ประวัติศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ (๑)


ประวัติศาสตร์มิใช่การท่องจำ

สภาพสังคมที่เราอยู่ในปัจจุบัน เราเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันเเบบสารัตถนิยม ซึ่งเน้นการท่องจำเเล้วไปสอบ ท่องจำเเล้วได้เกรด ๔ หรือท่องจำเเล้วสามารถนำไปเล่าให้ผู้อื่นฟังได้เป็นความรู้ติดตัวไป เเต่ถึงกระนั้นเองการเรียนการสอนประวัติศาสตร์แบบนี้ก็ไม่อาจตอบโจทย์การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ได้เพราะ "เด็กคิดไม่เป็นเพราะเด็กไม่เกิดการตั้งคำถาม"

ขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันก็เป็นขั้นตอนเพื่อท่องจำไปสอบหรือไปเล่าให้ครูฟังว่าตนจำได้ จนกลายเป็นมายาคติว่า "เราต้องท่องจำขั้นตอนทางประวัติศาสตร์" เเต่ทว่าการสอนเเบบนี้นั้น "กลับไม่ใช่ประวัติศาสตร์เสียเลย" เพราะไม่มีการวิพากษ์ การตีความ การตั้งคำถาม หรือการถกประเด็นและเปลี่ยนข้อเรียนรู้ "นี่ต่างหากที่เป็นประวัติศาสตร์" โดยในวิชาท่องจำที่กล่าวมาข้างต้นนั้นอาจมองใหม่ได้โดยให้ชื่อว่า "วิชาท่องจำอดีต"

ประวัติศาสตร์ คือ การศึกษาเพื่อให้เข้าใจอดีตของสังคมมนุษย์ในมิติของกาลเวลา โดยเพื่อความเข้าใจอย่างชัดเเจ้งขอแยกความหมายข้างต้นออกมาเป็นคำๆ ดังนี้

  • การศึกษาอดีตของสังคมมนุษย์ คือ การศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเเล้วเกี่ยวพันกับมนุษย์ สิ่งที่ไม่เกี่ยวกับสังคมมนุษย์เราจะไม่ศึกษา เช่น การเกิดเทือกเขาหิมาลัย
  • สังคมมนุษย์ คือ การศึกษาเรื่องใดๆที่เห็นคนหมู่มาก หรือเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก จะศึกษาประวัติศาสตร์ของบางคนเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เช่น นายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
  • มิติของกาลเวลา คือ ลำดับช่วงเวลาช่วงใดช่วงหนึ่ง หรือ จากช่วงหนึ่งไปถึงช่วงหนึ่ง ซึ่งจะเเตกต่างกันในมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งเเวดล้อม เเละวัฒนธรรม

นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ยังต้องมีการอธิบายว่า "ทำไม เเละ อย่างไร" ซึ่งไม่ใช่การบรรยายเพียงว่า "ใคร ที่ไหน อะไร" เเต่ประวัติศาสตร์ต้องชี้ให้เห็นถึงเหตุเเละผล วิเคราะห์ให้ได้ว่าเหตุเเละผลนั้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นเเล้วจะเป็นอย่างไร ตัวผู้เขียนต้องการบอกอะไร ใช้หลักฐานอะไร เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด นั่นเอง

สิ่งที่สำคัญสำหรับครู ในการสอนประวัติศาสตร์ ขอเขียนไว้ ดังนี้

  • ต้องเอื้อให้เกิดการตั้งคำถามเพื่อวิพากษ์ต่อหลักฐานที่กำลังเรียนอยู่ เช่น เรียนตามหนังสือ ให้เด็กตั้งคำถามว่า ที่หนังสือเขียนแบบนี้เพราะอะไร ใครเขียน คนเขียนนั้นมีอุดมการณ์อย่างไร เกิดช่วงไหน ใช้หลักฐานอะไร จากนั้นให้นักเรียนไปค้นคว้าเพิ่มเติมว่าที่เขาเขียนมานั้นถูกจริงไหม มีหลักฐานหรือเเนวคิดอื่นที่ทัดทานกันหรือไม่ เป็นต้น หรือสอนให้ไม่เชื่อนั่นเอง กล่าวคือนอกจากศึกษาหลักฐานว่าชั้นไหนเเล้ว ยังต้องศึกษาคนเขียนหลักฐานอีกด้วย
  • ประวัติศาสตร์ไม่ใช่การเล่าให้ฟัง เเต่แก่นประวัติศาสตร์ คือ การให้เด็กใช้กระบวนการหรือขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ ซึ่งครูอาจใช้โครงงานเป็นเครื่องมือให้เด็กเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมกัน หรือ ให้เด็กเขียนบทความประวัติศาสตร์รายบุคคลจากหลักฐานชั้นต้นเป็นหลัก ก็ย่อมได้
  • พยายามอย่าให้นักเรียนอยู่ในวงจรความรู้ เเต่ให้เด็กอยู่เหนือมิติของความรู้ นั่นคืออยู่ในมิติของกระบวนการที่ทำให้เกิดทักษะในการเเสวงหาความรู้นั้นๆ "ไม่เชื่อตำราเเต่ก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะสร้างเเนวคิดของตนเองให้แปลกใหม่เเละสร้างสรรค์" (ไม่เชื่อตำรากับหัวเเข็งต่างกัน)
  • การศึกษาประวัติศาสตร์ มีการศึกษาในหลายศาสตร์ เช่น สังคม-วัฒนธรรม นิรุกคติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ชาติพันธ์ ภูมิศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งครูมีบทบาทเป็นโค้ชให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเองในรูปแบบการศึกษาที่สำคัญ เช่น พิพัฒนานิยม ปฏิรูปนิยม สารัตถนิยม เป็นต้น ให้เด็กศึกษาหลายด้าน มองหลายมุม
  • การเรียนการสอนต้องเอาหลักฐานเป็นตัวตั้ง หากไม่มีหลักฐานก็จะกลายเป็นการ "คิดไปเองเสีเปล่าโดยขาดมูลความจริง"
  • กระบวนการสอนต้องเอาคำถามนำเเล้วไปหาหลักฐาน จากนั้นวิพากษ์หลักฐาน เเล้วนำไปตีความ สุดท้ายเสนอผลหรืออาจมีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่ม

บันทึกวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๙
(หลังจากเรียนกับ รศ.ดร.ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ)

หมายเลขบันทึก: 613006เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2016 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2016 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท