วิจารณ์ต่อ : เสวนามายาอัตตาลักษณ์ไทย


วันนี้ วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 13.00 น. ได้ฟังบรรยายพิเศษ เรื่อง "มายา อัตตาลักษณ์ไทย" โดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ณ ห้องประชุมแม่น้ำของ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงอยากมาเล่าต่อครับ โดยอาจารย์ ยุกติ กำหนดประเด็นการเล่าขอบข่ายใหญ่ๆ มีเรื่อง ๑) มายคติในสังคมไทยเเละ ๒) การหลุดออกจากมายาคติเหล่านั้น โดยในที่นี้ผมเองขอนำประเด็นที่น่าสนใจเเละขออนุญาตวิจารณ์ต่อในที่นี้ด้วยครับ

๑) มายาคติคือะไร

  • มายาคติ คือ ความเชื่อโดยไม่ต้องสงสัย เช่น มีคนบอกให้เราเชื่อ เราก็เชื่อไปโดยขาดการพิจารณา โดยเฉพาะในระดับเรียนมหาวิทยาลัยเป็น "ปัญญาชน" ยิ่งต้องคิดให้มาก อย่าหลงเชื่อตามมายาคตินั้น
  • ผมตีความว่า มายาคติ เป็นความเชื่อโดยปราศจากเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้โดยวิธีการใด วิธีการหนึ่ง โดยเป็นเหตุผลที่เเยกส่วน ไม่สามารถนำมาคิดรวมกันได้ เช่น เรื่องการใช่ชุดนิสิตเเล้วทำให้ดูเป็นคนมีความรู้ เเต่จริงๆอาจไม่เชื่อมโยงไปสู่สิ่งนั้นก็มีถมเถไป เป็นต้น

๒) มายาคติกับประเด็นสำคัญในขอบข่ายใหญ่ของไทย

  • ใครคือคนไทย บรรพบุรุษของเราคือใคร เป็นมายาคติที่หลอกเราเองว่า เรามีอำนาจ มีความยิ่งใหญ่ดังประวัติศาสตร์การสร้างรัฐชาติ เเท้จริงเเล้วมันคือกระบวนการสอนให้คนรักชาตินั่นเอง เมื่อศึกษาด้านนิรุกขติศาสตร์ดูเเล้ว คำว่าไทย แปลว่า มีสังกัด(ไม่มีเสรีภาพ) ไม่ได้แปลว่า เสรีภาพตามที่เราคิด (ไทย คือ ไพร่ / ทาส,ข้า คือ เสรี)
  • ภาษาไทย เป็นภาษาที่มีการดัดแปลงมาจากภาษาขอม เมื่อเทียบกับภาษาอื่นมีจุดบอดอยู่มาก เช่น สามารถอธิบายความรู้สึกได้ยาก ไม่มีคำเฉพาะ เเละมีภาษาอื่นอยู้เต็มไปหมด
  • พุทธศาสนาในความเชื่อของคนไทย เป็นความเชื่อระบบปิด ต้องเป็นไปตามครูบาอาจารย์ ข้อนี้ผมเข้าใจว่า เหมือนการสอนหนังสือแบบพระที่ต้องเป็นสารัตถนิยม
  • ประวัติศาสตร์แบบมายาคติ เป็นประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม ที่เขียนขึ้นมาเเละให้เรียนแบบติดอยู่ในภวังค์ของภาพมายา

๓) มายาคติตั้งอยู่ได้อย่างไร

  • มายาคติตั้งอยู่บนฐานแนวคิดสารัตถนิยมของเอกลักษณ์ไทย ในอดีตมีความคิด ความเชื่ออย่างไร ก็ต้องการที่จะให้สังคมปัจจุบันคิดเเละเชื่อแบบเดียวกันโดยไม่ต้องตั้งคำถาม
  • มายาคติตั้งอยู่บนฐานแนวคิดสัมพัทธนิยมสามานย์ เป็นประโยชน์นิยมเเต่เฉพาะบางกลุ่ม กล่าวคือ มายาคติมีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของคนบางกลุ่มเเต่มีอิทธิพลในการควบคุมคนส่วนใหญ่
  • การศึกษาแบบรัฐชาติเดี่ยว ทำให้ระบบสังคมถูกออกแบบมาเพื่อคนส่วนใหญ่ เป็นผลทำให้คนส่วนน้อยถูกกดขี่

๔) ออกจากมายาคติอย่างไร

  • ค้นหาความเป็นอื่นให้ตัวคุณ กล่าวคือ พยายามนึกย้อนดูตนเองว่าตั้งเเต่เกิดมา มีความเป็นอืน(ไม่เป็นไทย))อย่างไร เรื่องอะไรบ้าง
  • รักชาติให้น้อยลง รักเพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้น บางครั้งเราคลั่งชาติจนสามารถฆ่าคนไทยด้วยกันหลายเหตุการณ์ ผมขอยกตัวอย่าง คือ กรณี ๖ ตุลา ๒๕๑๙
  • พยายามสงสัย เรื่องความดี จริง เเละงาม นั้นมีต่อใคร เอื้อประโยชน์ต่อใคร ผมตีความว่า อาจารย์กำลังบอกว่าบรรทัดฐานที่เราสร้างขึ้นมานั้นมันเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มหรือไม่ เเละระบบคุณธรรมถูกออกแบบมาเพื่อทำลายความเห็นต่างหรือไม่
  • ผู้ใหญ่ควรเปิดกว้าง "เลิกทำให้เด็กโง่"

๕) บทวิจารณ์ในทรรศนผมเอง

  • เมื่อมายาคติ คือ ความเชื่อโดยไม่ต้องสังสัย นั่นเเสดงว่าในการรื้อถอนมายาคติ ต้องตั้งคำถามก่อนว่าเป็นความจริงหรือไม่ การศึกษาเพื่อการรื้อถอนมายาคติต้องสอนให้เด็กคิดเป็น ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ เเละเมื่อได้คำตอบต้องนำไปสู่การลงมือทำให้เกิดความรู้ที่ชัดเเจ้ง
  • คำว่ามายาคติ เป็นหลักคิดที่ไม่มีมาตรวัด เป็นคำที่คนบางกลุ่มนำมาอ้างเพื่อความชอบธรรมของตนเอง ในการเปลี่ยนแปลงผู้อื่น อย่างนี้ก็มีเช่นเดียวกัน
  • การรื้อถอนมายาคติในส่วนระบบคุณธรรม ผมมองว่าเป็นเรื่องที่เเทบจะแก้ไขไม่ได้เลย เเต่หากรื้อถอนในระบบนโยบายอันนี้ทำได้ง่าย
  • บางเรื่องเเม้เป็นมายาคติในมุมมองหนึ่ง เเต่ก็เป็นสัมมาทิฐิในอีกมุมมองหนึ่ง เพราะความจริงระดับนี้เป็น Fact สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา กล่าวคือ เรื่องมายาคติไม่สามารถนำมามองในทุกๆเรื่องได้
  • บางเรื่องไม่จำเป็นต้องรื้อถอน เพราะอาจกลายเป็นความขัดเเย้งในพื้นที่ เเละเกิดความรุนเเรงก็อาจเป็นได้
  • การออกจากมายาคติ ต้องตั้งคำถาม กับสังคมที่เป็นอยู่ และพยายามหาคำตอบ โดยเคารพในความเป็นมนุษย์เเละภาวะสังคมที่สงบสุขด้วย



หมายเลขบันทึก: 624095เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2017 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2017 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท