“กว้าง” เป็นคำยืมหรือคำร่วมรากภาษาจ้วง-จีนหรือ?


ความเป็นมาของความกว้างขวาง

"กว่างซีจ้วง" ในจีนภาคใต้ แหล่งภาษาไทยเก่าสุด สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่มาภาพ: matichon.co.th

เป็นความสงสัยอย่างเนิ่นนานถึงลำดับความเป็นมาของคำว่า กว่าง หรือ ก่วง ที่แปลและเป็นคำเดียวกับ กว้าง ซึ่งปรากฏบนหน้าประวัติศาสตร์ชาวจ้วงแห่งแผ่นดินจีนตอนใต้ ทั้งเขตกว่างสีและกว่างตุ้ง ไล่ลงมาจนถึงชาวไทยแห่งลุ่มเจ้าพระยาในปัจจุบัน เป็นชาวจ้วงที่ต่างยอมรับกันทั่วไปว่าพูดภาษาตระกูลไท-ไต เชื้อคำเดียวกับภาษาไทยลุ่ม หากถือว่าร่วมสายพันธุ์กันหรือไม่ เป็นอีกประเด็นที่ต้องถกเถียงพิจารณาอย่างจริงจัง เพราะในแวดวงไท-ไตคดีศึกษาขณะนี้ ความเห็นได้แตกออกเป็นสองแนวทางคือ

สายหนึ่งยึดถือการลื่นไหลและการยอมรับในการใช้ภาษาไท-ไต เป็นแม่แบบตัวกลางกระจายไปทั่วทั้งภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์ มากกว่าการเคลื่อนย้ายของผู้คนเจ้าของภาษา ดังคำนำเสนอของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ในหนังสือเล่มล่าของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องความไม่ไทยของคนไทย คัดจากมติชนออนไลน์ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559 บางส่วนว่า

ภาษาไต-ไท (รากเหง้าภาษาไทย) เป็นภาษากลางการค้าทางไกลทางบก แพร่กระจายไปสู่คนในตระกูลภาษาต่างๆ เพื่อสื่อสารการค้าขายกันในกลุ่มคนนานาชาติพันธุ์ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง นานเข้าคนนานาชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางตอนล่างก็กลืนกลายตัวเองเป็นไต-ไท ในที่สุดเรียกตัวเองว่า ไทย

อำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ทำให้คนพูดภาษาอื่นๆ (เช่น มอญ-เขมร ฯลฯ) บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง เรียกตัวเองว่า ไทย, คนไทย แล้วขยายไป ลุ่มน้ำอื่นๆ ในสมัยหลังจนทั่วประเทศไทย การขยายอำนาจทางการเมืองของพวกไต-ไทในคริสต์ศตวรรษที่ 12-15 (หรือพุทธศตวรรษที่ 17-20) ในภูมิภาคอุษาคเนย์ เข้ามาสู่ เมืองที่อยู่ในลุ่มน้ำขนาดใหญ่ เช่น เชียงใหม่, หริภุญไชย, สุโขทัย, ละโว้, สุพรรณบุรี, อยุธยา ฯลฯ เป็นการขยายอำนาจทางการเมืองของภาษาไต-ไท มากกว่าการขยายอำนาจของ ชนเผ่าไต-ไทโดยพร้อมเพรียงและในอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ไพศาลเช่นนั้น เพราะเราไม่มีวันรู้ว่าพระเจ้ามังรายก็ตาม, ขุนบางกลางหาวก็ตาม, พระเจ้าอู่ทอง ก็ตาม, ฯลฯ เป็นคนไต-ไทหรือไม่ แต่คนเหล่านี้คุ้นเคยกับวัฒนธรรมของพวกไต-ไท ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน แม้ในชีวิตปรกติเขาอาจพูดภาษาเขมร, ภาษาจีน, ภาษาลัวะ, หรือภาษามอญ ก็ตาม

ในขณะที่อีกสายยึดถือการเคลื่อนย้ายของภาษาติดตัวไปกับผู้พูดดั้งเดิม มากกว่าการลื่นไหลเฉพาะภาษา เช่น อ.วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ อ้างไว้ในบทความเรื่องไทย+เขมร กลายเป็นไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลงในวารสารศิลปะศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน พ.ศ. 2544 คัดมาบางส่วนดังนี้

“ผู้เขียนบทความนี้อยู่ในฝ่ายที่เชื่อว่าคนไท(ย)มาจากที่อื่น เนื่องจากเชื่อในหลักฐานและร่องรอยทางภาษาศาสตร์และโบราณคดีที่มีอยู่ตามเส้นทางการอพยพและค้าขาย แต่ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ เพราะอยู่นอกขอบเขตของหัวข้อของบทความนี้ อย่างไรก็ตามผู้เขียนมีความเห็นว่า “กรอบเวลา” และ “ของเขตของความเป็นไท(ย)” มีความสำคัญมาก วิลเลียม เจ เกดนีย์ มีความเห็นว่าในทางภาษาศาสตร์ ภาษาไทโบราณ (Proto-Tai) มีอายุประมาณ 2,000 ปี (Gedney, 1964) ดิลเลอร์ก็มีความเห็นใกล้เคียงกัน คือไทโบราณมีอายุประมาณ 1,800-1,500 ปี (ดิลเลอร์, พ.ศ.2533) ในทางวัฒนธรรม บาส เทอร์วิล ก็มีความเห็นว่า วัฒนธรรมไทโบราณก่อตัวเมื่อ 2,000 ปีที่แล้วเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าถ้าเรากล่าวถึงคนไท(ย)ในช่วงเวลาก่อนคริสตกาล หรือกว่าสองพันปีแล้ว ความหมายของ “ไท” ก็คงมีขอบเขตที่แตกต่างออกไปมาก”

และในอีกท่อนที่ว่า

“การอ้างถึงรูปสลักนูนทหาร “เซียม” (สยาม) ที่ช่วยกษัตริย์เขมรทำสงครามที่ระเบียงนครวัด เป็นหลักฐานว่าคนไท(ย)อยู่ในย่านนี้หรือย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว ความจริงไม่ได้ขัดแย้งกับแนวคิดที่ว่า เมื่อประมาณสองพันปีที่แล้วคนไทอยู่ย่านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ภาพสลักนูนที่นครวัดมีอายุประมาณ 1,000 ปี ช่วงเวลาที่ต่างกันประมาณ 1,000 ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก นานพอที่คนที่พูดภาษาไทสามารถเคลื่อนย้ายอพยพจากจีนลงมาได้ และขอบเขตของ “ความเป็นไท” ก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้มากในช่วงเวลาที่ยาวนานนี้”

เป็นสองแนวคิดที่แม้จะแตกต่างระหว่างภาษาไปคนอยู่และไปทั้งผู้คนและภาษา แต่อย่างน้อยเห็นตรงกันว่าภาษาไท-ไตนั้น มีจุดเริ่มต้นตรงบริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของแผ่นดินจีน จนถึงเวียดนามตอนเหนือในปัจจุบัน

Yongxian Luo นักภาษาศาสตร์เชิงประวัติเชื้อสายจีน ได้เขียนบทความเรื่อง Sino-Tai and Tai-Kadai: Another Look เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาจีนและภาษาไท-ไตในอดีตที่ลึกซึ้งกว่าพวกอื่น จนอาจมากไปกว่าการหยิบยืมกันธรรมดา ซึ่งเคยถูกแสดงในงานวิชาการ Seminar at the Research Centre for Linguistic Typology of La Trobe University ไว้ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2548

และมีคำหนึ่งที่หมายถึง wide-กว้างขวาง ของจีนกับไท-ไต ถือเป็นคำที่มีความสัมพันธ์กันมาก่อน ทั้งความหมายและโครงสร้างของรูปคำ แม้ยังไม่สามารถสืบค้นฟันธงอย่างที่สุดว่าเป็นคำร่วมเชื้อสาย ซึ่งเขียนแบบโอลด์ไชนีสว่า kwangx (GSR707h) พวกไท-ไต เช่นไทยลุ่ม, Dehong และ Lungming ว่า kwaaŋC1 (กว้าง) พวก Yay และ Fengshan ว่า kuaaŋB1 และสืบสร้างเป็นคำไทโบราณ (Proto-Tai) ว่า *kwaaŋC1

และยังเชื่อมโยงไปถึงคำไท-ไตอีกสามคำคือ คำว่า lie athwart-นอนขวาง เรียกแบบจีนเก่าว่า gwang (GSR707m) คล้ายกับไท-ไต เช่น ไทยลุ่มเรียก khwaaŋA1 (ขวาง) พวก Dehong เรียก xwaaŋA1 พวก Lungming เรียก vaaŋB2 พวก Yay และ Fengshan เรียกเหมือนกันว่า vaaŋA1 และสืบสร้างเป็นคำไทโบราณคล้ายคำไทยลุ่มสยามว่า *khwaaŋA1

คำว่า expanse of water-ห้วงน้ำกว้าง เรียกแบบจีนเก่าว่า gwang (GSR707e) ส่วนพวกไท-ไต เช่น ไทยลุ่ม, Dehong และ Lungming เรียกว่า waŋA2 (วัง) คล้ายกับพวก Yay และ Fengshan ว่า vaŋA2 สืบสร้างเป็นคำไทโบราณว่า *waŋA2

และคำว่า far apart-ห่างไกล เรียกแบบจีนเก่าว่า khwangh (GSR707o) หากพวกไทยลุ่มและ Dehong เรียกว่า haaŋB1 (ห่าง) พวก Lungming เรียก laaŋB1 แตกต่างจากพวก Yay และ Fengshan ว่า luaŋB1 และสืบสร้างเป็นคำโบราณว่า (*xraaŋB1) โดยมีหมายเหตุว่า คำนี้ของพวก Yay หมายถึงชุมชนที่มีขนาดใหญ่กว่าหมู่บ้าน และของพวก Fengshan หมายถึงลานเปิดกลางหมู่บ้าน

ซึ่ง อ.วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ ได้ชี้เพิ่มเติมว่า กว้าง ของไท-ไตนั้นเป็นคำยืมจากคำจีนว่า kuang3 ก่วง ซึ่งแปลว่ากว้าง, ใหญ่ และมาก ดังอธิบายเกี่ยวกับคำไท-ไตมรดกตกทอดมาแต่โบราณอย่างน้อย 50 คำ ได้ถูกหยิบยืมถ่ายเทจากภาษาจีนโบราณผ่านเส้นทางของการเผยแพร่คัมภีร์เต๋า ในบทความเรื่องคัมภีร์เต๋า: หลักฐานชี้แหล่งกำเนิดของคนไท-ไท(ย) ลงในวารสารศิลปะศาสตร์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน พ.ศ. 2550 คัดความมาบางส่วนว่า

“ถึงแม้คำทั้ง 50 คำนี้จะเป็นคำมรดกในภาษาตระกูลไท กล่าวคือ เป็นคำที่คนไทโบราณเคยใช้อยู่ด้วยกันในสังคมไทโบราณก่อนที่จะแยกตัวจากกันออกไปตามถิ่นต่างๆ โดยมีคำเหล่านี้เป็นมรดกติดตัวไปด้วย แต่ผู้เขียนขอยืนยันที่จะเสนอว่า คำเหล่านี้เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาจีน ไม่ใช่คำจากสายพันธุ์ไทยที่มีมาแต่ดั้งเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะเรามีหลักฐานว่า คำเหล่านี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์เต้าเต๋อจิง ซึ่งเขียนโดยคนจีน และเขียนเป็นภาษาจีน”

หากผู้เขียนเอง ยังไม่ปักใจเชื่ออย่างสนิทว่าคำ ก่วง/กว่าง และ กว้าง (รวมถึงคำเพื่อนพ้อง) เป็นคำร่วมเชื้อสาย หรือเป็นคำยืมจากภาษาจีน เพราะด้วยความรู้สึกติดค้างเป็นส่วนตัวมาตลอดว่าคำนี้ไม่น่าใช่คำจีนเดิม ควรเป็นคำไท-ไตมากกว่า และอาจโยงไปถึงคำออสโตรนีเซียน แต่ก็ยังหาทางคลี่คลายไม่พบจนแล้วจนรอด จนมีเหตุบังเอิญได้อ่านงานของ Yongxian Luo ข้างต้น และสะดุดกับเชิงอรรถท้ายข้อความที่ 7 ที่ว่า

Sagart (1993) also postulates over 200 possible cognate words between Chinese and Austronesian,including body part terms like ‘palm of the hand, sole of the foot’ PAn *Da(m)pa Chinese [GSR102] OC *phag, terms for nature and environments; ‘open expanse of land or water’ PAn *bawaŋ, Chinese [GSR 707e] *gwaŋ ‘lake, pool’; abstract concepts like ‘to oppose’ PAn *baŋkal, Chinese [GSR 139cd] *kan or *k-r-an ‘treacherous; disobey; violate’, among others. Some of Ostapirat’s items are also in Sagart’s list, eg. ‘black’, ‘sesame’, ‘to eat’.”

Laurent Sagart จับคำออสโตรนีเซียนโบราณ (PAn) ว่า *bawaŋ ที่แปลว่าแผ่นดินหรือผืนน้ำอันเปิดโล่ง มาเคียงคู่กับคำจีนโบราณว่า *gwaŋ ที่แปลว่าทะเลสาบ หรือแอ่ง (วัง) น้ำ แทนที่จะเป็นคำว่า kwangx/ก่วง/กว่าง ที่แปลว่ากว้าง และเป็นคำออสโตรนีเซียนเก่าแก่ว่า *bawaŋ นี้เองที่กระตุ้นต่อมความสนใจขึ้นมาในทันที

เพราะคำว่า *bawaŋ ของทางออสโตรนีเซียนนี่แหล่ะ เข้าเค้าที่สุดในการสืบสาวความเป็นมาของคำว่า ก่วง/กว่าง หรือกว้าง โดยการแยกคำความหมายออกเป็นสองพยางค์จะได้ *ba+wang ซึ่งคำว่า ba แปลว่าการแบกรับภาระ เป็นคำเดียวกับบ่าของไทย หรือแปลว่าการท่วมท้นของบางอย่างเช่นสายน้ำ หรือแอ่งรองรับน้ำก็ได้ ส่วนคำว่า wang ในภาษาอินโดนีเซียพบประกอบสร้างอยู่ในหลายคำ อ้างจากพจนานุกรมภาษาอินโดนีเซียฉบับ Kamus Besar Bahasa Indonesia 2012 ดังนี้เช่น

คำว่า awang-อาวัง แปลว่าห้องหรือพื้นที่ขนาดกว้างขวางบนผืนพิภพ ที่ว่าง ถ้าใช้กับชีวิตก็หมายถึงใช้ชีวิตเยี่ยงราชา ใช้กับระยะทางก็อีกยาวไกลกว่าจะสุดทาง ใช้กับความสูงว่าสูงยิ่งนัก ใช้กับความสุขว่าสุขยิ่งยวด เป็นต้น นอกจากนั้นยังแปลว่าเด็กๆ หรือคำเรียกผู้ชาย และหมายถึงเป็นเพื่อนร่วมสังคม

คำว่า gawang-กาวัง คือการตั้งเสาสองต้นและผูกโยงด้านบนเข้าหากัน เช่นการทำประตูฟุตบอล

คำว่า kawang-กาวัง แปลว่าการมัดผ้าโสร่งเป็นปมที่หน้าอก

คำว่า lawang-ลาวัง แปลว่าประตูขนาดใหญ่ เช่นประตูวัง ประตูวัด

คำว่า sawang-ซาวัง แปลว่าห้องหรือพื้นที่ว่างเปล่าใหญ่โต เช่นอยู่ระหว่างผืนฟ้าและพื้นดิน หรือใช้กับผืนป่าขนาดใหญ่ หรือรวงรังที่รวมกันอยู่มากมาย

คำว่า tawang-ตาวัง แปลคล้ายคำว่า awang และ sawang ว่า ห้องหรือพื้นที่ขนาดใหญ่กางกั้นระหว่างผืนฟ้าและพื้นดิน

ถ้าเป็นคำว่า wang-วัง เฉยๆ จะแปลว่า บ้านของพระราชา

และถ้าเป็นคำว่า bawang ซึ่งตรงตัวกับรูปคำ *bawaŋ จะแปลว่า หัวหอม หรือแปลงปลูกหอม ให้สังเกตความหมายของคำว่าหอม ที่คือการกระจายกลิ่นฉุนฟุ้งท่วมท้นไปตามมวลอากาศอันบางเบา ซึ่งคำว่า wang ในลักษณะนี้ยังถูกนำไปใช้กับคำที่แสดงการส่งกลิ่นของสิ่งต่างๆ เช่นคำว่า wangi-วางี่ แปลว่ากลิ่นฉุนฟุ้ง หรือกลิ่นหอมหวน เป็นต้น

ดังนั้นความหมายเชิงนามธรรมโดยรวมของคำว่า wang จึงสื่อถึงที่โล่ง ที่ว่าง หรือบางสิ่งกว้างขวางใหญ่โตกว่าอื่นๆ อย่างชัดเจน

เป็นภาษา “wang” ความว่างเปล่าความกว้างขวางในแบบคำสองพยางค์ของออสโตรนีเซียน ที่อาจมองแบบทั่วไปได้ว่า สอดคล้องทั้งคำควบกล้ำ kwangx/ก่วง/กว่าง ของภาษาจีน และ กว้าง ของภาษาไท-ไต หากผู้เขียนกลับเห็นว่าพื้นฐานของคำนั้น เทน้ำหนักมาทางความสัมพันธ์ระหว่าง Austro-Tai มากกว่า Sino-Tai หรือ Sino-Austronesian หรือแม้แต่การหยิบยืมจากคำจีน

เพราะคำว่า kwangx/ก่วง/กว่าง (wide) รวมถึงคำว่า gwang GSR707m (lie athwart) และ gwang GSR707e (expanse of water) ของภาษาจีน เข้ากันได้ทั้งรูปคำและความหมายกับคำว่า กว้าง, ขวาง และ วัง (น้ำ) ของพวกไท-ไต ดีเกินกว่าที่จะเป็นความสัมพันธ์แบบ Sino-Tai ร่วมรากมาแต่ดั้งเดิม แต่แสดงลักษณะเด่นของการหยิบยืมกันไปมาในภายหลังมากกว่า

เพราะคำว่า khwangh (far apart) ซึ่งโยงมายังคำว่า ห่าง อาจเป็นคำที่ไม่เข้ากับไท-ไตทั้งหมด เช่นในคำเรียก laaŋB1 ของพวก Lungming ควรมาจากคำเดิมของไท-ไตว่า ลาง ที่แปลว่าท้องฟ้า หรือสิ่งเลือนราง ซึ่งเป็นคำร่วมรากกับคำออสโตรนีเซียนว่า langit-ลางิต และคำเรียก luaŋB1 ของพวก Yay กับ Fengshan ควรเป็นคำเดียวกับคำไท-ไตว่า ลวง หรือ หลวง ที่แปลว่าของกลาง ไม่มีเจ้าของ ใหญ่โต ร่วมรากเดียวกับคำออสโตรนีเซียนว่า luang-ลุอัง มากกว่าที่จะสัมพันธ์กับ khwanghของจีน

เพราะนอกจากคำว่า กว้าง ของพวกไท-ไตที่แปลตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า

“น. ด้านสั้นที่คู่กับด้านยาว. ว. ไม่แคบ, แผ่ออกไป. กว้างขวาง ก. แผ่ออกไปมาก, ใหญ่โต เช่น มีเนื้อที่กว้างขวาง; เผื่อแผ่ เช่น มีน้ำใจกว้างขวาง, รู้จักคนมากและมีคนรู้จักมาก เช่น กว้างขวางในสังคม.”

ยังพบคำร่วมเหง้ากับภาษา “wang” ของออสโตรนีเซียนในระดับพื้นฐาน และใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ อย่างเช่น

คำว่า ขวาง แปลว่า “ก. กีดกั้น สกัด รำคาญหรือไม่ถูกใจ ใช้เข้าคู่กับ กว้าง เป็นกว้างขวาง หมายความอย่างเดียวกับคำว่า กว้าง.”

คำว่า ขว้าง แปลว่า “ก. เอี้ยวตัวเบี่ยงแขนไปทางหลัง แล้วซัดสิ่งที่อยู่ในมือออกไปโดยแรง.”

คำว่า คว้าง แปลว่า “ว. อาการที่หมุนหรือลอยไปตามกระแสลมและน้ำเป็นต้นอย่างไม่มีจุดหมายหรือไม่มีที่ยึดเหนี่ยว เช่น ลอยคว้าง หมุนคว้าง; ลักษณะที่ละลายเหลวอย่างน้ำ เช่น ทองละลายคว้างอยู่ในเบ้า.”

คำว่า ว่าง แปลว่า “ว. เปล่า, ไม่มีอะไรนอกจากตัวของมันเองที่อ้างถึง, เช่น ห้องว่าง ที่ว่าง ตำแหน่งว่าง, บางที่ใช้ควบคู่กับคำ เปล่า เป็น ว่างเปล่า; ไม่มีภาระผูกพัน เช่นวันนี้ว่างทั้งวัน เย็นนี้หมอว่างไม่มีคนไข้. น. เรียกของกินในเวลาที่ไม่ใช่เวลากินข้าว ของว่าง เครื่องว่าง อาหารว่าง.”

คำว่า วาง แปลว่า “ก. ทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งพ้นจากมือหรือบ่าเป็นต้น ด้วยอาการกิริยาต่างๆ ตามที่ต้องการ เช่น วางข้าวของเรียงเป็นแถว วางกับดักหนู วางกระดานลงกับพื้น วางเสาพิงกับผนัง; กำหนด, ตั้ง, เช่น วางกฎ วางเงื่อนไข วางรากฐาน; จัดเข้าประจำที่ เช่น วางคน, วางยาม, วางกำลัง; ปล่อยวาง เช่น วางอารมณ์ วางธุระ; (กลอน) อาการที่เคลื่อนไปโดยไม่รีบร้อน เช่น ขี่ช้างวางวิ่ง.”

คำว่า วัง แปลว่า “น. ที่อยู่ของเจ้านาย, ถ้าเป็นที่อยู่ของพระมหากษัตริย์เรียก พระราชวังหรือพระบรมมหาราชวัง; ห้วงน้ำลึก เช่น วังจระเข้. ก. ล้อม, ห้อมล้อม.” ซึ่งเป็นข้อสงสัยเช่นเดียวกับ Sino-Tai ข้างต้นว่า วัง ในความหมายว่าที่อยู่ของเจ้านาย อาจเป็นคำหยิบยืมในภายหลัง

คำว่า หว่าง แปลว่า “น. ช่องว่างจากจุดหนึ่งถึงอีกจุดหนึ่ง เช่น หว่างคิ้ว หว่างเขา.” และเป็นคำนี้ที่ขอตีความว่าคือคำต้นทางของคำโดดว่า ห่าง ซึ่งถูกนำไปโยงกับคำจีนว่า khwangh

คำว่า ห้วง แปลว่า “น. ช่วง, ระยะ, ตอน.” อาจพัฒนามาจากคำควบกล้ำว่า หว่าง ก็เป็นได้

และยังรวมไปถึงคำของไท-ไตสายล้านนาว่า ข่วง แปลว่า “น. บริเวณ ลาน ใช้ว่า ขวง ก็มี.” เช่น ข่วงบ้าน คือ ลานบ้าน ข่วงเมือง คือ ลานเมือง เป็นเสมือนพื้นที่เปิดโล่งใช้ทำกิจกรรมร่วมกันของผู้คน เป็นต้น

ยกเว้นคำว่า สว่าง ของไทย ซึ่งผู้เขียนไม่มั่นใจว่าเป็นคำยืมในภายหลังหรือไม่ เพราะแม้ความหมายได้ แต่รู้สึกว่ารูปคำยังอยู่ครบถ้วนเกินกว่าที่จะเป็นคำเก่าใช้มาแต่เดิม

เพราะเป็นการตีความร่วมกับคำอื่นๆ อีกมากมาย ที่ผู้เขียนเคยอ้างถึงความสัมพันธ์ร่วมรากระหว่างไท-กะไดและออสโตรนีเซียน ซึ่งชัดเจนเหลือเกินว่าแตกต่างจากแนวทางของ Laurent Sagart ที่พยายามเสมอมาในการจัดลำดับให้ภาษาไท-กะไดเป็นเพียงสาแหรกหนึ่งของภาษาออสโตรนีเซียน จนถึงความพยายามในการจับภาษาจีน-ธิเบตมารวมกับออสโตรนีเซียน

และเพราะการตีความบนฐานแนวคิด Austro-Tai นั้น จึงส่งผลให้เป็นข้อเสนอ ณ บรรทัดสุดท้ายนี้ว่าคำ กว้าง ของพวกไท-ไตควรมีเชื้อสายร่วมสาแหรกมากับภาษา wang ของพวกออสโตรนีเซียนมากกว่าพวกอื่นๆ ทั้งยังไม่ได้เป็นคำหยิบยืมจากภาษาจีนผ่านการเผยแพร่คำสอนของเต้าเต๋อจิงเมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม เป็นคำเดิมของไท-ไตที่แพร่เข้าไปยังพวกจีนโบราณเมื่ออดีตกาลอันไกลโพ้นหลายพันปีล่วงมาแล้วต่างหาก

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 12 ตุลาคม 2559 (แก้ไข 15 ตุลาคม 2559)

หมายเลขบันทึก: 617299เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2016 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2016 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท