AAR “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ครั้งที่ ๑๑ : จากคนไกล ถึง คนใน (๒)


จุดมุ่งหมายของการออกแบบงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ในครั้งที่ ๑๑ ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ ๓๐ – ๓๑ มีนาคม ๖๐ คือ การนำพาคุณครูผู้เข้าร่วมทุกคนไปซึมซับ รับรู้ และก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง

ภาพสะท้อนจากคนใน


ที่บ้านกรูด

๒ เมษายน ๖๐

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่คณะทำงาน และกลุ่มตัวแทนคุณครูประถมจากทั้ง ๒ ช่วงชั้น มาทำ กิจกรรม AAR กันนอกสถานที่ เนื่องจากวันงาน KM ครั้งนี้ ตรงกับวันสุดท้ายของปีการศึกษา พวกเราจึงตัดสินใจมาใช้เวลาสบายๆ ที่ริมหาดบ้านกรูด อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกัน


จุดมุ่งหมายของการออกแบบงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ในครั้งที่ ๑๑ ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ ๓๐ – ๓๑ มีนาคม ๖๐ คือ การนำพาคุณครูผู้เข้าร่วมทุกคนไปซึมซับ รับรู้ และก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง


การ AAR เริ่มจากการดูรูปกระดาษสีน้ำตาลแผ่นใหญ่ ๒ แผ่น ที่เก็บร่องรอยของคำที่ผุดขึ้นมาในใจของแต่ละคนเอาไว้ กิจกรรมนี้เป็นการสะท้อนความรู้สึกสั้นๆ หลังจากที่ได้ผ่านกิจกรรมเรียนรู้กันมา ๒ แล้ววันเต็ม และเป็นการบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา ๑๗.๓๐ น. ในวันสุดท้ายของปีการศึกษา






ฉันขอให้น้องๆ ช่วยกันอ่านคำที่ปรากฏอยู่ในกระดาษออกมาดังๆ คำว่า ซึมซับ ดังขึ้นให้ได้ยิน เป็นคำแรก ตามมาด้วยคำว่า ทบทวน งอกงาม ก้าวที่กล้า เพลินพัฒนา และคำอื่นๆ ...คำว่าซึมซับนี่คือ เป้าหมายแรกของการออกแบบกระบวนการครั้งนี้เลยทีเดียว...แสดงว่ากระบวนการของเราใช้ได้เลยนะนี่ !


จากนั้นฉันให้น้องๆ ที่อยู่ในวงพูดถึงคำที่ตัวเองเขียนไว้ในกระดาษ พร้อมทั้งเล่าให้ฟังว่าเหตุใดจึง เขียนคำนั้นลงไป


ครูเต่า – สุจิตรา เขียนคำว่า เรียนรู้ คุณค่า แรงบันดาลใจ ลงในเวนไดอะแกรม คำที่อยู่ตรง กลาง คือคำว่า เพลินพัฒนา เพราะเต่ารู้สึกอิน มาจากห้องเรียน อินจากที่ได้ร่วมแผนคิดกับทีมประยุกต์ ตั้งแต่ตอนที่เห็นครูจริงซ้อมสอน ได้เรียนรู้ เห็นคุณค่า เข้าใจลำดับของแผน และแรงบันดาลใจมากขึ้น ใช้ ความคิด ใช้ความรู้สึกของทั้งวันกลั่นออกมาเป็นภาพนี้


ครูต้อง - นฤตยา ตอนแรกคิดจะเขียนคิดว่าซาบซึ้ง ดีใจที่เห็นน้องๆ เรียนรู้ แต่พอต่อแถวจะไปเขียนรู้สึกว่าวันนี้ว่าตัวเองก็ได้ทบทวน ก็เลยเขียนคำว่าลงไปก่อน และไปเขียนคำว่าซาบซึ้งไปถึงใจ ตอนที่ช่วยกันเก็บงาน ปัจจัยที่ทำให้เขียนคำนี้ลงไปคือ นึกถึงคำของครูปาดตอนที่เปิดภาพจูลแล่นเรือใบ และพูดถึงเรื่องจูลที่กล้าแล่นเรือใบตัดอ่าว แล้วก็นึกถึงตัวเองว่าเราก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ให้กับจูล แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ

ตอนที่พี่ใหม่บอกว่าเราจะมาเปิดใจอ่านงานเขียนของเพื่อน ก็เลยนึกว่ามีใครว่า ที่เรากลัว คำตอบก็คือ T. Joyce เพราะเคยถูกเขาดุเรื่องเปิดประตูผิด ก็เลยคิดว่าจะอ่านงานของเขา เพราะอยากจะเปิดใจ กล้าที่จะข้ามความกลัวที่อยู่ในใจของตัวเอง แล้วก็ยังได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องนั้นด้วย ดีใจที่ปีนี้เราทำได้อีกครั้งหนึ่งแล้ว


ครูเกมส์ – สาธิตา ซึ่งนั่งทำงานห้องเดียวกันกับ T. Joyce เล่าเสริมว่า T. Joyce เคยเล่าให้ฟังว่ามีครูช่วงชั้น ๑ คนหนึ่งกลัวเขา แต่ไม่รู้ว่าใคร ที่แท้คือต้องนี่เอง


ครูนัท – นันทกานต์ เขียนคำว่า “สนุกกับการเรียน” แล้ววาดพระอาทิตย์ พอเขียนเสร็จก็ถอยออกมาอ่าน ก็ได้เห็นคนอื่นๆ ที่เขียนคำที่ให้ความหมายความคล้ายคลึงกัน ทำให้ได้รับรู้ว่าคนอื่นๆ ก็มีความรู้สึกเดียวกัน แม้ว่าสีหน้าจะดูอิดโรยกันอยู่บ้าง แต่พอเห็นสิ่งที่สะท้อนออกมาก็ประทับใจ

ตอนเลือกเข้าห้องย่อย เลือกเรื่อง วงกลมกัลยาณมิตร และตั้งใจว่า KM ครั้งนี้ จะมารับพลัง เพราะทุกครั้งก็มารับพลัง และก็ได้ตอบคำถามหลายๆ อย่างให้ตัวเอง


ครูนุ่น – พรพิมลเขียนคำว่า “มีพลังก้าวเดินต่อไป” การทำงาน KM ครั้งนี้ต้องตั้งสติ และค่อนข้างเหนื่อย เพราะต้องทั้งเรียนรู้และต้องเป็นคนจัดงานด้วย ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายตัวเองได้พลังและได้เรียนรู้มาก พอดูเปิดชั้นเรียนของครูจริง ได้เห็นตัวเองชัดเจนมากขึ้น อันนี้เหมือนได้ review ของเดิม ครั้งเดิมว่าได้พลังแล้ว ครั้งนี้ยิ่ง full option มากขึ้นไปอีก


ครูเกมส์ – สาธิตา “ตื่นรู้ เบิกบาน” เป็นคำที่กระทบใจในช่วงแรก ตั้งแต่เช้าวันแรกที่ครูหนึ่งกับพี่ใหม่คุยเรื่องงานศิลปะของนักเรียนชั้น ๕ และเบื้องหลังงานศิลปะนิพนธ์เรื่องอาเซียนของนักเรียนชั้น ๖ เชื่อมด้วยเรื่องของจูล ที่ครูปาดเอามาเล่า แล้วพี่ใหม่ส่งแรงบันดาลใจต่อไปถึงที่จะไปอ่านงานเขียนของเพื่อน รู้สึกว่าเข้าถึงกับตรงนี้ มาก สามารถทั้งส่งและไปต่อ มันเต็ม มันเป็นการปล่อยที่พอดี ก็เลยได้คำว่าตื่นตอนนั้น เบิกบานตลอดเวลา และทั้งเก็บและรับไปเรื่อยๆ ตลอด ๒ วัน


ครูญา – มนัสนันท์ เขียนคำว่า “ พลัง” และวาดภาพดวงอาทิตย์ ทุกครั้งที่มีงาน KM เหมือนได้พลังกลับมา กับตัวเองรู้สึกว่าเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของเรือใบ ยังสภาพดีแต่รู้สึกว่าชำรุดบ้าง พอมาถึงงาน “ชื่นใจครู” ก็ได้รับพลังเข้ามาเติม ได้เห็นพลังของน้องๆ เช่น น้องจริงเป็นคนเสนอตัวมาเปิดชั้นเรียน รู้สึกถูกชะตาเด็กคนนี้ ทั้งๆ ที่เป็นครูที่ไม่รู้จัก อยู่กันคนละช่วงชั้น แต่น้องก็เดินมาหา มาบอกเราว่า หนูจะช่วย อยากไปค่ายอาสา เราได้เห็นน้องเขาตื่นเต้นแต่ควบคุมอารมณ์ได้ดี เราได้เห็นลูกศิษย์ของเราที่นิ่งมาก เพราะช่วงเวลามันยาว แต่ความเหนื่อยล้าของเด็กไม่มีเลย มีแต่คิดๆๆๆ ตอนบ่าย ๆ ได้เห็น T.Ploy ครูสวย พูดช้าๆ ชัดๆ ยิ้มตลอดเวลา อยากให้ทุกชั้นเรียนเป็นแบบนี้ ไม่อยากให้น้องใหม่ๆ ที่เข้ามากำแผน แล้วลืมดูไปว่าคนเรียนได้ไปหรือเปล่า ครูน้องใหม่ๆ บอกว่า ชอบๆๆ อยากให้มีพื้นที่ที่ให้พลังแบบนี้


ครูปาด นี่เป็นหน้าที่ของพวกเราที่อยู่ในวงเล็กตรงนี้ ที่ต้องกลับไปสร้าง ไปทำให้การพูดคุยในแต่ละวงย่อยมีพลังชีวิตขึ้นมาจริงๆ ด้วยการกลับไปยกคุณภาพของการอ่านเด็ก การเข้าไปนั่งในใจเด็ก เมื่อทำได้แล้ว เราถึงจะมีวิธีที่จะไปหยิบประเด็นเรียนรู้ตรงนั้นออกมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน


วง PLC เริ่มต้นที่ครู เริ่มจาก Buddy กับ Buddy จากนั้นเป็นเรื่องของหลายๆ คู่ มาพูดคุยกันเป็นกลุ่ม ที่ครูที่สอนอยู่ในหน่วยวิชาเดียวกันหยิบ เอาบันทึกรายสัปดาห์มาคุยกันเอง ส่วนเรื่องโค้ชจะสามารถเข้าได้บางวงเท่านั้น การเข้าไปของโค้ชมีอยู่ด้วยกัน ๓ กรณี คือ ๑. กอบกู้ ๒.ส่งเสริม และ ๓. random ความเป็นเจ้าของวิชาที่แท้จริงจะอยู่ที่ตัวครูประจำวิชา ทีมครูพูดคุยกันเองและตั้งเป้าร่วมกัน แต่ละคนจะผลัดกันนำประเด็น ผลัดกันทำหน้าที่คุณอำนวย คุณลิขิต ผลัดหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ อาจจะเปลี่ยนกันรายเทอม หรือรายครั้ง แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละวง

หลักฐานรูปธรรมที่น่านำมาพูดคุยกัน มีได้ตั้งแต่ชิ้นงานที่เด็กทำ สมุดงาน บันทึกหลังสอน และอื่นๆ เพื่อเอามาดูกันว่า อะไรอยู่ในเด็กและอยู่ในความรับรู้ของเขา อย่างที่อาจารย์วิจารณ์แนะเอาไว้ว่าหัวใจสำคัญของครูในศตวรรษใหม่ ให้ครูเผย stage กับ process ของเด็กให้ได้

วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูประจำชั้นจะมีคุณภาพได้ จะต้องสร้าง O L E ให้กับงานครูประจำชั้น ต้องมีจุดประสงค์ มีกระบวนการที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่วัดได้


ครูแคท – คัทลียา เขียนคำว่า “เมื่อความสุขมาเคาะประตู” KM ครั้งนี้ทำให้รู้สึกว่ามีความสุขมาก และจะมีความสุขทุกครั้งที่เกิดการเรียนรู้ จริงๆ แล้วก็ได้เรียนรู้มาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เรื่องการออกข้อสอบของนักเรียน ชั้น ๓ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และได้เอามาเขียนเป็น KM ของภาคเรียนนี้ แล้วพอตอนปิดเทอมใหญ่ก่อนจะมาที่นี่ ก็ได้เรียนรู้จริงๆ จากห้องซ่อมเสริมภาษาไทยว่า ห้องเรียนที่ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเจ้าของการเรียนรู้ คือ ห้องเรียนที่เกิดจากโจทย์การเรียนรู้ดีๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแต่ละคนขับเคลื่อนการเรียนรู้ของเขาด้วยตัวเขาเอง และแม้ว่าตัวเองจะยังคิดโจทย์แบบนี้เองไม่ได้ แต่ได้โจทย์ทั้งหมดมาจากพี่ใหม่ ก็ยังรู้สึกมหัศจรรย์ว่าห้องเรียนแบบนี้ไม่ต้องมีนิทาน ไม่ต้องมีเกมส์ มาเล่น ครูไม่ต้องใจดีเป็นนางฟ้า แต่เด็กเขาก็อยากเรียน และถามครูทุกวันก่อนจะถึงเวลาเรียนว่าวันนี้เราจะเรียนคำว่าอะไรกัน มันน่าทึ่งมาก ก็เลยรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ “ความสุขมาเคาะประตู” จริงๆ


ครูวิ – วิสาขา เขียนคำว่า “แรงบันดาลใจ และ Happy Learning” คำนี้จะเขียนทุกครั้ง พลังทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือแรงบันดาลใจให้เราและคนอื่นๆ ถึงว่าเราจะเป็น อินทรี ที่ช่างจินตนาการนะ แต่ถ้ามีหน้าที่อะไรที่รับผิดชอบอยู่ก็จะต้องทำก็ตัดใจทำ เวลาเรียนก็จะเรียนอย่างเต็มที่ ก็เลยไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมเด็กๆ ที่ห้องถึงยังไม่อยากเรียน พอไปเห็นห้องเรียนพี่ใหม่ที่สอนนักศึกษาปริญญาตรีคณะสถาปัตย์ ที่อาศรมศิลป์ ก็เกิดความรู้สึกรู้สึกว่าพอเข้าไปแล้วมันอยากทำอะไรทุกอย่างที่พี่เขาบอกให้นักศึกษาทำ เริ่มเข้าใจความสำคัญของคำว่าแรงบันดาลใจ แล้วพอมาเข้า KM ครั้งนี้ก็เกิดแรงบันดาลใจอะไรสักอย่าง ไปทำในห้องเรียนของตัวเอง อยากทำให้ทุกคนมีความสุขในห้องเรียน ทุกครั้งที่จะมี KM จะเหมือนดูหนังภาคต่อไป ต่อไปจะยังไงต่อ เหมือนจะดีขึ้นเรื่อยๆ ใหม่ขึ้นเรื่อยๆ มีแรงลุกขึ้นมาเรื่อย อยากเป็นส่วนหนึ่งของงานที่มันดีขึ้นเรื่อยๆ


ครูปาด ครูประจำชั้นของช่วงชั้นที่ ๑ ต้องตั้งโจทย์ ว่า จะทำอย่างไรให้เด็กรู้ว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร เมื่อไหร่ควรทำอะไร ให้เด็กมีทั้งสัมมาสติ และสัมมาทิฐฎิ ฝึกเรื่องนี้ให้เต็มที่ในเวลาทั้งหมดที่เรามี รวมถึงในเวลาที่เราสามารถเข้าไปแทรกแซงได้ เพื่อให้เรื่องนี้เกิดขึ้นให้ได้


ครูอัม – อัมภิณี เขียนคำว่า “ก้าวผ่าน และแรงบันดาลใจ” เห็นจากครูหนึ่ง ที่เป็นครูน้องใหม่ที่อายุงานเพียง ๑ ปีครึ่ง ที่เขาสามารถทำให้เด็กหลุดพ้นจากข้อจำกัดของตัวเองได้ ซึ่งเรื่องที่เขาทำ มันไม่ใช่แค่งานของครู ป.๖ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ครูควรมี นั่นคือการทำให้เด็กค้นพบศักยภาพ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อ ครูจริงเป็นครูน้องใหม่อีกคนหนึ่งที่ทำให้เราทึ่ง ลักษณะดีของน้องคือฟังเด็ก และสามารถสร้างบรรยากาศ ในชั้นเรียนให้ทุกคนรู้สึกว่าครูเปิดให้เกิดการพูดคุยกันได้ เห็นแล้ว รู้สึกว่าอยากลองสอนข้ามวิชาดูบ้าง


ครูปาด ก้าวต่อไปคือ ต้องก้าวไปเรียนรู้ข้ามศาสตร์อื่นได้


ครูนุช – ชัญญานุช เขียนคำว่า “ก้าวผ่าน” งาน KM ครั้งนี้ตื่นเต้น ตื่นเต้นตั้งแต่วันแรก อินเตอร์เน็ตช้ามาก ตื่นเต้นและขนลุกกับก้าวผ่านของน้องจูล เพราะนุชเข้าใจว่าจูลคือเด็กที่เป็นผู้ชาย ตื่นเต้นที่เด็กตัวแค่นั้นทำได้ นุชเป็นคนติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทเดินเรือมาโดยตลอด และยังบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าจะมีเรือใบของเด็กผู้ชายอายุ ๑๓ แล่นอยู่ในช่วงเวลานั้น ตรงจุดนั้น ให้เขาช่วยระมัดระวังด้วย

ครูจริง เป็นภาพของครูที่สวยงามมาก ดูดีมาก เป็นภาพครูที่พี่อยากเห็น ทั้งการแต่งกาย คำพูด ท่าทีต่อเด็ก และความเข้าใจในวิชา ครูพลอย ESL ก็น่ารักมาก ต่อมาก็ตื่นเต้นกับเอกสารที่ปรับปรุงกันจนนาทีสุดท้าย ตื่นเต้นตอนครูปาดหายาหม่องยาดม เพราะจะเป็นลม อยากบอกว่าเหนื่อยกายแต่สุดท้ายชื่นใจ ด้วยน้ำตาแห่งความชื่นใจ และปิติ


ครูปาด อาจารย์วิจารณ์ฝากมาชื่นชมงานเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของส่วนงานนุช ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง และแนะว่าให้เอาข้อมูลวิชาการเหล่านี้ ไปทำให้อ่านง่ายๆ แล้วตั้งคำถามกับครูว่า “ใครเห็นอะไร” เราต้องการจินตนาการใหม่ๆ ว่าเห็นอะไรบ้าง และจากข้อมูลนี้จะเอาไปทำอะไรได้บ้าง เอาไปคิดอะไรต่อได้บ้าง เพื่อให้เกิดจินตนาการกับความสร้างสรรค์ ใหม่ๆ กับงานที่เรากำลังทำอยู่


ครูเล็ก – ณัฐทิพย์ เขียนคำว่า “ขุมพลัง” ตั้งแต่เห็นตารางงาน KM ครั้งนี้ก็รู้ว่าเหนื่อยแน่ ขุมพลังเหมือนเหมืองแร่ ต้องทำงานอย่างหนักที่จะเจาะเอาทุกอย่างออกมา ต้องขอบคุณครูจริงจริงๆ ที่กล้าหาญเปิดชั้นเรียน การทำงานเปิดชั้นเรียนครั้งนี้ทำให้รู้เลยว่าเราไม่เคยซัดกับพายุตรงๆ ไม่เคยต้องเริ่มต้นจากตัวเราเอง เพราะทุกครั้งเรามีขุมพลังคือครูปาดครูใหม่คอยช่วยประคับประคอง แต่การเปิดชั้นเรียนครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่ากว่าจะทำแผนการเรียนรู้ดีๆ ขึ้นมาได้สักหนึ่งแผนเราต้องมีความรู้ความสามารถ อะไรบ้าง ตัองประณีตกับวิธีคิด ต้องเต็มที่กับงานขนาดไหนจึงจะได้งานอย่างที่เห็น ในการเตรียมกิจกรรมฟองน้ำกับการซึมซับที่แตกต่างก็เช่นกัน การเตรียมงานกับครูใหม่ทำให้เราได้รู้ว่าเราไม่รู้อะไร และเราต้องรู้ อะไร ต้องเตรียมตัวอะไรให้มากขึ้นบ้าง

การทำงานครั้งนี้ทำให้เราได้รู้ว่า ถ้าอยากจะได้พลัง ต้องลงมือทำ เราต้องดึงความรู้ ความพยายาม ความสามารถ ออกมาจากตัวเอง เอาไปประสานกับขุมพลังจากครูปาด ครูใหม่ ขุมพลังจากเด็ก จากเพื่อนครู ต้องจับพลังมาจากทุกสิ่ง เราต้องเรียนรู้ เราต้องเปิดกว้าง ทั้งเปิดขุมพลังภายใน และเปิดรับพลังภายจากภายนอก

เพราะถ้าเราต้องทำการศึกษาของชาติ เราต้องใช้ทุกๆ อย่างที่เรามีอยู่ เพื่อทำประโยชน์ให้ได้ ต้องตั้งสติ และฝึกตนต่อไปเรื่อยๆ และเราต้องพากเพียรต่อไป เราอยูบนพื้นที่ของขุมพลังที่หลากหลาย อยู่ที่เราจะเชื่อมพลังภายในภายนอกเข้ามาปะทะกันแล้วพาเคลื่อนไปด้วยกัน แล้วจะเป็นสิ่งที่สวยงาม เรากระจาย พลังได้กว้างขึ้น ดีใจที่อาจารย์วิจารณ์ชื่นชมในสิ่งที่เราพยายามทำและทำต่อไป ไม่ใช่แค่องค์ความรู้ที่มีอยู่ แต่บรรยากาศครั้งนี้มันแรงมาก แล้วการเรียนรู้ดีๆ ที่เกิดขึ้นในทุกจุดก็กระจายลงมามายังจุดเล็กๆ ครบทุกรส


ครูปาด คิดถึงคำว่า “แจ้งเกิด”


ครูใหม่ คิดถึงคำว่า “ฟิน !”

เห็นตั้งแต่ตอนประชุมวางแผนออกแบบกระบวนการ ๒ วันในห้องแล้วว่างาน KM ครั้งนี้ต้องดีแน่นอน เพราะเราเป็นเจ้าของแปลงผักผลไม้ที่รดน้ำพรวนดินเองกับมือ แล้ว ทุกแปลงก็กำลังออกดอกออกผลงามสะพรั่ง เก็บเอามาปรุงยังไงก็อร่อย เพราะทุกอย่างมันจริง

ครั้งนี้เตรียมงานเหนื่อกว่าทุกครั้ง เพราะมีเรื่องบางเรื่องที่ต้องทำการตีความคุณค่า และดึงคุณค่านั้นออกมาให้ทุกคนเห็น อย่างเช่น กิจกรรมเรียนรู้เรื่องราวหลากหลายจากงานศิลปะของนักเรียนชั้น ๕ และงานศิลปะนิพนธ์ของนักเรียนชั้น ๖ในช่วงเช้า และ งานวิจัยของ PISA และการประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้น ๒ ในช่วงบ่ายของวันแรก ที่เป็นการยกระดับความเข้าใจของสมาชิกทั้งหมดเพื่อให้ทุกคนเข้าสู่กระบวนทัศน์ของการ “ซึมซับ รับรู้ สู่การเปลี่ยนแปลง” ที่เป็นแนวคิดหลักของงานครั้งนี้ เพื่อส่งพลังขับเคลื่อนไปสู่กิจกรรม “ฟองน้ำและการซึมซับที่แตกต่าง” ของเล็ก การเปิดชั้นเรียนของจริง และการเรียนรู้ในช่วงของพลอย ที่ต้องดำเนินไปให้ทุกกิจกรรมของงาน KM ครั้งนี้ เพราะเป้าหมายที่เป็นโจทย์ของเรา คือ การทำให้ครูในทุกหน่วยวิชาสามารถนำความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นไปใช้กับหน่วยวิชาของตนได้ กับทั้งต้องซึมซับการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ผ่อนคลาย รื่นรมย์ และการสร้างการเรียนรู้ด้วยคำถามท้าทายศักยภาพผู้เรียน ซึ่งเป็นโจทย์ยากๆ ทั้งนั้น

...แต่ยิ่งเราต้องทำงานหนักเท่าไหร่ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้ลงแรงลงไปก็ยิ่งหอมหวานมากขึ้นเท่านั้น





ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท