จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๖: รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๖: รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี

เป็นสุภาษิตเก่าแก่ของประเทศไทย ที่ก็มีคนบอกว่าเชยไปแล้ว ถ้า "หัวสมัย" ก็อาจจะเลยไปถึงหาว่า "คร่ำครึ" หรือ "ป่าเถื่อน" ไปโน่น ด้วยกระบวนการคิดที่เอาเรื่องผูก เรื่องตี ไปเป็นการสอนสั่งด้วยความกลัว และมีความเชื่อว่าความกลัวเป็นกลไกการสอนที่ไม่ดี

การเรียนรู้ที่ไปด้วยกันกับ "อารมณ์ ความรู้สึก" นั้นได้ผล เพราะองค์ประกอบของพฤติกรรมมันครบเครื่อง คนเราไม่ได้ทำอะไรต่อมิอะไรด้วยเหตุด้วยผลเป็นหลัก หากแต่ทำงานด้วยอารมณ์เสียเยอะ และอารมณ์ในที่ว่านี้มนุษย์เองก็เอามาจัดหมวดหมู่เป็นอารมณ์ลบและอารมณ์บวกกันเอง ตามความรู้สึกพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจ ก็เลยเกิดมี school ที่คิดว่าการเรียนการสอนที่ใช้ positive reinforcement หรือ positive thinking การคิด การรู้สึกเชิงบวกน่าจะดี และรังเกียจอารมณ์ด้านลบๆ เพราะมันทำให้เกิดแผลเป็น เกิดบาดเจ็บ

หลักการนั้นก็ "จริงอยู่บ้าง" แต่ไม่ทั้งหมด

อารมณ์ลบทำให้เกิด "แผล" ในชีวิตลึก และบางครั้งก็หายยาก หรือไม่เคยหายก็จริง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่ามันขัดแย้งกับกระบวนการเรียนรู้ หากแต่สะท้อนถึง "ประสิทธิภาพ" อย่างสูงของอารมณ์กลุ่มนี้ต่างหาก เพราะอารมณ์ลบทุกชนิด ทำหน้าที่เหมือนกันคือ "ปกปักรักษา" ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชีวิตเราให้ความหมายว่าดี ดังนั้นเมื่อมีอะไรก็ตามมาคุกคามสิ่งนั้นๆ คุณค่านั้นๆ เราก็จะตอบสนองอย่างทันที รวดเร็ว
@ ความกลัวดั้งเดิม ก็เพื่อรักษาชีวิต ทำให้เราอยู่ห่างจากภยันอันตราย
@ ความเกลียด ก็เป็นการต่อต้านสิ่งที่ขัดแย้งกับ "คุณค่า" และให้ความหมายถึงสิ่งนั้นๆกำลัง "คุกคาม" พื้นที่ หรือตัวตนของเรา
@ ความโกรธ เป็นปฏิกิริยาต่ออะไรก็ตามที่กำลังพรากสิ่งที่มีค่าของเราออกไป หรือทำลายให้หมดไป
@ อิจฉา เป็นอารมณ์ที่เราถูกกระตุ้นเมื่อเราเห็นสิ่งที่เราอยากได้ อยากมี แต่เรายังไม่ได้ ยังไม่มี
ฯลฯ
อารมณ์ลบทั้งหมด เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "ตัวเรา" หมดเลย ดังนั้นอารมณ์ลบเหล่านี้จะอยู่นาน อยู่แล้วไม่ไปไหนง่ายๆ เหมือนเราก็จะไม่อยากให้ยาม ให้การ์ด ให้หน่วยรักษาความปลอดภัยหยุดทำงาน ฉันใดก็ฉันนั้น

เมื่ออารมณ์ลบเป็นใหญ่ เราก็จะดูแลตัวเองมากขึ้น ผลก็คือ เราจะเห็นและดูแลคนอื่นน้อยลง อันนี้คืออาจจะเป็นผลที่ไม่พึงปราถนาในภาพรวม

วิธีที่จะจัดการกับอารมณ์ลบ เราต้อง "แยก" ตัวอารมณ์ที่เกิดขึ้น ออกจากเรื่องราวที่ทำให้เกิดอารมณ์ให้ได้ ตัวเรื่องราวนั้นเป็น "ตัวการ" ของสิ่งไม่ดี แต่เราไม่ต้องไปรังเกียจตัวอารมณ์ ให้รู้จักมัน และปรับความเข้าใจกับมัน ดูแลมัน เพราะมันก็คือ "พวกเรา" มันออกมาเพราะมันต้องการจะดูแลเราเท่านั้นเอง แต่ทุกครั้งที่อารมณ์ลบ take over ชีวิตเรา เราจะรู้สึกคุณค่าเรา "เล็กลง" เพราะเราเห็นแต่ตัวเองและสิ่งที่กำลังสูญเสีย เราจะไม่เห็นต้นทุนด้านอื่นๆ และจะไม่สัมผัสถึงคนอื่นๆ สิ่งอื่นๆที่ดูแลเราอยู่อีกตั้งหลายเรื่อง

การจะสอนลูกให้มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปนั้น ต้องเข้าด้านอารมณ์ลบให้เป็น (หิริโอตัปปะ) ให้เกิดทักษะนี้ให้ได้

การดุ ด่า หรือแม้กระทั่งตี เป็นกลยุทธ์ที่หากใช้โดยความเข้าใจ เราจะสามารถใช้พลังที่มากมายของอารมณ์ลบให้เป็นประโยชน์ เพราะในบรรดาสามฐานของชีวิต ฐานกายจะรับรู้ชัดเจนที่สุด ฐานคิดจะชัดแต่ก็เร็ว ฐานใจจะค่อนข้างเป็นนามธรรมและจับต้องยาก มนุษย์เข้าใจสิ่งเร้าที่มากระทบกายได้เป็นอย่างดี เพื่อการ "อยู่รอด"

มนุษย์จำเป็นต้องพัฒนา "ภูมิคุ้มกัน" ต่อบาปให้ได้ และเหมือนกับภูมิคุ้มกันทุกชนิด ก็คือ เกิดจากการได้รับสิ่งกระตุ้นในปริมาณควบคุมที่พอเหมาะพอสม นั้นคือ วัคซีนที่ดี

การดุ ด่า ตี ถ้าทำในปริมาณที่ดี จะเกิดภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนั้นๆสำหรับเด็ก สำหรับนักเรียน แต่ถ้าเรา over-protect ไม่เคยฉีดวัคซีนเรื่องบาปบุญคุณโทษ เด็กก็จะมี "ภูมิคุ้มกันบกพร่องต่อบาปบุญคุณโทษ" ในอนาคต ยิ่งไม่เคยพูด ไม่ได้สนทนากันเลย ก็กลายเป็นเอดส์ทางคุณธรรมไปในที่สุด

การศึกษาในปัจจุบัน เน้นเนื้อหาสาระทางวิชาการมากมาย จนเบียดเบียนเวลามที่จะคุยเรื่องความดี ความเลว บาป บุญ มารยาท (มารยาทเป็น manifestation ของการ "ดูแลความรู้สึกคนอื่น" ซึ่งเป็นแก่นพื้นฐานประเภทหนึ่งของความดี) นักวิชาการที่มีความรู้ดีๆมากมาย กลับมีความกักขฬะ หยาบคาย หยาบโลน และไม่มีมารยาทแม้แต่น้อย ก็เพราะไม่มีทักษะในการดูแลความรู้สึกนั่นเอง เป็นสังคม empathy-deficiency ขาดความเห็นอกเห็นใจ

ตอนนี้เรากำลังเห็นกลุ่มอาการดังกล่าวในสังคม เป็นลักษณะ "ฝีแตก" ทีละจุดสองจุด และเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกวันๆ

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลา ๙ นาฬิกา ๖ นาที
วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 622891เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2017 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2017 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท