Spirits of Budo : การฝึกไอคิโดกับอาจารย์ยามาดะ




-ขอบคุณภาพจากเฟซบุค Thai Aikikai- Renbukan Dojo

ในการฝึกพิเศษร่วมกันในหมู่นักไอคิโดภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The 5th Aikido Fellowship South East Asia : AFSEA) ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพเมื่อ 23-25 กันยายน 2559 นั้น อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ พี่ใหญ่แห่งการอบรมสร้างความเข้มแข็งแก่ภาครัฐและภาคประชาสังคมเมืองไทยได้ไลน์ถามผมว่า ในการฝึกดังกล่าวมีอยู่ตอนหนึ่งที่ อาจารย์ยามาดะ (Yoshimitsu Yamada) อาจารย์ไอคิโดระดับโลกได้กล่าวถึงหลักการฝึกไอคิโดว่า " beautiful , positive dynamic , and every movement has meaning " อาจารย์ชัยวัฒน์อยากรู้ว่ามันมีความหมายว่าอย่างไร มีปรัชญาอะไรซ่อนอยู่



Yoshimitsu Yamada Shihan 8th dan -ขอบคุณภาพจากเฟซบุค Thai Aikikai- Renbukan Dojo


ต้องออกตัวไว้ก่อนนะครับ ว่าถึงผมจะอยู่ฝึกอบรมดังกล่าวแต่ต้นจนจบ แต่ก็ไม่ได้ยินประโยคดังกล่าวจากอาจารย์ Yamada อาจเพราะคนฝึกมีเยอะ จัดในห้องประชุมใหญ่และในจังหวะนั้น เรานั่งอยู่ไกล ทำให้ไม่ได้ยินเสียงจากอาจารย์ ที่พูดสด พูดค่อยๆไม่ผ่านไมค์ แต่หากจะเทียบเคียงตามความเข้าใจส่วนตัว ประกอบกับการที่ได้ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ Yamada มาบ้าง รวมถึงการอ่านเรื่องราวของท่านใน wikipedia ก็พอจะประกอบสร้างขึ้นมาเป็นความเข้าใจชุดหนึ่ง เป็นการตีความของผมโดยเชื่อมโยงกับข้อมูลและประสบการณ์เรียนรู้ไอคิโดกับท่านในวันนั้น ถ้าถูกผิดประการใดก็ช่วยกันติชมได้นะครับ



-ขอบคุณภาพจากเฟซบุค Thai Aikikai- Renbukan Dojo


  • Beautiful

ความสวยงามที่สัมผัสมีหลายมิติทั้งในรูปลักษณ์และในสิ่งที่ซ่อนเร้น เราจะเห็นไอคิโดที่อาจารย์สาธิตนั้น เป็นศิลปะที่มีความสวยงามในรูปแบบการเคลื่อนที่เป็นวงโค้งให้เห็นชัดเจน การสอนของท่านจะให้ความสำคัญกับพื้นฐานตรงนี้มาก ผมตีความว่า ความสวยงามตรงนี้ไม่เพียงหมายถึงเทคนิคท่วงท่าภายนอกเท่านั้น แต่รวมถึงความสงบนิ่งภายใน หรือ Fudoshin (An unshakable mind and an immovable spirit) และหลักการต่างๆ ตาม Spirits of Budo (จิตวิญญาณการต่อสู้แบบญี่ปุ่น )

เรื่องนี้สำคัญ และลึกกว่าความสวยงามแบบโลกๆ อย่างที่คนทั่วไปคิด เพราะเมื่อไปดูใน wikipedia มีการโค้ดวรรคทองของอาจารย์ Yamadaไว้ประโยคหนึ่งว่า

"We must keep the spirit of budo no matter how we practice"

(เมื่อไหร่ก็ตามที่เราผึกไอคิโด เราต้องรักษาจิตวิญญาณของนักต่อสู้ไว้เสมอ)

Spirits of Budo มีด้วยกัน 5 ข้อ ครับ คือ

  • Shoshin: (初心) จิตที่พร้อมตื่นตัวต่อการเรียนรู้
  • Zanshin: (残心) สติสัมปัชชัญญะ
  • Mushin: (無心) จิตว่างจากกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ
  • Fudoshin: (不動心) ความกล้าหาญแน่วแน่
  • Senshin (先心) จิตวิญญาณการปกป้องและเข้าถึงความกลมกลืนของจักรวาล

เรื่องเหล่านี้ลึกซึ้งมากๆ ยังไม่ขอลงรายละเอียดนะครับ เพราะ ผมเองก็ยังใหม่ต่อการศึกษาเรื่องนี้อยู่มาก

กลับมาที่เรื่อง Beautiful ความสวยงามตรงนี้หมายถึงหมายถึงความสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างเรากับสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เพียงแต่กับอีกฝ่าย แต่รวมถึงพลังจักรวาล ภายใต้สภาวะจิตที่สงบนิ่ง เยือกเย็น มีจิตที่ว่าง ว่างจากการเกาะอยู่กับโลภะ โทสะ โมหะ เราจะสัมผัสความสวยงามในการสาธิตไอคิโดของท่าน ตั้งแต่ท่านเชิญทุกคนลุกขึ้นหลับตา วาดมือเป็นวงโค้งช้าๆออกไปเสมือนการร่ายรำ พร้อมๆกับการสูดลมหายใจเข้าออกอย่างผ่อนคลายดั่งการเจริญสติ นี่เป็นความงามตั้งแต่การเริ่มต้นนำวอร์มเลยทีเดียว และตอนจบท่านก็จบด้วยท่าทางที่สง่างามเหล่านี้เช่นกัน ความงดงามจึงมิได้ปรากฏแต่ในช่วงการที่มีความขัดแย้ง หรือมีคู่ต่อสู้มาปะทะ แต่ความงดงามก็ยังมีรูปแบบในจังหวะที่สงบเนิบช้าแม้ยามอยู่สันโดษลำพัง งดงามในทุกสภาวะ งดงามทั้งการเคลื่อนไหวภายนอกในภาวะที่สงบนิ่งลึกภายใน

ความสวยงามที่อาจารย์ Yamada หมายถึง จึงน่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนสะท้อน Sipirits of Budo อันเป็นสิ่งที่ท่านเคยย้ำไว้



-ขอบคุณภาพจากเฟซบุค Thai Aikikai- Renbukan Dojo


  • Positive Dynamic

Positive Dynamic หรือการเคลื่อนไหวตอบสนองที่ไม่รุนแรง ไม่ก้าวร้าว แต่กลมกลืน (harmony) ไปกับอีกฝ่าย อันนี้ตรงตัวว่าพูดง่าย แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก เพราะเราถูกฝึก ถูกหล่อหลอมมาให้เคยชินกับการต่อสู้แบบแรงมาแรงไป ที่แย่ไปกว่านั้น สังคมก็มีวาทกรรมที่อนุญาตให้ผู้คนใช้ความรุนแรงต่อกันได้เต็มไปหมด ความรู้ ความเชื่อที่ครอบงำสังคมกระแสหลักอยู่ก็เชื่อมั่นในการแข่งขัน การลงทัณฑ์ การควบคุม มากกว่าจะโอนอ่อนหรือใช้พลังอ่อนที่เรียกว่า Soft Power ต่อกัน ในแง่นี้ Positive Dynamic ก็คือ Soft Power ที่มาในรูปแบบศิลปะการต่อสู้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม อาจารย์ Yamada เคยกล่าวไว้ในงานสัมมนาครั้งหนึ่งว่า "Aikido is the way of harmony - but not too much harmony" or to "put harm back in harmony" ไอคิโดเป็นวิถีแห่งความกลมกลืน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลมกลืนจนมากเกินไป หรือแสร้งกลมกลืนเพื่อที่จะสวนกลับไปสร้างความรุนแรง

Positive Dynamic จึงเป็นการเคลื่อนไหว (ถ้าเป็นพวกนักพัฒนาคงจะชอบคำว่า "ขับเคลื่อน" ที่ไม่ตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง) แต่เป็นการใช้พลังอ่อน (Soft Power) เบนทิศทางแรง และสลายความก้าวร้าวไปสู่ความกลมกลืนและสงบ สันติในที่สุด




-ขอบคุณภาพจากเฟซบุค Thai Aikikai- Renbukan Dojo


  • Every Movement Has Meaning

ตรงนี้ผมคิดอยู่นานครับ ว่า อาจารย์จะหมายถึงอะไร ก็พอดีไปเจอย่อหน้าหนึ่งในเว็บไซต์ www.zen-buddhism.net กล่าวถึง Spirit of Budo ข้อหนึ่งว่า Zanshin ผมเข้าใจว่า การที่อาจารย์ Yamada พูดว่า "Every Movement Has Meaning" หมายถึง Zanshin นี้ครับ

Zanshin คือการมีสติสัมปชัญญะ เต็มที่กับสิ่งที่ทำในปัจจุบัน (be present) โดยมีพื้นฐานมาจากการตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่ทำว่าจะเชื่อมโยงกับพลังจักรวาลและสรรพสิ่งอีกมากมาย

Zanshin หรือการมีสติสัมปชัญญะ เป็นเรื่องสำคัญมาก เราสามารถฝึกได้ทั้งจากในศิลปะการต่อสู้หรือการฝึกสมาธิ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน การเคลื่อนไหว การฝึกไอคิโด ที่อาจารย์ Yamada พูดถึงนี้ ท่านจึงอยากให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งเล็กๆน้อยๆ ว่ามันจะสะสมบ่มเพาะกลายเป็นสิ่งที่มีพลังมากขึ้นๆ เหมือนดั่งวิถีการฝึก Zanshin หรือ สติสัมปชัญญะ ที่ต้องอาศัยเวลาและความต่อเนื่อง แต่ทุกการกระทำ ทุกการเคลื่อนไหวล้วนแต่มีความหมาย เป็นสติเล็กๆ ที่จะกลายเป็นมหาสติในวันหน้า เป็น Spirit of Budo ที่จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ[i]



-ขอบคุณภาพจากเฟซบุค Thai Aikikai- Renbukan Dojo


ส่วนจะนำคุณูปการ ในปรัชญาหรือความหมายที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์ Yamada วันนี้ ไปใช้ต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนหน้าที่การงาน โดยเฉพาะงานพัฒนาสังคมนั้น ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย หลายท่านใช้แล้ว หลายท่านยังไม่กล้าเปิดใจ หลายท่านกำลังฝึกและเริ่มจริงจัง แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่อาจารย์ Yamada สอนบนเบาะฝึกไอคิโด ก็ตรงกับหลักสูตรพัฒนาผู้นำการเรียนรวมหมู่ หลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลง Leaders by Heart ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ได้ทุ่มเทพัฒนาขึ้นมาให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ซึ่งจริงๆแล้ว ระดับอาจารย์ Yamada ที่ฝึกวิชาไอคิโดมามามากกว่า 60 ปี เป็นศิษย์ก้นกุฎิที่เรียนกับปรมาจารย์ผู้ก่อตั้งวิชาไอคิโดโดยตรงมามากกว่าสิบปี ทั้งยังเดินทางเรียนรู้และสอนไอคิโดไปทั่วโลกคงต้องมีอะไรภูมิปัญญาอะไรลึกๆซ่อนไว้โดยที่สติปัญญาของผมยังค้นไม่ถึง แต่เนื่องจากบันทึกนี้เขียนจากการรวบรวมข้อมูลที่มีจำกัด กอปรกับการตีความและประสบการณ์อันน้อยนิดที่ผมได้ฝึกร่วมกับอาจารย์ หากมีข้อความใดที่ผิดเพี้ยนไปจากเจตจำนงและความดีงามของอาจารย์ ผมก็ต้องขอกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย



[i] เทียบเคียงความหมายจากประโยค Simply put, Zanshin is the state when the mind is fully vigilant and aware of its surroundings; when the mind remains still without being attached to anything and is totally present during every moment and action in the here and now.

Everything is interconnected, and the entire Cosmos is influenced by our attitude; that is, all the words we speak, all the actions we carry out, and all the ways we move influence what is happening inside of us and around us.

Every action and every thought in the here and now must be right and harmonious: this is Zanshin. Every action is important: eating, getting dressed, washing, going to the bathroom, putting things away, interacting with other people - all of these actions are important and should be done with Zanshin.

In Budo, Zanshin means being aware of one's surroundings and enemies, while being prepared to react and being unaffected by pain. It is a state of mind that takes years of training to develop.

Through the practice of Zazen and Budo, little by little, this kind of alertness can expand to every action of one's daily life, and in the end, one realizes that there are no ordinary moments.

จาก www.zen-buddhism.net






หมายเลขบันทึก: 616409เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2016 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2016 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

งดงาม...ขอบคุณครูยอดมากครับ
ได้อ่านบทความนี้แล้วยิ่งทำให้รู้สึกรักศาสตร์นี้มากยิ่งขึ้นอีกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท