ไขข้อข้องใจ มีเวลา ๑๕ วันหลังรับทราบคำสั่ง จริงหรือไม่ ?


ไขข้อข้องใจ มีเวลา ๑๕ วันหลังรับทราบคำสั่ง จริงหรือไม่ ?

ผ่านการปฏิบัติงานในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ ซึ่งช่วงเวลานี้มีการพิจารณาเลื่อน ย้ายข้าราชการ ที่แสดงความประสงค์ ในโอกาสดังกล่าวนี้กลุ่มงานนิติการจึงขอนำเสนอขั้นตอนการปฏิบัติราชการในกรณีมีคำสั่งย้ายข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่ง หรือไปปฏิบัติงานในสถานที่ปฏิบัติราชการแห่งใหม่ ซึ่งในทางปฏิบัติในขั้นตอนดังกล่าวนี้มิได้มีรายละเอียดยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงแต่มีข้อปฏิบัติบางประการที่อาจยังเป็นข้อถกเถียง หรือยังเป็นที่สงสัยไม่แน่ใจในการอธิบายให้เข้าใจต่อผู้เกี่ยวข้องได้ โดยเฉพาะเรื่องผลของคำสั่ง ขั้นตอนการแจ้งคำสั่ง การเริ่มปฏิบัติตามคำสั่ง ดังความเข้าใจของข้าราชการหลาย ๆ คนที่เมื่อกล่าวถึงการลงนามรับทราบคำสั่งของทางราชการแล้ว เชื่อและรับรู้ต่อเนื่องกันมาว่ายังมีเวลาอีก ๑๕ วันที่จะยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ มีระเบียบที่เกี่ยวข้องว่าไว้อย่างไร

ในระบบราชการของประเทศไทย นั้น มีหลักปฏิบัติงานราชการที่ต้องมีความชัดเจนแน่นอน มีขั้นตอนลำดับการบังคับบัญชา และมีระเบียบวินัยที่ควบคุมกำกับให้เกิดความพร้อมเพรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย เนื่องจากการปฏิบัติราชการทุกขณะขั้นตอน นั้น มีลักษณะการใช้อำนาจบริหารที่เกี่ยวข้องกับ การออกกฎระเบียบ การออกคำสั่ง การลงมือกระทำการ และการก่อให้เกิดสัญญาหรือนิติกรรมทางปกครอง ดังนั้นทุกขั้นตอนการปฏิบัติงานที่หมายถึงการใช้อำนาจดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีวิธีการปฏิบัติกำหนดขอบเขตของการให้อำนาจและกรอบระยะเวลาดำเนินการไว้ ทั้งนี้ย่อมประกอบด้วยเหตุผลที่อ้างอิงได้ถึงความจำเป็น และสำคัญของการปฏิบัติราชการเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้บริการสาธารณะ

กล่าวเฉพาะถึงคำสั่งเลื่อน ย้ายข้าราชการ นั้น ถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามความหมายที่บัญญัติไว้ใน พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ “คำสั่งทางปกครองหมายความว่าการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ”

คำสั่งเลื่อน ย้าย ข้าราชการจะมีผลเมื่อใดนั้น แม้ว่าในท้ายคำสั่งนั้นผู้มีอำนาจจะสั่งไว้ให้คำสั่งมีผลเมื่อใด โดยถ้อยคำ เช่น “ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” หรือ “ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่... เป็นต้นไป” ก็ตาม แต่ผลของคำสั่งทางปกครองจะเริ่มมีผลตั้งแต่เมื่อใดจะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในหมวดที่ว่าด้วยผลของคำสั่งทางปกครองที่กล่าวว่า “คำสั่งทางปกครองให้มีผลใช้ยันต่อบุคคลตั้งแต่ขณะที่ผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นต้นไป” หมายความว่าผู้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งในทันทีที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น ถ้าหากยังไม่ได้รับแจ้งก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้นแต่อย่างใด ส่วนการแจ้งและรับแจ้งคำสั่งมีบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกันนี้ว่า “การแจ้งคำสั่งทางปกครอง การนัดพิจารณา หรือการอย่างอื่นที่เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบอาจกระทำด้วยวาจาก็ได้ แต่ถ้าผู้นั้นประสงค์จะให้กระทำเป็นหนังสือก็ให้แจ้งเป็นหนังสือ การแจ้งเป็นหนังสือให้ส่งหนังสือแจ้งต่อผู้นั้น..”

ส่วนข้อสงสัยที่เหตุใดมีการกล่าวว่า “เซ็นต์รับทราบคำสั่งแล้วยังมีเวลาอีก ๑๕ วัน ที่จะเดินทาง” นั้น ไม่มีระเบียบใด ๆ รองรับการปฏิบัติดังลักษณะที่กล่าวนี้ และไม่มีหลักปฏิบัติใด ๆ ของทางราชการที่จะถือได้ว่ามีเหตุผลจำเป็นใด ๆ ที่จะถืออ้างได้ว่าเมื่อลงนามรับทราบคำสั่งแล้วจะใช้เวลาเดินทางไปปฏิบัติราชการ ณ ที่ตั้งสำนักงานใหม่ได้ถึง ๑๕ วัน ทั้งนี้ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกรณีการเดินทางไปราชการ มีดังนี้

  • พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเดินทางไปราชการ พ.ศ.2526 บัญญัติว่า “การเดินทางไปราชการ

ประจำได้แก่การเดินทางไปประจำต่างสำนักงาน ไปรักษาการในตำแหน่ง หรือรักษาราชการแทนเพื่อดำรงตำแหน่งใหม่ ณ สำนักงานแห่งใหม่”

2. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ.2550 บัญญัติว่า “การอนุมัติระยะเวลาเดินทางไปราชการการ ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดประชุมของทางราชการอนุมัติระยะเวลาเดินทางล่วงหน้าหรือระยะเวลาหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติราชการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม”

ระเบียบที่เสนอในข้อ 1 และ 2 เห็นได้ว่า เมื่อข้าราชการได้รับคำสั่งให้ย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานแห่งใหม่ เป็นกรณีการเดินทางไปราชการประจำ โดยต้องได้รับอนุมัติให้เดินทางไปราชการโดยผู้บังคับบัญชาในระยะเวลาที่เหมาะสม และมีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามระเบียบของทางราชการ

สำหรับระยะเวลา 15 วันนั้น ใช่ว่าไม่มีมูลเหตุที่มา แต่พบได้ในระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งระเบียบดังกล่าวใช้ประกอบกันกับ พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2535 บัญญัติว่า “การจ่ายเงินเดือนในกรณีต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้ ( ๑ ) ลาออก ให้จ่ายได้ถึงวันก่อนวันถึงกำหนดลาออก แต่ถ้าถึงกำหนดลาออกแล้วยังไม่ได้รับทราบคำสั่งอนุญาตให้ลาออก และข้าราชการผู้นั้นยังคงรับราชการต่อมา ให้จ่ายได้ถึงวันรับทราบคำสั่งหรือควรได้รับทราบคำสั่ง ( ๒ ) ให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกให้จ่ายได้ถึงวันก่อนวันที่ระบุในคำสั่ง แต่ถ้ายังไม่ได้รับทราบคำสั่ง และข้าราชการผู้นั้นยังคงรับราชการต่อมา ให้จ่ายได้ถึงวันรับทราบคำสั่งหรือควรได้รับทราบคำสั่ง ( ๓ ) ในกรณีตาม ( ๑ ) และ ( ๒ ) หากจำเป็นต้องส่งมอบงานในหน้าที่ ก็ให้จ่ายต่อไปได้จนถึงวันส่งมอบงานเสร็จภายในเวลาอันไม่ชักช้าตามที่ผู้บังคับบัญชาจะกำหนดตามสภาพของงาน แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ระบุในคำสั่งหรือวันรับทราบคำสั่ง หรือควรได้รับทราบคำสั่ง แล้วแต่กรณี

ระเบียบดังกล่าวนี้นอกจากจะไขข้อข้องใจถึงวิธีการปฏิบัติตามคำสั่งที่หลายคนยังไม่เข้าใจชัดเจนเรื่องช่วงระยะเวลาของการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นแล้ว ยังสอดคล้องกับเรื่องระยะเวลาการแจ้งและรับแจ้งคำสั่งทางปกครองที่กฎหมายปกครองถือหลักความชัดเจนแน่นอนของคำสั่งทางปกครอง ว่าผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทางปกครองจะต้องได้รับทราบโดยการแจ้งคำสั่งไม่ว่าในทางวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนที่จะเริ่มมีผลในทางปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง

อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ข้าราชยังคงปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งหน้าที่และสถานที่ปฏิบัติราชการเดิมได้ต่อไปภายหลังจากรับทราบคำสั่งให้ย้ายหรือพ้นตำแหน่งเดิมแล้วนั้น เป็นกรณีการมอบหมายงานในหน้าที่ภายหลังจากที่ได้รับทราบคำสั่ง ซึ่งปรากฏอยู่ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับส่งงานในหน้าที่ราชการ โดยมีรายละเอียดการปฏิบัติที่ควรศึกษา และกลุ่มงานนิติการจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

2. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนเงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน

พ.ศ. 2535

3. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเดินทางไปราชการ พ.ศ.2526

4. ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

5. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ.2550

6. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดการประชุมของทางราชการ

พ.ศ. 2524

หมายเลขบันทึก: 618992เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

เรียนสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการย้ายของข้าราชการครูสายผู้บริหารสถานศึกษา ประจำปี2561 นี้ครับประเด็นข้อสงสัยคือ เรื่องการนับเวลาปฏิบัติหน้าที่ตามหนังสือ ว 24/2560 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้อ1. คุณสมบัติของผู้ขอย้าย 1.1 1.1 ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าว ในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน นับถึงวันที่ 31 ตุลาคม ของปีที่ยื่นคำร้องขอย้าย https://www.otepc.go.th/index.php/notice-law-rule/circularnotice/1910-24-2560 )จากที่กล่าวมา พบว่า ผู้ยื่นคำร้องขอย้าย ได้รับคำสั่งย้าย ลงวันที่ 1 พ.ย. 59 (ในก.พ.7 ลงวันที่1 พ.ย.59 อ้างตามคำสั่งย้าย) แต่ปรากฎว่าผู้ย้ายได้รับทราบหนังสือแจ้งย้ายจากเขตผ่านระบบอีออฟฟิช ลงวันที่ 2 พ.ย. 59. พร้อมระบุให้แจ้งหนังสือรายงานตัวไม่เกินวันที่4 พ.ย. 59 ผู้ส่งเรื่องไปรายงานตัววันที่4 พ.ย. 59 จากข้อมูล. ในรอบการย้ายของปีนี้ ผู้ขอย้ายได้ยื่นคำร้องขอย้ายผ่านเขตพื้นที่ แต่ทางเขตพื้นที่พิจารณาไม่ดำเนินการส่งเรื่องย้ายต่อ โดยอ้างเหตุผลว่าไม่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อ1.1 คือไม่ครบ 24 เดือน โดยได้พิจารณาจากหนังสือรายงานตัวของผู้ย้ายที่แจ้งเขต ที่ลงวันที่ 4 พ.ย. 59 จากเหตุการณ์นี้ มีข้อสงสัยเรื่อง การนับเวลาปฏิบัติหน้าที่ครบ24 เดือนตามที่ทางเขตแจ้งมาชอบและถูกต้องแล้วหรือไม่. จึงขอเรียนถามเพื่อให้เกิดความกระจ่างในประเด็นการพิจารณาและการอ้างอิงข้อกฎหมายต่อไปครับ

ตอบครับ เรื่องการนับระยะเวลามีกำหนดวิธีการนับไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 193/1-193/8 กรณีคำถามเรื่องการนับเวลาเป็นเดือนที่หลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารสถานศึกษากำหนด ต้องปรับตามมาตรา 193/6 ครับ คือต้องนับจำนวนเดือนเต็มก่อนนับวันที่เป็นส่วนของเดือน ซึ่งวันจะต้องมีจำนวน 30 วันจึงจะถือเป็นหนึ่งเดือน กรณีที่ถามมาคือจำนวนเดือน 23 เดือนเต็ม ส่วนวันที่่เหลือไม่ครบ 30 วัน จึงไม่ถือเป็นหนึ่งเดือน ก็จึงไม่ครบ 24 เดือน ครับ ส่วนเรื่องคำสั่งที่ระบุใน กพ.7 แม้ลงวันที่ 1 พ.ย. 59 แต่กรณีคำสั่งทางปกครองต้องนับจากวันได้รับแจ้งและทราบคำสั่งครับ ( พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ว่าด้วยการรับแจ้งคำสั่ง ) คือ วันที่ 2 พ.ย.59 ส่วนการรายงานตัวปฏิบัติราชการนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ข้าราชการเข้ารายงานตัวเริ่มปฏิบัติราชการในสถานศึกษา จำต้องนับเวลาปฏิบััติงานเริ่มแต่วันที่ 4 พ.ย.59 ครับ หลักเกณฑ์การนับเวลาถึงวันที่ 31 ต.ค. เช่นนี้ คงปฏิบัติตามโดยยึดถือเวลา 24 เดือนยากครับ เพราะถ้าคำสั่งออกช้าและมาในช่วงเวลาเกินเดือนต.ค.แบบนี้ ไม่ถึง 24 เดือนยุแล้วครับ น่าจะเปลี่ยนเป็นนับถึงวันที่คณะกรรมการฯ พิจารณา น่าจะเหมาะสมกว่า คือไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ที่มีระยะเวลาปฏิบัติงาน ถึง 24 เดือน ขอบคุณครับ

เรียน ท่านสุมิตรชัยครับตามที่ท่าน [email protected] ได้สอบถามท่านนั้น ผมขอสอบถามท่านเพิ่มเติมสั้นๆ ว่า ผู้บริหารที่มีคำสั่งย้ายคราวก่อน ในคำสั่งระบุว่าทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2559 แสดงว่า ถ้าเขาไปรายงานตัวหลังวันที่ 1 พ.ย.59 แสดงว่าไม่ครบ 24 เดือน ไม่มีสิทธิ์ย้ายใช่หรือไม่ครับ

เรียน ท่านสุมิตรชัยครับตามที่ท่าน [email protected] ได้สอบถามท่านนั้น ผมขอสอบถามท่านเพิ่มเติมสั้นๆ ว่า ผู้บริหารที่มีคำสั่งย้ายคราวก่อน ในคำสั่งระบุว่าทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2559 แสดงว่า ถ้าเขาไปรายงานตัวหลังวันที่ 1 พ.ย.59 แสดงว่าไม่ครบ 24 เดือน ไม่มีสิทธิ์ย้ายใช่หรือไม่ครับ

ตอนนี้ยังไม่มีหนังสือแจ้งมาที่โรงเรียน หรือเจ้าตังผู้ที่จะย้ายเลย 1.จะทำอย่างไรคะ2.เมื่อหนังสือมาจะต้องเดินทางไปที่โรงเรียนใหม่ภายในกี่วันคะ

ตอบคุณKrucenter15 ถ้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าว หากมีวันปฏิบัติงานไม่ครบ 24 เดือน ก็ไม่ครบเงื่อนไขการใช้สิทธิย้ายครับ เนื่องจากการเริ่มต้นนับวันปฏิบัติงานจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ใช้สิทธิได้ลงนามปฏิบัติราชการแล้ว

ตอบคุณboombim12342830 หากยังไม่มีหนังสือ และคำสั่งแจ้งมา ก็ยังไม่ได้รับทราบคำสั่งครับ ส่วนเมื่อหนังสือ หรือคำสั่งมาถึง หากลงนามรับทราบแล้ว การจะต้องเริ่มปฏิบัติราชการที่ใหม่ จะต้องดูว่า1. ในคำสั่งระบุวันรายงานตัวเข้าปฏิบัติหน้าที่ไว้หรือไม่ หากมีจะต้องปฏิบัติตามคำสั่ง หากไม่สามารถปฏิบัติได้ จะต้องแจ้งเหตุผล ซึ่งเหตุผลจำเป็นส่วนนี้จะต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการที่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้แล้วเสร็จ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับส่งงานในหน้าที่ราชการ พ.ศ.2524 ข้อ 8 กำหนดว่า “เมื่อมีคำสั่งให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่ง ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้รับรายงานตามข้อ 34 จัดการให้มีการรับส่งงานในหน้าที่โดยเร็ว และให้ผู้บังคับบัญชากำหนดวันรับส่งงานในหน้าที่ตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้พ้นจากตำแหน่งรับทราบคำสั่ง เว้นแต่จะมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติของคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นไม่อาจรับส่งงานในหน้าที่กันภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งได้ ให้ข้าราชการซึ่งพ้นจากตำแหน่งขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้รับรายงานตามข้อ 34 ขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน ตามความจำเป็น
2.หากไม่ระบุวันรายงานตัวเข้าปฏิบัติราชการ เช่นอาจกำหนดไว้ท้ายคำสั่งว่า ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เมื่อผู้รับคำสั่งย้ายส่งมอบงานแล้วเสร็จ จะต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการ ณ หน่วยงานใหม่ โดยอ้างอิงจากระเบียบว่าด้วยการเดินทางไปปฏิบัติราชการ ที่บทความเสนอไว้ครับ

ถ้าในกรณีมีคำสั่งให้ไปรายงานตัวปฏิบัติราชการที่ใหม่เดือนสิงหาคม แต่อยู่ในระหว่างลาคลอดบุตรเดือนกรกฏาคมจะต้องดำเนินการอย่างไรค่ะ

ตอบคุณbeingsupaในการที่ได้รับอนุญาตให้ลาคลอดบุตรตามระเบียบราชการ ถือว่าไม่ต้องปฏิบัติราชการ แต่ขณะลาคลอดได้มีคำสั่งให้ย้ายไปปฏิบัติราชการที่ใหม่ ต้องดูวันลงนามรับทราบคำสั่งครับคือถ้าตามระเบียบกฎหมาย การจะแจ้งคำสั่งย้ายได้ก็เมื่อสิ้นสุดการลาคลอด แต่ถ้าเราไปรับทราบคำสั่งแล้วก็ต้องไปรายงานตัวเข้าปฏิบัติงาน และเกิดผลสิ้นสุดวันลาคลอดในวันที่มาลงนามทราบคำสั่งด้วย จึงแนะนำว่าควรรับทราบคำสั่งเมื่อสิ้นสุดการลาคลอดเว้นแต่เรายินดียุติวันลาแล้วลงนามรับคำสั่งแล้วเข้าปฏิบัติงานอย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ เราทราบคำสั่งแล้วสามารถลงนามและวันที่ล่วงหน้าไปถึงวันที่ครบกำหนดลาคลอดพร้อมทำเรื่องส่งมอบงานล่วงหน้าไว้แล้วเตรียมเดินทางไปที่ใหม่พอไปถึงหน่วยงานใหม่แจ้งด้วยวาจาประสานว่าเราอยู่ระหว่างลาคลอด ซึ่งเอกสารวันลาจะถูกส่งมาตามระบบหนังสือราชการแล้ว สอดรับการทึ่เราทราบคำสั่งและรายงานตัวทำงานที่ใหม่ในวันต่อจากสิ้นกำหนดลาคลอด คือวันไม่ขาดกันครับ

ในกรณีที่มีคำสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่จากส่วนกลางไปส่วนภูมิภาค คำสั่งออกเมื่อวันที่ 28 พ.ย แต่ได้รับสำเนาคำสั่งวันที่ 2 ธ.ค ในคำสั่งระบุว่าให้รายงานตัวภายใน 15วัน แต่การส่งมอบงานยังไม่แล้วเสร็จ ถ้านับจากวันที่่ 2 ธ.ค จะครบ15วัน ในวันที่ 17 ใช่หรือไม่คะ และด้วยวันที่ 18-20 ธ.ค. มีการอบรมอยู่ที่ส่วนกลาง ในกรณีนี้เราควรทำยังไงคะ

ตอบคุณpangrichatครบ17ใช่ครับ กรณีส่งมอบงานไม่เสร็จก็ควรขอขยายครับ ระเบียบให้ผบ.สั่งขยายได้ ส่วนการฝึกอบรม ถือเป็นการลาประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ควรไปรายงานตัวก่อน แต่ถ้าไม่สะดวกการเดินทาง ควรทำเรื่องขยายเวลามอบงานจะดีกว่า อ้างเรื่องอบรมประกอบด้วยเพราะอาจเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจต้องส่งมอบด้วย

อยู่เขต1เมื่อมีคำสั่งย้ายไปเขต2จังหวัดเดียวกัน มอบหมายงานเสร็จแล้วต้องทำหนัวสือไปเขต1ก่อนใช่ไหมครับจึงแจ้งไปโรงเรียนใหม่

อยู่เขต1เมื่อมีคำสั่งย้ายไปเขต2จังหวัดเดียวกัน มอบหมายงานเสร็จแล้วต้องทำหนังสือไปเขต1ก่อนใช่ไหมครับจึงแจ้งไปโรงเรียนใหม่

ตอบคุณatantom ขอโทษที่ตอบช้าด้วยครับย้ายในจังหวัดเดียวกัน แต่ต่างเขตเช่นนี้ ย่อมไม่มีประเด็นเรื่องการเดินทางไปราชการอย่างแน่นอนครับ เพราะระยะทางใกล้กันส่วนเรื่องการมอบหมายงานนั้นหากเป็นข้าราชการในระดับปฏิบัติทั่วไป ต้องดำเนินการตามข้อ 31(8)ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับส่งงานในหน้าที่ราชการ 2524 คือส่งมอบให้แก่หัวหน้าหน่วยงาน ดังนั้น เมื่อเรามอบงานเป็นหนังสือต่อหัวหน้าหน่วยงานแล้ว ก็ถือว่าดำเนินการแล้วเสร็จ เว้นแต่ว่าหัวหน้าหน่วยจะสั่งเป็นอย่างอื่น เช่นให้ตรวจสอบทบทวน การมอบหมายงานนั้น โดยยังไม่รับมอบ เป็นต้น กรณีถ้าส่งมอบ รับมอบเรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางไปรายงานตัว ทั้งนี้ตามปกติ หน่วยงานจะต้องมีหนังสือส่งตัวข้าราชการไปรายงานตัวตามแนวทางปฏิบัติของการบริหารงานบุคคลอยู่แล้วครับ ส่วนจะต้องส่งเรื่องหรือผลการมอบหมายงานไปที่เขต 1 หรือไม่ ก็เป็นการปฏิบัติของหัวหน้าหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งอาจเป็นการรายงานภายในหน่วยงานต่อหน่วยเหนือ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับข้าราชการผู้ที่ได้ส่งมอบงานให้แก่หัวหน้าหน่วยแต่อย่างใด

ขอรบกวนสอบถามค่ะถ้าโอนจากกระทรวงสาธารณสุขไปกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งรับโอน 2 ม.ค 63 เซ้นรับคำสั่ง 27 ธ.ค.62 ไปปฎิบัติงานที่แห่งใหม่ วันที่ 2 ม.ค. 63 จริง แต่หนังสือมอบตัวที่เก่ายังไม่เสร็จ และทางต้นสังกัดที่เก่าจะส่งหนังสือมาให้ทีหลังตามระเบียบต้องมีหนังสือมอบตัวมาให้ต้นสังกัดที่แห่งใหม่ไม่เกินกี่วัน คะ งานทรัพบอกไม่ควรเกิน 15 วัน จริงหรือไม่นับรวมวันหยุดหรือเฉพาะเวลาราชการถ้าจริงต้องนับจากวันที่เท่าไหร่คะ และถ้าเกิน 15 วันทำยังไงคะ

ตอบคุณnatwara27ตามข้อมูลที่แจ้งมา การรายงานตัวมีผลแล้วครับ เนื่องจากเรารับแจ้งคำสั่งและเซนต์ทราบคำสั่งแล้ว และเป็นไปตามคำสั่งแต่งตั้ง2มค.63ด้วย ส่วนหนังสือเป็นขั้นตอนประสานระหว่างหน่วยงานเท่านั้น มาช้าหรือเร็วยังไงก็ไม่มีผลต่อการรายงานเข้าทำงานที่ใหม่ตามคำสั่ง ทั้งเราลงนามปฏิบัติราชการแล้วด้วย กรณีนี้ถ้าช้าก็ให้ส่งแฟกซมาก่อนก็ได้ แต่ตามขั้นตอนการส่งตัว ก็ควรมีหนังสือแจ้งรายงานตัวมพร้อม กรณีนี้ แม้เกินเวลา15วันก็ไม่เป็นไรครับ เว้นแต่ว่าหน่วยงานเดิมจะมีเหตุผลเรื่องการที่เราส่งมอบงาน ไม่เสร็จ

ได้ความรู้ ข้อมูลดีมากครับ

ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการแห่งใหม่ 27 กค. จาก สสจ.ส่งมา รพ. น้องก็ส่งมอบงานให้วันนั้น แต่ ผอ.ไม่อยู่ ได้เซนต์หนังสือ 29 เย็นไป ซึ่งเป็นวันศุกร์ พี่บริหารเลยยังไม่ได้ส่งหนังสือกลับไปให้. สสจ ทำหนังสือส่งตัวให้ และบอกให้น้องเดินทางไปที่ใหม่ก่อนเลย ไม่ต้องถือหนังสือส่งตัวไปพอน้องเดินมทางมาได้ครึ่งทาง พี่ที่สสจ โทรถามว่าทำไมไม่ส่งมอบงานและสรุปวันลาเลยแจ้งตามที่บริหาร รพ บอก. พี่สจจ เลยจะส่งมาให้วันจันทร์นี้. ตามคำสั่ง มีผล 1 สิงหา เป็นต้นไป วันจันทร์คือ 2สิงหา คำถามคือ. น้องควรไปรายงานตัวก่อน. แล้วแจ้งว่าหนังสือส่งตัวกำลังส่งมาหรือ รอหนังสือ แล้วค่อยไปรายงานตัวคะ ขอบคุณค่ะ

ถ้าในกรณีมีคำสั่งตัดโอนตำแหน่งให้ไปรายงานตัวปฏิบัติราชการที่ใหม่ แต่อยู่ในระหว่างลาอุปสมบทเข้าพรรษาจะต้องดำเนินการอย่างไรครับ

กรณีมีคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการ ลว 30 สิงหาคม 2564 ตามโครงการการเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แต่ตำแหน่งยังไม่ตัดโอนจากทีเดิม การเขียนย้ายกลับสังกัดเดิมให้นับคุณสมบัติด้านเวลา รวมถึงราชการการปฏิบัติราชการด้วยหรือไม่ หรือนับตั้งแต่การครองตำแหน่งที่ตัดโอนมา อย่างนี้มีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ

การย้ายครู มีคำสั่งย้ายมาที่โรงเรียนแล้ว แต่เจ้าตัวไม่ทราบว่ามาวันไหน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เห็นคำสั่งย้ายเลย และไม่ได้เซ็นต์รับทราบคำสั่งย้ายเลย ที่ทราบเนื่องจากธุรการบอกว่าหนังสือย้ายมาแล้วนะ เมื่อนับจากวันที่ธุรการแจ้งก็จะเกิน 15 วัน แล้ว เราจะต้องดำเนินการยังไงบ้างครับ อีกทั้งครูก็ได้จัดทำเอกสารส่งมอบงานและวัสดุ/ครุภัณฑ์เรียบร้อยแล้วแต่ทาง ผู้บริหารไม่เซ็นต์ให้ ตอนนี้จะต้องทำยังไงบ้างครับ โรงเรียนปลายทาง และเขตฯ ปลายทาง(ต่างจังหวัด)ก็โทรมาสอบถาม ก็ไม่รู้จะตอบปลายทางยังไงดีครับ รบกวนด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

กรณีในคำสั่ง ผวจ.สั่งย้ายตั้งแต่วันที่ 28 มีค.66 แต่ที่ผู้บังคับบัญชาได้แจ้งผู้ถูกย้ายให้เซ็นต์รับทราบในคำสั่ง วันที่ 3 เมย.66 ดังนั้น เริ่มนับระยะเวลา 15 วันจากวันไหนคับ ( 28 มีค.หรือ 3 เมย.และนับรวมวันหยุดด้วยไหมคับ) ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท