ประวัติเมืองสงขลา (43) ศาลแขวง


น่าดีใจที่ทางราชการมิได้ทุบรั้วหินเดิมอายุหลายสิบปีทิ้งไปด้วย

ถ้าผ่านไปทางศาลแขวงสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนปละท่าตัดกับถนนราชดำเนินนอก จะเห็นรั้วกำแพงสร้างใหม่อยู่ด้านในของรั้วเดิม

รั้วเดิมนั้นก่อด้วยหินสีเทาเชื่อมกันด้วยปูนซีเมนต์ อยู่คู่กับเมืองสงขลามายาวนานแค่ไหน ยังหาหลักฐานได้ไม่ชัดเจน ถามคนเก่าแก่ชาวเมืองสงขลาหลายท่าน ก็บอกตรงกันว่าเห็นมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ

อาคารศาลแขวงนี้ จัดว่าเป็นอาคารเก่าแก่อีกหลังหนึ่งของเมืองสงขลา เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2484 แรกเริ่มเดิมทีเป็นที่ตั้งของศาลจังหวัดสงขลา ต่อมาเมื่อพื้นที่คับแคบ จึงสร้างศาลจังหวัดสงขลาแห่งใหม่ขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกัน ส่วนอาคารหลังนี้ก็ใช้เป็นที่ทำการของศาลแขวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จฯ มาที่นี่ในปี พ.ศ. 2502 อีกด้วย

ศาลแขวงหรือศาลจังหวัดสงขลาเดิมนี้ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดสระเกษ ก่อนหน้านั้นศาลจังหวัดสงขลา (หรือศาลมณฑลนครศรีธรรมราชในยุคปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล) เคยใช้ที่ทำการร่วมกับที่ว่าการมณฑล ณ จวนเมืองเก่า ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทำการโทรศัพท์กลางและร้านค้าไปแล้ว

เมื่อพื้นที่เดิมซึ่งอยู่ติดกับเรือนจำเริ่มคับแคบ และขยับขยายไม่ได้ จึงเริ่มมีโครงการย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2471 ต่อมา พ.ศ. 2477 หลวงจำรูญเนติศาสตร์ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงยุติธรรมภาคใต้ ก็ได้เลือกที่ดินที่เป็นศาลแขวงในปัจจุบันนี้ เป็นที่สร้างศาลแห่งใหม่

เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2480 เสร็จเรียบร้อยทำพิธิเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 โดยพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น

คำว่า ศาลจังหวัด หมายถึงศาลประเภทหนึ่งเท่านั้น มิได้หมายความตามภูมิศาสตร์ที่ตั้ง แตกต่างจากศาลแขวงที่มีเขตอำนาจน้อยกว่า จึงไม่ต้องประหลาดใจที่มีการตั้งศาลจังหวัดปากพนัง ศาลจังหวัดเบตง ศาลจังหวัดไชยาขึ้น

ส่วนศาลแขวงนั้น ตั้งขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระของศาลแพ่ง ศาลอาญาและศาลจังหวัด ปัจจุบันมีเฉพาะจังหวัดใหญ่ 17 จังหวัดเท่านั้น สำหรับภาคใต้ นอกจากศาลแขวงสงขลาแล้ว ก็มีที่นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี

ศาลแขวง พิจารณาคดีแพ่งเฉพาะที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสี่หมื่นบาท ถ้าเป็นคดีอาญาก็ต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าศาลแขวงเห็นว่าสมควรลงโทษจำเลยเกินอัตราดังกล่าวแล้วก็ให้มีอำนาจพิพากษาได้ แต่จะต้องให้ผู้พิพากษาอย่างน้อย 1 คนตรวจสำนวน และลงลายมือชื่อในคำพิพากษา เป็นองค์คณะ

เมื่อมีการขยายถนนปละท่าและถนนราชดำเนินนอก และยกระดับถนนให้สูงขึ้น ทำให้ระดับรั้วของศาลต่ำลงไปจากเดิม จึงต้องสร้างรั้วใหม่ที่มีความสูงมากขึ้นเพื่อความมั่นคงปลอดภัย

น่าดีใจที่ทางราชการมิได้ทุบรั้วหินเดิมอายุหลายสิบปีทิ้งไปด้วย แม้ช่องปลูกต้นไม้บนสันรั้วที่มีเป็นระยะ ๆ ตลอดแนวซึ่งเดิมเคยปลูกต้นอากาเว่อย่างที่เห็นในภาพถ่ายเก่า ๆ จะเปลี่ยนเป็นต้นเฟื่องฟ้า ดอกไม้ประจำจังหวัดไปแล้ว แต่รั้วเก่าแก่แห่งนี้ก็ยังคงความงดงาม เป็นหลักฐานบ้านเมืองอีกอย่างหนึ่งที่น่าเก็บรักษาไว้

คำสำคัญ (Tags): #สงขลา#ศาล#ถนน
หมายเลขบันทึก: 607868เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท