(132) เรื่องราวเล่าอดีต .. การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์


.. ศูนย์รวมผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง​ไร้ญาติ ที่ไม่มีโอกาสกลับบ้าน เพราะไม่มีบ้านให้กลับ ผู้ป่วยบางรายเป็นรุ่นบุกเบิก ถูกส่งขึ้นรถไฟมาจาก 'หลังคาแดง' หรือโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเชียวค่ะ

ดิฉันขอเรียกบันทึกนี้ว่า การจัดการความรู้กับการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (ตอนที่ 1)

ต้นเหตุ ของเรื่องราวการเล่าอดีต

ณ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี

ช่วงบ่ายวันที่ 11 ส.ค.59 คณะกรรมการ Care Team โรคสมองเสื่อม (CT โรคสมองเสื่อม) มีแผนจะไปตามรอย (Clinical Tracer) ระบบการดูแลผู้ป่วย ณ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชเรื้อรัง ประธานของทีมนี้ คือ ผู้ช่วยกลุ่มภารกิจบริการทางการพยาบาลท่านหนึ่ง ท่านชวนดิฉันไปสังเกตการณ์ด้วย โดยคาดหวังว่า “เธอตามฉันไปได้ไหม ฉันอยากให้ช่วยจับประเด็น KM ให้หน่อย” ดิฉันตอบรับแต่ตามด้วยเงื่อนไขเช่นเคยว่า “ยินดี แต่กำหนดขอบเขตไม่ได้นะ” ท่านก็ยอมรับเงื่อนไขแต่โดยดีเช่นกัน

มื่อคนมีอดีต.. มาพบกัน

ช่วงบ่ายวันนั้น ดิฉันจึงไปที่กลุ่มงานฯ ตามนัด ตรงเวลา แต่ต้องนั่งรอทีมนานถึง 30 นาที เผอิญดิฉันเคยปฏิบัติงานที่นี่มาก่อน (นานกว่า 10 ปีแล้ว เมื่อพิมพ์คำว่า 'ประวัติศาสตร์การฟื้นฟูสมรรถภาพ' ให้รู้สึกว่าตนเองเป็นไดโนเสาร์ ไม่เอาดีกว่า .. ฮา) เวลาครึ่งชั่วโมงนี้ จึงเป็นโอกาสให้ดิฉัน 'ทำซ้ำความสัมพันธ์' กับน้องๆ พยาบาลที่นี่ ซึ่งก็มีทั้ง ‘คนใหม่’ ‘คนเก่า’ และ ‘คนเก่าที่เข้ามาใหม่’ ถ้าท่านติดตามบันทึกของดิฉันจะทราบว่า ‘ที่นี่ พระศรีมหาโพธิ์’ วัฒนธรรมองค์กรเรามีเอกลักษณ์ ขยันสับเปลี่ยนอัตรากำลัง (บางส่วน) ทุกปีค่ะ

อดีต.. ของผู้ป่วยเรื้อรังไร้ญาติ

อดีต ที่นี่เป็นหอผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังชาย ศูนย์รวมผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังไร้ญาติ ที่ไม่มีโอกาสกลับบ้าน เพราะไม่มีบ้านให้กลับ ผู้ป่วยบางรายเป็นรุ่นบุกเบิก ถูกส่งขึ้นรถไฟมาจาก 'หลังคาแดง' หรือโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเชียวค่ะ

เริ่มด้วยการวิจัยสำรวจจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง 'ตกค้าง' หรืออยู่ในโรงพยาบาลนานเกิน 3 ปี

ขณะนั้น นอกจากหอผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังชายแล้ว ยังมีผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังชายแทรกปะปนอยู่ในหอผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ดิฉันและทีมงานริเริ่มทำวิจัยสำรวจจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังทั้งหมดในโรงพยาบาล ทั้งหญิงและชาย โดยจำแนกตามระดับทักษะการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง แล้วจัดทำเป็นข้อเสนอด้านนโยบายแก่ผู้บริหาร ดิฉันเริ่มเห็นพลังในตนเอง เพราะเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริหาร (ฮา)

เปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพหนองบัว .. ชุนจำลอง บ้านหลังที่ 2 ของผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน

ผู้บริหารในสมัยนั้นท่านขานรับ เปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชให้ในปีถัดมา โดยใช้พื้นที่ด้านหลังโรงพยาบาลเป็นศูนย์ฯ จัดบุคลากรให้ แล้วดึงผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังทั้งชายและหญิงออกไปกินอยู่หลับนอนร่วมกันในลักษณะชุมชนกึ่งวิถี ฝึกทักษะที่สำคัญ 6 ด้าน ในภาพรวมที่นี่เป็น 'ชุมชนจำลอง' เรียกว่า 'ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพหนองบัว' ฝึกทักษะการดูแลตนเอง ฝึกการปรับตัวให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ ผู้ป่วยมีทักษะด้านต่างๆ ดีขึ้นจนออกไปรับจ้างทำงานในชุมชน มีรายได้ของตนเองเป็นครั้งแรก และส่งไปอยู่กับ 'ญาติอุปถัมภ์' ได้อีกหลายราย

งานประจำ - งานวิชาการ เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

ช่วงนี้ดิฉันสนุกกับงานมาก เราพัฒนางานจนได้งานวิจัยแบบ Quasi และ R&D อย่างละ 1 เรื่อง ดิฉันพอมีความรู้พื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง เราจึงเก็บข้อมูลการพัฒนาทั้งหมด ทั้งข้อมูลเริ่มต้น ข้อมูลการประเมินทักษะต่างๆ ทุก 8 สัปดาห์ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด รวมทั้งประวัติการฝึกต่างๆ ในเชิงคุณภาพไว้ในรูปแบบ 'ฐานข้อมูล' ผลิตงานวิชาการเรื่องการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังได้อีก 1 เรื่อง

มีน้ำขึ้น - น้ำลง

และแล้วนโยบายก็เปลี่ยนไป มีนโยบายปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพหนองบัว โดยส่วนตัวแล้วดิฉันไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง รู้สึกน้อยใจมาก ดิฉันถ่ายทอดความรู้สึกนี้ผ่านงานวิจัยแบบ Quasi แสดงการลดระดับทักษะฯ ของผู้ป้วยลงอย่างรวดเร็ว จากทักษะที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ ในระยะ 4-5 ปี ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทันตาเห็นในเวลาเพียงไม่กี่เดือน แล้วดิฉันก็ถูกสับเปลี่ยนไปอยู่หน่วยงานอื่นในโรงพยาบาล

ต่อมามีการปรับเปลี่ยนอีกเป็นระยะ ปัจจุบันเป็นกลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชเรื้อรัง ดิฉันถูกส่งมาอยู่ที่นี่ 1 ปี ก่อนสับเปลี่ยนออกไปอีก ระยะเวลา 1 ปีนี้ไม่มากพอจะพัฒนางานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะผู้ป่วยเสื่อมลงมากทั้งหายและใจ เรียกว่าแก่หง่อมไปพร้อมกันกับพยาบาลค่ะ (ฮา) อย่างน้อยผลงานการพัฒนาที่ต่อเนื่องกัน 7 เรื่องในระยะเวลา 5 ปี ก็เป็นความทรงจำดีๆ ที่หล่อเลี้ยงจิตใจดิฉันให้มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าได้

ขออภัยที่ต้องให้ข้อมูลส่วนนี้ เพราะจะนำไปวิเคราะห์เชื่อมโยงกับ ความต้องการ 'การหล่อเลี้ยงด้านจิตใจ' ในผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ในตอนต่อไปค่ะ

การจัดการความรู้กับการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (ตอนที่ 2) ดิฉันจะเล่าเรื่องการ AAR ทีมตามรอย (Clinical Tracer) นะคะ


หมายเลขบันทึก: 612263เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2016 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2016 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีในวันหยุดจ้ะคุณดารณี


ยังติดตามด้วยกำลังใจเสมอนะครับพี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท