ดร.ไม่ใช่คำหน้าชื่อในทางราชการ



ดร. ไม่ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อในทางราชการ

เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.


บุคคลทุกคนตามกฎหมาย หากมิได้มีชาติวุฒิ กำเนิดมาในขัตติยวงศ์ เป็นชายก็มีคำนำหน้าว่า นาย เป็นหญิงมีคำหน้าว่านางสาว หรือนาง ยกเว้นว่าบุคคลนั้น ไปรับราชการทางทหาร ตำรวจ ก็จะมียศ วางไว้ข้างหน้าชื่อ รวมถึงหากเป็นผู้สอนในระดับอุดมศึกษา พากเพียรทำงานวิชาการจนได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ก็สามารถใช้ ผศ., รศ., ศ. นำหน้าชื่อตนเองได้ในเอกสารต่าง ๆ ของทางราชการ

อย่างไรก็ตาม กลับพบเห็นการใช้คำนำหน้าอีกลักษณะหนึ่ง อันเนื่องมาจากการศึกษาเล่าเรียน หรือได้รับคุณวุฒิ เช่น กรณที่ได้รับคุณวุฒิระดับดุษฎีบัณฑิต หรือปริญญาเอก มักนิยมใช้คำนำหน้าว่า ดอกเตอร์ และใช้ตัวย่อว่า ดร. และโดยมาก พบเห็นผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มนี้ นิยมใช้ ดร. ในเอกสารต่าง ๆ ของทางราชการ

ที่สำคัญมีการใช้คำนี้เป็นคำนำหน้าข้ามวงการ

การใช้ดังกล่าว ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของทางราชการ เนื่องจากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ รองรับ ดังนั้นในการเขียนนามหรือลงนามในเอกสารทางการ จึงไม่ใช้ระบุ ดร. หน้าชื่อ รวมถึงชื่อวิชาชีพอื่น ๆ อีกด้วย

สรุปอีกครั้ง คือ ไม่ใช้คำว่า ดอกเตอร์,นายแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ฯลฯ หรืออักษรย่อ เช่น ดร. นพ. ภก. ฯลฯ นำหน้าชื่อในหนังสือราชการต่อไปนี้

1) หนังสือภายนอก (หนังสือที่มีตราหน่วยงานทำถึงหน่วยงาน องค์กร หรือบุคคล)

2) หนังสือภายใน (หนังสือบันทึกข้อความภายในหน่วยงาน)

3) หนังสือประทับตรา

4) หนังสือสั่งการ (คำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับ)

5) หนังสือประชาสัมพันธ์ (ประกาศ แถลงการณ์ ข่าว)

6) หนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการ (หนังสือรับรอง รายงานการประชุม บันทึก และหนังสืออื่น )

รวมถึงในกฎหมายและราชกิจจานุเบกษา

เพราะคำหน้าหน้าชื่อในหนังสือราชการมีได้แต่ ตำแหน่งทางวิชาการ (ผศ.,รศ.,ศ.) ยศทางราชการ และฐานันดรศักดิ์

อันนี้ปรากฏในระเบียบสำนักนายกว่าด้วยงานสารบัญ

นอกจากกนี้ ทางราชบัณฑิตยสภา โดยคุณสุปัญญา ชมจินดา นักวิชาการด้านอักษรศาสตร์ของราชบัณฑิตฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ ดร. ไว้ดังนี้ครับ

"ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ คำแสดงวุฒิการศึกษาไม่ใช้เป็นคำนำหน้านาม หรือนำหน้าชื่อ ทำนองเดียวกับคำแสดงวิชาชีพ เช่น นายแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ ฯลฯ จะมีใช้เป็นคำนำหน้านามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณได้ ก็คือ ตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศาสตราจารย์กิตติคุณ คำว่า ดร. เป็นคำแสดงวุฒิการศึกษา ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ ไม่ใช้เป็นคำนำหน้านามตามแบบแผนของทางราชการ จึงไม่ใช้ ดร. เป็นคำนำหน้านามที่มีการใช้กันมักเป็นการใช้อยู่ในแวดวงวิชาชีพทางด้านการศึกษา ซึ่งหากเป็นหนังสือราชการแล้วไม่ใช้ ดร. เป็นคำนำหน้านามหรือนำหน้าชื่อ"

สังเกตชื่อของอธิการบดีจุฬา ในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งลงมาที่ใช้ว่า "นายบัณฑิต" หรืออย่างในกรณีของอธิการบดี มศว ใช้ว่า นายสมชาย ตรง ๆ เลยครับ ไม่ใส่ ดร. หรืออย่างอดีตอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ใช้ในเอกสารทางการว่า "นายภิรมย์"
ไม่ใช้ว่า "นายแพทย์ภิรมย์"







อีกตัวอย่างเช่น การลงนามของอธิบดีกรมการแพทย์ที่ไม่ใช้ นพ.หรือนายแพทย์ในวงเล็บ ดังในภาพ



ส่วนเอกสารหรือวัสดุอื่น ๆ นอกเหนือจากข้างบนที่ผมว่ามา ที่ไม่ใช่เอกสารทางราชการทั้ง 6 ชนิดข้างต้น

และท่านต้องการจะใส่ชื่อของท่านลงไป เช่น ป้ายชื่อ นามบัตร เอกสารทั่วไป เอกสารประกอบการสอน เอกสารประกอบการเรียน ตำรา หรือเอกสารในลักษณะอื่น หรือไม้แต่พูดประกาศต่อสาธารณชน

ท่านก็สามารถจะใส่อะไรที่ "ไม่เป็นทางการ" อย่าง ดร., หญิงไก่, ท่านหญิง, แม่เรียกว่า, เมธยาจารย์, ปรัชญาจารย์, คุรุเมธีกีรติยศ, วิชชาจารย์, มหาปรมาจารย์กิตติยศ, อัครมหาอาจาริยางเกียรติคุณศิษย์ศรัทธาดุษฎี, อัครพรหมมาวิชชามหาเมธาปรมาจารย์ภิชาณยศยิ่งฟ้าเกียรติคุณ ดร. ฯลฯ

ก็ใส่ไปตามที่ท่านเป็น, เรียนมา หรือนึกว่าตัวเองเป็นได้ และ/หรืออยากเป็น ตามสะดวก

_____________________________________________________________________



หมายเลขบันทึก: 614226เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2016 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2016 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท