บรรทัดฐานทางสังคม การควบคุมทางสังคมและการขัดเกลาทางสังคม (Social Norms, Social control and Socialization)


บรรทัดฐานทางสังคม การควบคุมทางสังคมและการขัดเกลาทางสังคม

(Social Norms, Social control and Socialization)

เป็นที่รู้กันดีว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Social animal) เพราะมนุษย์ชอบเข้าสังคมและจำเป็นต้องติดต่อกับคนอื่นๆ เพื่อความรู้สึกปลอดภัยและความอยู่รอด มนุษย์จึงอยู่ร่วมกันเป็นสังคม (Society) โดยสังคมของมนุษย์เกิดจากการเป็นสมาชิกของกลุ่ม (Group member) กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กลุ่มในที่นี้หมายถึงการที่คนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปที่มีปฏิสัมพันธ์กัน กลุ่มที่เล็กที่สุดคือกลุ่มทางครอบครัว (Family group) ซึ่งประกอบไปด้วย สามี ภรรยา และอาจมีลูกด้วย สำหรับครอบครัวเดี่ยว (Nuclear family) บางครอบครัวอาจมีจำนวนสมาชิกมากขึ้นเนื่องจากอยู่ร่วมกันกับเครือญาติ (Kinship) เช่น มีปู่ ย่า ตา ยาย อยู่ด้วยซึ่งเป็นลักษณะของครอบครัวขยาย (Extended family) กลุ่มที่ใหญ่ขึ้นมากว่าครอบครัว ได้แก่ กลุ่มในชุมชน (Community group) กลุ่มในสถานศึกษา (Institution group) กลุ่มเพื่อนในที่ทำงาน (Colleague group) กลุ่มคนที่ทำอาชีพเดียวกัน (Professional group) เป็นต้น ซึ่งมนุษย์แต่ละคนอาจเป็นสมาชิกของหลายกลุ่มได้ขึ้นกับบริบท เช่น เมื่ออยู่บ้านเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว และเมื่อเราไปที่โรงเรียนเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของโรงเรียน เป็นต้น การรวมกลุ่มเป็นสังคมของมนุษย์ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เพิ่มความแข็งแกร่งและอำนาจต่อรองให้แก่กลุ่ม ทำให้มีโอกาสอยู่รอดมากขึ้น เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มย่อมมีการปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กัน เช่น มีการสื่อสาร (Communication) การทำกิจกรรมร่วมกัน (Collective Activities) อย่างไรก็ตามมนุษย์แต่ละคนย่อมมีทัศนคติ นิสัยใจคอ มีความชอบความไม่ชอบที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกัน ความแตกต่างนั้นย่อมนำไปสู่การไม่ลงรอยกัน หรืออาจมีการกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นได้ ซึ่งการกระทบกระทั่งและความไม่ลงรอยนั้นอาจสร้างปัญหาและความแตกแยกในกลุ่มขึ้นได้ มนุษย์ส่วนใหญ่ต้องการให้ทุกคนในกลุ่มอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มนุษย์จึงต้องมีการควบคุมกันเอง โดยการสร้างกฎกติกา วิธีการและเครื่องมือขึ้นมาเพื่อควบคุมให้คนในสังคมยอมรับและปฏิบัติตาม สมาชิกแต่ละคนที่อยู่ในกลุ่มย่อมต้องการให้สมาชิกคนอื่นๆในกลุ่มยอมรับ ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตามกฎกติกาที่คนในกลุ่มร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนในกลุ่มยอมรับและอยู่ร่วมกันอย่างสงบ กฎกติกานี้ถูกถ่ายทอดกันในกลุ่มจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งการถ่ายทอดโดยตรง (Direct transfer) ด้วยการอบรมสั่งสอน และการถ่ายทอดทางอ้อม (Indirect transfer) ด้วยการสังเกตุสื่งที่ผู้อื่นปฏิบัติให้เห็นในชีวิตประจำวันทั่วไป กระบวนการดังกล่าวเรียกว่าเป็นการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) โดยกฎกติกาดังกล่าวที่มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจะถูกนำมาใช้เป็นบรรทัดฐาน (Norms) ของกลุ่ม ซึ่งบรรทัดฐานดังกล่าวมีทั้งรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ (Informal Norms) แต่รับรู้ได้โดยทั่วไปของสมาชิกในกลุ่ม มีความเคร่งครัดตั้งแต่ระดับต่ำไปจนถึงสูง บรรทัดฐานรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่ วิถีประชา (Folkways) และจารีตศีลธรรม (Morals) กับรูปแบบที่เป็นทางการ (Formal Norms) ที่มีความเคร่งครัดมากกว่ารูปแบบแรก ได้แก่ กฎระเบียบที่เขียนไว้อย่างเป็นทางการ (Rule and Regulation) และ กฎหมาย (Laws) เป็นต้น อย่างไรก็ตามบรรทัดฐานที่ไม่เป็นทางการบางอย่างอาจมีความเคร่งครัดมากกว่าบรรทัดฐานที่เป็นทางการได้ เช่น บรรทัดฐานเรื่องการห้ามคนที่เป็นพี่น้องหรือญาติแท้ๆแต่งงานกันหรือร่วมประเวณีกัน ถึงแม้กฎหมายจะไม่ได้บรรญัติไว้เป็นทางการ แต่คนในสังคมถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดจารีตประเพณีอย่างมาก ดังนั้นคนในสังคมจึงยึดถือจารีตข้อนี้อย่างเคร่งครัดแม้จะไม่ผิดกฏหมายก็ตาม ดังนั้นบรรทัดฐานจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมทางสังคม (Social control) บรรทัดฐานเหล่านี้ มักจะยึดถือกันในกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นมนุษย์แต่ละคนจึงต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานของกลุ่มขึ้นกับว่าตอนนั้นตนเองกำลังมีสถานะอยู่ในกลุ่มใด เนื่องจากมนุษย์มักไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว ตลอดการมีชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งอาจมีโอกาสเป็นสมาชิกของกลุ่มได้หลายกลุ่ม ดังนั้นจึงอาจมีการนำเอาบรรทัดฐานของกลุ่มหนึ่งมาใช้กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ตนเป็นสมาชิกได้ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของบรรทัดฐาน (Norm dissemination) จากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่งได้ การแพร่กระจายของบรรทัดฐานนอกจากเกิดจากการที่สมาชิกในกลุ่มนำเอามาจากกลุ่มหนึ่งมาใช้กับอีกกลุ่มหนึ่งแล้ว ยังมีการรับเอาตัวอย่างบรรทัดฐานของกลุ่มอื่น (Norm adoption) ที่ตนเองไม่เคยเป็นสมาชิกมาใช้กับกลุ่มของตนเอง

บรรทัดฐานเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในกลุ่มยอมรับทั้งโดยปริยาย ไม่ว่าจะเต็มใจหรือจำใจก็ตาม หากมีใครที่ฝ่าฝืนบรรทัดฐานดังกล่าวอาจถูกสมาชิกในกลุ่มหรือคนในสังคมลงโทษตามวิธีการที่เปิดให้สามารถดำเนินการได้ เช่น วิธีการที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่ การตำหนิ การว่ากล่าว การขับไล่ออกจากกลุ่ม การถูกเพิกเฉยจากกลุ่ม ซึ่งเรียกว่า เป็นการลงทัณฑ์ทางสังคม (Social sanction) รวมไปถึงวิธีการที่เป็นทางการ ได้แก่ การถูกลงโทษตามกฎหมาย เป็นต้น ส่วนใครที่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานจะได้รับการยอมรับจากสมาชิกในกลุ่ม หรือหากทำได้ดีกว่าบรรทัดฐานของกลุ่มก็อาจได้รับการยกย่อง เชิดชู ดังนั้นการปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์จึงประกอบด้วยการสร้างบรรทัดฐาน (Formation) การอบรมถ่ายทอดบรรทัดฐาน (Transfer) การตอบสนองต่อบรรทัดฐาน (Response) และการควบคุมให้เป็นไปตามบรรทัดฐาน (Control)

1. การสร้างบรรทัดฐาน (Formation) บรรทัดฐานถูกสร้างมาจาก

- วัฒนธรรม (Culture) และประเพณี (Tradition) ของกลุ่ม

- จารีต (Mores)

- กิจวัตร (Habit) ของคนในกลุ่ม

- ค่านิยม (Value)

- คตินิยมหรืออุดมการณ์ (Ideology)

- ธรรมเนียมปฏิบัติ (Custom)

- ข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิของกลุ่ม (Taboo and Practice of Religion and Doctrine)

- การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง (Social and Political Movement)

- การแพร่กระจายของบรรทัดฐานและการรับเอาบรรทัดฐานของกลุ่มอื่นมาใช้ (Dissemination and Adoption)

2. การถ่ายทอดบรรทัดฐาน (Transfer) มี 2 รูปแบบ

2.1 ถ่ายทอดโดยตรง (Direct transfer) ได้แก่ การอบรม สั่งสอน การบอกกล่าว การปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่างโดยตรง

2.2 ถ่ายทอดทางอ้อม (Indirect transfer) ได้แก่ การสังเกตจากสิ่งที่ได้พบเห็น ได้อ่านหรือได้ดูมา

ดังนั้นการถ่ายทอดบรรทัดฐานเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์เราเรียนรู้ว่าบรรทัดฐานของกลุ่มมีอะไรบ้าง อะไรถูกอะไรผิด (Right and Wrong) อะไรที่ควรทำอะไรที่ไม่ควรทำ (Do and Don't)

3. การสนองตอบต่อบรรทัดฐาน (Response) ประกอบด้วย

3.1 การสนองตอบด้วยการกระทำ (Action) มี 2 รูปแบบ คือ

- การปฏิบัติตามบรรทัดฐานของกลุ่ม (Conformity) คือยอมรับและปฏิบัติตามบรรทัดฐานของกลุ่มไม่ว่าจะเต็มใจ (Willing conformity) หรือไม่เต็มใจ (Reluctant conformity) ก็ตาม

- การละเมิดบรรทัดฐานของกลุ่ม (Violation) คือต่อต้านและไม่ปฏิบัติตาม ทั้งนี้พฤติกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางของกลุ่มนั้น จะถูกกลุ่มมองว่าเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบน (Deviant behavior) นั่นเอง

3.2 การสนองตอบเพื่อเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐาน (Revision) การเปลี่ยนแปลงทางบรรทัดฐานประกอบด้วย

- ยกเลิกบรรทัดฐานเดิม (Abrogation) มักเกิดขึ้นจากการที่มีการไม่ปฏิบัติตามและต่อต้านมากขึ้น และเห็นว่าบรรทัดฐานในเรื่องนั้นไม่มีความสำคัญหรือเป็นอีกต่อไป หรือไม่เข้ากับยุคสมัย เช่น การยกเลิกธรรมเนียมการคลานเข่าเข้าหาผู้ใหญ่ เป็นต้น

- การลดระดับบรรทัดฐานให้มีความเคร่งครัดน้อยลง (Diminishment) เช่น สังคมมุสลิมบางแห่งยอมรับให้หญิงสาวชาวมุสลิมไม่ต้องสวมฮิญาบได้ เป็นต้น

- การยกระดับบรรทัดฐานเดิมให้เคร่งครัดมากขั้น (Reinforcement) เช่น แต่เดิมทีการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะบางแห่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำและเป็นมารยามทางสังคมเท่านั้นแต่ไม่มีความผิดทางกฏหมาย จนกระทั่งมีการออกกฏหมายควบคุมเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะออกมาเพื่อควบคุม เป็นต้น

- การสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาใหม่ (Reformation) เช่น แต่เดิมทีคนเพศเดียวกันไม่มีกฏหมายรองรับการแต่งงานกัน แต่มีการผลักดันจากกลุ่มคน LGBT ให้มีการออกกฏหมายรองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้ เป็นต้น

4. การควบคุม (Control) หรืออาจเรียกว่าเป็นการสนองตอบต่อผู้กระทำ (Reaction) ซึ่งมี 2 รูปแบบคือ

4.1 การตอบสนองเชิงบวก (Positive reaction) มักเป็นการตอบสนองต่อผู้ที่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม เช่น การยอมรับเป็นสมาชิกกลุ่ม การยกย่อง การให้รางวัล เป็นต้น

4.2 การตอบสนองเชิงลบ (Negative reaction) มักเป็นการตอบสนองต่อผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม ด้วยการลงโทษ (Punishment) เช่น การตำหนิ การด่าทอ การทำร้าย การห้ามเข้ากลุ่ม (Ban) การไล่ออกจากกลุ่ม (Expulsion) การไม่ยอมรับเป็นสมาชิกกลุ่ม (Out-group) หรือการถูกทำให้เป็นอื่น (Otherness) เป็นต้นซึ่งเรียกมาตรการเหล่านี้ว่า การลงทัณฑ์ทางสังคม (Social sanction) ซึ่งการลงโทษในลักษณะนี้มักไม่เป็นทางการ ส่วนการลงโทษที่เป็นทางการคือการลงโทษตามกฎหมาย (Legal punishment)

กระบวนการควบคุมทำให้บรรทัดฐานของกลุ่มนั้นยังคงถูกบังคับใช้อยู่ (Norm Enforcement) และได้รับการยึดถือ (Conformity) จากกลุ่มต่อไปเรื่อยๆ หากการตอบสนองทั้งเชิงบวกและเชิงลบนั้นมีความรุนแรงและกว้างขวางจากสมาชิกในกลุ่มสังคมต่อการประพฤติในบรรทัดฐานเรื่องใด ก็จะทำให้บรรทัดฐานเรื่องนั้นได้รับการยึดถืออย่างเคร่งครัดกว่าบรรทัดฐานที่ไม่ค่อยได้รับการตอบสนองเชิงบวกและเชิงลบ มนุษย์เรียนรู้จากการตอบสนองทั้งเชิงบวกและเชิงลบดังกล่าวว่าควรทำตัวตามบรรทัดฐานของกลุ่มอย่างไร อะไรควรและไม่ควร เมื่อการกระทำใดที่เมื่อทำแล้วได้รับการตอบสนองเชิงบวก มนุษย์ก็มีแนวโน้มที่จะยึดถือและทำตามต่อไป แต่ถ้าทำแล้วได้รับการตอบสนองเชิงลบ มนุษย์ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ทำในสิ่งนั้นต่อไปอีก ดังนั้นการถ่ายทอด (Transfer) และการควบคุม (Control) บรรทัดฐานจึงเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) ที่จะเกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์


หมายเลขบันทึก: 618772เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2016 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2016 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท