หาทางเชื่อมเครือข่าย


การจะได้มาซึ่งข้อมูลตามตัวชี้วัดแต่ละตัวนั้น ต้องใช้กำลังคน เวลาและความพยายามค่อนข้างมาก

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๐๐ น. ดิฉันได้รับเชิญจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ไปร่วมประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาเครือข่ายเวชปฏิบัติที่ดีทางคลินิกโรคเบาหวาน ณ ห้องประชุม ๒ ชั้น ๒ อาคาร ๑ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

รายชื่อผู้เข้าประชุม ๒๖ คน มาจากสำนักพัฒนาวิชาการแพทย์เอง สมาคมนักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลกระบี่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

โครงการเครือข่ายพัฒนาเวชปฏิบัติที่ดีทางคลินิกนี้ เกิดจากความร่วมมือของกรมการแพทย์และสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล โดยมุ่งหวังให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยอาศัยตัวชี้วัดที่กำหนดร่วมกันเป็นตัวเปรียบเทียบ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ความเดิมน่าจะมาจากที่ นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล เคยเสนอไว้และดิฉันบันทึกลงบล็อกเมื่อนานมาแล้ว (ลิงค์) ดิฉันเข้าใจว่า นพ.สมเกียรติ โพธิสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้

ในการประชุมครั้งนี้ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง มหภาคการดูแลผู้ป่วยเบาหวานอย่างองค์รวม ในช่วงเวลา ๐๙.๐๐-๑๐.๓๐ น. เนื้อหาสะท้อนภาพรวมของการทำงานเพื่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างต่อเนื่องทุกแง่มุม ผู้ฟังต่างประทับใจ คุณหมอสมเกียรติขออนุญาตถอดเทปคำบรรยายครั้งนี้ อาจารย์เทพอยู่ร่วมอภิปราย ให้ความเห็น และตอบคำถามต่างๆ จนครบถ้วน แล้วขอตัวกลับก่อนเนื่องจากมีภารกิจในภาคบ่าย

ทีมเบาหวานโรงพยาบาลขอนแก่น ได้นำเสนอเรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวานโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งเกิดจากการนำข้อมูลบริการ เช่น ปัญหาการบริการ ปัญหาผู้ป่วย มาพิจารณาและจัดทีมสหสาขาวิชาชีพจากฝ่ายต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาระบบบริการ One stop service สามารถลดขั้นตอนการบริการจาก ๒๖ ขั้นตอน เหลือเพียง ๙ ขั้นตอนเท่านั้น แต่การบริการดังกล่าวก็ยังไม่ครอบคลุมผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดที่มาใช้บริการของโรงพยาบาล

เครือข่ายนี้ได้มีการประชุมและร่วมกันกำหนดตัวชี้วัด ๑๗ ตัวไปแล้ว มีทั้งที่เป็น process indicators และ outcome indicators ซึ่งเมื่อทบทวนและปรับให้ชัดเจนแล้วจะเผยแพร่ว่ามีอะไรบ้าง ได้มีการมอบหมายให้สมาชิกทดลองไปเก็บข้อมูลตามตัวชี้วัดดังกล่าวและเอามานำเสนอในการประชุมครั้งนี้ 

ดิฉันฟังการนำเสนอการเก็บข้อมูลตามตัวชี้วัดของแต่ละหน่วยงานแล้ว พบว่าระบบข้อมูลตามโรงพยาบาลของเรายังมีปัญหา การจะได้มาซึ่งข้อมูลตามตัวชี้วัดแต่ละตัวนั้น ต้องใช้กำลังคน เวลาและความพยายาม (ของคน) ค่อนข้างมาก การจะสร้างระบบข้อมูลแบบสำเร็จรูปก็ดูจะมีปัญหาเช่นกัน เพราะตัวชี้วัดบางตัวก็มีเงื่อนไขเฉพาะอีก

ดิฉันไปร่วมประชุมครั้งนี้ พอจะเข้าใจว่าเครือข่ายพัฒนาเวชปฏิบัติที่ดีทางคลินิก ต้องการทำอะไร และได้เล่าให้ที่ประชุมทราบว่าเครือข่ายของเรามีเป้าหมายและมีกิจกรรมอะไรอยู่บ้าง ดิฉันได้เชิญคุณหมอสมเกียรติมาร่วมตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานครั้งที่ ๒ ด้วย ต่อไปคงหาช่องทางว่าเครือข่ายทั้งสองเครือข่ายนี้ จะเชื่อมหรือประสานงานกันอย่างไรได้บ้าง

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 6131เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2005 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท