การสร้างพื้นฐานภาวะผู้นำ : บทสะท้อนการเรียนรู้เรื่องเป้าหมาย และการ "เล่น" กับพลังของความขัดแย้ง


10 กันยา 59 ในชั่วโมงสุดท้ายของสี่วันจากการอบรมวิชาพื้นฐานภาวะผู้นำ (Foundation of Leadership) ที่ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เรียนรู้ร่วมกันโดยมีอาจารย์ใหญ่แห่งวงการอบรมภาคประชาสังคมอย่างอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ แห่ง Civicnet Foundation และ สสส. เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการดีๆ






หลายท่านจากหลายวงการ ได้ยืนขึ้นสะท้อนการเรียนรู้ในพื้นที่การอบรมที่ศักดิ์สิทธิ์ครั้งนี้


ผมเป็นคนหนึ่งที่โชคดี ได้มีโอกาสดังกล่าว พอพูดจบ มีเพื่อนอาจารย์จาก ม.บูรพา มาขอให้เขียนส่งที่พูดไปเมื่อกี้ให้ แรกทีเดียว ผมคิดว่าจะส่งไปเธอทางไลน์ แต่มานึกอีกที ถ้าเราพิมพ์ไว้ในบล็อก ก็น่าจะมีประโยชน์แก่คนอื่นๆได้อีก ไม่มากก็น้อย พอผมกลับจากกรุงเทพมาถึงบ้านแม่ฮ่องสอน ก็เลยมาเรียบเรียงใหม่ ถ้อยความที่ผมสะท้อนให้กับอาจารย์และมิตรสหายที่ได้ร่วมผูกจิตผูกใจกันตลอดการอบรม มีดังนี้ครับ


" การพูดคุยสะท้อนความรู้สึกเช้านี้ สำหรับผมแล้ว ได้ทบทวนสิ่งดีที่เรียนรู้อยู่สองเรื่องใหญ่ครับ

เรื่องแรกคือ ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ว่าเป้าหมายจะค่อยๆชัดขึ้นมาเอง หากแต่เราตั้งชัดเจนและให้ความสำคัญ มีจิตประณีตกับสภาวะภายในในชีวิตแต่ละขณะที่ทำ และใส่ใจอย่างจริงจังกับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งรอบข้าง

เหมือนอย่างประสบการณ์เดินป่า จะขึ้นไปบนยอดเขา ไม่มีทางที่เราจะเห็นยอดเขาชัดเจนจากพื้นราบ เพราะมีเมฆหมอกบังตา ระยะทางไกล สุดสายตา สิ่งที่เราควรทำคือใส่ใจ สังเกตสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทั้งเส้นทาง ระแวดระวังภัยอันตรายในป่า และช่วยดูแลเพื่อนฝูงที่ร่วมทางไปด้วยกันที่ต้องแบ่งหน้าที่กันหาน้ำ หาฟืน หุงหาอาหาร ประคับประคองกันไประหว่างทาง ทั้งยังต้องดูแลจิตใจตนเอง จิตใจของกันและกันไม่ให้ย่อท้อ ท้ายสุดเป้าหมายที่แท้จะชัดขึ้นเรื่อยๆๆ



ภาพจาก http://wm.thaibuffer.com/


อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง การจะสร้างภาวะผู้นำ หรือ Mastery ได้นั้น ต้องสร้างด้วยภาวะจิตที่ว่าง

อย่างในช่วงเวลาที่อาจารย์ให้ไปสาธิตไอคิโด เพื่อสะท้อนการเล่นกับพลัง




ผมต้องเอามือฟันอาจารย์ แต่จะฟันอาจารย์ได้ ต้องลืมไปว่า ที่อยู่ตรงหน้านั้นคืออาจารย์ ไม่คิดว่านั่นเป็นอาจารย์ ให้ทำตามหน้าที่อย่างเดียว ไม่มีผู้ชมรอบข้าง ไม่มีอาจารย์ ไม่มีศิษย์ มีแต่สภาวะที่จะเข้ากระทำต่อกัน นี่คือสภาวะของความว่าง หากไปคิด ก็จะเงอะงะ และก็ไม่กล้า หรือหยุดกลางคันซึ่งนอกจากการกระทำจะไม่บรรลุผลแล้ว อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บทั้งเราทั้งเขาตามมา

ทำให้เข้าใจทันทีเลยว่า เราต้องทำอย่างมี Focus ก็จริง แต่ Focus แบบไร้ใจ

ให้รู้ว่ามี แต่อย่าเอาความคิดไปจับ

เหมือนตอนที่อาจารย์ให้ดูหนัง The Last Samurai ที่พระเอกดวลดาบกัน แล้วมีเด็กหนุ่มไปบอกว่า อย่าคิด จนในที่สุดพระเอกก็สามารถฟันดาบได้สำเร็จ




มันเหมือนที่เคยอ่านหนังสือเซนเล่มหนึ่ง รู้สึกว่า OSHO เป็นคนยกมาเขียนไว้ว่า ถ้าเจอพระพุทธเจ้าให้ฆ่าเสีย ถ้าเจอพระเยซูก็ให้ฆ่าเสีย มาถึงตรงนี้ ถ้าเจออาจารย์ชัยวัฒน์ก็ให้ฆ่าเสีย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสัจธรรม การฆ่าในที่นี้เป็นการอุปมา คือ ไม่ใช่ไปฆ่าตัวคน หากเป็นการฆ่าตัวตน ฆ่าความคิด จิตใจที่ไปยึดติด ปิดบังไม่ให้เราแทงทะลุไปสู่สติปัญญา

การเล่นกับพลังนี้ เป็นการเล่นอย่างกลมกลืนกับแรงฝ่ายตรงข้ามที่มาปะทะ

เหมือนอย่างที่อาจารย์ชัยวัฒน์ได้ยกหลักปรัชญาไอคิโดมาบอกไว้กับพวกเราว่า "The Harmony of Opposites Support the Cycle of Life"

เหมือนอย่างที่วันสุดท้ายนี้ อาจารย์ สาธิตไอคิโด เพื่อจัดการแรงปะทะได้อย่างกลมกลืนนี้ก็ใช่




เหมือนอย่างที่วันแรก อาจารย์การเอาหนังสะติ๊ก มายืดให้ดู ให้เห็นว่ายิ่งเราดึงหนังสะติ๊ก มันยิ่งยืด มันยิ่งมีแรงต้าน ดึงมากเท่าไรก็ดีดกลับเท่านั้น

ยิ่งเราต่อต้านเท่าไร เรายิ่งกลายเป็นสิ่งที่เราต่อต้านนั้น เหมือนพระเอกใช้ความรุนแรงต่อผู้ร้ายเท่าไร ท้ายสุดพระเอกก็กลายเป็นผู้ร้ายซะเอง


อย่างที่อาจารย์ชัยวัฒน์ เคยยกสำนวนของไอน์ สไตน์ มาสอนพวกเราว่า "เราไม่สามารถแก้ปัญหา ด้วยวิธีคิดเดิมๆที่มาจากระดับเดียวกันกับปัญหา "

จะเห็นได้ว่า เราไม่สามารถอธิบายสิ่งนั้น ได้ด้วยวิธีคิดที่มาจากสิ่งนั้น


เราจะอธิบายสิ่งที่ยาก ด้วยสิ่งที่ง่ายจะได้ไหม

เราจะอธิบายบทบาทของหมอ ก็ด้วยจากสภาวะของคนไข้ได้ไหม

เราจะอธิบายความชั่วด้วยความดีได้หรือไม่

แต่ละด้านต่างสะท้อนซึ่งกันและกัน

การเล่นกับพลัง กับแรงปะทะ จึงต้องเล่นอย่างมีศิลปะ มีความรักความกลมกลืน

Harmony of the Opposites ใช้ความเป็นตรงข้ามกันให้เกิดประโยชน์สุข

ผู้นำที่เป็น Mastery คือผู้ที่รู้จักสิ่งเหล่านี้ เล่นกับมันเป็น เล่นอย่างมี Focus ที่ไร้ตัวตน ไร้จิต ไร้ใจ"



หมายเลขบันทึก: 613742เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2016 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2016 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดครับ

ทบทวน..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท