"อิฐทีละก้อน" ... (วินทร์ เลียววาริณ)


.......................................................................................................................

อิฐทีละก้อน

.......................................................................................................................


เด็กชายอเมริกันอัจฉริยะคนหนึ่งเรียนข้ามชั้นมาโดยตลอด
เพราะสติปัญญาเหนือกว่าเพื่อนร่วมห้องหลายเท่า
เมื่ออายุสิบสาม เขาสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้
ทุกอย่างน่าจะลงตัว แต่ปรากฏว่าเขามีปัญหาในการใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยอย่างมาก
เพราะแม้จะเรียนเก่ง สู้คนอื่นได้สบาย ๆ แต่กลับไม่อาจเข้ากับเพื่อนร่วมชั้นได้เลย

เขาไม่มีเพื่อนไม่ใช่เพราะเขาไม่น่าคบแต่อย่างไร ปัญหาคือเขายังเป็นเด็กชาย
มีความคิดอ่านแบบเด็กอยู่ ขณะที่เพื่อนร่วมชั้นเป็นหนุ่มสาววัยยี่ิสิบ
คิดและมีพฤติกรรมอย่างหนุ่มสาว เขากับเพื่อนร่วมชั้นเป็นคนละรุ่นกันจริง ๆ


พ่อแม่จำนวนมากให้ลูกเข้าเรียนเร็วกว่ากำหนด
อาจเพราะอยากให้จบไวกว่าและเริ่มต้นเร็วกว่าคนอื่น
อายุสี่ขวบเรียน ป. 1 แล้ว บ่อยครั้งเกิดปัญหาเข้ากับเพื่อนไม่ได้
เพราะพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กคนละวัยต่างกัน
เด็กเก่ง ๆ บางคนเรียนข้ามชั้นตลอด อายุสิบแปดจบปริญญาตรี
อายุยี่สิบจบปริญญาโท แต่ขาดวุฒิภาวะที่ส่วนใหญ่มาจากการสะสมด้วยเวลา

เรื่องบางเรื่องจำเป็นต้องดำเนินไปทีละขั้นเหมือนการก่อกำแพงอิฐสร้างบ้าน
ต้องวางอิฐทีละก้อน เรียงทีละแถว เมื่อได้ที่แล้วก็วางอิฐทีละก้อนเป็นแถวที่สอง
แถวที่สาม ไล่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามลำดับของมัน ไม่อาจผิดไปจากนี้
เราไม่สามารถก่ออิฐแถวบนสุดโดยไม่ก่อแถวล่างสุด
อิฐทีละก้อน คือ การก่อร่างอย่างมั่นคง
อิฐทีละก้อน คือ ความเสถียร

แต่งานวางอิฐทีละก้อนดูชักช้าไม่ทันใจสำหรับคนรุ่นใหม่
ในยุคที่ทุกอย่างอยู่ในโหมด ‘เร็วที่สุด’ จึงชอบทางลัด
ไม่ว่าทำอะไรก็อยากเห็นผลเร็ว ๆ มองไม่เห็นความสำคัญ
หรือความจำเป็นของ ‘อิฐทีละก้อน’


เราสามารถเรียนจากครูที่ดีที่สุดคือธรรมชาติ
ธรรมชาติมี ‘อิฐทีละก้อน’ ของมัน
พืชสัตว์ใช้ชีวิตตามกำหนดเวลาของมัน
ต้องจำศีลหลังจากสะสมอาหารจนมากพอ
สืบพันธุ์หลังจากสร้างรังเสร็จแล้ว เป็นต้น
เป็นลำดับเวลาของมัน
ผลไม้ที่มนุษย์ลัดขั้นตอนรีบบ่มให้สุก
รสชาติสู้ผลไม้ที่สุกตามธรรมชาติไม่ได้
สวยแต่รูปจูบไม่หอม

มนุษย์ เราก็หนีไม่พ้นสัจธรรมข้อนี้
การเขียนหนังสือ การเป็นช่างมือหนึ่ง การเป็นมืออาชีพในสายต่าง ๆ
ล้วนอาศัยกระบวนการแบบอิฐทีละก้อน ก้าวไปทีละขั้น ไม่มีทางลัด
เซียนในทุกแขนงมาจากการฝึกฝนเรียนรู้แบบ ‘อิฐทีละก้อน’


การเป็นนักเขียนต้องใช้เวลาบ่ม การใช้ภาษาที่มีพลังต้องใช้เวลาเพาะ
การเป็นพ่อครัว การเข้าใจคุณสมบัติของวัตถุดิบแต่ละชนิดกินเวลาศึกษา
การรู้จักส่วนผสมที่ถูกปากต้องใช้เวลาฝึกฝน ฯลฯ

คนมีปัญญาจึงไม่รีบร้อน ทำงานไปเป็นขั้นเป็นตอน
ไม่ข้ามผ่านรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยคิดว่ามันไม่สำคัญ
เพราะกำแพงที่ก่อด้วยอิฐไม่ครบก้อนนั้นไม่แข็งแรง และพังทลายได้


ชีวิตเราทุกคนประกอบด้วยอิฐจำนวนมาก
หากแต่ละท่อนแต่ละจังหวะของชีวิตคือ อิฐหนึ่งก้อน
ชีวิตเราทั้งชีวิตก็เป็นผลรวมของอิฐจำนวนมาก
อิฐเหล่านี้บางก้อนสมบูรณ์ บางก้อนแตกร้าว
บางก้อนเผาไฟมากไปจนดำเกรียม แต่อิฐทุกก้อนสำคัญ

คนที่ประสบความสำเร็จในงานต่าง ๆ มักมีประสบการณ์คล้ายกันคือ ‘อิฐ’ ก้อนแรก ๆ
เป็นอิฐที่ไม่สมบูรณ์มีตำหนิ เผาไม่ได้ที่ หรือเผามากไปจนเกรียม
เหล่านี้คือการทดลอง การฝึกฝน การเคี่ยวกรำ ความเหนื่อยยากลำบาก
แต่อิฐแต่ละก้อนมีความจำเป็นต้องมีอยู่
อิฐไม่สมบูรณ์เหล่านี้เป็นรากฐานของอิฐชั้นต่อ ๆ ไปที่ดีกว่าเดิม
ก่อรวมเป็นงานชิ้นใหญ่


ยอดนักประดิษฐ์ของโลก ธอมัส เอดิสัน บอกว่า

“ผมทำงานอย่างสนุกสนานสิบแปดชั่วโมงต่อวัน
นอกจากงีบเล็ก ๆ แล้ว ผมนอนราว 4-5 ชั่วโมงต่อคืน”

เขาพิสูจน์ให้เราเห็นว่าอิฐไม่สมบูรณ์สำคัญเท่า ๆ กับอิฐที่สมบูรณ์
เขาชี้ว่าหากผลงานชิ้นหนึ่งประกอบด้วยอิฐร้อยก้อน
ไอเดียดีเป็นแค่อิฐก้อนหนึ่งเท่านั้น
ที่เหลืออีก 99 ก้อนคือความเหน็ดเหนื่อย
การลงมือทดลองทำ ล้มแล้วลุก ล้มแล้วลุก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คู่แข่งของเอดิสัน นิโคลา เทสลา ซึ่งเป็นอัจฉริยะนักประดิษฐ์
ผู้คิดค้นกระแสไฟฟ้าสลับและผลงานต่าง ๆ มากมาย
นอนวันละสองชั่วโมง ทำงานทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนสำเร็จ

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์
สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยตอนกลางวัน
กลางคืนเป็นนกฮูกราตรี ทำงานทดลองโทรศัพท์ของเขา
ทดลองไปทีละขั้น ทดลองแล้วทดลองอีก
ก่ออิฐทีละก้อนอย่างอดทน


การสั่งสอนเด็กจึงจำเป็น อย่างยิ่งที่ต้องให้เด็กรู้ว่า
ชีวิตไม่มีอะไรได้มาแบบลัดขั้นตอน
เราไม่อาจมีความรู้โดยปราศจากการขวนขวาย
ไม่มีทางได้ทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ต้องฝึกฝน

อย่าบ่นว่างานที่ทำน่าเบื่อ อย่ามองว่าความผิดพลาดเป็นความน่าเบื่อ
จงมองว่ามันเป็นประสบการณ์ มองว่างานที่กำลังทำแต่ละวันนั้น
เป็นเพียงอิฐก้อนหนึ่งในบรรดาหลายพันหลายหมื่นก้อนในชีวิตเรา

อิฐที่ถูกไฟเผาจนเกรียมอาจดูไม่สวย แต่มันแข็งแกร่งกว่าอิฐธรรมดา
เพราะไฟช่วยเคี่ยวกรำให้มันแกร่ง


ประสบการณ์เลวร้ายไม่ใช่ความเลวร้าย
และความล้มเหลวแต่ละครั้งไม่ใช่ความล้มเหลว
หากเราใช้พวกมันเป็นอิฐที่รองรับอิฐก้อนต่อ ๆ ไป


วินทร์ เลียววาริณ


.......................................................................................................................


ชีวิตไม่มีทางลัด
มีแต่การฝึกฝนเพื่อรับประสบการณ์ใหม่

เคยเห็นคนที่ชอบทางลัด
แล้วก็นั่งรอคอยว่า

เมื่อไหร่อิฐก้อนนั้น
จะพังทลายลงมา

จากฝีมือการก่ออิฐของตนเอง

บุญรักษา ทุกท่าน ;)...


.......................................................................................................................


หมายเลขบันทึก: 608824เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2016 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2016 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท