เส้นทางการได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพครู


เส้นทางการได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพครู

ขออนุญาตเกาะกระแสใครก็ได้ (อ้างอิงตามกระทรวงศึกษาธิการประกาศอนุมัติ) มีสิทธิในการสอบบรรจุแต่งตั้งครูผู้ช่วย… เนื่องจากความขาดแคลดนครู จึงก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเข้มข้น ซึ่งในการแบ่งปันในครั้งนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้สำหรับผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาคุณวุฒิปริญญาตรีทางการศึกษา [กศ.บ., ค.บ., ศษ.บ.] แต่ประสงค์ประกอบวิชาชีพ “ครู”

อาชีพครูเป็นอาชีพที่คนส่วนใหญ่แล้วมีโอกาสคลุกคลีโดยใช้เวลาประมาณหนึ่งในชีวิตการศึกษา จินตนาการง่าย ๆ คือ ผู้อ่านลองมองย้อนกลับไปสมัยเป็นนักเรียน… ^^ จึงอาจเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนหลาย ๆ คน ใฝ่ฝันอยากเป็นครู…

“ครู” เป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “อาชีพชั้นสูง” กล่าวง่าย ๆ คือ เป็นอาชีพที่ผู้ประกอบอาชีพนี้นั้น ถูกกำหนดให้มี “ใบประกอบวิชาชีพ” ตาม พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการ</wbr>ศึกษา พ.ศ. 2546

ซึ่งการได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพครูนั้นจำเป็นต้อง เป็นนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตร การศึกษาศาสตรบัณฑิต, ครุศาสตรบัณฑิต, ศึกษาศาสตรบัณฑิต เป็นต้น ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวยังจำเป็นต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคุรุสภา (ต้องผ่านการประเมินหลักสูตรว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตรงตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่)

คำถามคือ… แล้วถ้าหากอยาเป็นครู แต่ไม่ได้จบตามหลักสูตรดังกล่าว จะเป็นครูได้หรือไม่ คำตอบคือ …. “ได้” แต่ถ้าหากประสงค์จะสอบบรรจุแต่งตั้งข้าราชการ ในตำแหน่ง ครูผู้ช่วยนั้น ใช้อะไรได้บ้าง (หลายคนสับสน เพราะไม่ทำความเข้าใจ) ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนนะคะ ว่าเอกสารใดบ้างที่สามารถใช้ในการสอบบรรจุได้…

1. ใบประกอบวิชาชีพครู (ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง มาตฐานความรู้ และมาตรฐานประสบการณ์ กล่าวคือ มีความรู้ในมาตรฐานวิชาชีพครู 9 มาตรฐานเดิม 11 มาตฐานใหม่, และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เป็นระยะเวลา 1 ปี หรือ 2 ภาคการศึกษา ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้)

2. ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน (ผ่านมาตรฐานความรู้เท่านั้น แต่ขาดมาตรฐานประสบการณ์ หรือว่าง่าย ๆ ยังไม่มีประสบการณ์วิชาชีพครู) นั่นหมายถึง หากประสงค์จะเปลี่ยนใบอนุญาตปฏิบัติการสอนเป็น ใบประกอบวิชาชีพครู ต้องหาโรงเรียนฝึกสอน

3. หนังสือรับรองสิทธิ หลักฐานที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาออกให้แก่ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อเป็นหลักฐานแสดงสิทธิในการประกอบวิชาชีพครู ระหว่างรอการอนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ โดยหนังสือรับรองสิทธิ มีอายุ 60 วัน

และสุดท้าย

4. หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (เอกสารนี้ไม่สามารถนำไปประกอบสอบบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูได้) ทำไม??? เนื่องจากเอกสารนี้คุรุสภาออกให้ผู้ที่ยังขาดทั้งมาตรฐานความรู้ และมาตรฐานประสบการณ์ แต่คุรุสภาเองในอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ เพื่อมิให้ขัดกับพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการ</wbr>ศึกษา พ.ศ. 2546 โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องพัฒนาตนเองให้ได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพครู

ผู้ถือเอกสารนี้จำเป็นต้องสมัครเป็นครูอัตราจ้างในโรงเรียน (ได้ทั้งรัฐหรือเอกชน)


http://site.ksp.or.th/about.php?site=license&SiteMenuID=393

Link สำหรับการยื่นขอเอกสารประกอบวิชาชีพของคุรุสภา

หลายท่านคงอยากทราบแล้วว่า จะพัฒนาตนเองนั้น กระทำได้อย่างไร… (เปลี่ยนเอกสารในข้อ 4 ให้เป็นเอกสารในข้อ 1) หรือเข้าใจง่าย ๆ คือ จะได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพครูนั้นอย่างไร (ขอสงวนไว้ให้กับผู้ที่มิได้สำเร็จการศึกษาในวุฒิทางการศึกษาดังกล่าวข้างต้น)

1. ในช่วงปี พ.ศ. 2555 – 2556 เคยมีการสอบเทียบโอน 9 มาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งสมัครสอบผ่านทางอินเทอร์เน็ต (เสียค่าใช้จ่ายมาตรฐานละ 300 บาท) และไปสอบตามสนามสอบที่จัดไว้ให้ (ผู้เขียนสอบในรอบปลายปี 2555 ผ่านมาตรฐานที่ 1 และ 6 และในรอบกลางปี 2556 ผ่านมาตรฐานที่ 4) หลังจากนั้นการจัดสอบเทียบโอนได้สิ้นสุดลง

2. การเข้าอบรม 9 มาตรฐานวิชาชีพครู ใช้เวลาอบรมทั้งสิ้น 60 ชั่วโมง/1 มาตรฐาน (จัดอบรมโดยมหาวิทยาลัยที่ผ่านการอนุมัติจากคุรุสภา) โดยการจะเข้ารับอบรมได้นั้นต้องผ่าน

2.1 การสอบผ่านมาตรฐานวิชาชีพครู (สอบ 9 มาตรฐาน) อย่างน้อย 1 มาตรฐาน

2.2 เทียบโอนมาตรฐานความรู้ ผ่านอย่างน้อย 1 มาตฐาน

!!!! เทียบโอนอย่างไรหล่ะ…. การเทียบโอนคือ การนำหลักสูตรที่ตนเองสำเร็จทั้งในระดับปริญญาตรีและ/หรือปริญญาโท เสนอต่อคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพตรวจสอบว่า วิชาที่มีอยู่สามารถเทียบเคียงได้กับมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูหรือไม่ โดยการเปิดให้เทียบโอนนั้น ต้องติดตามเวปไซต์คุรุสภาบ่อย ๆ ปัจจุบัน (หลังจากพี่ที่โรงเรียนเก่าโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าหน้าที่คุรุสภา) แจ้งว่า ผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป ไม่มีสิทธิเทียบโอน ดังนั้น หากสำเร็จการศึกษาแล้ว ตรงกันกับทางคุรุสภาประกาศให้เทียบโอน รีบดำเนินการค่ะ

ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงในข้อนี้จึงขออนุญาตแบ่งปันตรงข้อนี้เป็นพิเศษนะคะ เมื่อคุรุสภาประกาศให้มีการอบรม ทางมหาวิทยาลัยที่ได้รับอนุญาตให้จัดอบรมก็จะประกาศผ่านทางเวปไซต์ ส่วนใหญ่แล้วจะประกาศผ่านคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสร์ โดยเอกสารหลักฐานที่ผู้ประสงค์เข้ารับอบรมต้องมีคือ

1) หลักฐานการเทียบโอน (กรณีเทียบโอน)

2) หลักฐานการผ่านการทดสอบ (กรณีทดสอบกับคุรุสภา)

จากนั้นก็ติดต่อด้วยตนเองกับคณะที่ประกาศรับเข้าอบรม โดยคุรุสภาได้จำกัดจำนวนผู้เข้ารับอบรม ทั้งนี้อาจจำกัดด้วยจำนวนของคณาจารย์และปัจจัยอื่น ๆ ดังนั้น การเข้ารับอบรมในบางมหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถเปิดจนครบทุกมาตรฐานได้ หรือหากจำเป็นต้องเปิดครบทุกมาตรฐานอาจต้องเปิดทับซ้อนกัน เช่น

มาตรฐานที่ 1 อบรมวันที่ 1 – 10 มกราคม

มาตรฐานที่ 4 อบรมวันที่ 1 – 10 มกราคม

จะเห็นว่า กำหนดการดังกล่าวอาจทำให้ผู้เข้ารับอบรมต้องเลือกว่าควรอบรมมาตรฐานใดดี ในกรณีที่ประสงค์อบรมทั้งคู่ อาจต้องเปลี่ยนสถานที่อบรมไปเป็นมหาวิทยาลัยอื่น

ในระหว่างอบรม ผู้เข้ารับอบรมต้องเข้าร่วมให้ครบ 60 ชั่วโมง และจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับทีทางคณะและวิทยากรได้แจ้งไว้ล่วงหน้า มิเช่นนั้นอาจเกิดผลกระทบคือไม่ผ่านการอบรม…

3. ศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตร (ประกาศนียบัตรวิชาชีพครู) หรือที่เรียกกันว่าเรียน ป. บัณฑิต ใช้เวลาการศึกษาตามหลักสูตร 1 ปีครึ่ง

เน้นย้ำว่า การเรียนป. บัณฑิต จะต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองจากคุรุสภาเท่านั้น จึงจะได้รับใบประกอบวิชาชีพครู

4. ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ซึ่งจะได้ 2 ต่อกล่าวคือ ได้รับวุฒิ ปริญญาโท และใบประกอบวิชาชีพครู แน่นอน หลักสูตรต้องได้รับการรับรองจากคุรุสภา โดยปกติการเรียนปริญญาโทตามหลักสูตรจะใช้เวลา 2 ปี (แต่หากหลักสูตรระบุว่าเป็นแผน ก 2 หรือเรียกว่าเป็นแบบทำวิทยานิพนธ์นั้น อาจใช้ระยะเวลามากกว่า 2 ปี)

ในการแบ่งปันประสบการณ์ในครั้งนี้ผู้เขียนเองมุ่งหวังให้เป็นแนวทางการพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติถูกต้อง และครบถ้วนตามกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ เพื่อให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงอันส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติสืบไป…

หมายเลขบันทึก: 627462เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2017 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2017 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท