กล้วยเชื่อม เชื่อมกล้วย เชื่อมโยงสู่การเรียน


เหลือเวลาเพียง ๔ เดือน นับจากนี้ไปสนามการวัดผลสัมฤทธิ๋ทางการศึกษาใกล้เข้ามาถึงแล้ว ข้อมูลที่ได้จะเป็นข้อมูลยืนยันและชี้วัดกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผลคะแนนของนักเรียนสะท้อนมิติได้หลากหลาย ทั้งเชิงบวกเชิงลบ เชิงปริมาณเชิงคุณภาพ

เมื่อวันเสาร์มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทั้ง NT และ O-net ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ภาพรวมเปรียบเทียบในแต่ละเขตภายในจังหวัด ทำให้มองเห็นว่า ผลสัมฤทธิ์ของ สพป.บร.๑ มัน ok (ตกลง) เมื่อเทียบกับเขตอื่น นั่นจึงต้องมีการเตรียมตัวและหาแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้เรียน โดยสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับครูผู้สอน โดยเฉพาะ ป.๖ ปีนี้มีการทดสอบด้วยการเขียนตอบ ถึง ๒๐ % การสร้างแนวทางการตอบคำถามของนักเรียนให้สามารถเขียนแล้วได้คะแนน เข้าหลักเกณฑ์ สามารถได้คะแนนง่ายกว่า ปรนัย ดังนั้นเมื่อเขียนตอบได้คะแนนดี จะช่วยเพิ่มผลคะแนนสูงขึ้นเมื่อรวมกับ ปรนัย (เรามีความเชื่อเช่นนั้น)

แง่คิดข้อเสนอแนะต่างๆจากผู้เชี่ยวชาญและเพื่อนครูผู้มีประสบการณ์ จะขอนำมาประยุกต์ใช้ เพราะเชื่อว่าแต่ละโรงเรียนมีความเหมือนที่แตกต่างและบริบทของโรงเรียนย่อมแตกต่างด้วย ปัจจัยมากมายที่ทำให้กระบวนการเรียนการสอนต้องสะดุด ยกตัวอย่างเช่น ภาวะครอบครัวของนักเรียน ความพร้อมของครู ความรู้พื้นฐานของนักเรียน พฤติกรรม นิสัย ร่างกายและสมองบางครั้งบางทีสวนทางกัน แต่เราคงจะนั่งคิดปัญหาจนลืมที่จะแก้ปัญหา คงจะทำให้องค์กรไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ จึงต้องขอยืมมาตรการ ททท.(ทำทันที)มาปรับใช้ บวกกับการสอนซ้ำ ย้ำ ทวน คิดว่าอีก ๔ เดือน น่าจะพอคาดหวังอะไรได้บ้าง

เช้านี้จึงจัดกิจกรรม "กล้วยเชื่อมด้วยหม้อหุงข้าว" ให้กับนักเรียนชั้น ป.๔ เพื่อการต่อยอดและเป็นแผนพัฒนา ๓ ปี (คิดเป็นการส่วนตัวครับ หากว่าได้รับหน้าที่สอนวิชาภาษาไทยอีก) ให้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง มองเห็นและจับต้องด้วยตัวนักเรียนเอง จากนั้นระหว่างที่รอ..กล้วยเชื่อมสุก ..จึงนำนักเรียนเข้าสู่การเชื่อมโยงการเขียน เช่นกำหนดให้เขียนอิสระ คนใดจะเขียนแบบความเรียงก็ไม่ว่า จะเขียนลำดับขั้นตอนก็ไม่ว่า ขอให้เขียนมา สะกดผิดก็ไม่ว่า วรรณยุกต์ผิดก็ไม่ว่า แต่ขั้นต่อไปจะให้ความรู้เรื่องมารยาทในการเขียน กลิ่นหอมของน้ำตาลที่กำลังเดือด ช่างเป็นสิ่งเร้าและกระตุ้นให้นักเรียน เร่งมือการทำงานการเขียน เพื่อจะได้มีเวลามาชื่นชมการเปลี่ยนแปลงของกล้วยเชื่อม เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของการบูรณาการสาระการเรียน และการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และแล้วกล้วยเชื่อมก็พร้อมเสริฟ เป็นของหวานมื้อเที่ยงสำหรับนักเรียนชั้น ป.๔ และชั้นอื่นๆยังมีโอกาสได้ชิมด้วย ครับกล้วยเชื่อมเราทำได้การเขียนเราก็ต้องทำได้ ....๓ ตุลาคม ๒๕๕๙

ผักหวานป่า

หมายเลขบันทึก: 616493เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2016 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2016 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท