ยุทธศิลป์ของมหาตมะ คานธี ในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย


มหาตมะ คานธี เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่เราทุกคนรู้จักกันดี เพราะมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงอินเดียและเปลี่ยนแปลงโลกด้วยแนวคิดแบบสันติวิธี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองให้คนรุ่นหลังลุกขึ้นมาใช้แนวคิดดังกล่าวในการทัดทานกับกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคม โดยในบทความนี้จะอธิบายถึงวิธีการที่มหาตมะ คานธีใช้ต่อสู้อย่างสงบและงดงามด้วยศีลธรรมเพื่อต่อต้านอังกฤษ ซึ่งในที่นี้เรียกว่า “ยุทธศิลป์การต่อสู้ของคานธี” เพื่อปลดแอกอินเดียออกจากเครือจักรภพอังกฤษหรือได้เอกราชนั่นเอง

อนึ่ง ในช่วงยุคล่าอาณานิคมนั้น อินเดียเสียเอกราชให้กับอังกฤษ โดยเหตุสำคัญที่ทำให้เสียเอกราชมี 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยภายนอก เกิดจากการที่อังกฤษเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในอนุทวีปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (The British East India Company) ขึ้นในปี พ.ศ. 2143
(ค.ศ. 1600) เพื่อค้าขายพร้อมทั้งครอบครองดินแดนและแทรกแซงในการเมืองท้องถิ่น จนกระทั่งอินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2420 (ค.ศ. 1877) ทำให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศอินเดีย[1] และปัจจัยภายใน ช่วงนั้น ราชวงศ์โมก์ฮัลหรือราชวงศ์โมกุล (Mughal) ตกต่ำเสื่อมถอย เนื่องจากการคอรัปชั่น กดขี่ราษฎร และการก่อกบฏ จนในที่สุดก็ถึงกาลล่มสลายลงในรัชสมัยของกษัตริย์โอรังเซบ (Aurangzab) ซึ่งปกครองอินเดียในช่วงปี ค.ศ. 1658 – 1707

โดยสรุปแล้วทั้งปัจจัยภายนอก คือ การเข้ามามีอิทธิพลของอังกฤษต่ออินเดียที่ต้องการสร้างรายได้ในรูปแบบภาษีให้แก่รัฐบาลอังกฤษและปัจจัยภายใน คือ ความอ่อนแอของราชสำนักโมกุลในอินเดียเอง จึงทำให้อินเดียเสียเอกราชให้แก่อังกฤษ ในปี ค.ศ. 1877

การตื่นตัวเรื่องชาตินิยมในสังคมอินเดีย

ในช่วง ค.ศ. 1858-1905 ในสังคมอินเดียได้รับความเจริญจากอังกฤษด้านการศึกษา สังคมและศาสนา ทำให้เกิดการจัดตั้งสมาคมทางการเมืองร่วมกันต่อมากลายเป็นพรรคคองกรสแห่งชาติอินเดียและกลุ่มสันนิบาตมุสลิมขึ้น โดยอินเดียเริ่มการมีต่อสู้ของชาวอินเดียเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ มิได้หมายถึงการทำสงครามระหว่างชาวพื้นเมืองกับกองทหารอังกฤษในอินเดีย แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองที่จะปกครองตนเองต่ออังกฤษอย่างสงบโดยผ่านพรรคคองเกรสอินเดียแห่งชาติที่กล่าวมาในข้างต้น มีสมาชิกเป็นทั้งฮินดูและมุสลิมซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของคนทั้งชาติ[2] ซึ่งมหาตมะ คานธี เองก็มีบทบาทเป็นผู้นำในพรรคคองเกรสแห่งอินดียและมวลชนเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษในช่วงนี้เอง

โดยสรุปแล้วการตื่นตัวเรื่องชาตินิยมสังคมในอินเดีย เกิดจากการได้รับอิทธิพลของความเจริญด้านการศึกษา สังคมและศาสนาจากอังกฤษ ทั้งนี้ยังมีส่วนของความต้องการอยากปกครองตนเองของชาวอินเดียหรืออยากเป็นอิสระจากอังกฤษ ทั้งสองเหตุผลนี้นำมาซึ่งการตื่นตัวและการขยายตัวเรื่องชาตินิยมในสังคมอินเดียอย่างรวดเร็ว

ยุทธศิลป์ในการต่อสู้เพื่อเอกราช

ยุทธศิลป์ที่มหาตมะ คานธี ใช้ในการต่อสู้ เป็นวิธีการต่อสู้อย่างสันติวิธี หรือไม่ใช้ความรุนแรง หากแต่เป็นการต่อสู้ด้วยศีลธรรมทางศาสนาของทุกศาสนา เพื่อกดดันอังกฤษให้เริ่มมอบอิสระภาพให้อินเดียมากขึ้นตามลำดับ โดยศาสตร์นี้เป็นศิลปะในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถือว่า “เป็นการรบที่งดงาม เพราะรบด้วยความสงบ” เป็นแบบแผนให้กับคนรุ่นหลัง เพื่อนำมาใช้เป็นรูปแบบการประท้วงเพื่อทัดทานกับอำนาจรัฐในเวลาต่อมา

หลักคิดสำคัญของมหาตมะ คานธี เป็นหลักศีลธรรมทางศาสนาของทุกศาสนา ที่มีในอินเดีย เพราะสิ่งที่คานธี ยึดถือ คือ ความเป็นสัจจะและความเป็นธรรม[3] โดยหลักศีลธรรมที่ใช้ ได้แก่ อนาศักดิโยคะ สัจจะ ความยากจน ความกล้า ขันติธรรม ความอ่อนน้อมถ่มตน คำสอนเรื่องดาบ อหิงสา สามัคคีและพรหมจรรย์[4] ซึ่งคำสอนที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ เป็นหลักธรรมร่วมของทุกศาสนาที่คานธีนำมาใช้เป็นหลักคิดในการเคลื่อนไหว ซึ่ง”ศีลธรรมร่วมนั้น”ทำให้ทุกคนยอมรับและปฏิบัติร่วมกันได้โดยมีความขัดแย้งน้อยลง และนอกจากนี้ยังมีนัยของการปลุกความเป็นชาตินิยมในตัวชาวอินเดียด้วยเพื่อให้ทุกคนมีสำนึกร่วมว่า ต้องเป็นเอกราชจากอังกฤษให้ได้ นั่นเอง

หากเราวิเคราะห์ดูในเบื้องต้น จะเห็นว่าคานธีใช้หลักธรรมของทุกศาสนา(ศีลธรรมร่วม) และศาสนาก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณของของอินเดีย เมื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองยกหลักศาสนาขึ้นมานำ นั่นแสดงว่าย่อมมีผู้คนที่อยู่ในศาสนานั้นๆเริ่มเห็นพ้องตามและเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวดังกล่าว ซึ่งมิได้มีเพียงชาวฮินดูและยังมีชาวมุสลิมและอื่นๆเข้ามาร่วมด้วย เพราะเขามีความศรัทธาในตัวผู้นำอย่าง มหาตมะ คานธี ที่ยอมรับทุกศาสนาและไม่แบ่งแยก อีกทั้งมีการปลุกกระแสความเป็นชาตินิยมเรื่อยๆ ทำให้ชาวอินเดียเริ่มเห็นตามและออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยทั้งศีลธรรมร่วมและสำนึกร่วม ทั้งสองอย่างนี้เป็นปัจจัยเชิงปัจเจกที่สำคัญ ที่ทำให้การเคลื่อนไหวมีพลังอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลง

ศิลปะในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคานธี ใช้พลังมวลชนชาวอินเดีย โดยขั้นตอนการเคลื่อนไหวที่คานธีใช้ คือ การเจรจา ไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง เตรียมกลุ่มพร้อมเผชิญหน้า ปลุกจิตสำนึก และยื่นคำขาด การทำ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ นัดหยุดงาน และไม่ให้ความร่วมมือ เอางานของรัฐบาลมาทำแทนและทั้งรัฐบาลซ้อน[5]ขึ้นมาทำงานซ้อนอำนาจกับรัฐบาลกลางอีกที

หากวิเคราะห์แล้วจัดเป็นขั้นจะได้ว่า แรกเริ่มเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อม ได้แก่ การเจรจา ไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง เตรียมกลุ่มพร้อมเผชิญหน้า ปลุกจิตสำนึก และยื่นคำขาด เป็นช่วงเวลาของการปลุกระดมชาวอินเดียให้มีศีลธรรมร่วมและสำนึกความเป็นชาติร่วมกัน ช่วงที่สองเป็นช่วงการต่อสู้โดยสงบ ได้แก่ การทำสัตยาเคราะห์ (คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ นัดหยุดงาน และไม่ให้ความร่วมมือ) เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดเพราะจะมีผลกระทบต่ออังกฤษ สร้างแรงกดดันให้อังกฤษมอบเอกราชให้อินเดีย มีหลักสำคัญ คือ สัจจะ อหิงสา และการดื้อแพ่ง[6] ต่อมาช่วงที่สามเป็นการเคลื่อนไหวในระดับมหภาค ได้แก่ เอางานของรัฐบาลมาทำแทนและทั้งรัฐบางซ้อน เป็นช่วงเวลาที่ต้องแทรกแซงด้านโครงสร้าง เพราะพยายามทำให้รัฐบาลกลางนั้น มีอำนาจลดลงและในขณะเดียวกัน ฝ่ายคานธี ก็มีอำนาจเพิ่มมาขึ้นลำดับ ทั้งเชิงรากที่มีพลังมวลชน และเชิงโครงสร้างที่มีอำนาจทางการเมือง ทั้งพลังมวลชนและพลังของการแทรกเซิงเชิงโครงการเหล่านี้ ทำให้คานธี มีอำนาจในการต่อรองกับอังกฤษเพิ่มมากขึ้น

การปฏิบัติเช่นนี้เป็นแบบแผนแนวทาง หรือ ยุทธศิลป์ของมหาตมะ คานธี ที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอินเดีย โดยจากความข้างต้น สามารถสังเคราะห์ได้ 3 หลักการ ดังนี้
1) การเน้นปลุกจิตสำนึกให้ชาวอินเดียมีศีลธรรมร่วมและสำนึกความเป็นชาตินิยมร่วมกัน มีการเจรจา และเตรียมคน เพื่อเตรียมประท้วงอย่างสงบ ซึ่งศีลธรรมร่วมและสำนึกร่วม เป็นผลให้คนออกมร่วมเคลื่อนไหวจำนวนมาก
2) สัตยาเคราะห์ เป็นวิธีการที่ทำให้มวลชนสามารถต่อสู้ กดดันและทัดทานอำนาจของรัฐได้ โดยใช้สันติวิธี ไม่มีความรุนแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและลดอำนาจของรัฐที่ควบคุมเป็นอย่างมาก
3) การแทรกแซงเชิงโครงสร้าง สามารถทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการปกครองของอังกฤษในอินเดียและยังเป็นการพยายามลดอำนาจรัฐอังกฤษให้น้อยลงอีกด้วย

สรุป แบบแผนในเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ชอบด้วยศีลธรรม อหิงสา ไม่ปรารถนาการนองเลือด หรือที่เรียกว่า ยุทธศิลป์ของคานธี เป็นศาสตร์ของประชาชนในการต่อสู้และทัดทานกับอำนาจรัฐ แม้ว่าเส้นทางการเคลื่อนไหวของคานธี จะเดินท่ามกลางปัญหาและอุปสรรค หลายครั้งที่ถูกจำคุก แต่ทว่ายุทธศิลป์ที่คานธีใช้ ยังคงเป็นยุทธศิลป์แบบสัตยาเคราะห์ที่นุ่มนวล ไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากกลับมั่นคงกลายเป็นแบบแผนในการทัดทานอำนาจรัฐที่มิชอบให้คนรุ่นหลังในเวลาต่อมา เช่น อองซอน ซูจี เป็นต้น ทั้งนี้แบบแผนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่งดงามดังกล่าว ยังคงเป็นคุณค่าด้านประวัติศาสตร์และบทเรียนให้คนยุคถัดมาเสมอ เพราะสันติวิธี คือ ความชอบธรรมทางการต่อสู้ของประชาชน



[1] ประชุมพร คงทน. (2527). ประวัติศาสตร์เอเชียใต้. หน้า 105-106

[2] เรื่องเดียวกัน. หน้า 184

[3] กรุณา กุศลาสัย. (2540). มหาตมา คานธี. หน้า 19.

[4] กิติมา อรทัต.(2539). ข้อคิดคานธี. หน้า 11-60 และ 118-134

[5] โจแอน บอนดูแรนต์. (2536). อหิงสาอาวุธของคนกล้า. หน้า 29-30

[6] อานนท์ จิตรประภาส. (2556).มหาตมะ คานธี มหาบุรุษแห่งสัตยาเคราะห์. หน้า 69


บรรณานุกรม

กรุณา กุศลาสัย. (2540). มหาตมา คานธี. กรุงเทพมหานคร: สถานเอกอัคราชฑูตอินเดียประจำประเทศไทย.

กิติมา อมรทัต. (2539). ข้อคิดคานธี. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ธรรมชาติ.

โจแอน บอนดูแรนต์. (2536). อหิงสา อาวุธของคนกล้า. (ไพศาล วงศ์วรสิทธิ์และอนิตรา พวงสุวรรณ, ผู้แปล) กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มูลนิธิโมลคีมทอง.

ประชุมพร คงทน. (2527). ประวัติศาสตร์เอเชียใต้. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์หนังสือ มศว.

อานนท์ จิตประภาส. (2556). มหาตมะ คานธี มหาบุรุษแห่งสัตนาเคราะห์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ยิปซี.

หมายเลขบันทึก: 626959เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2017 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2017 09:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอด ใช้หลักวิชาการ เป็นระบบ เยี่ยมๆ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท