จิตอาสาที่ภาคภูมิใจของเรา HUSOC_MSU_2016


เมื่อวันที่2 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา พวกเราในฐานะตัวแทนจากกลุ่มฮักนะเชียงยืน จากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน “HUSOC FAIR SHOW AND SHARE 2016 ” ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยกิจกรรมที่พวกเราได้เข้าร่วมก็คือ กิจกรรมการประกวดการนำเสนอโครงงาน “งานจิตอาสาที่ภาคภูมิใจของเรา” ในครั้งนี้พวกเราได้นำงานที่ได้ร่วมกันทำมาตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษาปีที่3 โดยใช้หัวข้อโครงงานว่า “รักษ์ป่าโคกหนองคอง”

โครงงานรักษ์ป่าโคกหนองคองนี้ เหมือนเป็นการสรุปการทำงานของพวกเรากลุ่มฮักนะเชียงยืนที่ได้ทำมาเป็นเวลากว่า 2 ปี สาเหตุที่เลือกบ้านขามเปี้ยเนื่องจากบ้านขามเปี้ยมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสำเนียงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับหมู่บ้านอื่น รวมทั้งพื้นที่ป่าโคกหนองคองที่เป็นป่าสาธารณะซึ่งมีพื้นที่ 1260 ไร่

โดยในโครงงานของพวกเรามีการดำเนินงาน ดังนี้

1.พวกเราได้ลงพื้นที่เพื่อไปสอบถามชาวบ้านในบ้านขามเปี้ย เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่สำคัญ และสอบถามเกี่ยวกับเรื่องปัญหาในชุมชน จากการลงพื้นที่นี้เองทำให้พวกเราสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และทำเป็นแผนที่เดินดินขึ้น นอกจากเราจะได้ข้อมูลมาทำเป็นแผนที่เดินดินแล้วในตอนที่เราลงพื้นที่ไปสอบถามชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาในชุมชนซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็บอกว่า ปัญหาที่สำคัญก็คือปัญหาการลักลอบทิ้งขยะและการลักลอบตัดไม้ในป่าโคกหนองคอง

2.หลังจากที่พวกเราทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนแล้ว พวกเราก็ได้ช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนเกิดเป็นกิจกรรม “ค่ายห้องเรียนธรรมชาติ” ขึ้น โดยในครั้งนี้เราได้ชักชวนให้น้องๆในชุมชนบ้านขามเปี้ย และน้องๆในชุมนุมที่โรงเรียนของพวกเราเข้าร่วมด้วย เพื่อเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้จำกัดไว้เพียงห้องสี่เหลี่ยม แต่เป็นการเรียนรู้โดยใช้ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และเพื่อให้เด็กๆเห็นคุณค่าของป่าไม้โคกหนองคอง สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปบอกต่อให้กับผู้ปกครองต่อไปได้

กิจกรรม ค่ายห้องเรียนธรรมชาติ

เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาในการจัดกิจกรรม 2 วัน 1 คืน กิจกรรมนี้ถือเป็นกิจกรรมแรกที่พวกเราได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ได้ทำค่ายเป็นของตัวเองดังนั้นก็เลยมีความตื่นเต้นมากๆ เตรียมงานกันถึงดึกดื่น พอถึงตอนช้าเมื่อน้องๆเริ่มทยอยกันมาพี่ๆก็จะเริ่มพาน้องๆเล่นเกมสันทนาการก่อน จากนั้นก็ได้เชิญผู้นำชุมชนบ้านขามเปี้ยมาเป็นเกียรติเปิดงานให้กับพวกเรา

กิจกรรมช่วงเช้าจะเป็นให้น้องๆช่วยกันคิดว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากอะไร มีวิธีการแก้ไข

อย่างไร โดยจะให้น้องๆวาดออกมาเป็นภาพ และมีการนำเสนอเกี่ยวกับภาพของแต่ละคน เมื่อมอง

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่วนใหญ่น้องๆจะวาดเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้น้องๆเกี่ยวกับการวัดเส้นรอบวงของต้นไม้ โดยควรเลือกวัดเส้นผ่านศูนย์กลางต้นไม้แต่ละต้นที่ความสูง 130-150 เซนติเมตร รู้จักว่าต้นไม้แต่ละต้นเป็นไม้ใหญ่ ไม้หนุ่ม หรือลูกไม้

กิจกรรมในช่วงบ่ายจะเป็นการลงสำรวจพรรณไม้พื้นที่จริง โดยมีการกางแปลงที่ต้องการที่จะศึกษา แปลงมีขนาดที่10x10 เมตร ในแต่ละต้นจะต้องวัดเส้นผ่านศูนย์กลาง วัดส่วนสูงของต้นไม้ และในช่วงเย็นก็มีอีกหนึ่งกิจกรรม ก็คือการแสดงละครเร่ โดยจะให้พี่ๆสอนน้องเกี่ยวกับการแสดงละครเร่ หัวข้อในการแสดงคือ เราจะสามารถแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

ในช่วงเช้าของวันถัดมาเป็นการนำเอาข้อมูลจากการลงสำรวจพรรณไม้ที่ได้มาสรุปผล

นอกจากนี้พวกเรายังได้นำต้นไม้แต่ละต้น มาคำนวณหาปริมาณการดูดซับคาร์บอน ซึ่งผลออกมาก็คือ ป่าโคกหนองคองของเราสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 3,275,888,788.70 ตันคาร์บอน และยังสามารถปล่อยแก๊สออกซิเจนได้ถึง 2,380,837,199.80 ตันออกซิเจน ซึ่งป่าโคกหนองคองสามารถปล่อยออกซิเจนที่เพียงพอต่อความต้องการของคนได้ถึง 132,317 คนต่อปี ได้เลยทีเดียว

3.เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการ ก็เข้าสู่กิจกรรมต่อไปของพวกเราโดยการคืนข้อมูลสู่ชุมชน ในกิจกรรมนี้ก็ได้แบ่งออกเป็นสองกิจกรรม คือ

-เวทีเสวนาป่าโคกหนองคองสู่ป่าชุมชน ซึ่งเป็นเวทีของผู้ใหญ่ โดยเราได้เชิญผู้นำชุมชนบ้านขามเปี้ย ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ว่าจะดีหรือไม่หากจะขับเคลื่อนป่าโคกหนองคองให้เป็นป่าชุมชน ผลสรุปที่ได้ก็คือทั้งชาวบ้านและผู้นำชุมชนต่างก็เห็นด้วย

-เป็นเวทีของเด็ก โดยเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่พวกเราได้ถ่ายทอดการเรียนรู้กระบวนการคิดบนฐานของปัญหาให้กับน้องๆในโรงเรียนบ้านขามเปี้ย

ตลอดการดำเนินงานส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งต่อตนเอง ในด้านของความรู้ ทำให้ฉันได้เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ในการหาตำแหน่งของต้นไม้แต่ละต้น รู้เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของต้นไม้ในป่าซึ่งแต่ก่อนไม่เคยรู้เลย ด้านทักษะ ฉันได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง และทักษะการใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงทำให้ฉันรู้จักคำว่าจิตอาสา และได้รู้ว่าการทำงานเพื่อสังคมจริงๆแล้วเป็นยังไง นอกจากนี้ยังมีผลต่อชุมชน ต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีผลต่อการขยายเครือข่ายการทำงานของพวกเราอีกด้วย

ซึ่งงานของพวกเรากลุ่มฮักนะเชียงยืนดำเนินงานสำเร็จไปด้วยดี ทั้งนี้ก็เพราะได้รับการสนับสนุนจากทางผู้ใหญ่จากหลายๆภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม บริษัท ไทย ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้นำชุมชนบ้านขามเปี้ย ปราชญ์ชาวบ้านที่ได้ให้ความรู้กับผู้เรา ชาวบ้านบ้านขามเปี้ย และอีกหลายท่าน ต้องขอขอบคุรทุกท่านมา ณ ที่นี้คะ

ในมุมมองของฉันคิดว่าคำว่า “จิตอาสา” เป็นคำที่มีความหมายยิ่งใหญ่มาก เพราะคำว่าจิตอาสาก็คือการที่เราได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม โดยที่ใช้ใจในการทำงาน โดยไม่ต้องมาห่วงเรื่องของผลตอบแทน ไม่ว่างานที่เราทำจะยากลำบากแค่ไหน แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งที่อยากจะทำและทำออกมาจากความตั้งใจจริงๆ สุดท้ายแล้วเราก็จะมีความสุขที่ได้ทำออกมา

หลักธรรมที่เกี่ยวข้องในการทำงาน

คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ

-ขยัน โดยภายในกลุ่มของพวกเราเมื่อมีการทำงานแต่ละครั้ง ทุกคนก็จะช่วยกันคิด เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรที่ไม่คาดฝัน เช่น ตอนที่ลงพื้นที่เพื่อสอบถามผู้รู้ในชุมชน แต่ก็มีบางท่านที่ไม่อยู่บ้าน พวกเราก็จะช่วยกันคิดหาทางแก้ไข มีลงสำรวจเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านและปัญหาในหมู่บ้าน และเมื่อได้ประเด็นที่สนใจที่พวกเราคิดว่าควรจะได้รับการแก้ไขซึ่งก็คือปัญหาการลักลอบทิ้งขยะและการลักลอบตัดไม้ในป่าโคกหนองคอง พวกเราก็มุ่งที่จะทำงานโดยมีเป้าหมายว่าทำอย่างไรปัญหาเหล่านี้จึงจะหมดไป จนมีการทำค่ายห้องเรียนธรรมชาติ ลงสำรวจพรรณไม้ในป่าโคกหนองคอง และนำข้อมูลที่ได้มาคืนสู่ชุมชนโดยจัดเวที่เสวนาป่าโคกหนองคองสู่ป่าชุมชนขึ้น โดยใช้เวลาการดำเนินงานกว่า2 ปี นั่นเองก็ทำให้ฉันรู้ว่าในการทำงานนั้น เราจะต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ใช้สติและเหตุผลในการแก้ไขปัญหา

-ประหยัด ทำให้ฉันรู้แลเห็นคุณค่าของสิ่งของมากยิ่งขึ้น เริ่มเรียนรู้วิธีที่จะใช้สิ่งของให้คุ้มค่า รู้จักการวางแผนในการซื้อของแต่ละครั้ง โดยเขียนรายการสินค้าทุกครั้งก่อนจะไปซื้อของ และใช้ให้คุ้มค่าที่สุด เช่นการใช้กระดาษสองหน้า

-ซื่อสัตย์ งานของพวกเรานั้นจำเป็นที่จะต้องลงพื้นที่จริงเพื่อสำรวจ จึงจำเป็นที่จะต้องสัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชน ดังนั้นเราก็จะต้องมีความจริงใจ ไม่มีอคติเวลาที่ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชน ต้องไม่ใส่ความรู้สึกและความคิดเห็นของตัวเองลงไป

-มีวินัย เมื่อมีการทำงานเป็นกลุ่ม ก็จำเป็นที่จะต้องมีความตรงต่อเวลาที่ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานกลุ่ม มีเคารพความคิดเห็นของคนอื่นในกลุ่ม รับฟังและเอามาคิด และมีความรับผิดชอบในการทำงานที่ได้ทำ

-สุภาพ มีความสุภาพ มีสัมมาคารวะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักกาลเทศะ เมื่อต้องเข้าหาผู้ใหญ่หรือคนอื่น ทำตัวให้เหมาะสมกับเวลาและสถานที่

-สะอาด คือ จิตใจร่าเริงเบิกบานแจ่มใส มีความสุข เข้ากับคนอื่นได้ มีจิตใจมั่นคงอยู่กับสิ่งที่ทำ ทำอะไรด้วยใจรัก ด้วยความสุข

-สามัคคี ในการทำงานกลุ่มต้องมีความสามัคคีกัน มีความพร้อมเพรียง ไม่เอาเปรียบกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และเมื่อมีความสามัคคีก็จะทำให้งานสำเร็จออกมาได้

-มีน้ำใจ เรียนรู้ที่จะมีน้ำใจที่ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักทำประโยชน์แก่ส่วน ทำงานเพื่อส่วนรวม ลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาหรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน

หมายเลขบันทึก: 613728เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2016 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2016 07:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เขียนเชิงสังเคราะห์แล้ว เขียนอีกครับ ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท