​อ่านออกเขียนได้: แนวทางการจัดการเรียนการสอน


อ่านออกเขียนได้: แนวทางการจัดการเรียนการสอน


เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.

เด็กในช่วงวัยปฐมวัยและประถมศึกษาตอนต้นควรได้รับการพัฒนาและส่งเสริมด้านภาษาเป็นอันดับแรก เนื่องจากภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะทำให้เด็กสื่อสารและสร้างความเข้าใจหรือมโนทัศน์ของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งการส่งเสริมดังกล่าวสามารถกระทำได้ทั้งการเรียนรู้ภาษาผ่านประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน และการเรียนรู้จากการเรียนการสอนที่มีการกำหนดไว้อย่างเป็นระบบ





ครูผู้สอนภาษาไทยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้เด็กมีทักษะทางภาษาผ่านกิจกรรมการเรียนรู้
ต่าง ๆ โดยจะต้องดำเนินการตามหลักการที่ว่า ภาษาเป็นวัฒนธรรม หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนภาษา จะต้องไม่มุ่งเน้นแต่เฉพาะการเรียนรู้ในสิ่งที่ปราศจากชีวิต เช่น หลักการ ไวยากรณ์ กฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องคำนึงถึงภาษาในมิติของสิ่งที่มีชีวิต มีการใช้ในหลายรูปแบบและเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบท ซึ่งแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษา โดยมุ่งเน้นการอ่านออกเขียนได้มีหลากหลายแนวทาง ดังประมวลมาได้ดังนี้

1. การสอนภาษาไทยควรเริ่มต้นจากเรื่องเสียง เสียงเป็นภาษาที่แท้จริง เสียงในภาษาไทยทั้งสระ พยัญชนะและวรรณยุกต์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ครูควรให้ความสำคัญกับการให้นักเรียนจดจำและจำแนกเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เช่น ครูอ่านออกเสียงคำให้นักเรียนฟัง แล้วให้นักเรียนบอกว่าเป็นเสียงพยัญชนะตัวใด หรือคำใดมีเสียงสระเหมือนกัน คำใดมีเสียงต่าง อาจมีสื่อประเภทบัตรอักษร หรือสื่อลักษณะอื่น ๆ ที่ช่วยให้นักเรียนแยกเสียงได้ถูก

2. ครูควรเน้นการเทียบเสียงและการเปลี่ยนความหมาย คำในภาษาไทยมีความเชื่อมโยงกับเสียง เมื่อระดับเสียงเปลี่ยนเล็กน้อย ก็ทำให้ความหมายเปลี่ยนได้ เช่น ขา-ข่า-ข้า หรือ คา-ค่า-ค้า เป็นต้น ในการสอนจึงต้องส่งเสริมให้นักเรียนเห็นการเปรียบเทียบเสียงของคำเป็นชุด ๆ แล้วพิจารณาความหมายของคำแต่ละคำ แล้วให้นักเรียนลองอ่านและเขียนคำตามเสียงที่อ่าน จากนั้นใช้การสอนแจกลูกสะกดคำอย่างเป็นระบบ จากคำง่ายไปสู่คำที่มีโครงสร้างซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

3. นักเรียนควรฝึกอ่านคำ คัดและเขียนคำใหม่อยู่เสมอ ควรกำหนดคำที่นักเรียนจะต้องรู้ แล้วนำมาให้นักเรียนอ่านและฝึกเขียน ในลักษณะของการเขียนตามคำบอก ซึ่งสามารถทำได้โดยกำหนดช่วงเวลา
การทดสอบเป็นระยะ ๆ เพื่อให้นักเรียนมีเวลาในการฝึกหัด และในขณะเดียวกันก็จะได้จดจำและเขียนคำใหม่เพิ่มพูนไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ครูควรที่จะสำรวจคำจากรายวิชาอื่น ๆ เพื่อฝึกให้นักเรียนอ่านและเขียนด้วย

4. ครูควรคัดเลือกสื่อหรือแหล่งเรียนรู้ภาษาไทยที่อยู่รอบตัวนักเรียนมาใช้ เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าภาษาเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การนำคำหรือข้อความจากป้ายประกาศ โฆษณา สื่อวิทยุ โทรทัศน์มาเป็นสื่อสำหรับให้นักเรียนเห็นวิธีการใช้ การเรียบเรียงคำและข้อความ ซึ่งมีทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง
แล้วนักเรียนปรับแก้ไขหรือทำความเข้าใจการใช้ถ้อยคำและประโยคที่ถูกต้อง

ภาษาไทยเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทย ในการเรียนการสอน ครูควรทำความเข้าใจแนวทางข้างต้น
และสอนภาษาในลักษณะที่เป็นธรรมชาติหรือสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทย มากกว่าจะเป็นศาสตร์หรือวิชาที่ศึกษาภาษาในเชิงลึก จนตัดความเกี่ยวข้องกับการใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น แนวทางข้างต้นที่ได้เสนอ จึงน่าจะสามารถช่วยให้นักเรียนอ่านออกและเขียนได้ตั้งแต่ในระดับประถมศึกษาตอนต้น

_______________________________

หมายเลขบันทึก: 616784เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2016 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2016 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท