โครงการ เวียนเทียนความรู้


เจ้าหน้าที่ โทรมาสอบถามผมว่า "พรุ่งนี้เช้า ผมว่างหรือไม่?" ผมตอบไปว่า "พรุ่งนี้เช้่าไม่มีกิจธุระอะไร แต่ภาคบ่ายมีรับผิดชอบชั้นเรียน" เขาขอให้ผมอ่านข้อความในไลน์ เป็นข้อความการนัดประชุมภารกิจ "การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม" หัวข้อหนึ่ง เป็นการเตรียมความพร้อมจัดงานเวียนเทียนปรารภวิสาขบูชา

หลังจากจัดการข้าวเหนียวหมูทอดในช่วงเที่ยงเรียบร้อย ผมเดินออกไปภายนอกอาคาร ส่วนหนึ่งเพื่อคลายสมองจากภาคเช้า อีกส่วนหนึ่งไปหาอะไรเย็นๆดื่มน่าจะดี ระหว่างนั้นเดินคิดไปว่า การเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เท่าที่สังเกต หลายคนไปเพื่อรักษาประเพณีไว้ หลายคนไปเพราะค่านิยม และอีกหลายคนไปเพื่อชีวิตทางศาสนา เด็กๆ หลายคนสนุกสนานกับงานวัด ทุกวันนี้เราไม่ต้องเตรียมดอกไม้ธูปเทียนไปวัด เพราะจะมีแม่ค้านำมาจำหน่ายให้เป็นที่เรียบร้อย บางวัดจะจัดการเรื่องดังกล่าวไว้ให้ โดยนำเอาดอกไม้จากการบูชาในวันพระช่วงเช้า มารวมตั้งไว้ที่ถาด ใครไม่ได้เตรียมสิ่งเหล่านี้ไป ก็สามารถไปหยิบจับมาเป็นเครื่องสักการะได้

เป็นปกติของชีวิตมนุษย์ กิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจากความคิดของคน และเมื่อทำซ้ำเดิมๆ จะรู้สึกเบื่อหน่าย (ในบางอย่างต้องทำซ้ำเดิมๆ จะมีสิ่งใหม่ๆให้เรียนรู้เสมอ) หรืออาจมองไม่เห็นสาระสำคัญพื้นฐานของความคิดมนุษย์ ผมเห็นว่า การรักษาประเพณีเดิมก็ดีอยู่ แต่การอยู่กับที่อาจเหมือนกับชีวิตที่ตายแล้ว น่าจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างบ้างหรือไม่

สถาบันอุดมศึกษา เป็นสถาบันความรู้ชั้นสูง (ในความหมายว่า ความรู้มากกว่ามัธยม) หลายแห่งที่ผ่านมาจัดโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไม่ได้แตกต่างจากพื้นที่ทั่วไป ถ้าไม่แตกต่าง การเข้าร่วมกิจกรรมเราอาจเข้าร่วมกับพื้นที่ทั่วไปก็ได้ ถ้าสถาบันอุดมศึกษามีแหล่งความรู้ชั้นสูง เราจะจัดการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอันเกี่ยวกับวันสำคัญทางศาสนากันอย่างไร?

ผมเดินไปคิดไปเรื่อยเปื่อย ความคิดว่า "เวียนเทียนความรู้" น่าจะสอดคล้องกับสถาบันอุดมศึกษากระมัง ผมเริ่มมโนภาพว่า จัดกลุ่มเล็กๆเพื่อการซึมซับความรู้และการถ่ายทอดความรู้น่าจะดี โดยในวันนั้น ภาคเช้า จะเป็นการฝึกจิตภาวนาระยะเวลาหนึ่ง จากนั้น นั่งล้อมวง จุดเทียมเพียงด้ามเดียว เทียนดังกล่าวส่งไปถึงใคร คนนั้นเป็นคนพูด เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้คิดทางศาสนาที่ตนเคยผ่านประสบการณ์มา อันเป็นการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับประสบการณ์ทางศาสนา ผุ้ที่มีประสบการณ์น้อยจะได้เกิดแรงจูงใจอยากมีประสบการณ์มาก ผู้ที่มีประสบการณ์มากจะได้เป็นครูของผู้มีประสบการณ์น้อย ส่วนภาคบ่าย (ง่วงนอน) นั่งล้อมวง จุดเทียนคนละด้าม แลกเปลี่ยนความดีที่ตนเคยทำ นอกเหนือจากประสบการณ์ทางศาสนา จบด้วยการสวดมนต์ กรวดน้ำ แผ่เมตตา ผมเข้าใจว่า กิจกรรมแบบนี้ไม่ได้ละทิ้งพื้นฐานของประเพณีเดิม และน่าจะสอดคล้องกับความเป็นอุดมศึกษาไม่น้อย อย่างไรก็ตาม มีอีกหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับการสนทนาคือ ศาสนาที่ตนให้การยอมรับ ควรจะเป็นอย่างไร เป็นการวิเคราะห์ทั้งดีและไม่ดีกับกิจกรรมทางศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการหาทางออกเพื่อการพัฒนาศาสนาสู่ชีวิตต่อไป นอกจากนั้นคือ การเลือกหัวข้อธรรมมานำเสนอแลกเปลี่ยนกัน


หมายเลขบันทึก: 621720เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2017 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2017 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท