การวิจารณ์เบื้องต้น


“การวิจารณ์วรรณกรรมไม่ใช่เรื่องของความถูกผิด”

มีคนถามผมว่า “การวิจารณ์วรรณกรรมมีผิดถูกไหม??


คำถามดังกล่าวทำให้ผมพยายามนึกถึงสมัยที่เรียนวิชาวรรณกรรมวิจารณ์ ซึ่งตอนนั้นจำได้ว่าเรียนกับนักเขียนรางวัลซีไรต์ ผมพยายามนึกภาพในห้วงของการเรียนว่าเคยมีคำว่า “ถูกผิดหรือไม่” ในการสอนของอาจารย์หรือไม่ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจในคำตอบมากนัก คิดว่า “ไม่มี” คำนี้ปรากฏอยู่


แม้ความจำอาจไม่สู้จะดีนัก โดยส่วนตัวมองว่า “การวิจารณ์วรรณกรรมไม่ใช่เรื่องของความถูกผิด” กล่าวคือ ผมมองว่าการอ่านวรรณกรรมเพื่อการวิจารณ์นั้นย่อมต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “การตีความ” การที่คนเราจะตีความในสิ่งเดียวกันต่างกันนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ หรือบางครั้งไม่ตรงกับเจตนาของผู้เขียน แต่สาระสำคัญของการวิจารณ์อยู่ที่ “การให้เหตุผลที่เหมาะสม” มากกว่า


การให้ “เหตุผล” ในการวิจารณ์เป็นสิ่งสำคัญกว่าการตัดสิน “ถูกผิด” เพราะผมไม่เชื่อว่าการอ่านวรรณกรรมมีเพียงแนวทางเดียว แต่การอ่านวรรณกรรมสามารถตีความได้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องตีความได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่กล่าวอย่างนี้อาจจะดูขัดกับความคิดบางท่านที่เชื่อว่าการอ่านวรรณกรรมย่อมตีความได้ตรงกันตามเจตนาของผู้เขียน แต่ผมก็เชื่อว่าไม่ได้มีเพียงผมคนเดียวที่คิดเช่นนี้


การตีความควรเป็นเรื่องของผู้อ่าน ไม่ใช่การมีผู้รู้ความหมายที่แท้จริงเพียงคนเดียว หากเราคิดว่าตนเองเป็นผู้ที่ตีความเข้าใจความหมายที่แท้จริงแต่เพียงผู้เดียวย่อมนำไปสู่ “ความถูกผิด” ในการวิจารณ์อย่างแน่นอน แม้จะคิดอย่างไรก็ตามท้ายที่สุดทุกฝ่ายย่อมมีคำอธิบายมาสนับสนุนสมมติฐานของตน ตรงนี้ต่างหากคือจุดสำคัญที่เรียกว่า “เหตุผล” เราจึงควรให้ความสนใจเหตุผลมากกว่า “ความถูกผิด


สุดท้ายนี้จะคิดหรือเห็นอย่างไรก็ตาม การที่เราคิดหรือตีความวรรณกรรมอย่างไร “ควรสามารถอธิบายได้อย่างมีเหตุผลภายใต้หลักการวิจารณ์หรือแนวคิดทฤษฏี” ก็จะทำให้งานวิจารณ์ของเรามีน่าอ่าน น่าศึกษา

หมายเลขบันทึก: 623208เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท