พฤติกรรมเงื่อนไขกับความอยากยา


วิธีการอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับผู้ต้องการเลิกยาเสพติด ก็คือ หลีกเลี่ยงจากการเผชิญกับตัวกระตุ้นภายนอก และรู้จักวิธีการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นตัวกระตุ้นภายใน และอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องแนะนำผู้ต้องการเลิกยาก็คือ อย่าคิดว่าตนเองเข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับตัวกระตุ้น

     ผมได้รับเอกสารวิชาการที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่ง แต่หากจะเป็นมะพร้าวขายสวนอีกก็เป็นได้ ถึงอย่างไรผมก็ตัดสินว่าเป็นเรื่องที่น่ารู้ หรือเป็น “ความรู้ที่น่าจะได้รู้ และควรต้องรู้” ครับ เอกสารนี้เป็นการเขียนถึงพฤติกรรมเงื่อนไขกับความอยากยา ที่เขียนโดยคุณบุปผา ป่าแดง คุณฤมล เรืองกิจวัฒนากร และ คุณอมาวสี ดวงนิมิต เขียนไว้เมื่อปี 2545 ในหนังสือ ทางรอด วิกฤติและทางออกของปัญหาการระบาดของยาบ้า ลองอ่านดูนะครับ และถ้าจะให้ได้ประโยชน์อีกต่อ น่าจะได้เล่าต่อ ๆ กันไป อย่าลืมอ้างถึงคนเขียนไว้ด้วยนะครับ

     มีการทดลองหนึ่งที่บางคนเคยเรียนมาขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาเป็นเสมือนการทดลองง่ายๆ แต่มีความสำคัญมาก ถึงขนาดที่นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อพาฟลอฟ (Pavlov) ผู้ทำการทดลองนี้ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้มีผลงานสำคัญระดับโลกเท่านั้น

     การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเราให้อาหารสุนัข ขณะที่สุนัขเห็นอาหาร สุนัขจะมีอาการอยากกินอาหารและน้ำลายไหล นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองให้อาหารพร้อมกับสั่นกระดิ่งทุกครั้ง ปฏิกิริยาของสุนัขก็เป็นเช่นเดิมมีอาการอยากอาหารและน้ำลายไหล เมื่อทดลองเช่นนี้ไประยะหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองสั่นกระดิ่งอย่างเดียวโดยไม่มีอาหาร ปรากฏว่าสุนัขจะแสดงอาการอยากอาหารและน้ำลายไหล เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา พฤติกรรมที่สุนัขตอบสนองต่อเสียงกระดิ่งโดยไม่มีอาหาร เช่นนี้เอง ที่เราเรียกว่า “พฤติกรรมเงื่อนไข” (Conditional Behavior)

     การทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมเงื่อนไขของพาฟลอฟ (Pavlov) ได้ถูกนำมาอธิบายพฤติกรรมของความอยากยา (Craving) ที่เกิดขึ้นกับผู้ติดยาเสพติดดังนี้

     สำหรับผู้ที่เสพยาเสพติดเป็นประจำสมองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ร่างกายมีความต้องการยาเสพติดเฉกเช่น ปัจจัยสำคัญสำหรับการดำรงชีพอย่างหนึ่งในการเสพยาแต่ละครั้ง อุปกรณ์การเสพ สถานที่เสพยา หรือผู้ร่วมเสพยาที่อยู่รอบข้างจะเปรียบเสมือนกระดิ่งที่ถูกสั่นในขณะที่สุนัขเห็นอาหารเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ตัวกระตุ้น” สมองจะจดจำตัวกระตุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง แม้ผู้ติดยาจะไม่ได้เห็นยาเสพติดโดยตรง แต่เผชิญกับกระตุ้นตามที่กล่าวมาจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นในสมองและจะเกิดความอยากยาขึ้นมาทันที เช่นเดียวกับสุนัขที่เกิดการอยากอาหาร เมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง

     ความอยากยา (Craving) ที่เกิดขึ้นจะรุนแรง แตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะของการติดยาและชนิดของยาเสพติด ถ้าการติดยารุนแรงเป็นระยะเวลานานความอยากยาจะรุนแรงมากจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ สำหรับสิ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดความอยากยา มีทั้งตัวกระตุ้นภายนอกร่างกาย และตัวกระตุ้นภายในร่างกาย

     ตัวกระตุ้นภายนอกร่างกาย ได้แก่ บุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมเสพยาหรือผู้ขายยาเสพติด สถานที่เสพยาหรือสถานที่ซื้อขายยาเสพติด สถานเริงรมย์ อุปกรณ์การเสพยา ช่วงเวลาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเย็น หลังเลิกเรียนหรือเลิกงาน วันหยุด หรือวันรับเงินเดือน เป็นต้น สำหรับตัวกระตุ้นภายในร่างกาย ได้แก่ อารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหงา ความเบื่อหน่าย ความเศร้า ความกลัว หรือความโกรธ ก็สามารถกระตุ้นให้ผู้ติดยาเกิดความอยากยาขึ้นมาได้

     วิธีการอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับผู้ต้องการเลิกยาเสพติด ก็คือ หลีกเลี่ยงจากการเผชิญกับตัวกระตุ้นภายนอก และรู้จักวิธีการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นตัวกระตุ้นภายใน และอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องแนะนำผู้ต้องการเลิกยาก็คือ อย่าคิดว่าตนเองเข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับตัวกระตุ้น เช่น คิดว่าตนเองใจแข็งพอ หากเพื่อนมาชวนเสพยาก็จะปฏิเสธหรือถึงแม้ไปพบเพื่อนเสพยาอยู่ เราก็หักห้ามใจได้ เป็นต้น จากผลของการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ต้องการเลิกยาส่วนใหญ่จะไม่สามารถต้านทานกับตัวกระตุ้นเหล่านี้ได้ และในที่สุดต้องหันกลับไปเสพยาอีก วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ผู้ต้องการเลิกยาต้องหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญตัวกระตุ้นไม่ใช่คิดว่าตนเองเข้มแข็งพอ

หมายเลขบันทึก: 6192เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2005 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท