(131) รถพุ่มพวง .. พ่วงรัก (ตอนที่ 2)


พี่รู้สึกดีนะ รู้สึกดีที่ได้รู้จักกับพยาบาลคนหนึ่งที่มีจิตใจดีงาม คำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยด้วยหัวใจ .. เธอรับรู้ความรู้สึกของญาติได้ด้วยหัวใจเชียวนะ .. คนมีใจให้ ทำอะไรก็ดี

ตอนที่ 2 นี้ดิฉันจะเขียนเรื่องราวของ ‘ความรัก’ ที่พ่วงมากับรถพุ่มพวงนะคะ

ขอขยายความเรื่อง 'รถพุ่มพวง' อีกเล็กน้อย คณะกรรมการจัดการความรู้ที่ให้บริการกับรถพุ่มพวง มีบทบาทรับฟัง ชื่นชม ให้คำปรึกษา ช่วยนำเรื่องราวจากที่หนึ่งไปแลกเปลี่ยนกับอีกที่หนึ่ง รวมทั้งสาธิตวิธีการใช้เครื่องมือ (KM Tool) ตามความเหมาะสม

ในภาพรวมรวม ในรถพุ่มพวงมีเอกสารสี่สี แทปเล็ต เนื้อหา KM Tool หลายชนิดสำหรับเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ไป 'จับภาพ' ความสำเร็จเล็กๆ (TK) นำไปจัดทำเป็นสื่อ (EK) ส่งคืนเจ้าของผลงาน 1 ชุด ใส่รถพุ่มพวงไปอวดที่อื่น 1 ชุด (สาธิตกระบวนการ SECI และคลังความรู้)

ความตอนที่แล้ว คุณสุทธยา หัวหน้าหน่วยรับใหม่-ส่งต่อ เปรยกับดิฉันว่า

“พี่.. หนูมีเรื่องอยากทำ หลายเรื่อง ไม่รู้มันจะเป็น KM ไหม”

แล้วดิฉันให้ความมั่นใจเธอว่า “ใช่ ใช่ซิ ทุกอย่างในโลกนี้เป็น KM หมดนั่นละถ้านำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน พี่จะมาหา แล้วเราค่อยคุยกันนะ” ก่อนจะเดินรถต่อ

วันนี้.. ก่อนที่ดิฉันจะพักร้อนตลอดสัปดาห์หน้า ดิฉันมาหาเธอตามสัญญา ดูเธอดีใจมาก เธอเล่าเรื่องที่อัดอั้นตันใจมานานได้ทันที โดยไม่ต้องอารัมภบทใดๆ .. เรื่องราวพอสรุปได้ว่า

เหตุเกิดขึ้นเมื่อเมษายน 2558 มีพ่อ-ลูกชาย ชาวต่างชาติสื่อสารได้เฉพาะภาษาอังกฤษ มารับการรักษา แพทย์รับไว้รักษาแบบผู้ป่วยใน พ่อ-ลูกคู่นี้จึงถูกส่งมาหน่วยรับใหม่-ส่งต่อ

ที่ผ่านมาการรับผู้ป่วยชาวต่างชาติไว้รักษาไม่มีปัญหาใดๆ เพราะจะมีญาติคนไทยมาด้วยอย่างน้อยก็สักคนหนึ่งทุกครั้ง และหน่วยรับใหม่-ส่งต่อก็มีน้องพยาบาลวิชาชีพชื่อ วิลาสินี กำลังมาก เคยเรียนภาคอินเตอร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนเรียนพยาบาล เธอสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีทีเดียว แต่มีปัญหาว่าเมื่อใช้เวลาสื่อสารมากขึ้น ผู้ป่วยก็จะเริ่มมีอาการมากขึ้น ยิ่งถ้ารู้ตัวว่าต้องนอนในโรงพยาบาลด้วยก็จะยิ่ง ‘ออกอาการ’ มากขึ้น (เพราะที่นี่ .. พระศรีมหาโพธิ์)

กรณีพ่อ-ลูกคู่นี้ ขณะให้ข้อมูลเพื่อลงนามยินยอมรับการรักษา ลูกชายมีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งและดื้อมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มควบคุมตัวเองไม่ได้ และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยอื่นๆ ในบริเวณนั้นที่พร้อมจะ ‘ขึ้น’ ได้ทุกเมื่อ พยาบาลประเมินว่าจำเป็นต้องจำกัดพฤติกรรมด้วยการผูกมัดไว้ชั่วคราว

“หนูโชคดีที่มีน้องวิลาสินี เขาสื่อสารได้เราต้องจำกัดพฤติกรรม ญาติเขาก็โอเคนะคะ” “เราผูกมัดเขาได้ แต่เด็กของเราที่สื่อสารก็ขำตัวเองมีหัวเราะบ้าง” “เขา (พ่อชาวต่างชาติ) มองเรา.. ก็เขาเป็นห่วงไง” “คำพูดหนึ่งที่หนูไม่ลืมเลย เขาบอกว่า He’s my life”

เสียงคุณสุทธยาเริ่มเบาลงและสั่นเครือ ดิฉันจึงลดการสื่อสารด้วยคำพูดลง บอกให้เธอเขียนคำนั้นลงในกระดาษเพื่อตรวจสอบว่าได้ยินถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้แปลความผิด (เมื่อสาวไทยสองคนสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยกัน ก็ยังต้องตรวจสอบความถูกต้องด้วยเช่นกัน ฮา..)

“เราลืมคิดไปว่านอกจากภาษาพูดแล้วเรายังสื่อเป็นภาษากายอีก โดยเฉพาะคนที่เขาต้องใช้ภาษากายกับเรามากๆ” “ไม่ใช่สื่อสารด้วยภาษาพูดอย่างเดียว ต้องสื่อภาษากายด้วย มันไปกระทบความรู้สึกเขา” “เรื่องภาษากาย ที่เราสัมผัสได้ เขาก็สัมผัสได้ เราต้องพัฒนา ..”

ถึงตรงนี้ดิฉันเริ่มรู้สึกเป็นห่วงความรู้สึกของเธอ จึงถามว่าเธอตีความคำพูดของพ่อชาวต่างชาติคนนั้นว่าอย่างไร เธอตอบแบบแปลคำต่อคำว่า

“คนนี้คือชีวิตเราเลยนะ” โดยเน้นว่าประโยคที่พ่อชาวต่างชาติพูดนั้นกลั่นออกมาจากใจ ‘เขา’ รู้ว่า ‘เรา’ ประสงค์ดีกับลูกชายเขา ‘เขา’ อยากให้ ‘เรา’ สร้างความมั่นใจแก่ ‘เขา’ ว่า ‘เรา’ จะดูแลลูกชายเขาอย่างดี แม้ในเวลาที่ลูกไม่ได้อยู่ในสายตา ‘เขา’

สรุปเรื่องราวโดยสรุปของวันนั้นนะคะ

.. ช่วงแรกลูกชายชาวต่างชาติไม่ยอมรับการรักษา จะกลับบ้านท่าเดียว ส่วนพ่อก็คิดว่าทำไมทำกับลูกชายเขาอย่างนี้ เมื่อสื่อสารให้พ่อเข้าใจเขาก็สื่อสารกับลูกชายให้ได้ เรื่องราวที่เล่ามาน่าเห็นใจนะคะ แต่ดิฉันกลับบอกคุณสุทธยาว่าดิฉัน ‘รู้สึกดี’

“พี่รู้สึกดีนะ รู้สึกดีที่ได้รู้จักกับพยาบาลคนหนึ่งที่มีจิตใจดีงาม คำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยด้วยหัวใจ .. เธอรับรู้ความรู้สึกของญาติได้ด้วยหัวใจเชียวนะ” “คนมีใจให้ ทำอะไรก็ดี”

ดิฉันยืนยันได้ เพราะตอนนี้เธอวางแผนต่อยอด ลดระยะเวลาการลงนามยินยอมรับการรักษาสำหรับชาวต่างชาติที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษลง โดย ‘พัฒนาแบบฟอร์มยินยอมรักษาในโรงพยาบาล ภาคภาษาอังกฤษ’ และเธอก็เริ่มวางแผนแล้วด้วย ..

ซวดๆ ให้เธอหน่อยนะคะ

ขอบคุณค่ะ



หมายเลขบันทึก: 612202เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2016 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2016 00:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท