​บทความพิเศษที่เขียนด้วยใจ


“ธ เสด็จ ณ แดนสรวง ราษฏร์ก็กำสรวล หวนไห้

Passing of the great king Bhumibol Adulyadej"


ด้วยหน้าที่ของบรรณาธิการที่จะต้องปิดฉบับวารสารให้ทันตามกำหนด และพร้อมไปด้วยคุณภาพ โดยเฉพาะวารสารวิชาการที่ต้องพิจารณาตามเกณฑ์มาตรฐานของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)

ข่าวที่จะออกมาในทางร้ายคือ...จะสิ้นเดือนธันวาคม แล้ว วารสารที่ฉันรับผิดชอบนั้นมีกำหนดออกในเดือนกรกฏาคม-ธันวาคม ยังไม่สามารถปิดฉบับได้ จำนวนหน้าของวารสารก็ดันน้อยกว่าทุกฉบับ บรรณาธิการอย่างฉันต้องเอามือก่ายหน้าผากเลยทีเดียว

ด้วยความสำนักในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ในรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี มันทำให้ฉันไม่รีรอที่จะลงมือเขียนบทความพิเศษและใช้พื้นที่ของวารสารเรียบเรียงบทความพิเศษขึ้นในเรื่อง "ธ เสด็จ ณ แดนสรวง ราษฏร์ก็กำสรวล หวนไห้" เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน

บทความนี้เป็นบทความที่เขียนด้วยใจ แม้จะเขียนได้ไม่ดีนักเพราะเวลากระชั้น และเวลาเขียนความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็ปิดกั้นความคิด แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ในความรู้สึกมันเกิดขึ้นแบบที่อธิบายไมไ่ด้ โดยเฉพาะเป็นความรู้สึกที่พ่วงกับการนำเสนอผ่านรูปแบบการเขียน ฉันใช้เวลาเขียนบทความนี้เกือบ 1 สัปดาห์


"เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 สำนักพระราชวังได้เผยแพร่ประกาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต นำมาซึ่งความอาลัยอย่างที่สุดของพสกนิกรชาวไทยและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้

ภาพของประชาชนชาวไทยที่ร่ำไห้แสดงออกถึงความอาลัยอย่างหาที่สุดมิได้นั้น ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ มากพอกับการนำเสนอสารคดีพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ครองราชย์มายาวนานถึง 70 ปี ตลอดจนการนำเสนอพระอัจฉิยภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้เทคโนโลยี ผู้สร้างทฤษฏีต่างๆ ให้ประชาชนนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันหรือการแก้ไขปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้น ตลอดจนความเป็นอัครศิลปิน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ยิ่งใหญ่มหาศาล สมดั่งที่คนไทยหลายคนกล่าวว่า “ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป”


องค์กร หน่วยงานราชการต่างๆ จัดทำกิจกรรมเพื่อเป็นการถวายซึ่งความอาลัยแด่รัชกาลที่ 9 อย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติแห่งความเป็น “มหาราช” ดังที่พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้รับการถวายพระราชสมัญญาในปี พ.ศ. 2530 ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช" หรือมีชื่ออนุโลมตามธรรมเนียมว่า "พระภูมิพลมหาราช" มหาวิทยาลัยขอนแก่นเองได้จัดกิจกรรมมากมาย เพื่อให้บุคลากรและนักศึกษา ตลอดจนประชาชนในชุมชนใกล้เคียงได้แสดงออกถึงความอาลัยและแสดงถึงการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น เช่น การจัดกิจกรรมเสด็จฟ้า สถิตไทย ที่ทางมหาวิทยาลัยและคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้แจกเฟรมภาพให้ผู้สนใจนำไปวาดภาพในหลวงที่อยู่ในความทรงจำของแต่ละคน จำนวน 10,089 ภาพ เพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระองค์ เพื่อนำมาประกอบเป็นเจดีย์ 9 ชั้น 9 เหลี่ยม เป็นเจดีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของการน้อมใจส่งเสด็จพระองค์สู่ฟ้า นอกจากนั้น ยังมีการวาดภาพพระสาทิสลักษณ์จำนวน 9 ภาพ การจัดแสดงผลการศิลปะเกี่ยวกับพระองค์ จำนวน 89 ชิ้นงาน และการจัดแสดงโคมไฟที่เป็นสื่อของการนำทางและให้แสงสว่าง ดังที่พระองค์ได้นำแสดงสว่างมาสู้ชีวิตของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้มีความเป็นอยู่ที่ดีในทุกๆ ด้าน การวาดผ้า ผะเหวด โดยใช้รูปแบบฮูปแต้มของอีสานเพื่อนำเสนอพระราชกรณียกิจที่ยิ่งใหญ่ที่ได้ทรงปฏิบัติมา 70 ปี แห่งการครองราชย์ นับเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก กิจกรรมรวมถึงการจัดแสดงเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ด้วย นอกจากการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงความอาลัยดังกล่าวแล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการเทิดพระเกียรติของพระองค์ท่านในพระอัจฉริยภาพแห่งความเป็นอัครศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตรกรรม หรือดนตรี (Wongpongkham, 2016)


พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับวงการห้องสมุดนั้น ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ ในโอกาสที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ความว่า

“หนังสือเป็นออมสิน
หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา

แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้
หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้ และเป็นออมสิน

เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้”


จากพระบรมราโชวาทดังกล่าว แม้ว่าพระองค์ท่านจะพระราชทานมาเป็นเวลาเกือบ 45 ปีแล้ว แต่การอ่านหนังสือนั้นได้อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และทำให้ห้องสมุดยังมีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งให้บริการหนังสือ วันนี้หนังสือยังเป็นสิ่งสำคัญที่รวบรวมองค์ความรู้จากสรรพวิทยาสาขาต่างๆ อาจจะอยู่ในรูปของสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ในเรื่องของการอ่านและการเรียนรู้นี้ หากเดินตามรอยพ่อหลวง คนไทยวันนี้ต้องให้ความสำคัญกับการอ่าน สร้างนิสัยในการรักการอ่านให้เกิดขึ้นแก่ตน ปลูกฝังให้เยาวชนไทยรักการอ่าน มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำไปสู่การคิดแบบวิจารณญาณ เป็นรากฐานของพลเมืองที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) ที่ว่า “...คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตและ สุขภาวะที่ดีสำหรับคนไทย พัฒนาคนให้มีความเป็นคนที่สมบูรณ์มีวินัย ใฝ่รู้ มีความรู้ มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทัศนคติที่ดีรับผิดชอบต่อสังคม มีจริยธรรมและคุณธรรม...” (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2559)

การปลูกฝังพฤติกรรมเชิงบวกในเยาวชนนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นบทบาทของทุกคน ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน พ่อแม่ ครูอาจารย์ และแม้แต่ห้องสมุดเองที่เป็นแหล่งบริการสารสนเทศ ที่จะต้องจัดบริการและทรัพยากรสารสนเทศที่มีคุณภาพ ทันสมัย ตรงกับความต้องการ และน่าสนใจ ให้ผู้อ่านได้เลือกอ่าน เปรียบเสมือนทุนความรู้ที่ให้ผู้อ่านเลือกสะสมความรู้ที่มีประโยชน์ เฉกเช่นการหยอดกระปุกออมสิน จากพระบรมราชโชวาทดังกล่าว ทำให้ห้องสมุดเห็นบทบาทและความสำคัญของตนเองว่ามีความสำคัญในสังคมประการใด ซึ่งจะเป็นกำลังใจสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่บรรณารักษ์ ผู้บริการสารสนเทศที่จะมุ่งสนับสนุนให้ประชาชนมีการออมสารสนเทศ จากทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ในชีวิตประจำวันต่อไป


พระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น หาที่สุดมิได้ ได้ทรงก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดและพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นักศึกษาปัจจุบันในแต่ละปีเข้าเฝ้าฯ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสกับนักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่าให้ประกอบแต่ความดี แม้ต่อมาเมื่อพระชนมายุมากขึ้นก็ยังทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการดังกล่าวมาจวบจนปัจจุบัน พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 ความว่า


“การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี” พระราชดำรัสครั้งนั้น นำมาซึ่งปณิธานของบัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จบการศึกษา ว่าจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในแขนงต่างๆ อย่างเต็มความสามารถ
ส่วนสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น นั้น ได้จัดนิทรรศการ “ในหลวงกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น” เพื่อเป็นการนำเสนอพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านมีต่อชาวมอดินแดง นำเสนอผ่านแอพพลิเคชั่นของงานด้านพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีมุมหนังสือพิเศษ จัดแสดงหนังสือที่นิพนธ์เกี่ยวกับพระองค์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ ให้ผู้สนใจได้ติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการเรื่อง “ใต้ร่มพระบารมี” ในการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรนักศึกษาที่จบการศึกษาและเข้ารับพระราชทานปริญญาในปี 2559 (www.library.kku.ac.th)

นอกจากนี้ สำนักหอสมุดยังได้ทำหน้าที่ประสานงานกับผู้ที่ต้องการเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ที่ต้องการเผยแพร่รูปภาพ หรือสื่อต่างๆ ลงในระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล สามารถนำไปใช้งานทางการศึกษาได้โดยไม่มีลิขสิทธิ์หรือมีลิขสิทธิ์ตามเงื่อนไขที่กำหนด (www.oer.kku.ac.th) เป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่งว่าพระองค์ท่านเป็นศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ มีศิลปินวาดภาพพระสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และหน่วยงานต่างๆ ที่นำภาพกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์มากกว่า 250 ภาพ และยังเป็นศูนย์กลางในการรับบริจาคสิ่งของที่ระลึก หรือสารสนเทศเกี่ยวกับพระองค์ท่านจากประชาชน หน่วยงานทั่วไป เพื่อนำมาจัดเก็บรักษา และให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปตามหลักวิชาการ เช่นเดียวกับหลายๆ หน่วยงานที่บริการสารสนเทศได้จัดทำสารสนเทศเผยแพร่เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9 เนื่องในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ อาทิ กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ที่ผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ตลอดจนรวบรวมเพลงพระราชนิพนธ์ ภาพยนตร์ พระราชกรณียกิจ (http://www.m-culture.go.th/th/main.php?filename=index)

วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 9 ในขณะที่ท่านยังมีพระชนม์ชีพ ทุกๆ ปีของวันนี้ จะเห็นภาพพสกนิกรมากมายร่วมกันไปถวายพระพร และเปล่งคำว่า ทรงพระเจริญ สำหรับปี 2559 นี้ประชาชนชาวไทยคงไม่ได้เปล่งคำว่า ทรงพระเจริญสำหรับพระองค์ท่าน เนื่องจากรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จสวรรคตไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ประชาชนชาวไทยได้แต่น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น หาที่สุดไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการ “เดินตามรอยพ่อหลวง” ใช้ศาสตร์แห่งพระราชานำชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเกษตรทฤษฏีใหม่ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การเป็นผู้ให้ หรือความอดทนเสียสละ เป็นต้น แม้ว่าวันนี้แผ่นดินจะสิ้นรัชกาลที่ 9 แล้ว แต่แผ่นดินไทยไม่ไร้กษัตริย์ ประเทศไทยได้มีรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองสืบต่อไป ประชาชนชาวไทยยังคงได้เปล่งเสียง ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ สำหรับสมเด็จพระมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี


ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ข้าพระพุทธเจ้า กองบรรณาธิการวารสารอินฟอร์เมชั่น


Reference

Khon Kean University Library. (2016). KKU Archive and Museum. Avarible 14 Oct. 2016 from

http://www.archive.kku.ac.th/web/

. (2016). King Rama 9. Avarible 14 Oct. 2016 from www.oer.kku.ac.th

Image King Rama9 Read and Study. [n.d.]. Avarible 20 Oct. 2016 from www.google.co.th

Wongpongkham, N. (2016). Dean of Faculty of Fine and Applied Arts Khon Kaen University.

Interview. 30 Oct. 2016.

Footnote

...บทความเผยแพร่ใน....อินฟอร์เมชั่น ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 (กรกฏาคม-ธันวาคม 2559) หน้าที่ 1-6


หมายเลขบันทึก: 620857เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2016 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2017 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท