ประสบการณ์เก่า เล่าใหม่อย่างไรให้ได้ข้อคิด


ประสบการณ์เก่า เล่าใหม่อย่างไรให้ได้ข้อคิด

ตามหัวข้อเลยค่ะ ในครั้งนี้ดิฉันอยากที่จะมาแชร์ประสบการณ์และข้อคิดดีๆที่ดิฉันได้จากในห้องเรียนรายวิชากิจวัตรประจำวันและการฟื้นฟูสมรรถภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชาของนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 ซึ่งครั้งนี้เป็นในหัวข้อ Community Survivors and Learning Skills โดยอาจารย์ได้มอบหมายให้นักศึกษาแต่ละคนไปสัมภาษณ์บุคคลใกล้ตัวที่เคยประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือทางด้านจิตใจอันส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันเพื่อดูว่าบุคคลท่านนั้นเมื่อเกิดปัญหาแล้ว สามารถเรียนรู้และผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้อย่างไร

โดยดิฉันเองได้เลือกบุคคลที่ดิฉันรักมากที่สุดท่านหนึ่ง นั่นก็คือ คุณย่าของดิฉันเองค่ะปัจจุบันท่านอายุ 72 ปี เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนสะบ้าหัวเข่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วเนื่องจากท่านมีภาวะข้อเข่าเสื่อม โดยได้เขียนออกมาเป็นแผนภูมิยุ่งยากดังรูปด้านล่างนี้ค่ะ

แน่นอนเลยว่าเมื่อได้ยินคำว่าผ่าตัด ต้องตามมาด้วยคำว่าเจ็บแน่นอน ใช่ค่ะ ใน 3 อาทิตย์แรก คุณย่ามีอาการขยับแล้วเจ็บ จึงพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเดินแต่พี่นักกายภาพบำบัดที่มาฝึกคุณย่าก็ไม่ย่อท้อ คอยกระตุ้นคุณย่าและสอนให้คุณย่าเดิน โดยเริ่มจากการเดินโดยใช้ Walker ซึ่งในช่วงแรกๆ ท่านยังเดินได้ไม่นานและต้องมีผู้คอยดูแลและระวังด้านความปลอดภัยรวมไปถึงคุณหมอได้มีการให้คำแนะนำในเทคนิคการลดปวด ลดบวมให้มาทำควบคู่ไปกับการเดินอีกด้วยและหลังจากทำตามโปรแกรมการรักษาของคุณหมอ ก็มาถึงวันนัดติดตามผลซึ่งคุณหมอได้บอกคุณย่าว่า “พื้นตัวเร็วนะนี่คุณยายอีกเดี๋ยวก็สามารถเดินได้แล้วนะ”

แม้ว่าหลังจากนั้นท่านก็สามารถเดินได้แต่ทว่าก็ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจวัตรประจำวันของคุณย่าที่ต้องเปลี่ยนไปเนื่องจากการเดินที่ลำบากมากยิ่งขึ้นซึ่งกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนไปของคุณย่าที่ดิฉันได้เลือกมานำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องเรียนครั้งนี้นั่นก็คือ กิจกรรมการทำบุญตักบาตร ด้วยความที่คุณย่ามีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และจากที่ท่านได้เล่าว่าท่านนั้นทำบุญตักบาตรมาตั้งแต่ท่านยังเด็กด้วยความศรัทธาและสิ่งที่คุณย่าคุ้นชิน ถือปฏิบัติมานาน จนกลายเป็นกิจวัตรเมื่อถึงวันพระทีไรท่านมักจะทำกับข้าวใส่ปิ่นโตเตรียมไว้ แล้วฝากลูกฝากหลานให้ไปทำบุญที่วัดแทนหลายครั้งที่ลูกหลานเอ่ยชวนว่า “จะพาไป”ท่านก็มักจะตอบกลับมาว่า “ตอนนี้เดินไม่ถนัด ไม่ต้องลำบากพาไปหรอก เอ็งก็ไม่ค่อยว่างด้วยไปทำงานเถอะ”

ตอนนั้นดิฉันกับครอบครัวได้พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า “คนเคยเดินไปทำบุญตักบาตรเองตลอด แต่ตอนนี้ทำไม่ได้คงเบื่อแย่”“อยากให้ย่าได้ตักบาตรด้วยตนเองเนอะ ท่านจะได้มีความสุขมากกว่านี้ ” “ถ้าได้เดินไปตักบาตรเองก็ดี จะได้ออกกำลังกายด้วย” “ใครจะพาท่านไปได้ตลอดในเมื่อทุกคนต่างก็ทำงานบ้างเรียนบ้างจะให้ไปเองก็อันตราย” ...แล้วผลก็คือ ทุกคนเห็นด้วยในการเปลี่ยนจากการไปทำบุญตักบาตรที่วัดมาเป็นทำบุญตักบาตรตอนเช้าแทนเนื่องจากตอนเช้าคือเวลาก่อนที่ทุกคนจะไปเรียนหรือไปทำงานสามารถมาทำบุญตักบาตรเป็นเพื่อนท่านได้และคุณย่าสามารถเดินมาตักบาตรได้ด้วยตนเองหลังจากมีการปรับระดับพื้นบริเวณบ้านให้เรียบ เพื่อให้ท่านสามารถเดินได้สะดวกยิ่งขึ้นซึ่งเราไม่สามารถทำได้หากจะเดินทางไปทำบุญที่วัด และผลปรากฏว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในบ้านครั้งนั้นส่งผลให้คุณย่ายิ้มแย้มมากขึ้น ทุกคนในบ้านสนิทกันมากขึ้นคล้ายเป็นการทำกิจกรรมครอบครัวในการมาดูแลบุคคลสำคัญของบ้าน นับเป็นหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของครอบครัวดิฉันเลยทีเดียว

ช้าก่อนค่ะ ที่ดิฉันเขียนบทความครั้งนี้ไม่ได้ต้องการจะมาเล่าความประทับใจภายในครอบครัวหรอกนะคะ แต่ดิฉันมีความตั้งใจที่จะมาบอกถึงข้อคิดที่ดิฉันได้เรียนรู้ในคาบเรียนนี้ค่ะ นั่นก็คือ “กิจกรรมบำบัดนั้นคือพื้นฐานของชีวิตเมื่อเรามีจิตที่คิดถึงผู้อื่น” ซึ่งจะเห็นได้เลยว่า เมื่อสองปีก่อน ดิฉันนั้นยังไม่มีความรู้เท่าไรนักในการที่จะเป็นนักกิจกรรมบำบัด และบุคคลในครอบครัวของดิฉันก็ไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้แต่สิ่งที่ทุกคนทำ ณ ตอนนั้นกลับมีหลายๆอย่างที่กำลังสอดคล้องกับสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้ในปัจจุบัน นั่นก็คือ ทุกคนได้คำนึงถึงความสุขของคุณย่าว่าท่านต้องการทำอะไรสาเหตุที่ท่านทำกิจกรรมนั้นไม่ได้มาจากปัจจัยใดบ้าง ไม่ใช่เพียงปัจจัยทางด้านร่างกายแต่ยังมีปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม เส้นทางการเดินทางที่ยากลำบากต่อลักษณะการเดินของคุณย่าคำนึงถึงเวลาว่างและบทบาทของแต่ละคนภายในครอบครัวว่าต้องทำอะไรบ้างจากนั้นนำมาช่วยกันคิดต่อว่าหนทางที่เป็นไปได้นั้นควรทำอย่างไรคล้ายการหาจุดตรงกลางที่ทุกคนสามารถทำกิจกรรมนี้ได้ผลก็คือ ทุกคนตกลงกันว่าจะใช้วิธีการปรับทั้งสิ่งแวดล้อมและกิจกรรม ปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวย และปรับกิจกรรมให้ทุกคนในครอบครัวสามารถทำได้… และนี่แหละค่ะคือสิ่งที่ดิฉันอยากจะบอก…

“ไม่ว่าจะทำการใดก็ตาม เมื่อไรที่เราคิดว่ามันง่าย มันก็จะง่ายแต่เมื่อใดที่เราคิดว่ามันยากมันก็จะยาก”

กิจกรรมบำบัดก็เช่นกัน ในตอนแรกก่อนที่จะเริ่มทำ Fact sheet นี้ ฉันรู้สึกว่าช่างยากเสียเหลือเกินนะการก้าวสู้การเป็นนักกิจกรรมบำบัดนี่ แต่ในบางทีฉันนั้นก็คิดมากไปเสียจนลืมไปว่าฉันนั้นได้เคยทำกิจกรรมบำบัดไปโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากฉันได้ทำสิ่งนั้นอยู่เป็นปกตินั่นเอง...

ดิฉันอยากขอแนะนำทุกท่านว่า เพียงค่าท่านลองมองดูบุคคลรอบตัว เปิดใจรับประสบการณ์ต่างๆมากขึ้น ทั้งในอดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี หรือน้อมรับในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ดิฉันคิดว่า สิ่งเหล่านี้อาจจะนำประโยชน์และข้อคิดดีๆมาสู่ท่านได้ไม่วันใดก็วันหนึ่งดังเช่นที่ดิฉันกำลังประสบอยู่

สุดท้ายนี้ก็ขออภัยนะคะที่บันทึกครั้งนี้ยาวไปเสียหน่อย แต่ก็ขอขอบคุณที่อ่านจนจบนะคะ ถ้าผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 620068เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2016 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2016 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท