ความแตกต่างของการก่อการร้ายกับ อาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime)


ความแตกต่างของการก่อการร้ายกับอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate crime)

นัทธี จิตสว่าง

เหตุการณ์กราดยิงในบาร์เกย์ที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 50 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯอีกครั้งหนึ่ง จนประธานาธิบดีโอบาม่าของสหรัฐฯออกมาประณามการก่อเหตุและจัดว่าเป็นการก่อการร้ายที่เลวร้าย ในขณะที่หลายฝ่ายกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากความเกลียดชัง (Hate crime)


กรณีการก่อการร้ายกับอาชญากรรมจากความเกียดชังเป็นกรณีที่มีการถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้ง เพราะทั้งสองกรณีมีความใกล้เคียงกันจนบางครั้งแยกไม่ออกว่าเหตุการณ์ใดเป็นการก่อการร้ายและเหตุการณ์ใดเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชัง ดังนั้นจึงควรมาพิจารณาว่า อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังหมายถึงอะไร มีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างจากการก่อการร้ายหรือไม่ หรือเป็นเรืองเดียวกัน อาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชัง (Hate Crime) นั้น หมายถึงการกระทำผิดทางอาญา ที่ผู้กระทำมีมูลเหตุจูงใจมาจากอคติ หรือความเกลียดชังต่อคนกลุ่มหนึ่งที่มีเอกลักษณ์บางอย่างแตกต่างไปจากตน ทางด้านศาสนา เชื้อชาติ ภาษา ผิวสี และรสนิยมทางเพศ ส่วนการก่อการร้ายในความหมายที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป หมายถึงการก่อเหตุรุนแรง ต่อชีวิตหรือทรัพย์สินที่มุ่งให้เกิดความหวาดกลัว ตื่นตระหนก เพื่อผลทางการเมือง ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการก่อการร้ายและอาชญากรรมจากความเกลียดชัง มีความคล้ายคลึงกันในบางส่วน เพราะหลายกรณีของการก่อการร้ายที่ผู้ก่อการร้ายกระทำไปด้วยความเกลียดชัง แต่การก่อการร้ายและอาชญากรรมจากความเกลียดชังก็มีความแตกต่างกันในหลายมิติ ประเด็นที่เป็นความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องมูลเหตุจูงใจซึ่งผู้กระทำผิดในอาชญากรรมที่มาจากการเกลียดชังจะมุ่งการกระทำเพื่อตอบสนองความเกลียดชังต่อคนบางกลุ่ม บางลักษณะ เช่น ผิวสี เชื้อชาติ ศาสนา และรสนิยมทางเพศ เป็นการตอบสนองต่อความมีอคติส่วนบุคคล ในขณะที่ การก่อการร้ายมุ่งก่อความรุนแรงและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเพื่อผลทางการเมือง เป็นการกระทำภาพกว้างต่อรัฐมิได้มุ่งให้เกิดผลต่อตัวบุคคล แม้ว่าการก่อการร้ายในบางกรณี จะเป็นการกระทำต่อบุคคลแต่ก็เพื่อส่งผลกระทบต่อภาพกว้างในทางการเมืองมุ่งให้เกิดความสนใจในความมีตัวตนหรือเอกลักษณ์ของผู้กระทำหรือกลุ่มแต่เป็นเพียงเป้าหมายเบื้องต้น เพื่อไปสู่เป้าหมายทางการเมืองในภาพกว้างต่อไป


นอกจากนี้ในการก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง ผู้กระทำมักจะเป็นผู้ก่อเหตุ แต่เพียงผู้เดียวเป็นส่วนใหญ่ หรือบางครั้ง อาจจะมีผู้ช่วยหรือผู้ร่วมก่อเหตุ แต่ก็ไม่ใช่ในลักษณะองค์กร หรือเครือข่ายใหญ่ที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง (ยกเว้นบางกรณีเท่านั้น) ซึ่งตรงข้ามกับการก่อการร้ายที่มักจะกระทำเป็นทีมหรือมีผู้ลงมือก่อเหตุแต่ละครั้งหลายคน ยกเว้นเพียงบางกรณี เช่น คดีของนาย Hesham Mohamed Hada Yed ที่ก่อเหตุที่สำนักงาน สายการบินอิสราเอลสังหารผู้คนไป 2 คน ในเมืองลอสเอนเจอริส แต่ส่วนใหญ่การก่อการร้ายมักจะมีเครือข่าย หรือองค์กรหรือกลุ่มการเมืองที่ต้นสังกัดให้การหนุนหลังหรือบงการและมีเป้าประสงค์ทางการเมืองที่ชัดเจนแน่วแน่ ดังนั้น การก่อการร้ายจึงมีการกระทำที่ต่อเนื่อง ในขณะที่กรณีของอาชญากรรมที่เกิดจากการเกลียดชัง ผู้กระทำผิดมักก่อเหตุเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้ง แล้วมักจะจบชีวิตลงหลังก่อเหตุด้วยการฆ่าตัวตายหรือถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือถูกจับกุมจบคดีไป แต่การก่อการร้ายมักจะมีการกระทำที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยมีตัวตายตัวแทนที่จะก่อเหตุต่อเนื่อง

ในประเด็นด้านการวางแผน ผู้ประกอบอาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชัง มักจะกระทำโดยไม่มีวิธีการหรือยุทธวิธีที่แยบยล หรืออาวุธที่ซับซ้อนและปราศจากการวางแผนที่ดี ส่วนใหญ่จะเป็นการกระทำจากการเก็บกด และก่อเหตุโดยไม่มีการวางแผนอย่างซับซ้อนรวมถึงการดูทางหนีทางรอด แต่อาจจะมีการเตรียมการบางอย่าง เช่น การจัดหาอาวุธและการเลือกสถานที่ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากลำบากในสังคมที่การซื้อขายอาวุธเป็นสิ่งเสรี ในขณะที่การก่อการร้ายจะมีการเตรียมการและการวางแผนมาอย่างดีโดยเมื่อก่อเหตุแล้วจะต้องหลุดรอดหรือถ้าไม่รอดก็จะปลิดชีพตนเองเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกจับกุมลงโทษจนหลายกรณีที่มักจะไม่อาจทราบได้ว่าผู้ใดหรือกลุ่มใดเป็นผู้ก่อเหตุ

เมื่อพิจารณาถึงสภาวะทางจิตของผู้กระทำผิดหรือผู้ก่อเหตุ ในกรณีของอาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชัง ผู้กระทำผิดมักจะมีความกดดันทางจิตมีความเครียดสูง และมีอคติที่รุนแรงต่อกลุ่มคนที่เกลียดชัง ในหลายกรณีอาจมีความเชื่อมโยงกับปัญหาสุราและยาเสพติด หรือเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาที่ผิดหลักคำสอน ผู้ก่อเหตุอาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชัง ยังไม่ถึงกับเป็นผู้ป่วยทางจิตซึ่งก่อเหตุโดยไม่รู้ตัวหรือสามารถยับยั้งได้ แต่เป็นผู้มีความคิดเกลียดชังและนิยมความรุนแรง แต่ผู้ก่อการร้ายมักจะเป็นผู้มีความคิด ความเชื่อสุดโต่ง และนิยมความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาซึ่งโดยทั่วไปไม่ได้เป็นผู้มีความผิดปกติทางจิต แม้หลายรายจะมีความโหดร้าย และเหี้ยมโหดผิดมนุษย์ทั่วไปแต่ก็เป็นผลมาจากความคิดสุดโต่งและมุ่งที่จะกดดันฝ่ายตรงข้ามเพื่อนำไปสู่ชัยชนะตามเป้าหมาย


ในส่วนปัญหาข้อกฎหมาย อาชญากรรมจากความเกลียดชังจะเป็นข้อหาเพิ่มเติมจากฐานความผิดปกติ ที่จะทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษเพิ่มขึ้น เช่นกรณีความผิดฐานฆ่าคนตายธรรมดาที่จะไม่มีมูลเหตุจูงใจจากความเกลียดชังจะมีโทษระดับหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยมีมูลเหตุจูงใจจากความเกลียดชัง จะถูกเพิ่มโทษให้สูงขึ้นกว่าความผิดมูลฐานเดิม แต่การก่อการร้ายในหลายประเทศเป็นความผิดในตัวเอง ซึ่งมีโทษกำหนดไว้ชัดเจน ความแตกต่างของการก่อการร้ายกับอาชญากรรมจากความเกลียดชังในมิติต่างๆ สามารถพิจารณาได้จากตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ความแตกต่างของการก่อการร้ายกับอาชญากรรมจากการเกลียดชัง

มิติ

อาชญากรรมกับความเกลียดชัง

การก่อการร้าย

มูลเหตุจูงใจ

มุ่งกระทำเพื่อตอบสนองต่อความเกลียดชังคนบางกลุ่มที่มีลักษณะแตกต่างในเรื่อง ผิวสี เชื้อชาติศาสนา และรสนิยมทางเพศ ไปจากตน

เป็นการกระทำความรุนแรงต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของฝ่ายตรงข้ามเพื่อผลทางการเมือง

เครือข่าย

ผู้ก่อเหตุมักจะเป็นผู้ก่อเหตุโดยผู้เดียวเป็นส่วนใหญ่

ผู้ก่อเหตุมีเครือข่ายมีสังกัดในองค์กรทางการเมือง

ความต่อเนื่องของการกระทำ

ไม่ได้กระทำต่อเนื่องส่วนใหญ่มักจะกระทำครั้งเดียว

มีการกระทำที่ต่อเนื่องมีตัวตายตัวแทน

ารวางแผน

ไม่มีการวางแผนอย่างแยบยล อย่างมากก็แค่เตรียมการ

มีการวางแผนแบบแยบยลเพื่อปกปิดการกระทำผิดและตัวตนผู้กระทำผิด

สภาวะทางจิต

มีความกดดันชิงชัง

มีความโหดร้าย ทารุณหัวรุนแรง

ข้อกฎหมาย

เป็นข้อหาที่เพิ่มเข้าไปในความผิดตามกฎหมายทำให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษสูงขึ้น

ในหลายประเทศเป็นความผิดในตัวเองมีโทษกำหนดไว้แน่ชัด

โดยสรุปแล้วแม้การก่อการร้ายและอาชญากรรมจากความเกลียดชังจะมีข้อที่คล้ายคลึงกันอยู่บ้างแต่ก็มีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดหลายกรณีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องมูลเหตุจูงใจในการประกอบอาชญากรรม ซึ่งทำให้อาชญากรรมจากความเกลียดชังมีความแตกต่างไปจากการก่อการร้ายและอาชญากรรมประเภทอื่นๆ อย่างเด่นชัด อย่างไรก็ตามอาชญากรรมทั้งการก่อการร้ายและอาชญากรมที่เกิดจากความเกลียดชังนั้น เมื่อเกิดขึ้นที่ใดก็จะเกิดความเสียหายและหวาดกลัวต่อบุคคล ชุมชน สังคม และประชาชนโดยทั่วไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

************************

หมายเหตุ ภาพประกอบจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต



หมายเลขบันทึก: 609456เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2016 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2016 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท