SALLC แม่ฟ้าหลวง : ศูนย์การเรียนรู้ภาษาด้วยตนเอง


วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๙ ตัวแทนจากสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำโดย รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ ศรีประทีป ผู้อำนวยการสำนักฯ มาศึกษาเรียนรู้ดูงานศูนย์การเรียนรู้ภาษาด้วยตนเอง หรือ Self-Access Language Learning Center (SALLC) ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อค้นหาแนวทางดำเนินงานด้านศูนย์เรียนรู้ภาษาของสำนักศึกษาทั่วไป

(ขอบคุณภาพจากคุณกฤษฎาครับ)

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รับนิสิตปีการศึกษาละประมาณ ๓,๐๐๐ คน มหาวิทยาลัยกำหนดให้ผลการเรียนภาษาอังกฤษปรากฎอยู่บนทรานสคลิป (ใบแสดงผลการเรียน) และใช้สื่อการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ทำให้นักศึกษาสนใจที่จะพัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษด้วยตนเอง เข้ามาสมัครเรียนรู้ในศูนย์ SALLC

ศูนย์ SALLC อยู่ภายใต้การบริหารงานของคณะศิลปศาสตร์ มีอาจารย์ประจำคณะที่เชี่ยวชาญด้านภาษาเป็นผู้บริหารจัดการ ไม่มีผู้อำนวยการศูนย์เอง ใช้วิธีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงานโดยมีคณบดีเป็นที่ปรึกษา แบ่งการทำงานออกเป็น ๕ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านบริหาร ๒) ด้านบริการและประชาสัมพันธ์ ๓) ด้านสื่อและผลิตสื่อ ๔) ด้านไอที ๕) ด้านกิจกรรม โดยมีอาจารย์แต่ละท่านรับผิดชอบ

ศูนย์ SALLC มีภาระกิจ ๕ ด้าน ได้แก่ ๑) ทำให้นักศึกษาเรียนรู้ภาษาด้วยตนเองได้ ๒) พัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษของนักศึกษา ๓) พัฒนาทักษะภาษาไทยและภาษาอาเซียน ๔) สร้างแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อให้นักศึกษาอยากเรียนและเรียนอย่างมีความสุข และ ๕) ผลิตสื่อและระบบไอทีเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังจะพอขยายความพอสังเขป ดังนี้ครับ

ช่วยให้เรียนรู้ด้วยตนเองได้

นักศึกษาที่สนใจ สามารถเข้ารับการบริการทั้งหมดของศูนย์ SALLC ได้ฟรี โดยมีนักศึกษา LA (Learning Assistant) คอยให้บริการตามกระบวนการดังแผนภาพ

กระบวนการให้บริการเป็นเหมือนคลินิกรักษาโรค (อ่อนภาษาอังกฤษ) มองนักศึกษาผู้มารับบริการเป็นผู้ป่วย (ด้านภาษา) หมอคืออาจารย์ด้านภาษาจากคณะศิลปศาสตร์ซึ่งมีข้อตกลงกับคลินิกว่าต้องมารักษาคนป่วยสัปดาห์ละอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง โดยได้รับค่าจ้างรวมอยู่ในเงินเดือนหมอ (กำหนดเป็นภาระงานอาจารย์) LA เป็นเหมือนพยาบาลและเจ้าหน้าที่บริการต่างๆ ตามแต่อาจารย์จะมอบหมายให้โดยมีค่าตอบแทนแตกต่างไปตามงานที่มอบหมาย (งานเป็นครูฝึกได้มากกว่างานธุรการเท่าตัว)



นักศึกษาผู้ป่วยจะได้รับการตรวจอาการก่อนด้วย Analysis Test หรือ Diagnostic Test เพื่อให้ทราบปัญหา ประกอบกับการสัมภาษณ์เพื่อหาความจำเป็นและความต้องการที่แท้จริง ก่อนจะเข้าพบผู้ให้คำปรึกษา (Counselor) เพื่อกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ จัดทำข้อตกลงและสัญญา(ใจ) ว่าจะให้ความสำคัญ ไม่หนีหายไป

กระบวนการเรียนรู้ของ SALLC มีสองส่วนหลัก ๑ คือการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ซึ่งมีทั้งที่ศูนย์ฯ จัดขึ้น และกิจกรรมที่จัดตามความต้องการของนักศึกษา และ ๒ คือการเปลี่ยนวิธีการเรียนใหม่หมดเป็นเน้นการ Coaching โดยการใช้การตั้งถามมากกว่าการบอกอธิบายตามหนังสือ ... ผมตีความว่านี่คือปัจจัยแห่งความสำเร็จของ SALLC โดยเฉพาะตัวนิสิต LA (นักศึกษา LA) เอง ที่มีพัฒนาการอย่างมากจากการทำหน้าที่เป็นผู้สอน ยืนยันว่ากระบวนการเรียนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการให้นักศึกษาได้สอนผู้อื่น

กระบวนการ Coaching และ Facilitating โดย Facilitator ที่เป็นนักศึกษานี้ ช่วยให้นักศึกษากว่า ๑๐๐ คนที่เข้ามารับบริการมีพัฒนาการด้านภาษาอังกฤษจนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านสื่อและเครื่องมือต่างๆ ที่ทางศูนย์ฯ เตรียมไว้อย่างครบครัน ซึ่งจะอธิบายต่อไปว่ามีอะไรบ้าง

พัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ

ผมตีความว่า มีปัจจัยความสำเร็จ ๓ ประการสำคัญของการพัฒนาภาษาอังกฤษของนักศึกษาแม่ฟ้าหลวง ๑) คือการกำหนดให้ใช้สื่อการเรียนเป็นภาษาไทย ๒) คือการนำเอาซอร์ฟแวร์สำเร็จรูปมาใช้ ในที่นี้คือ โปรแกรมสอนภาษา English Discovery Online ซึ่งอาจารย์ธนพงษ์ ท่านบอกว่าได้ผลดีมากๆ นักศึกษาเกิดพัฒนาการอย่างประจักษ์ชัด และ คือกระบวนการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" (ผมเขียนโดยอ้างเอาคำของนโยบาย สพฐ.) มาใช้ ให้นักศึกษามีเวลาเรียนรู้ผ่านโปรแกรมเอง และเรียนรู้ด้วยตนเองใน SALLC

ท่านบอกว่า แต่ก่อนนักศึกษาจะเรียนภาษาอังกฤษทั้งหมด ๙๐ ชั่วโมง ต่อมาให้ลดชั่วโมงในชั้นเรียนเหลือเพียง ๕๐ ชั่วโมง แล้วให้นักศึกษามาเรียนรู้ด้วยตนเอง ๔๐ ชั่วโมง ปรากฎผลประเมินทักษะด้านภาษาอังกฤษดีขึ้นอย่างชัดเจน... จนมหาวิทยาลัยอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการขยายผลทันทีในปีนี้






สร้างศูนย์ SALLC ให้เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีความสุข



พันธะกิจข้อนี้ของ SALLC ท่านสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์จะดีที่สุด เพราะภาพสวยมาก มีวีดีโอ สื่อ มัลติมิเดีย ให้ดูอย่างหลากหลาย ... อย่างไรก็ดี เชิญท่านไปติดต่อศึกษาดูงานทีนั่นดีกว่าครับ



http://sallc.mfu.ac.th/

คลิกลิงค์ที่ภาพครับ

งที่ทำให้ SALLC เป็นแหล่งเรียนรู้ภาษาอย่างสนุกมีความสุข ได้แก่

  • Reading Zone หนังสือต้องเลือกมาอย่างดี แบบที่นักศึกษาอยากอ่าน และอ่านได้นาน
  • Movie Zone นักศึกษามาตัวเปล่า มาเลือกเอาดีวีดีหนัง แล้วเลือกไปนั่งดูหนังฝรังซาวด์แทร็ค
  • Theater Room นักศึกษาตั้งแต่ ๖ คนขึ้นไป สามารถมาจองห้องฉายหนังได้
  • Game Zone เรียนรู้อย่างสนุกด้วยเกม
  • Karaoke Room ฝึกออกเสียงด้วยเพลงด้วยตนเอง
  • Pronunciation Room ฝึกออกเสียงอย่างถูกต้อง โดยมีนักศึกษา LA ช่วยแบบตัวต่อตัว หรือ ใช้โปรแกรม Clear Pronunciation
  • Studio สำหรับอัดเสียง สร้างสื่อสนทนาภาษาอังกฤษ หรือตัดต่อวิดีโอคลิป
  • ฯลฯ






AAR ศึกษาดูงานที่ SALLC

เราทำ AAR กันที่ร้านอาหารชื่อ "โอ้กับจู๋" (ที่กับลังอยู่ในกระแส ลองอ่านที่นี่) ด้วยเวลาจำกัด เราตั้งคำถามว่า " ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ประทับใจอะไรมากที่สุด" สรุปได้ดังนี้ว่า

  • ประทับใจการจัดให้มี นักศึกษา LA มาเป็น "ครูฝึก" (Coach)
  • ประทับใจที่ SALLC ให้เหมือน "คลินิก"
  • ประทับใจนโยบายและการสนับสนุนงบประมาณจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่เอาจริงกับการพัฒนาภาษาอังกฤษของนักศึกษา และการให้โอกาสกับผู้ทำงานหนักในการพัฒนาเรื่องนี้อย่างเต็มที่
  • ประทับใจการค้นพบตัวตนของตนเอง การพัฒนาภาษาที่แม่ฟ้าหลวงโดดเด่นจนเห็นอัตลักษณ์และเป็นเอกลักษณ์ที่น่าภูมิใจ
  • ประทับใจระบบและกลไกการส่งเสริมของมหาวิทยาลัย ที่กำหนดให้ทักษะด้านภาษาไปปรากฎในทรานสคริป

สิ่งที่ผมเองประทับใจมาก ๆ คือ ประทับใจการต้อนรับอย่างอบอุ่น และการให้ของหัวหน้าศูนย์อาจารย์ธนพงษ์ สมบัติ ท่านอธิบายทุกเรื่องอย่างดีมาก บอกทุกอย่าง ตอบทุกเรื่องโดยไม่หวงความรู้และประสบการณ์ใด ๆ เลยแม้แต่น้อย ... ขอขอบพระคุณท่านอีกครั้งครับ


หมายเลขบันทึก: 615579เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2016 05:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2016 05:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท