กฎหมายขัดกันของประเทศอียิปต์..... ความน่าสนใจที่แตกต่างจากฎหมายขัดกันที่เราเคยรู้จัก (ศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องครอบครัว)


กฎหมายขัดกันของอียิปต์นั้น จุดเกาะเกี่ยวที่น่าสนใจ คือ การใช้"ศาสนา"เข้ามาเป็นจุดเกาะเกี่ยว

                 ประเทศอียิปต์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานประเทศหนึ่งในโลก  แต่ในเรื่องของการศึกษากฎหมายขัดกันนั้น อาจจะไม่มีผู้ที่ได้ศึกษาในเรื่องราวเหล่านี้ของประเทศอียิปต์มากนัก โดยกฎเกณฑ์ของกฎหมายขัดกันของอียิปต์นั้น  มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญอยู่ใน มาตรา 10 และมาตรา 28 ในประมวลกฎหมายแพ่งปี 1949 โดยกฎเกณฑ์นี้เหล่านี้เป็นกฎเกณฑ์ที่มีความใกล้เคียงกับประเทศที่ใช้กฎหมายในระบบซิวิลลอว์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายขัดกันของอียิปต์มีการใช้ภาษาใกล้เคียงกับกฎหมายตะวันตก รวมทั้งเรื่องนิติวิธีต่างๆ แต่รูปแบบของตัวกฎหมายเองนั้นขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์และรูปแบบของกฎหมายของอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศอียิปต์ โดยการศึกษากฎหมายขัดกันของประเทศอียิปต์นั้น ในที่นี้จะขอแบ่งการศึกษาตามลำดับดังต่อไปนี้

                 ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

                เมื่อได้มีการศึกษาถึงกฎหมายขัดกันของอียิปต์ สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือมีหลักเกณฑ์พื้นฐานมาจากกฎหมายขัดกันของยุโรป หากศึกษาถึงกฎหมายขัดกันของอิสลามแล้วก็จะพบว่ากฎหมายของอิสลามไม่ได้คำนึงถึงเขตอำนาจในดินแดนของรัฐหรือว่ารูปแบบของจุดเกาะเกี่ยวต่างๆ อย่างเช่นกฎหมายขัดกันอื่นๆ เช่น เชื้อชาติ ภูมิลำเนา แต่จะมีการคำนึงถึงหลักการเพียง 2 เรื่อง คือ “มุสลิม” และ “ไม่ใช่มุสลิม” ซึ่งคำว่า “มุสลิม” ก็คือ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามนั่นเอง โดย “ไม่ใช่มุสลิม” นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณี คือ 1. ผู้ที่อยู่นอกดินแดนของอิสลาม 2. ผู้ที่อยู่ในดินแดนของอิสลาม และ 3. ชาวต่างชาติที่เข้ามาพักอาศัยอยู่ในดินแดนของอิสลาม โดยกฎหมายอิสลามนั้นถือว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสภาพบุคคลที่ใช้บังคับกับมุสลิม ไม่ว่ามุสลิมนั้นจะกำลังเดินทางอยู่หรือว่าอยู่นอกดินแดนของอิสลามหรือไม่ก็ตาม และกับผู้ที่มิใช่มุสลิมก็ กฎหมายอิสลามก็ใช้บังคับกับคนเหล่านั้นด้วย หากบุคคลเหล่านั้นได้เดินทางเข้ามาภายในดินแดนด้วย หรือว่าเข้ามาอยู่อาศัยในดินแดนนั้นโดยถาวร โดยคำว่าชาวต่างชาติในประเทศอียิปต์ซึ่งถือว่าเกี่ยวข้องกับกฎหมายขัดกันนั้นถือว่าเป็น”ชาวต่างชาติที่มิใช่มุสลิม”เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า หากเป็นชาวต่างชาติที่เป็นมุสลิมก็ถือว่าจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับมุสลิมที่อยู่ในประเทศอียิปต์ ซึ่งโดยหลักการแล้ว เรื่องกฎหมายขัดกันนั้นไม่มีอยู่ในกฎหมายอิสลาม เนื่องจากการใช้กฎหมายนั้น ตามหลักการของอิสลามจะแบ่งแยกระหว่างผู้ที่เป็นมุสลิมกับผู้ที่มิใช่มุสลิม โดยศาลที่ตัดสินนั้นก็จะใช้กฎหมายที่เป็นของศาสนาของตนเอง (สำหรับศาลที่มิใช่มุสลิมนั้น จะพิจารณาเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับสถานะของบุคคล แต่ในศาลมุสลิมนั้นจะพิจารณากฎหมายในทุกๆเรื่อง) และเมื่อมีการขัดกันของกฎหมายระหว่างผู้ที่เป็นมุสลิมกับผู้ที่มิใช่มุสลิมเกิดขึ้นนั้น จึงเริ่มมีการนำหลักการของกฎหมายขัดกันมาพิจารณาใช้ในประเทศอียิปต์ โดยหลักการของกฎหมายขัดกันนั้นได้เข้ามาพร้อมกับชาวยุโรปที่ได้เดินทางเข้ามายังประเทศอียิปต์

                    อิทธิพลของประเทศยุโรปที่มีต่อกฎหมายขัดกันของอียิปต์

                    การเข้ามาของพ่อค้าชาวยุโรป ที่เข้ามาติดต่อค้าขายในประเทศอียิปต์ ทำให้มีการนำระบบการแบ่งแยกกฎหมายเข้ามาด้วย โดยพ่อค้าชาวยุโรปได้รับเอกสิทธิ์ในเรื่องกฎหมาย โดยการทำความตกลงในแบบ “bilateral treaties” และต่อมาหลักการเหล่านี้ก็มีการขยายออกไปโดยอัตโนมัติ และเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเริ่มมีการให้ใช้กฎหมายต่างประเทศ (คือ ประเทศที่พ่อค้าเหล่านั้นมีสัญชาติ) โดยเริ่มจากการใช้หลักสัญชาติ โดยเริ่มมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง สำหรับศาลที่เรียกว่า “ Mixed Court” ซึ่งมีขึ้นเพื่อแก้ข้อขัดแย้งของพวกอียิปต์กับพวกชาวต่างชาติ และพวกชาวต่างชาติที่มีสัญชาติต่างกัน และในปีค.ศ.1876 ก็เป็นปีที่กฎหมายขัดกันมีการเสร็จสมบูรณ์ในประมวลกฎหมายแพ่งปี ค.ศ. 1949 โดยกฎหมายขัดกันที่มีอิทธิพลต่อกฎหมายขัดกันของอียิปต์ก็คือ กฎหมายขัดกันของประเทศฝรั่งเศสรวมทั้งกฎหมายขัดกันนของประเทศเยอรมันและประเทศอิตาลีด้วย

                    กฎหมายขัดกันของอียิปต์ : บทบาทของศาสนาและกฎหมายศาสนา

                   โดยส่วนใหญ่แล้ว เรื่องการสมรส ,การหย่า,มรดก ในกฎหมายขัดกันส่วนใหญ่จะใช้หลักสัญชาติเป็นจุดเกาะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ในเรื่องของการสมรสในกฎหมายขัดกันของอียิปต์ได้ใช้ศาสนาเข้ามาเป็นจุดเกาะเกี่ยวใน 3 กรณี คือ เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติอียิปต์ (มาตรา 14) เมื่อคู่สมรสต่างชาติได้ทำพิธีแต่งงานในประเทศอียิปต์ (มาตรา 20) และในกรณีที่กฎหมายของต่างประเทศขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศอียิปต์ (มาตรา 28) โดยศาลอียิปต์จะใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องของสภาพบุคคลในกรณีที่คู่สมรสอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นมุสลิม หรือคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมิได้นับถือศาสนาหรือนิกายเดียวกัน แต่ถ้าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายนับถือศาสนาหรือนิกายเดียวกัน ก็จะใช้กฎหมายที่มิใช่กฎหมายอิสลาม ตัวอย่างเช่น กรณีที่ชายชาวฝรั่งเศสซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ต้องการที่จะหย่ากับภรรยาชาวอียิปต์ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเช่นเดียวกัน โดยทั้งคู่ได้จัดพิธีสมรสกันที่ประเทศฝรั่งเศส จากตัวอย่างนี้ ศาลจะไม่พิพากษาให้ทั้งคู่หย่ากันได้ เนื่องจากกฎหมายคาทอลิกของชาวอียิปต์ไม่อนุญาตให้มีการหย่ากัน เป็นต้น ซึ่งในเรื่องของกฎหมายขัดกันของอียิปต์นั้น มีเรื่องที่น่าสนใจ คือ ไม่มีหลักเกณฑ์ในเรื่องการเลือกใช้กฎหมายโดยความยินยอมของคู่สมรสบัญญัติไว้ ถึงแม้ว่ากฎหมายที่คู่สมรสเลือกนั้นจะเป็นกฎหมายอิสลามก็ตาม ส่วนในเรื่องของหลักความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ในกฎหมายขัดกันของอียิปต์ก็ได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ด้วย ซึ่งหลักการในเรื่องของความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีนั้นถือว่าเป็นหลักการที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ประเพณีของแต่ละประเทศด้วย หลักการในเรื่องความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศอียิปต์นั้นถือว่ามีหลักการมาจากกฎหมายอิสลาม แต่ก็ยังมีหลักการที่เป็นเรื่องความสงบเรียบร้อยฯที่เป็นหลักการทั่วไป คือ เรื่องศีลธรรมอันดีโดยทั่วไป อันเป็นหลักการที่กฎหมายของอียิปต์ได้รับอิทธิพลมาจากยุโรปด้วย

                   ความมีผลทางกฎหมายของการสมรส

                   ในส่วนของการสมรสตามกฎหมายอิสลามนั้นมีหลายกรณีที่เกี่ยวกับกฎหมายภายใน อย่างเช่นเรื่องการแต่งงานระหว่างคนที่เป็นมุสลิมกับคนที่มิใช่มุสลิม ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องห้าม โดยการห้ามแต่งงานในที่นี้เป็นการห้ามแต่งงานซึ่งมีที่จากกฎหมายอิสลาม  หรือเรื่องการมีคู่สมรสมากกว่าหนึ่งคนนั้น ศาลอียิปต์อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เป็นมุสลิมนั้นมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน ดังนั้นกฎหมายต่างชาติของชายผู้นั้น(ที่เป็นมุสลิม)ที่ไม่อนุญาตให้มีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคนถือว่าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี หรือในเรื่องของการหย่า ซึ่งปรากฎตามมาตรา 13/2 กำหนดให้สามีทำการหย่าได้โดยอาจไม่จำต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ 3 หรือต้องมีคำพิพากษาจากศาล หรือในเรื่องกฎหมายมรดกนั้น โดยหลักการแล้วจะให้มีการนำหลักการของกฎหมายอิสลามมาใช้กับทั้งผู้ที่เป็นมุสลิมและผู้ที่มิใช่มุสลิมซึ่งเป็นชาวอียิปต์ โดยจะแบ่งหลักการในเรื่องนี้ออกเป็นสองกรณี คือ กรณีที่มีการทำพินัยกรรมไว้ และกรณีที่มิได้มีการทำพินัยกรรมไว้ โดยในกรณีของชาวต่างชาตินั้น มาตรา 17 ได้บัญญัติให้มีการใช้กฎหมายสัญชาติในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย โดยหลักการตามกฎหมายอิสลามอย่างเช่นในเรื่องของการแบ่งมรดกที่กำหนดให้ฝ่ายชายได้มากกว่าฝ่ายหญิงครึ่งหนึ่ง(อันเนื่องมาจากการกำหนดให้ผู้ชายต้องแต่งงาน และที่ได้รับมรดกมากกว่าก็เพื่อที่จะนำไปเลี้ยงดูครอบครัว) ซึ่งหากกฎหมายต่างชาติได้บัญญัติให้แตกต่างออกไปจากบทบัญญัตินี้ ก็ถือว่าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีด้วยเช่นกัน

                   การคำนึงถึงสภาพบุคคลในกฎหมายขัดกันของประเทศอียิปต์นั้นใช้จุดเกาะเกี่ยวทั้งในเรื่องสัญชาติ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายในแถบภาคพื้นยุโรป และในเรื่องศาสนาซึ่งเป็นหลักการตามกฎหมายอิสลาม โดยในเรื่องของความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น แบ่งได้เป็นแบบทั่วไป ซึ่งก็คือมีต้นกำเนิดมาจากยุโรปเช่นเดียวกัน และแบบอิสลาม ซึ่งมีรากฐานมาจากกฎหมายอิสลาม โดยที่ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนในรูปแบบของอิสลามนั้นจะต้องนำมาใช้กับมุสลิมทุกคนไม่ว่าผู้นั้นจะมีสัญชาติหรือภูมิลำเนาใดก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่เป็นจุดแข็งมากกว่าจุดเกาะเกี่ยวอื่นๆ โดยถือว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็จะใช้จุดเกาะเกี่ยวนี้เป็นหลักเสมอ แต่ว่าจุดเกาะเกี่ยวในเรื่องศาสนานี้ ก็มีข้อน่าสังเกตที่ว่า การนำหลักการนี้มาใช้เป็นจุดเกาะเกี่ยวที่เป็นหลักในกฎหมายขัดกันนั้นอาจจะประสบปัญหา เนื่องจากการใช้กฎหมายขัดกันอิสลามโดยศาลอาจจะไม่เหมาะกับหลักการการของกฎหมายขัดกันซึ่งได้รับอิทธิพลจากกฎหมายยุโรปเนื่องจากมีรากฐานแนวคิดในทางกฎหมายที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้น การใช้กฎหมายขัดกันในประเทศอียิปต์จึงถือว่ายังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆอีกมากมาย และยังคงต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปอีก เพื่อให้การใช้กฎหมายขัดกันในประเทศอียิปต์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด



ความเห็น (4)

" กฎหมายสามารถบัญญัติตามกาลสมัย ที่เห็นว่าสอดคล้องกับสมัยนิยม แต่ต้องไม่ลืมกฏแห่งความรู้สึก นั่นคือ คุณธรรม จริยธรรม สัทธิ เสรีภาพ เอกภาพ

.... จริง ๆ แล้วเหตุคือ วิธีคิดกับการดำรงอยู่แห่งสังคมแต่ล่ะประเทศแม้ว่าจะนับถือ"ศาสนา" ที่แตกต่าง แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยมิได้เกิดการขัดแย้ง เพราะการขัดแย้งเป็นสิ่งไม่ดี มีแต่จะเสียหาย

ขอบคุณค่ะ คุณ น.เมืองสรวง ที่เข้ามาให้ข้อคิดเห็น (blog)จะได้ไม่เหงา  เป็นไงบ้างคะ  สบายดีมั้ย  ไม่ได้เจอกันตั้งนาน :>

จริงๆ แล้วก็เห็นด้วยกับคุณ น.เมืองสรวง ที่ว่า "แม้จะนับถือศาสนาที่แตกต่าง แต่ก็สามารถอยู่รวมกันอย่างสันติได้ โดยไม่มีการขัดแย้ง เพราะการขัดแย้งเป็นสิ่งไม่ดี มีแต่ความเสียหาย" ตรงนี้เห็นด้วยที่สุดเลย

แต่ที่ว่าด้วย"กฏแห่งความรู้สึก"นั้น โดยเฉพาะ สิทธิ เสรีภาพ และ เอกภาพนั้น ก็ต้องเคารพ "กาละ เทศะ" ด้วยครับ  กาละ ก็คือ เวลา เทศะ ก็คือ สถานที่ พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ ถูกที่ถูกเวลาครับ  ส่วนสิทธิ เสรีภาพ และเอกภาพนั้นมีขอบเขตในตัวของมันเองครับ

ถ้าพูดถึง "สังคมมนุษย์" เราคงต้องรวมตั้งแต่ มนุษย์ที่แย่ที่สุด ไปจนถึงมนุษย์ที่ดีที่สุดซึ่งอยู่ร่วมกันทุกๆที่ คละเคล้าผสมปนเปกันจนแยกไม่ออก  "กฏ" จึงต้องคำนึงถึงความสงบสุข และความเสมอภาคของส่วนรวมเป็นหลัก แต่จะใช้หลักแบบใหน อย่างไร นั้นก็ขึ้นอยู่กับ สถานที่และวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ด้วยครับ

พอดีพึ่งค้นเจอครับตั้งแต่ปีที่แล้วแนะ แต่ก็ไม่สายนะครับ..คุณยู ...อัสลาม มูไล กูม ครับ... สืบค้นหา  น. เมืองสรวงได้ครับ ที่ โก ทู โน หรือ เข้า กูลเกิ้ล แล้วพิมพ์ไทย  น. เมืองสรวง ครับ ข้อมูลจะปรากฏครับ....ลปรร. ได้ครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท