เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๕. ถอนพิษต่อการเรียนรู้



บันทึกชุดเลี้ยงลูกยิ่งใหญ่นี้ ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

บันทึกที่ ๕ ถอนพิษต่อการเรียนรู้ ตีความจากบทความชื่อ Treating a Toxin to Learning (http://www.nature.com/scientificamericanmind/journal/v23/n4/full/scientificamericanmind0912-64.html) โดย Clancy Blair พิษต่อการเรียนรู้ในที่นี้คือความเครียด ที่ฝรั่งเรียกว่า psychological stress หรือความเครียด ด้านจิตใจ

ข้อสรุป ๓ ข้อของบทความคือ

  • ความเครียดมีผลต่อเด็กตั้งแต่วัยทารก และกระทบพัฒนาการทั้งด้านการเรียนรู้ สังคม และอารมณ์
  • ความเครียดที่มากับความยากจน ลดทอนความสามารถในการเรียนรู้ จากการที่เด็ก ติดลบในหลายด้าน
  • เด็กในครอบครัวที่ฐานะดี ก็อาจเผชิญความเครียด ที่มีส่วนลดทอนความสามารถในการเรียนรู้ การดำเนินการลดความเครียดในเด็ก จะช่วยเพิ่มสุขภาวะ และเพิ่มผลการเรียนในนักเรียน จำนวนมาก

ความเครียดในระดับอ่อนๆ ช่วยเพิ่มความท้าทาย ความคึกคัก ช่วยให้ทำกิจกกรมที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น แต่ความเครียดที่รุนแรง และเรื้อรัง เป็นพิษในหลากหลายด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ และด้านสติปัญญา แต่ที่ร้ายที่สุดคือ มันบั่นทอน พัฒนาการของสมอง ลดทอนทักษะด้านการคิดของเด็กตั้งแต่วัยเยาว์มากๆ และอาจตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา

ความเครียดเรื้อรัง เป็นกลไกที่ทำให้เด็กจากครอบครัวยากจนมีผลการเรียนต่ำกว่าผลการเรียนของ เพื่อนๆ จากครอบครัวที่ฐานะดี และช่องว่างด้านเศรษฐสังคมนี้ ดำรงอยู่ตลอดเส้นทางการเรียน และยากที่จะ เยียวยา

ผู้คนเข้าใจกันว่า ที่เด็กจากครอบครัวยากจนมีผลการเรียนไม่ดีเพราะสภาพแวดล้อมที่บ้าน และสภาพแวดล้อมทางสังคม ซึ่งเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว หรือไม่ถึงครึ่ง ต้นเหตุที่สำคัญยิ่งกว่า คือการบั่นทอนทางสมอง จากการที่ความยากจนก่อความเครียดเรื้อรังด้านจิตใจ และความเครียดนั้นไป บั่นทอนพลังสติปัญญา หากช่วยลดความเครียดนี้ได้ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน จะช่วยเพิ่มผลลัพธ์ทางการ เรียนรู้ของเด็กจำนวนมาก


ผลของฮอร์โมนต่อพัฒนาการของสมอง

ฮอร์โมนของความเครียด คือคอร์ติซอล และนอร์อะดรีนาลิน เข้าไปมีผลต่อสมองส่วนหน้า ที่เรียกว่า prefrontal cortex (ที่มีเฉพาะในมนุษย์) ที่ควบคุมหน้าที่สำคัญที่เรียกว่า Executive Function (EF) ที่ควบคุม ความจำ ความคิด (ผ่านความจำใช้งาน) และการควบคุมตนเอง

หากมีความเครียดระดับต่ำ กลไกที่เป็นวงจรกำกับตนเอง ต่อการกระตุ้นสมองส่วนหน้าจะถูกกระตุ้น วงจรนี้เรียก HPA Axis (H = Hypothalamus, P = Pituitary, A = Adrenal) เป็นวงจรของการหลั่งฮอร์โมน กระตุ้นและยับยั้งกันเอง แต่หากมีความเครียดสูง เป็นเวลานาน วงจรนี้จะถูกปิด ทำให้พัฒนาการของ EF อ่อนแอ นี่คือข้อสรุปจากผลงานวิจัยของผู้เขียนและทีมงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า ๑๕ ปี พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ความเครียดเรื้อรังเป็นพิษต่อการเรียนรู้

รายละเอียดเรื่องแกน HPA อยู่ในหนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง ซึ่งผมเขียนคำนิยมให้ และอ่านคำนิยมนี้ได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/576122 ในคำนิยมกล่าวถึงเรื่องแกน HPA โดยสังเขป


เลี้ยงลูกให้เข้มแข็ง

แม้จะยากจน คนเราก็เลี้ยงลูกให้เข้มแข็ง มี EF ที่แข็งแรงได้ โดยเลี้ยงลูกแบบส่งเสริมให้ช่วยตัวเอง เรียนรู้เอง ที่เรียกว่าวิธี scaffolding ไม่ใช้วิธีเข้มงวดหรือสอนให้เชื่อตามที่พ่อแม่บอก ผมนึกถึงหลักการสากล คือการให้ความรัก ความเอาใจใส่ แต่การให้ความรักความเอาใจใส่มี ๒ แบบ คือแบบกำหนดให้ลูกปฏิบัติตาม อย่างเข้มงวด กับแบบให้ลองทำเอง พ่อแม่คอยให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ คือหากรักลูกแล้วใช้วิธีสอนแบบเข้มงวด ก็เป็นการรักลูกผิดทาง

แต่ในพ่อแม่ที่ยากจน ตนเองก็มักเครียดอยู่ตลอด จึงมีแนวโน้มจะทอดทิ้งลูก หรือเอาใจใส่ก็เอาใจใส่ผิดๆ ทำให้ลูกเครียด และมีผลต่อเนื่องไปสร้างผลลบต่อการเรียนรู้

ข้อสรุปนี้มาจากผลการวิจัยติดตามเด็ก ๑,๒๙๒ คน จากครอบครัวยากจนในชนบท ต่อเนื่องเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว

ฝึกวิธี scaffolding

ความเครียดเรื้อรังไม่ว่าที่บ้านหรือในโรงเรียนก่อผลลบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ทีมของผู้เขียนบทความจึงออกแบบชุดฝึกพ่อแม่ให้มีทักษะในการให้ความรักแบบส่งเสริมการเรียนรู้

ผมคิดต่อว่า ครูก็ต้องได้รับการฝึกทักษะนี้เช่นเดียวกัน


วิจารณ์ พานิช

๘ พ.ค. ๒๕๕๙

590610, เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, เลี้ยงลูก, Scientific American, ความสำเร็จในชีวิต, ความเครียด, EF, Raise Great Kids, scaffolding

หมายเลขบันทึก: 610075เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2016 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2016 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท