​3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ความงดงามที่ "กะดีจีน"


โอกาสเยี่ยมชมชุมชน "กะดีจีน" สรุปเป็นสาระมาฝากค่ะ

กะดีจีน หรือ กุฎีจีน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปี ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เป็นชุมชนของพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยน ตั้งอยู่ริมคลองวัดกัลยาณมิตร มีกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ ที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยา มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่คลองบางกอกใหญ่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนกะดีจีนแม้จะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อความศรัทธา และความหลากหลายทางมรดกวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลามหรือลัทธิแบบจีน แต่กลับเป็นแบบอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงปัจจุบัน

เราได้เรียนรู้อะไรกับสามศาสนาสี่ความเชื่อของชุมชน "กะดีจีน"

ศาสนาคริสต์

โบสถ์วัดซางตาครู้ส โบสถ์แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ลักษณะของอาคารจะเป็นแบบผสมผสาน ที่โดดเด่นที่สุดเป็นหอคอยทรงโดมที่มีความงดงาม เป็นวัดคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในฝั่งธนบุรี คำว่าซางตาครู้สในภาษาโปรตุเกสหมายถึง กางเขนศักดิ์สิทธิ์ ชาวคริสต์ของชุมชนนี้มีทั้งชาวญวนและคนไทยที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ที่มาอยู่กระจัดกระจายในบางกอก ได้รวมตัวกันมาขอพระราชทานที่ดินจากพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งพระองค์พระราชทานที่ดินแปลงนี้ให้ โดยตั้งชื่อในตอนนั้นว่าค่ายซานตาครู๊ส ปัจจุบันชาวคริสต์ที่นี่ยังคงรักษาวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวโปตุเกสโดยเฉพาะเรื่องอาหารซึ่งชาวโปตุเกสเป็นผู้นำวัฒนธรรมเรื่องอาหาร โดยเฉพาะขนมหวานเข้ามาเผยแพร่ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่เฉพาะขนมฝรั่งกุฎีจีนแต่ยังรวมไปถึงขนมกุดสลัง และขนมกวยตัส แต่ในปัจจุบันบ้านที่เราได้เข้าไปสัมผัส คงเหลือบ้านที่ทำขนมฝรั่งกุฎีจีน เพียง 2 หลัง


ชุมชนรอบโบสถ์แสดงให้เราเห็นความเชื่อเเรกของชุมชน "กะดีจีน" ความเชื่อของชาวคริสต์นิกายคาทอลิก

ศาสนาพุทธ

วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร เราได้มีโอกาสเยี่ยมชมพระอารามหลวงขนาดใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อสร้างจะคล้ายกับวัดพนัญเชิงที่พระนครศรีอยุธยามีพระขนาดใหญ่คือ"หลวงพ่อโต"หรือที่ชาวจีน เรียกว่า"ซำปอกง"หรือ"ซำปอฮุดกง" ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามพระองค์นี้ให้สอดคล้องกับพระประธานในวิหารหลวงวัดพนัญเชิงว่า "พระพุทธไตรรัตนนายก" เราได้เห็นบรรยากาศของประชาชน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมและกราบองค์พระกันอย่างไม่ขาดสาย แม้จะอยู่บนพื้นฐานความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารวัด กับคนในชุมชน


จุดนี้สื่อให้เราได้สัมผัสกับความเชื่อที่สอง ของชุมชน "กะดีจีน" นั่นคือความเชื่อของชาวพุทธนิกายเถรวาท

ศาลเจ้าเกียนอันเกง เป็นศาลเจ้าของชาวจีนฮกเกี้ยน อยู่ใกล้ๆ กับ "วัดกัลยาณมิตร" ศาลเจ้านี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยสถาปัตยกรรมจีนในสมัยราชวงศ์เชง เพื่อประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม วันนี้เราได้รับรู้ว่า ชาวจีนนั้นได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ศาลเจ้านี้จึงความสำคัญต่อชุมชนแห่งนี้และชาวกรุงธนบุรีอย่างมาก และยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวคนหลายเชื้อชาติเข้าไว้รวมกัน ซึ่งสันนิษฐานว่ากุฎีจีนที่เรียกกันมานานนั้น ได้มาจากชาวจีนที่มาตั้งรกรากอาศัยอยู่ก่อนนั่นเอง



นับเป็นความเชื่อที่สามของชุมชน "กะดีจีน" ความเชื่อของชาวพุทธนิกายมหายาน

ศาสนาอิสลาม

มัสยิดบางหลวง(กุฎีขาว) ผู้นำศาสนาเล่าให้เราฟังว่า มัสยิดนี้เป็นมัสยิดแห่งเดียวในโลกที่สร้างในลักษณะโบสถ์ทรงไทยแบบพุทธศาสนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมของไทยและมุสลิม มีหน้าบันทั้งหน้าและหลังประดับด้วยปูนปั้นลายศิลปะ 3 ชาติ กรอบหน้าบันเป็นศิลปะไทยเครื่องลำยอง ในหน้าบันเป็นปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศแบบฝรั่ง และส่วนดอกไม้ เป็นดอกเมาตาลแบบจีน ซึ่งงดงามมาก ภายในมัสยิดจะปูพื้นด้วยหินอ่อน หน้าต่างแต่ละบานจะตกแต่งด้วยจานสีขาวที่เขียนบรรยายเกี่ยวกับคัมภีร์ทางศาสนาอิสลาม กลุ่มชนมุสลิมที่มาตั้งรกรากในชุมชนนี้มีจำนวนมากรองจากชาวจีน เราได้มีโอกาสพูดคุยกับอิหม่ามที่ดูแลที่นี่ จึงได้เห็นภาพการบริหารจัดการดูแลกลุ่มชนอิสลามของชุมชนนี้ที่สามาระอยู่ร่วมกับคนต่างศาสนาได้อย่างสันติ บนพื้นฐานความเอื้ออาทรกันและกัน โดยยังคงยึดมั่นในการเป็นมุสลิมและการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนมุสลิมในชุมชน


นับเป็นความเชื่อที่สี่ของชุมชน "กะดีจีน" ความเชื่อของชาวมุสลิม

ชุมชนที่นี่ดูแล้วมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย คนในชุมชนยังคงอนุรักษ์ความงดงามในอดีตไว้ โดยเฉพาะ
ศาสนสถานสำคัญ รวมทั้งเรื่องอาหาร ซี่งเราได้มีโอกาสลิ้มลอง ขนมจีนแกงคั่วไก่ ซึ่งเป็นอาหารดั่งเดิมของชาว
โปตุเกส บัวลอยญวนอาหารดั่งเดิมของชาวญวน ซึ่งอาหารเหล่านี้หารับประทานได้ยาก และมีคนที่สามารถทำอาหารเหล่านี้ได้น้อยคนในปัจจุบัน แต่ชุมชนชาวคริสต์ที่นี่ยังคงอนุรักษ์ให้เราได้เห็นและสัมผัส

นอกจากนี้การบอกเล่าของผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ถึงบรรยากาศของการพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ไม่ว่าจะเป็นคนพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม โดยคนในชุมชนจะมีการศึกษาทำความเข้าใจกันและกัน ในศิลปะวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีรวมถึงความแตกต่างของแต่ละศาสนา ซึ่งสิ่งที่ติดตัวมาเป็นมรดกทางความคิดและทางวัฒนธรรมที่ปลูกฝังอยู่กับชุมชนมาช้านาน โดยเฉพาะการให้เกียรติ การยอมรับกันและกัน นับเป็นสิ่งหนึ่งที่น่ายกย่อง เราเดินชมชุมชนแห่งนี้ เรารับรู้ถึงความแออัด บ้านอยู่ติดๆ กัน หลังคาบ้านชิด ชายคาบ้านแทบจะเกยกัน เขาเหล่านี้มีศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างกันแต่ไม่เคยบาดหมางกันใหญ่โต เวลามีปัญหาหรือไม่เข้าใจกันผู้นำศาสนาจะมานั่งพูดคุยกัน บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าทุกศาสนาต่างสอนให้ทุกคนเป็นคนดีและต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จุดนี้นับเป็นตัวอย่างของการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

ดิฉันประทับใจกับคำพูดประโยคหนี่งที่ว่า

“...โบราณสถานมากด้วยคุณค่าที่หลายคนชื่นชมอาจเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่ยั่งยืนกว่านั่นคือมิตรภาพและความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน นับเป็นวัฒนธรรมทางความคิดที่ควรค่าแก่การยกย่อง...”

นี่เป็นบทสรุปของชุมชน "กะดีจีน" โดยแท้



..................................................

คนึงนิจ อนุโรจน์

https://www.facebook.com/anuroj48/media_set?set=a....

คำสำคัญ (Tags): #hr
หมายเลขบันทึก: 609136เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2016 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2016 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ทีมงานได้เรียนรู้เรื่องท้องถิ่น

น่าสนใจมาก

ทำไมหายไปนานมากครับ

เอาคุณครูมาฝาก

https://www.gotoknow.org/posts/608913

ช่วงนี้งานเยอะนิดนึงค่ะ เลยได้เเต่ตามอ่าน เดือนสิงหา จะไปสอน นศ.เกษตร วิทยาเขตกำแพงเเสนค่ะ จะเเวะไปให้เลี้ยงข้าวนะคะ

มาประมาณวันที่เท่าไรครับ

อยากเจอๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท