ไม่ใช่ใครก็ได้...จะเป็นครู


ระบบการศึกษาไทย....ฤาจะไร้ทางเยียวยา

สิริรัตน์ นาคิน*

อาจารย์คณะครุศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

“บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนความคิด ความเชื่อ แง่คิดของระบบการเรียนการสอนของประเทศไทยเพื่อให้ไตร่ตรอง สะท้อนการเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมายุคอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเครื่องมือยืนยันในการวิเคราะห์สถานการณ์ระบบการศึกษาไทยและหาทางออกต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

ปัญหาการศึกษาไทยยุคอดีตถึงปัจจุบัน

ปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันจากใครคนใดคนหนึ่งหรือเหตุอย่างหนึ่ง แต่เป็นผลพวงมาจากแนวนโยบายพัฒนาการศึกษา และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มด้วย พ.ศ. 2503 ประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503 (รุ่นป.7 และมศ. 5) ซึ่งมุ่งพัฒนาพลเมืองทุกคนให้ได้รับการศึกษาตามศักยภาพของตน เพื่อเป็นพลเมืองดีมีความสมบูรณ์ทั้งกายและใจ มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย สามารถที่จะประกอบอาชีพและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ โดยจัดการศึกษาเป็น 4 องค์ประกอบ คือ พุทธิศึกษา จริยศึกษาพลศึกษา และหัตถศึกษา ต่อมา พ.ศ. 2507 รัฐบาลเริ่มมีแนวคิดในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทางปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 18 กรกฎาคม เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศเป็นลำดับขั้น ต่อมา พ.ศ. 2520 ประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2520 (ระยะที่ 4 พ.ศ. 2520-2524) ซึ่งเริ่มใช้พร้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ซึ่งปรับแนวทางจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับก่อน ๆ ที่มุ่งพัฒนาอย่างสมดุลและมีการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ มาเป็นแนวคิดในการพัฒนาแบบมุ่งเป้าเพื่อความรวดเร็วในการพัฒนาตามสถานการณ์โลก แผนการศึกษาแห่งชาติ จึงได้มุ่งพัฒนาการศึกษาขยายการศึกษาภาคบังคับอย่างเร่งรัดในทุกระดับ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประเทศ ต่อมา พ.ศ. 2525 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ได้กำหนดจุดประสงค์ในการพัฒนาประเทศในแนวที่เริ่มปรับทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ลดความแรงในการเร่งพัฒนาทางเศรษฐกิจลง แต่ในส่วนของแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2525-2529) ซึ่งประกาศออกมาในปีเดียวกัน กลับมุ่งที่จะเร่งพัฒนาทางการศึกษาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ในระยะนี้ผลพวงของแผนการพัฒนาประเทศอย่างเร่งรัดเริ่มสำแดงผล การดิ่งลงเหวทางการศึกษา เหตุเพราะคนเก่งและคนดีมีความสามารถมุ่งเรียนแต่สาขาวิชาที่ทำเงินได้ ไม่มีใครอยากเป็นครูอีกต่อไป อุดมการณ์และการสร้างความดี สร้างประโยชน์ต่อสังคมเริ่มเลือนลาง เหลืออยู่เพียงเป็นแนวอุดมคติ ต่อมา พ.ศ. 2530 ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2534) ยังตอกย้ำความเสียหายต่อระบบการศึกษาของประเทศชาติโดยการดึงคนเก่งออกสู่ภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมสภาวะวัตถุนิยม ทำลายคุณค่าของความเป็นคน แทนที่จะได้รับการศึกษาในสาขาที่ตนถนัดและมีความสนใจกลับมาเป็นการศึกษาเพื่อให้ได้มาเป็นข้าทาสต่างชาติในระบบแรงงานอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาจากยุคอดีตถึงปัจจุบัน ได้สะท้อนให้เห็นว่าการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 จะสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของบุคลากรทุกสาขาจากภาคมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจเอกชน โดยสนับสนุนให้ทุนนักเรียนที่เรียนเก่งมาเป็นครู และมีการพัฒนาครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์จากคณะศึกษาศาสตร์ และต่อด้วยการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู (การฝึกสอน) วิชาหลักเหล่านั้นอีก 2 เทอม (1 ปี) โดยการควบคุมและประเมินโดยคณะครุศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งเรารับรู้กันมาตลอดระยะเวลาว่าระบบการศึกษาในประเทศไทยมีจุดดี จุดด้อยอย่างไร ไม่ว่าสาขาวิชาชีพใดก็ตาม และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ สภาพการณ์เกี่ยวกับจริยธรรมในวิชาชีพครู

เมื่อเกิดวิกฤติกับวิชาชีพทางการศึกษา

“วิชาชีพ” ทุกวิชาชีพจะต้องมีจรรยาบรรณในการทำงานหรือปฏิบัติงานเฉพาะ เนื่องจากจรรยาบรรณในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญเพื่อคอยควบคุมความประพฤติและการกระทำ ช่วยควบคุมมาตรฐาน รับประกันคุณภาพ ปริมาณที่ถูกต้องในการประกอบอาชีพ และจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อส่งเสริมมาตรฐานคุณธรรมและปริมาณที่ดี มีคุณค่าและเผยแพร่รู้จักเป็นที่นิยมเชื่อถือ เน้นให้เห็นภาพลักษณ์ที่ดีของผู้ประกอบวิชาชีพนั้น ๆ โดยเฉพาะวิชาชีพทางการศึกษาต้องมีการกำหนดจรรยาบรรณ รวมทั้งจริยธรรมไว้อย่างชัดเจน เพื่อรักษาหรือส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของวิชาชีพ ทั้งในวงการวิชาชีพครู แพทย์ ตำรวจ ทหาร หรือนักการเมือง ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพครูต้องประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างน้อย 5 ด้านได้แก่จรรยาบรรณต่อตนเอว ต่อวิชาชีพ ต่อผู้รับบริการ ต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และต่อสังคม (เลขาธิการคุรุสภา, 2552) โดยในแบบแผนจรรยาบรรณดังกล่าวได้ระบุถึงพฤติกรรมทั้งที่พึงประสงค์และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในแต่ละหมวดไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นคุณภาพของ “คน”นั้นขึ้นอยู่กับ คุณภาพของการศึกษา และคุณภาพของการศึกษานั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของ”ครู”เป็นหลัก จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพครู ควรเป็นผู้ประกอบไปด้วยคุณธรรมจริยธรรม ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพเป็นอย่างดี เพื่อให้เกิดคุณภาพสูงสุด ส่วนประกอบใหญ่ ๆ คือครูต้องมีความรู้ ความเข้าใจทั้งในเนื้อหารการสอน และศาสตร์การสอน ศิลปะวิทยาการสอนเป็นอย่างดี มิจิตวิทยาในการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะกับสไตล์การเรียนรู้ของแต่ละบุคคล มีกลวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับวัยและบริบทนั้น ๆ อย่างเหมาะสมจากที่กล่าวมา “อาชีพครู” มีบทบาทหน้าที่สำคัญยิ่งต่อบุคคล สังคม และประเทศชาติ “ไม่ใช่ใครจะมาเป็นครู ก็ได้” แต่ต้องได้รับความรู้ทั้งเนื้อหาวิชา ศิลปวิทยา และบูรณการการสอนได้อย่างหลากหลาย ครูจึงได้รับความเคารพยกย่องอย่างสูงจากสังคมไทย และขณะเดียวกันสังคมก็ได้ให้ความคาดหวังต่อครูว่า จะเป็นผู้ที่มีความรู้ดี มีความสามารถประพฤติปฏิบัติตนดีทุกด้าน ดังคำที่ว่า “ครูคือปูชนียบุคคล” คือบุคคลที่ควรเคารพบูชา เป็นบุคคลที่ต้องรักษาวินัย รวมทั้งจริยธรรมในวิชาชีพอย่างเคร่งครัด สอดคล้องกับหลักจริยธรรมวิชาชีพครูที่ได้กำหนดไว้

สิ่งที่น่าสนใจคือ ความชัดเจนในเรื่องของหลักสูตรและกิจกรรมของวิชาชีพครูที่ได้ปลูกฝังส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาได้รับและหล่อหลอมจนออกไปเป็นครูนั้น ต้องใช้เวลาและผลิตครูตามที่สังคมต้องการคือครูที่เก่งและดี มีคุณธรรม รักและศรัทธาในอาชีพ ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์มีการบ่มเพาะ ในกระบวนการผลิตครูที่ดี มีคุณภาพ หน่วยงานที่ผลิตครูมีแนวทางและหลักสูตรที่ดี เหมาะสม มีวิธีการปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพแล้ว เราก็ได้นักศึกษาที่จบออกไปเป็นครูที่ดีมีคุณธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพมากกว่าผลิตครูที่เก่งเพียงด้านเดียวแต่ขาดจิตสำนึกความดีงามในจิตใจ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีแบบนี้ก็มีอยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการปรับเปลี่ยนวิชาชีพครูในอดีตถึงปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่เราควรสะท้อนคือตนเอง ว่าเราพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพครูอย่างแท้จริงแล้วหรือยัง เรามีใจรักและเมตตาผู้เรียนของเรามากน้อยเพียงใด เรามีความเสียสละอุทิศตนเพื่อส่วนรวม มีความทุ่มเททั้งพลังกายและพลังใจให้กับวิชาชีพเราสักเพียงใด เราสามารถทำงานกับวิชาชีพนี้อย่างมีความสุขในทุกขณะที่ตื่นมาและหลับลงกับความสุขที่ได้ทำอย่างแท้จริงหรือไม่ อย่างน้อยก็ให้ได้ใคร่ครวญรู้จักตนเอง เพราะหากยังไม่รู้จักตนเองก็ไม่สามารถที่จะไปรู้จักวามเป็นปัจเจกบุคคลของนักเรียนได้อย่างถ่องแท้ เมื่อใดที่ความเป็นครู เข้าถึงโดยเนื้อแท้ เมื่อนั้นจึงจะเข้าใจว่าความสุขของคนเป็นครูไม่ใช่เงินทองแต่เป้นความสุขทางใจ ความภูมิใจในวิชาชีพ ที่ไม่สามารถมีอะไรมาทดแทนได้

บทสรุป

วิชาชีพครูจะยังคงอยู่ต่อและมีคุณภาพ หากผู้ที่ก้าวเข้ามาเป็นครูมีความรักและศรัทธาในวิชาชีพ มีความรักและอยากเห็นนักเรียนประสบความสำเร็จ ไม่ได้หวังประโยชน์ส่วนตน แต่หวังให้ศิษย์ไปได้ดี มุ่งมั่นสรรค์สร้างคนดี มีคุณธรรมและตามมาด้วยความเก่งเพราะเกิดจากการฝึกฝนจนชำนาญ เชี่ยวชาญไม่ใช่เก่งเพราะพรสวรรค์ หาใช่พรแสวงไม่ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นผลดีกับวงการวิชาชีพครูอย่างแน่นอน ประเทศไทยกำลังมาถึงจุดเปลี่ยน จุดที่หมอมาบริหารครู จุดที่ครูกลืนไม่เข้าคายไม่ออก น้ำท่วมปากไม่มีสิทธิ์เรียกร้องใดๆ แล้วระบบการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป เราจะก้าวข้ามสภาพการณ์แบบนี้ไปได้หรือยัง ? ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมีความกล้าหาญทางจริยธรรมต่อวิชาชีพของเรา ... “ไม่ใช่ใครก็ได้ที่...เป็นครู” สอนเก่งกับสอนเป็นมันต่างกัน...

........................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 626343เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2017 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2017 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ขอบคุณอาจารย์นะคะที่เขียนบทความดีๆสะท้อนการศึกษาไทยให้ได้อ่าน..ไม่ใช่ใครก็ได้จะมาเป็นครู เป็นเรื่องจริงที่สุดค่ะ ครูต้องศึกษาเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ ฝึกฝนตนเองตั้งเท่าไร กว่าจะได้มาเป็นครู บางคนจบเฉพาะทางเก่งจริงแต่ถ่ายทอดความรู้ไม่เป็น ไม่ได้มีความรักและศรัทธาในวิชาชีพครู นอกจากความรู้แล้วครูยังต้องปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม คุณงามความดีด้านต่างๆให้กับนักเรียนด้วยความรัก ความเมตตา เป็นแบบอย่างที่ด ให้สมกับที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นครู

ชอบใจบทความนี้มากๆ

คิดถึงอาจารย์ครับ

หายไปนานมากๆ

http://www.gotoknow.org/posts/626347

ผมเองก็มีความเชื่อเช่นนี้ครับ ;)...

ขอบคุณทุกคนค่ะ

ใช่ค่ะไม่ใช่จะมาเป็นครูได้ทุกคนหากไม่มีใจรักนะคะ

เป็นบทความที่เขียนได้ดีมากๆครับ ได้ข้อคิดมากมาย ???

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท