แนะนำหนังสือ ทฤษฎีคติชนและวิธีการศึกษา


ทฤษฎีคติชนและวิธีการศึกษา

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (26/7/2559)


ตำราเรียน ทฤษฎีคติชนและวิธีการศึกษา folklore theory and techniques โดย รศ. เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ (อาจารย์ผู้สอนวิชาคติชนวิทยาแก่ผม) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง 427 หน้า ราคา 265 บาท คือตำราหม้อใหญ่ที่ผมใช้อ่านเอาเรียน อ่านเอาเล่น อ่านเอาอ้างอิง เป็นการเรียบเรียงเกี่ยวกับองค์ความรู้ทางคติชนวิทยา ประกอบด้วย

‪#‎ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับคติชนวิทยา‬ กล่าวถึงความเป็นมาของคติชนวิทยา ความหมายของวัฒนธรรม จุดเริ่มต้นของศาสตร์ การศึกษาและการเคลื่อนไหวทางคติชนในประเทศไทย

‪#‎ความหมายของคติชน‬ กล่าวถึง ความหมายของคำว่า folklore

‪#‎พัฒนาการของความหมายของคติชน‬ กล่าวถึงการขยายตัวของความหมายของคติชนวิทยาในภาวะแวดล้อม จาก ค.ศ. 1846 - 1970 โดยนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง

‪#‎การจำแนกประเภทของข้อมูลคติชน‬ กล่าวถึงคุณสมบัติ การจำแนกประเภทของข้อมูล ขอบข่าย การแพร่กระจาย ผู้สืบทอดและผู้ถ่ายทอดประเพณีปรัมปรา

‪#‎วรรณกรรมมุขปาฐะ‬ กล่าวถึงเรื่องเล่า ตำนาน เพลงพื้นบ้าน สุภาษิต ปริศนา ภาษาและวิธีการศึกษา

‪#‎วัฒนธรมวัตถุ‬ กล่าวถึงความหมายและการศึกษาวัฒนธรรมวัตถุประเภทต่าง ๆ

‪#‎ประเพณีสังคมพื้นบ้าน‬ กล่าวถึงความหมาย พิธีกรรมแห่งชีวิตปัจเจกบุคคล พิธีผ่านภาวะ ความเชื่อ

‪#‎ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน‬ กล่าวถึงการละเล่น ขนบธรรมเนียม ประเพณี เทศกาลเฉลิมฉลอง การร่ายรำ การละครพื้นบ้าน ดนตรี

‪#‎การรวบรวมข้อมูลคติชน‬ กล่าวถึงโลกของประเพณีปรัมปรา ศิลปะแห่งคติชน การปฎิบัติงานภาคสนาม

‪#‎ทฤษฎีทางด้านคติชนวิทยา‬ กล่าวถึงหลักเกณฑ์ทั่วไปในการศึกษาข้อมูลคติชน ทฤษฎีสำคัญทางคติชนวิทยาและนักวิชาการในอดีตถึงปัจจุบัน แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลทางคติชนวิทยา 13 แนวทาง

‪#‎การศึกษาข้อมูลคติชน‬ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคติชนกับศาสตร์อื่น บทบาทหน้าที่ของคติชน ตัวอย่างการศึกษาข้อมูลคติชน

สำหรับผมแล้วออกจะอ่านยากไปสักนิดเพราะเป็นตำราเรียน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องแนวคิด วิธีการ และทฤษฎีจากนักวิชาการด้านคติชนวิทยาและที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงอาจไม่เหมาะจะอ่านเล่นนัก และเหมาะกับผู้มีพื้นความรู้ในวิชานี้มาบ้าง ดังนั้นกว่าผมจะอ่านจบจึงใช้เวลานับปีเลยทีเดียว

ข้อดีของตำราเล่มนี้คือการรวบรวมแนวคิดทฤษฎีของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเอาไว้มากมายและหลายแนวทาง รวมถึงตัวอย่างต่าง ๆ ผู้สนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งสามารถเลือกนำไปใช้เป็นแนวทางในการศึกษา อ่านเพิ่มเติม หรือค้นคว้าตำราฝรั่งเพิ่มเติมได้อีกตามรายชื่อหนังสือในบรรณานุกรม

เนื่องจากเป็นตำราเรียน ผมจึงไม่อาจกล้าวถึงข้อดีข้อเสียขอตำราเล่มนี้ไปได้มากกว่าเป็นการแนะนำให้ท่านอ่านแล้วพิจารณาเอง เพราะผมเป็นแค่ผู้เริ่มศึกษา หามีความรู้ด้านนี้ไม่ ถึงอย่างไรตำราเล่มนี้ถือเป็นหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ชอบวิชาคติชนวิทยา ซึ่งตำราเรียนในประเทศไทยมีน้อยเหลือเกิน ที่มีก็ราคาแพงเหลือเกิน

นอกจากนี้ยังมีการใช้ขนาดตัวอักษรที่ไม่เล็กจนเกินไป มีพื้นที่สำหรับจดบันทึกเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นความตั่งใจของสำนักพิมพ์เพื่อให้นักศึกษาได้ขีดเขียนลง ใช้ปากกาไฮไลท์ก็ได้ไม่ทะลุเพราะเป็นกระดาษหนา แต่ข้อเสียคือการเข้าเล่มที่เป็นสันกาวหลุดง่าย เวลาเปิดต้องระวัง

ผมเป็นนักศึกษาคติชนวิทยา รักในวิชานี้ รักในครูบาอาจารย์ผู้เขียนตำราทุกท่าน ทุกเล่ม ทุกสถาบัน รักและเคารพครูอาจารย์ผู้อบรมสั่งสอนทุกท่าน รวมถึงนักคติชนวิทยาทั่วประเทศ รวมถึงบทความทุกชิ้นที่ผมอ่านถือเป็นอาจารย์ของผมด้วย

ขออนุญาตนำข้อความในสามย่อหน้าสุดท้ายของตำราเล่มนี้มากล่าวทิ้งท้ายไว้ในบทความนี้ครับ

"คติชนวิทยาเป็นเรื่องที่น่ารู้ น่าสนใจ จูงใจให้ศึกษา เพราะเป็นเรื่องที่แสดงถึงความซับซ้อนและความหลากหลายของจิตใจมนุษย์...เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของวัฒนธรรมมนุษย์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยดั่งเดิมและหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน...เป็นไปได้ว่า วิทยาการทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ จะเกี่ยวข้องกับหลักฐานและข้อมูลของติชนทั้งสิ้น" (หน้า 420)

หมายเลขบันทึก: 611263เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นดอกไม้ที่งดงามแห่งหมู่มวลวิถีคติชนวิทยาที่ควรเด็ดดมยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท