มุกตลกเรื่องเพศ ทางออกด้านมืดทางเพศ


มุกตลกเรื่องเพศ ทางออกด้านมืดทางเพศ

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (23/7/2559)



#บทความ

มุกตลกเรื่องเพศ ทางออกด้านมืดทางเพศ

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (23/7/2559)

ราวบ่ายโมง เสียเอะอะโวยวายทำให้ทิดอ่ำต้องออกมายืนหน้าบ้านในสภาพนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว เห็นคนกลุ่มใหญ่กำลังวุ่นวายในบ้านฝั่งตรงข้ามจึงตะโกนถามว่า

"มีอะไรกันหรอวะ"

"ทิดดำนะสิ" ชาวบ้านคนหนึ่งตอบกลับ "มันโดยฟ้าผ่า"

"กลางวันแสก ๆ แดดเปรี้ยง ๆ ทำไมโดนฟ้าผ่าได้วะ" ทิดอ่ำถาม

"มันสัปดนนะสิวะ ดันล่อเมียตอนกลางวันฟ้าเลยผ่าตาย"

ทันใดนั้น เมียทิศอ่ำรีบวิ่งออกมาหน้าบ้านสภาพนุ่งผ้าถุงผืนเดียว แล้วบอกทิดอ่ำว่า

"ไอ้อ่ำ เองรีบ ๆ เข้ามาในบ้าน เดี๋ยวฟ้าก็ผ่าตายห่าไปอีกคนหรอก"

มุกตลกเรื่องเพศเป็นที่นิยมในทุกยุคทุกสมัย ทุกเพศทุกวัย และทุกสังคม เรื่องที่ผมเล่านั้นได้ยินมาจากตลกคณะโน๊ต เชิญยิ้มเมื่อนามมาแล้วกว่ายี่สิบปีในสมัยที่วีดีโอตลกกำลังครองเมือง ซึ่งยังจำไม่เคยลืม

ตัวผมเองอยู่ในสังคมนักดื่ม ซึ่งก็รู้กันดีอยู่แล้วว่ามุกตลกสัปดนเรื่องเพศจะมีอยู่ในทุกวงเหล้า (วงเล่า) เช่นกัน และทุกครั้งที่มีใครคนใดคนหนึ่งเริ่มเล่ามุกตลกทางเพศก็จะมีคนอื่นเล่าเรื่องใหม่ต่อไปอีก เรียกได้ว่าแย่งกันเล่าเลยกว่าได้ เป็นอันหัวเราะสนุกสนานแกล้มเหล้าได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสร้างบรรยากาศอันดีได้อีกด้วย นี่คือหนึ่งในประโยชน์ของเรื่องเล่ามุกตลกทางเพศที่เห็นได้ชัด

เกอร์ชอน เลกแมน นักจิตวิทยาผู้สนใจทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมัน ฟรอยด์ อธิบายถึงสาเหตุของคนที่ชอบเล่ามุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศว่า เป็นคนที่มีความกังวล มีความกลัวเกี่ยวกับเรื่องทางเพศแฝงไว้ภายใต้จิตสำนึก เช่นเรื่องของขนาดอวัยวะเพศ การไม่เพียงพอทางเพศ ขาดการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงพวกที่มีความเก็บกดความรู้สึกทางเพศที่ถูกสั่งสอนมาว่าเรื่องเพศนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม เช่นเด็ก คนที่อยู่ในครอบครัว "ผู้ดี" คนที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานอันเป็นที่นับหน้าถือตา คนชราบางคน รวมถึงคนที่อยากรู้อยากเห็น อยากลอง เป็นต้น

คนเหล่านี้จึงมีวิธีการหลีกหนีและระบายความเก็บกด ระบายความตึงเครียดทางเพศออกมาในรูปแบบของเรื่องเล่ามุกตลกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ แทนที่จะพูดเรื่องเพศแบบตรง ๆ ก็ผูกเรื่องให้บิดเป็นเรื่องตลกขำขันเสียเลย นับว่าเป็นการระบายออกได้อย่างมีศิลปะ ขจัดความกังวลเรื่องเพศให้กับผู้เล่าได้ในระดับหนึ่งทีเดียว แต่ในที่นี้ไม่แน่ใจว่าจะรวมถึงผู้ที่ชอบฟังมุกตลกเรื่องเพศด้วยหรือไม่ว่าจะมีความเก็บกดทางเพศหรือไม่ สำหรับผมนั้นไม่อาจวิเคราะห์ได้เพราะความรู้น้อย แต่ที่รู้ ๆ เรื่องเล่าสัปดนมันขำจริง ๆ นะ

นอกจากเรื่องเล่ามุกตลกแล้ว ฟรอยด์นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังยังวิเคราะห์นิทานปรัมปราและเทพนิยายหลายเรื่องว่าเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับเพศอีกด้วย (พี่แกโยงเกือบทุกอย่างเข้าเรื่องเพศไปซะหมด ขนาดงานศิลปะ พี่แกยังบอกว่าเป็นการระบายออกทางเพศเลย) ฟรอยด์ศึกษานิทานปรัมปราของกรีกเรื่องพระเจ้าอิดิพัส เขากล่าวว่าเป็นตัวแทนของนิทานที่สะท้อนความปรารถนาทางเพศของเด็กกำลังโตที่ถูกเก็บกดได้เป็นอย่างดี

เขาอธิบายว่า เด็กชายจะรักมารดาแบบชู้สาว และปรารถนาให้บิดาตายไปเพื่อที่จะได้รักบิดาเพียงผู้เดียว เขาเรียกจิตใต้สำนึกนี้ว่า "ปมอิดิพัส" (Oedipus complex) และในทางตรงกันข้าม เด็กหญิงจะรักบิดาและต้องการให้บิดาตายจากไปเช่นกัน เรียกจิตใต้สำนึกนี้ว่า "ปมลิเล็คตร้า" (Electra complex) ซึ่งความรู้สึกของเด็กชายและเด็กหญิงที่กล่าวมานั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ เลยถูกเก็บไว้ในจิตใต้สำนึกนั่นเอง

นักจิตวิเคราะห์อย่าง อีริค ฟรอม์ ชาวเยอรมันตีความสัญลักษณ์ทางเพศที่ปรากฎในเรื่องเล่าไว้อย่างมากมาย เช่น กิ่งไม้ ต้นไม้ ร่ม มีด ดินสอ ค้อน เครื่องบิน คือสัญลักษณ์ที่แทนค่าด้วยเพศชาย และสัญลักษณ์ที่แทนค่าเพศหญิงเช่น หุบเหว ถ้ำ ขวด หีบ ประตู กล่องใส่เครื่องประดับ สวนดอกไม้ อีกทั้งยังวิเคระห์เรื่องเล่าหรือความฝันที่เกิดขึ้นเช่น การเต้นรำ การขี่ม้า การปีนเขา หรือการเหาะคือความสุขทางเพศ การที่ผมร่วง คือสัญลักษณ์ของความกลัวเป็นหมันหรือสูญเสียอวัยวะเพศ

ผมไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วเรา ๆ ท่าน ๆ จะมีปมอย่างที่ฟรอยด์กล่าวไว้หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ เรื่องเล่าหรือนิทานมุกตลกที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ จะเล่าหรือฟังกี่ครั้งก็ยังขำท้องคับท้องแข็ง ขนาดเรื่องเดียวกัน หรือโครงเรื่องคล้ายกัน แม้จะเปลี่ยนคนเล่า เปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนเวลา หรือ"เปลี่ยนเหล้า" ก็ยังขำอยู่ดี หรือเพื่อน ๆ ว่าไม่จริง

เรื่องเพศแฝงอยู่ในคติชนหลายรูปแบบเช่น งานจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์และโดยเฉพาะสิมอีสาน จะมีภาพเกี่ยวกับพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์แฝงอยู่จำนวนมาก งานเทศกาลเกี่ยวกับศาสนาก็มีเช่นงานแห่ผีตาโขน หรือเกี่ยวกับเทวดาประจำท้องถิ่นเช่นงานแห่นางแมวขอฝน ก็มีสัญลักษณ์ทางเพศมากมายเพราะเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ แม้แต่ในการแสดงของชาวบ้านเช่น ลิเก หมอลำ ลำตัด เพลงเรือ เพลงฉ่อย หนังตลุง ฯลฯ ก็มีเรื่องเพศสัปดนสอดแทรกอย่างสนุกสนาน

ที่ผมชอบมากคือเรื่องสัปดนในงานวรรณกรรม เรื่องที่ไม่สามารถเล่าข้ามในบทความนี้ไปได้เลยคือ "สรรพลี้หวน" วรรณกรรมท้องถิ่นของภาคใต้ แค่อ่านตอนต้นก็มันแล้ว

"นครรังยังมีเท่าผีแหน

กว้างยาวแสนหนึ่งคืบสืบยศถา

เมืองห้างกวีรีหับระยับตา

พันหญ้าคาปูรากเป็นฉากบัง

สูงพอดีหยีหิบพอหยิบติด

ทองอังกฤษสลับสีด้วยหนีหัง

กำแพงมีรีหายไว้ขอดัง

เจ้าจอมวังพระราโชท้าวโคตวย"

ที่มีเยอะเช่นนี้อาจเป็นเพราะเป็นกลไกลในการปลดปล่อยความเก็บกดทางเพศอย่างที่นักวิชาการฝรั่งว่าไว้ก็เป็นได้ แต่ที่แน่ ๆ ทั้งคนเล่า (ถ่ายทอด) คนฟังหรือชม (ผู้รับ) ต่างก็สนุกสนาน มีความสุข มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะด้วยกันทั้งสองฝ่ายไม่มากก็น้อย และปฎิเสธไม่ได้ว่ามันอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน อย่ารังเกียจ อย่าปฎิเสธ อย่าปิด อย่าห้ามแบบผิด ๆ เลย เป็นการสร้างความเก็บกดมากขึ้นไปอีก เพียงแต่ใช้ให้ถูกที่ถูกทางถูกเวลาก็พอ

สุดท้ายนี้ ผมอยากส่งท้ายว่า "สัปดนวันละนิดจิตแจ่มใสนะจ๊ะ"

#หนังสือประกอบการเขียน

เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. (2543). ทฤษฎีคติชนและวิธีการศึกษา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

________. (2546). คติชนกับศาสนา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

#ภาพประกอบจาก pinterest.com (23/7/2559)

หมายเลขบันทึก: 611262เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท