจะมาเยี่ยมที ปัจจุบันคุณป้าอยู่กับหลานชาย 2 คน  (ลูกของลูกชายจากภรรยาคนที่1 และ คนที่ 2) หลานชายคนแรกแต่งงานมีครอบครัวแล้ว คุณป้าก็ได้อาศัยให้หลานชายเป็นผู้ดูแล ซึ่งหลานชายและภรรยาจะมีอาชีพทำนาและรับจ้างทั่วไปทำให้ไม่ค่อยมีเวลาดูแลคุณป้ามากนัก  เมื่อพูดถึงลูกชาย คุณป้าจะพูดถึงด้วยความภาคภูมิใจเสมอว่า “ เขาเป็นคนดี เขาเรียนเก่ง มีความสามารถ ” แต่เมื่อถามว่า อยากให้ลูกชายมาเยี่ยมหรือไม่ คุณป้าจะบอกทันทีว่า “ไม่อยากให้เขามา มาทีต้องลางาน เสียการเสียงานหลายวัน ให้เขาส่งข่าวว่าอยู่ดีก็พอแล้ว ” เมื่อถามถึงเวลาเจ็บป่วย ป้าก็จะบอกว่า “เกรงใจหลานๆต้องเสียเวลาหาเงิน สู้เรามาขออาศัยอยู่กับโรงพยาบาล หมอคงไม่ว่าอะไร” เมื่อถามถึงการกินอยู่เมื่ออยู่โรงพยาบาล คุณป้าบอกไม่ชอบอาหารโรงพยาบาลมันมีแต่จืดๆ ไม่อร่อย แต่คุณป้าก็แก้ปัญหาโดยสร้างความสัมพันธ์กับพนักงานทำความสะอาด “ ป้าอยากทานอะไรก็จะวานให้ หมอที่ทำความสะอาดทำมาให้กิน เช่น ปิ้งปลาบ้า ต้มปลาบ้าง แต่ป้าบอกเขานะว่า อย่าเค็มมาก หมอไม่ให้กินเค็ม ... บางครั้งป้าก็ไม่ได้ให้เงินเขา เขาก็ทำมาให้กิน ...  ” ส่วนหลานก็จะมาเยี่ยมบ้างวันเว้นสองวัน หรือมารับวันที่หมอให้กลับเลยก็มี เมื่อไปถามข้อมูลกับพนักงานทำความสะอาด เราก็ได้คำตอบว่า “สงสารแก แกมีลูกชายคนเดียวเป็นตำรวจอยู่ต่างจังหวัด หลานก็ต้องทำมาหากิน ทำอะไรให้แกได้ก็จะทำ ถือว่าทำบุญ”
                หลังได้ฟังเรื่องราวของป้าแล้ว จึงให้แต่ละคนพูดถึงความรู้สึกเรื่องราวที่ได้รับฟัง
          คนที่หนึ่งบอกว่า รู้สึกผิดที่ตนเองได้คิดต่อคุณป้าว่า เป็นภาระ เพราะเดิมคิดว่า ทำไมลูกหลานจึงทิ้งให้เราดูแล แต่เมื่อได้ฟังความยุ่งยากในชีวิตของคุณป้า จึงเข้าใจคุณป้ามากขึ้น
             คนที่สองบอกว่า แต่เดิมคิดว่า เราเป็นพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี แต่นี่กลับเป็นพี่พนักงานทำความสะอาดกลับเข้าถึง เข้าใจคุณป้ามากกว่าเรา 
            คนที่สาม บอกว่า หลังได้ฟัง ทำให้เห็นว่า เวลาดูแลผู้ป่วยเราจะเห็นแต่โรคที่ติดตัวเขา ไม่ได้เห็นเรื่องราวชีวิตของผู้ป่วย แท้ที่จริงโรคเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต
             คนที่ สี่ บอกว่า คิดถึงแม่ที่บ้าน หนูไม่ได้กลับบ้านหลายอาทิตย์แล้ว อยากกลับไปเยี่ยม เพราะทำแต่งาน โทรศัพท์ไปที่ไรก็บอกว่า สบายดี กลัวว่าจะไม่บอกเราเมื่อเจ็บป่วยอะไร …….
          อีกคนพูดว่า หากมีเวลาเราน่าจะได้มีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยมากกว่านี้ จะได้เข้าใจเขามากกว่านี้
               อีกหลายคนก็จะกล่าวถึงเรื่องราวของคุณป้า ในทำนองได้เรียนรู้ และอยากทำความเข้าใจผู้ป่วยที่เขามาพักรักษาในแผนกของพวกเรา
                การพูดคุยวันนั้น ซึ่งปกติแล้วเมื่อพูดถึงผู้ป่วย เรามักจะพูดถึงความเจ็บป่วย ตัวเลขของผลแลป ทำอย่างไรจึงจะทำให้ตัวเลขเหล่านั้นกลับมาเป็นตัวเลขที่เราพอใจ ทำให้ขาดความเข้าใจไปว่า ความเจ็บป่วยหรือโรคเหล่านั้นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตของพวกเขา ทำไมเราจึงไม่ทำความเข้าใจพวกเขาว่า ในความหลากหลายของชีวิตนั้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย เมื่อเข้าใจ เราจะเข้าถึงและดูแลคุณป้าตามปัจจัยที่มีอยู่ในตัวคุณป้า มิใช่ตามตัวเลขที่เกิดจากอาการของโรค รู้สึกชื่นชมกับน้องที่ได้ไปเรียนรู้และเข้าถึงชีวิตของคุณป้า

หมายเลขบันทึก: 62793เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

     ขออนุญาติชื่นชมในกิจกรรมที่ทำมากเลยคะ ช่างเป็นกลยุทธที่เด็ดเหลือเกิน นำขบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการเข้าถึงจิตวิญญาณของคน การตกผลึกของความคิดนำไปใช้  หากไม่รังเกียจ และสงวนลิขสิทธิ์ขออนุญาตินำขบวนการนี้ไปใช้บ้างนะคะ  หากเราเอาวิธีนี้ไปใช้กับผู้ป่วยด้วยกันเองไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไรบ้างนะ  จะรออ่าน ตอนต่อไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท