เล่าเรื่องจากประสบการณ์ชีวิต ตอนความรักถือเป็นจุดเริ่มต้น


“วันนี้เงินในกระเป๋าสูหมาน (น้าหมาน) 50 บาท กับของผม (เพื่อน) และ ของหมอ (ตัวผม) แม้จะเป็นแบ็งค์ 50 บาทเหมือนกันทุกอย่าง แต่ค่ามันไม่เท่ากัน”

     ตามที่คุณพี่ธวัชฯ บอกว่าอยากจะให้เขียน (1) เล่าเรื่องที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน (2) วิธีการไปชักชวนคนทำงานอื่น ๆ ในแวดวงมาพูดคุยกัน (3) วิธีการสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่เป็นฉันมิตรอย่างไรบ้าง และ (4) การอำนวยให้เกิดเวทีพูดคุยต่าง ๆ ทั้งในส่วนคนทำงาน และชุมชนอย่างไรบ้าง ตามข้อคิดเห็นในบันทึก สิ่งที่ได้รับมา #2 ซึ่งผมขอสรุปเป็นประเด็นเพื่อยกร่างในการเขียนบันทึก ตามนี้นะครับ

     แต่ก่อนอื่นจะขอเล่าว่าทุกอย่างเกิดจากที่สิ่งอันเป็นที่รัก ที่ชอบ หรือที่สนใจ ก่อนเป็นประเด็นเริ่มต้น แล้วถ้าจะบอกต่อว่าเกิดรัก ชอบ หรือสนใจขึ้นนั้น เริ่มต้นได้อย่างไรอีก อันนี้ผมจะตอบตอนนี้ยังได้ไม่ชัดนัก แต่ก็ได้เคยพยายามเขียนไว้เช่นกันที่บันทึก สิ่งที่สนใจ หรือชอบ ด้วยเพราะความชอบที่เป็นส่วนตัวนี่แหละครับที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ผมคิดว่าหากจะได้อ่านตรงนั้นก่อน ก็จะทำให้เชื่อมถึงเรื่องที่จะเขียนต่อไปได้ดีขึ้น ผมขอเริ่มเล่าจากตรงนี้ก่อน และให้ชื่อว่าตอนความรักถือเป็นจุดเริ่มต้น ครับ

          ผมอ่านหนังสือทุกชนิด ทุกประเภท ยกเว้นการ์ตูน โดยเฉพาะเวลาอ่านบทความใด ๆ แล้ว ชอบตั้งคำถามว่า “แล้วคนอื่นคิดอย่างไรอีก” ทำให้เที่ยวแสวงหาคนที่เขียนต่างมุมออกไป หลาย ๆ แบบ ในประเด็นเดียวกัน การอ่านช่วยทำให้เราขบคิดได้ต่างมุม และรอบด้านมากขึ้น และเมื่อมีจังหวะดี ๆ ก็ได้นำเสนอออกมาในสิ่งที่ได้คิดทบทวนไว้ล่วงหน้าเสมอ หรือหนังสือในส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเคมี ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ ชอบมาตั้งแต่เรียนมัธยมฯ คงเป็นเพราะสื่อกับอาจารย์ที่สอนได้ดีและต่อเนื่อง ผมเป็นสมาชิกวารสาร Mac ม.ต้น และม.ปลาย ตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่หนังสือนี้รับสมัครสมาชิกโดยคำแนะนำของอาจารย์แนะแนวที่โรงเรียนบางแก้วพิทยาคมในสมัยนั้น และได้รับทุนเป็นค่าสมัครสมาชิกฯ ในแต่ละปีจากอาจารย์ที่สอนภาษาไทยในสมัยเรียน ม.ต้น (หนังสือเหล่านั้นก็ยังคงเก็บไว้) และในสมัย ม.ต้น ร้านน้ำชาในตลาดบ้างแก้ว เป็นร้านน้าจิตร จะเก็บหนังสือพิมพ์หลังปิดร้านให้ผมทุกวัน ผมจึงต้องอ่านหนังสือพิมพ์ตอนค่ำ ๆ นิสัยนี้ยังติดมาจนถึงทุกวันนี้ครับ จะไม่มีใครเห็นผมอ่านหนังสือพิมพ์ตอนกลางวันเลย นี่เป็นเรื่องที่แรกที่รัก ที่ชอบ

          การเขียนบันทึกที่นึกอยากเขียนโดยเมื่อก่อนจะเขียนลงสมุดบันทึก (ตอนนี้ก็ยังใช้) ในแต่ละวันจึงมี 2 เล่มเสมอ คือสมุดนัดหมาย (เพิ่งใช้ตอนจบมาเป็นหมออนามัยแล้ว) และสมุดบันทึกย่อ ไว้บันทึกทุกอย่างเรื่องที่อ่าน ที่ฟัง หรือที่ผุดคิดขึ้นมาได้ สิ่งเหล่านี้พอได้เขียนเพื่อกันลืม แต่เขียนแล้วก็ไม่ค่อยได้เปิดอ่านทวนหรอก เพราะจะจำได้เสียทุกทีเมื่อได้เขียนไว้แล้ว เรื่องการเขียนบันทึกของผม เริ่มต้นเป็นการเขียนตามที่พ่อให้ทำสมัยเรียน ป.5 – 6 โดยพ่อให้เขียนเล่าเรื่องสรุปคร่าว ๆ เมื่อผมได้ฟังเรื่องเล่าจากปู่มา ก็เพื่อแลกกับการไม่ต้องลงไปล้างคอกหมูในแต่ละวัน (พ่อจะทำเอง) หากมีเรื่องที่เขียนให้พ่ออ่าน อาจจะติดมาตั้งแต่นั้นก็ได้ครับ นี่เป็นเรื่องที่สองที่รัก ที่ชอบ

          การทำงานชุมชน อยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน การเชื่อมโยงไปให้ถึงกับประวัติศาสตร์ทั่วไป ด้วยเชื่อว่าชุมชนที่เหลืออยู่และยังคงความเป็นชุมชนอยู่ถึงปัจจุบัน ในทุกแห่งต้องมีอะไรดี ไม่งั้นเขาจะย้ายที่ไปที่อื่น หรือคงไม่เลือกปักหลักอยู่จนเป็นชุมชนขึ้นมาถึงทุกวันนี้ ภูมิปัญญาในการเลือกพื้นที่เพื่อสร้างบ้านแปลงเมืองเป็นเรื่องที่มีเหตุผลเสมอ เช่นทำนาได้ผลดี น้ำไม่ท่วม ไม่เจ็บป่วยบ่อย อย่างนี้เป็นต้น และเชื่อมั่นในพลังชุมชน พลังของครอบครัวเป็นอย่างมาก เรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนก็อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากปู่ที่ชอบเล่าเรื่องตำนานนางเลือดขาว  ตำนานเมืองพัทลุง เรื่องที่เกี่ยวกับชื่อหมู่บ้านนั้น หมู่บ้านนี้ให้ฟัง เช่นบ้านพราหม์ ที่ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน ท่านเล่าว่าเพราะเมื่อก่อนชุมชนแถวนี้มีครอบครัวที่นับถือศาสนาพราห์ม ประมาณ 5-6 ครอบครัว คนทั่วไปเรียกว่าไปบ้านพราหม์ ก็ได้รู้และเมื่อมาศึกษาเพื่อมเติมก็พบว่าเป็นเรื่องที่มีเค้าความจริง ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมมากมาย อย่างนี้เป็นต้น จึงรักชอบเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สาม (ไม่ใช่ลำดับที่สาม)

          การพูดคุย หรือเสวนากับคนเฒ่าคนแก่แล้วจะทำให้เราได้รับรู้เรื่องที่สนใจในเรื่องที่สาม ผลได้ที่สำคัญคือ จะทำให้เราได้ใจของลูกหลานเขาด้วย จนนำมาเป็นประเด็นการให้การยอมรับ การขอคำปรึกษาเพราะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผมเคยถามตัวเองว่าทำไมคนเฒ่าคนแก่ส่วนใหญ่ จึงจริงใจกับเรา ทำไมเขารู้สึกว่าได้พูดคุยกับเราแล้วเขาบอกว่าสบายใจ ที่นี้ได้มาลองถามจากประธานชมรมผู้สูงอายุอำเภอบางแก้ว (อาจารย์ผัน ไชยวรรณ) ในวันที่ได้นั่งเสวนากัน ท่านบอกว่าคนเหล่านี้ลูกหลานเขาเองไม่ค่อยได้พูดคุยเหมือนที่ผมไปพูดคุย ซึ่งเป็นเพราะใกล้ชิดกันเกิน คนแก่อยากจะเล่าความหลังเป็นเรื่องปกติ ทีนี้ลูกหลานเบื่อ หาว่าแก่บ่น ก็เลยไม่ลงตัวกัน สำหรับผมมองว่าคนเหล่านี้เหมือนขุมความรู้ขุมใหญ่ อันนี้เสียดายที่ปู่เสียตอนที่ผมอยู่ได้ ม.1 และยายก็เสียตอนผมอยู่ได้ ม.2 สองคนนี้เป็นนักเล่านิทานที่ผมติดใจ โดยเรื่องของยายยังเคยเขียนไว้ที่ คาถาช่วยให้เด็กเรียนเก่ง เลย การได้พูดคุยกับคนอื่นบ่อย ๆ ก็เลยเหมือนได้ฝึกทักษะการฟัง การพูด และการจับประเด็น บวกกับการนำไปบันทึก การขบคิดประเด็นเพิ่มที่ได้จากการอ่าน การพยายามนำมาเชื่อมโยงเข้าหากันจนได้ การปรับและทดลองนำออกมาใช้ นำออกมาเล่าในชุมชนอื่นต่อ แล้วคนที่เสวนากับเราเขาสนใจติดตาม จนกลายมาเป็นเรื่องรักชอบอีกเป็นเรื่องที่สี่

          การเข้าถึงในทุกเรื่องของคนชายขอบ อันนี้ไม่ได้คิดเพราะว่าเป็นความน้อยใจอะไร แต่การที่ได้เห็นของจริงในชุมชน ได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เราก้าวข้ามไปไม่พ้น คือเห็นทั้ง 2 ด้าน ทำให้รู้ว่ามันไม่เท่าเทียมกันจริง ๆ อย่างเช่นสมัยผมจบทำงานใหม่ ๆ ที่ตำบลหนองธง มีเพื่อน (ปัจจุบันเป็นรองนายก อบต.) ได้เคยพูดกับผมตอนนั่งคุยกันว่า “วันนี้เงินในกระเป๋าสูหมาน (น้าหมาน) 50 บาท กับของผม (เพื่อน) และ ของหมอ (ตัวผม) แม้จะเป็นแบ็งค์ 50 บาทเหมือนกันทุกอย่าง แต่ค่ามันไม่เท่ากัน” ถ้อยคำนี้ทำให้ผมสนใจเรื่องความเป็นธรรม การเข้าถึงในทุก ๆ เรื่องของคนเรามาจนถึงทุกวันนี้ และจับพลัดจับผลูจนมาได้สนใจเรื่องเศรษฐสาสตร์สาธารณสุขเข้าอีก เลยต่อกันจนเป็นความมุ่งมั่นสูงสุดจริง ๆ และนี่ก็เป็นเป็นเรื่องที่รักชอบอีกเป็นเรื่องที่ห้า เท่าที่นึกได้ตอนนี้ ก็ถือว่า เป็นห้าประเด็นที่สนใจ ที่รักและชอบว่างั้นเถอะ

     ชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกรีบกุหลาบ โรงเรียนในอำเภอที่ผมอยู่มีชั้นสูงสุดแค่ ม.3 (สมัยนั้น) การได้เข้าไปเรียนหนังสือในเมือง (โรงเรียนจังหวัดพัทลุง)โดยต้องอาศัยวัดอยู่ (วัดต่ำ หรือวัดภูผาภิมุข) เหตุเพราะหมูขุนที่พ่อเลี้ยงไว้ที่บ้านประมาณ 70 ตัว ขายออกไม่ได้ ราคาตก (มีข่าวโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด) ต้องยอมขายออกด้วยราคาถูก ๆ ทีละตัว สองตัว เพื่อซื้ออาหารให้ตัวที่เหลือ จนในที่สุดก็เหลือเพียง 5 ตัว ในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี ในขณะที่การลงทุนเลี้ยงหมูก็ได้มาจากการกู้ธนาคาร เพื่อซื้อแม่พันธ์ พ่อพันธ์ และทำโรงเรือน ที่บ้านจึงเป็นหนี้ธนาคาร สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการเรียนของพี่สาว ของผม และของน้องสองคนในระดับหนึ่ง (พี่สาวต้องพักหนึ่งปี ช่วงต่อจากปวส. – ปริญญาตรี) แต่การเรียนเป็นหัวใจที่แม่พูดอยู่เสมอ ต้องเอาเรื่องเรียนก่อน แม้ผมจะเกเรแบบเด็กผู้ชายวัยรุ่น จนแม่ต้องเป็นกังวล แต่หากผลการเรียนแล้ว แม่จะไม่ค่อยเป็นห่วงนัก

     ช่วงนี้แหละที่ผมได้เรียนรู้ชีวิตเด็กวัด ได้เรียนรู้การตกเป็นเหยื่อของระบบทุน การกู้เงินแม้ในระบบ หรือการประมาณตนผิด (พ่อพูดไว้) เมื่อพนักงานธนาคารมาถึงที่บ้าน ดำเนินการถ่ายรูป วาดแผนผัง ตอนนั้นไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ต้องแอบไปร้องให้อยู่ในครัว ไม่กล้าถาม เราผ่านตรงนั้นกันมาได้ก็เพราะทุกคนเข้าใจ ยอมรับตัวเอง ยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น ช่วยกันประหยัด ช่วยกันทำงาน แม่และพ่อเปลี่ยนเป็นออกไปขายของชำในตลาดบางแก้วแทน แล้วเริ่ม “พอเพียง” อันนี้ พ่อจะพูดว่า “เอาแค่นี้แหละพอแล้ว” ให้ลูก ๆ เรียนก็พอ ไม่ต้องสร้างอะไรแล้ว ผมจึงเรียกว่าพอเพียงของพ่อ แต่กว่าจะได้คำนี้มาครอบครัวผมแลกมาด้วยประสบการณ์จริง ในตอนต่อ ๆ ไปผมก็จะเขียนไปตามลำดับที่ link อยู่ด้านล่างนี้นะครับ

[ความรัก ถือเป็นจุดเริ่มต้น]
[เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน สอ.ต.หนองธง, สอ.ต.นาปะขอ, สสอ.บางแก้ว, สสจ.พัทลุง]
[วิธีการไปชักชวนคนทำงานอื่น ๆ ในแวดวงมาพูดคุยกัน]
[วิธีการสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่เป็นฉันมิตร]
[การอำนวยให้เกิดเวทีพูดคุยต่าง ๆ ทั้งในส่วนคนทำงาน และชุมชน]

[บทสรุปย่อ]

หมายเลขบันทึก: 6223เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2005 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท