ข้อมูลผลสำเร็จการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง


Best Practice

1. สภาพทั่วไปของครัวเรือนที่คัดเลือกมา  
นางฝ้าย รัตนพร อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่1 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ได้ลงทะเบียนปัญหาสังคมและความยากจน ด้าน สย.1 ปัญหาที่ดินทำกิน และ สย.7 ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน มีสมาชิกในครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 5 คน สามารถประกอบอาชีพได้ 3 คน คือ ผู้จดทะเบียนฯ ลูกชาย ลูกสะใภ้ และยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้  2 คน คือ หลานอายุ 7 ปี และ 4 ปี มีอาชีพหลัก คือ รับจ้างทั่วไป อาทิ เช่น ตัดหญ้า เกี่ยวข้าว เก็บพืชผลทั่วไป มีรายได้ทั้งครัวเรือน ประมาณ 7,000 บาท ต่อเดือน มีรายจ่ายต่อเดือน ประมาณ 6,000 บาท ที่อยู่อาศัย เป็นลักษณะเพิงพักที่ทำจากวัสดุไม่ถาวรในท้องถิ่น มีลักษณะชำรุดผุพัง และมีที่ดินทำกินที่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 4 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ทำการเกษตรและติดการจำนองเนื่องจากลูกชายนำไปค้ำประกันกับสถาบันทางการเงิน

2. สภาพปัญหาของครัวเรือนที่ประสบอยู่
- ปัญหาที่อยู่อาศัย บ้านที่อาศัยอยู่เป็นเพิงพักที่มีสภาพทรุดโทรม ชำรุด ผุพัง ทำจากวัสดุไม่ถาวรในท้องถิ่น หลังคาบ้านพังลงมาครึ่งหลัง ทำให้ใช้พื้นที่ได้เพียงครึ่งเดียว เสาบ้านเอียง ไม่แข็งแรง ฝาบ้านมีช่องโหว่ ไม่อาจกันฝนได้ (ตามภาพประกอบที่ 1) และไม่มีเงินที่จะปลูกใหม่หรือซ่อมแซม  
- ปัญหายากจน มีรายได้ไม่พอเพียง เนื่องมาจาก มีผู้สามารถประกอบอาชีพได้ 3 คน คือ ผู้จดทะเบียนฯ  ลูกชายและลูกสะใภ้  ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป อาทิ เช่น ตัดหญ้า เกี่ยวข้าว เก็บพืชผลทั่วไป มีรายได้ที่ไม่มั่นคง ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้าง อีกทั้ง ผู้จดทะเบียนฯ อยู่ในวัยชรา สุขภาพไม่ดี จึงไม่อาจทำงานหนักได้ และลูกชาย และลูกสะใภ้ ไม่มีความรู้ต้องรับจ้างใช้แรงงาน จึงมีรายได้น้อยและไม่แน่นอน

3. แนวคิดการจัดการแก้ไขปัญหา
 การแก้ไขปัญหาของนางฝ้าย รัตนพร ที่ได้ลงทะเบียนไว้คือ ปัญหาที่ดินทำกินไม่เพียงพอและปัญหาที่อยู่อาศัย ในเบื้องต้นจำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริงของสภาพปัญหาและการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหรือชุมชนทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหา โดยใช้หลักการเดียวกัน คือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส

4. วิธีดำเนินการของ ศตจ.อ./กิ่ง อ. ในการแก้ไขปัญหา
- จัดเก็บข้อมูลของผู้ลงทะเบียน โดยออกเยี่ยมครัวเรือนผู้จดทะเบียนฯและสำรวจข้อมูลรายบุคคลเพื่อการตรวจสอบ
(Re – Check)
- วินิจฉัยปัญหาที่แท้จริงของผู้ลงทะเบียนซึ่งข้อเท็จจริงที่พบคือ ปัญหาบ้านเก่าทรุดโทรมผุพังมาก จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ส่วนปัญหาที่ดินทำกิน(มีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ) ที่นางฝ้าย รัตนพร ได้ลงทะเบียนปัญหาสังคมและความยากจนไว้นั้น ตามข้อเท็จจริงจากการสำรวจ พบว่า ผู้จดทะเบียนฯมีที่ดินทำกินที่มีเอกสารสิทธิจำนวน 4 ไร่ แต่ติดการจำนองกับสถาบันทางการเงิน ซึ่งเป็นที่ว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ทางการเกษตรใดๆ ทางฝ่ายปฏิบัติการวิเคระห์/วินิจฉัยจึงมีความเห็นว่า ปัญหาที่แท้จริงของครัวเรือนนี้จึงเป็นปัญหามีรายได้ไม่เพียงพอไม่ใช่ปัญหาที่ดินทำกินจึงควรส่งเสริมอาชีพโดยใช้ที่ดินทำกินที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ และให้เกิดรายได้หรือลดรายจ่ายของครอบครัว
- ประสานขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คือ
       : ปัญหาที่อยู่อาศัย ได้ประสานขอความช่วยเหลือจากเหล่ากาชาดจังหวัดพัทลุง เพื่อของบ
ประมาณในการจัดสร้างบ้านที่ได้รับงบประมาณจากเหล่ากาชาด 35,000 บาท 
                     : ปัญหาการส่งเสริมอาชีพ ได้ประสานการแก้ปัญหาระหว่าง ศตจ.อ.ตะโหมด พัฒนาการอำเภอ เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้ครัวเรือน ได้ผลสรุปร่วมกัน คือ การเลี้ยงไก่ เนื่องจาก สามารถเพิ่มรายได้จากการขายไก่ ลดรายจ่ายจากการใช้บริโภคไก่และไข่ในครัวเรือน อีกทั้ง เห็นผลเร็วกว่าการทำการเกษตรไม้ยืนต้น ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนต่อไปในการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน
- ดำเนินการแก้ไขปัญหา
       : ปัญหาที่อยู่อาศัย ได้มอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้านท้องที่  เป็นแกนนำในการก่อสร้างซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมและวัสดุอุปกรณ์จากผู้นำและราษฎรในพื้นที่ได้ดำเนินการก่อสร้าง รวมงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณ 65,000 บาท 
                      :  การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ โดยใช้งบประมาณของ ศตจ.อ.ตะโหมด เป็นเงิน 8,900 บาท ในการจัดสร้างโรงเลี้ยง สนับสนุนพ่อพันธ์–แม่พันธ์ไก่ จำนวน 20 ตัว พร้อมอาหาร

5. ปัญหาอุปสรรคและการแก้ไขปัญหาที่ตามมา
ภายหลังจากการสร้างที่อยู่อาศัยและส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ปรากฎว่าบ้านดังกล่าวไม่มีไฟฟ้าใช้และขาดวัสดุอุปกรณ์จำเป็นในบ้าน จึงได้ประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.ตะโหมด ขอสนับสนุนไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และจัดพิธีขึ้นบ้านใหม่เพื่อขอสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์จำเป็นในบ้าน ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนด้วยดี 

6. สัมฤทธิผลที่ถือว่าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ที่เกิดขึ้นแก่ครัวเรือน
- บ้านกาชาดเอื้ออาทร ที่สร้างจากงบประมาณสนับสนุนของเหล่ากาชาดจังหวัดพัทลุง สนับสนุนวัสดุก่อสร้าง โดย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแรงงานจากราษฎรในหมู่บ้าน ทำให้ได้บ้านใหม่ 1 ชั้น สร้างด้วยอิฐบล็อก หลังคากระเบื้อง ที่แข็งแรง คงทน ประกอบด้วย 1ห้องนอน 1 ห้องน้ำ(ตามภาพประกอบที่ 2) และมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ และยังได้รับข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆภายในบ้านจากหน่วยราชการต่างๆและชาวบ้านในละแวกนั้น
- สร้างอาชีพเสริมโดยสนับสนุนการเลี้ยงไก่ ประมาณ 20 ตัว พร้อมโรงเลี้ยง เพื่อใช้บริโภคไก่และไข่ภายในครัวเรือน และส่งไก่ขาย ทำให้มีรายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการรับจ้างทั่วไปเพียงอย่างเดียว (ตามภาพประกอบที่ 3)

7.สรุปบทเรียนที่ได้
             -  ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของคนจนสำเร็จ คือ การร่วมมือกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น เหล่ากาชาดจังหวัดพัทลุง ส่วนราชการในอำเภอตะโหมด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรในชุมชน ที่สนับสนุนด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ แรงงาน ตลอดจนถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆในครัวเรือน
             -   ปัจจัยในการแก้ไขปัญหารายได้ไม่พอเพียงประสบความสำเร็จ คือ การประสานงานกันระหว่าง ศตจ.อ.ตะโหมด พัฒนาการอำเภอ เกษตรอำเภอ และปศุสัตว์อำเภอ อย่างจริงจัง เพื่อที่จะส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพของครัวเรือน และติดตามผลการประกอบอาชีพ คือ การเลี้ยงไก่ อยู่เป็นระยะ 
              - ปัจจัยที่สำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน คือ ความมุ่งมั่น ตั้งใจในการแก้ปัญหาความยากจนของผู้จดทะเบียนฯและครัวเรือนอย่างจริงจัง โดยให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานราชการในการให้ข้อเท็จจริง และพัฒนาศักยภาพของตนเองและครัวเรือนตามคำแนะนำของหน่วยราชการที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเคร่งครัด อีกทั้งการให้ความร่วมมือกับกลุ่ม องค์กรต่างๆในชุมชนเป็นประจำ ทำให้ได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนและก่อให้เกิดการพัฒนาระดับกลุ่ม/องค์กรขึ้น
 

คำสำคัญ (Tags): #kmclass
หมายเลขบันทึก: 61252เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2006 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท