ประวัติเมืองสงขลา (40) ส้มหลุมพี


ผลอ่อนเปรี้ยวและฝาด ชาวบ้านมักเก็บไปแกงส้ม ส่วนผลดิบจิ้มเกลือเป็นของกินเล่น

คนใต้เรียกผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อย่างเช่น มะนาว มะขาม ว่า ส้มนาว ส้มขาม แม้มะขามจะไม่ใช่พืชที่เกี่ยวดองเป็นญาติตระกูลเดียวกับพืชพวกส้มแต่อย่างใด

แต่ทั้งส้มนาว และส้มขาม ก็เป็นเครื่องปรุงสำคัญที่ทำให้น้ำพริกมีรสเปรี้ยว และพบเห็นได้ทั่วไป ต่างจากส้มหลุมพี พันธุ์ไม้หน้าตาคล้ายระกำ ที่หารับประทานได้ที่ปักษ์ใต้ โดยเฉพาะแถวสงขลา นราธิวาสเท่านั้น

หลุมพี เป็นพืชตระกูลปาล์ม ต้นแตกเป็นกอใหญ่ มีหนามแหลม ขึ้นอยู่ในที่ลุ่มน้ำขังและป่าพรุ จึงจัดเป็นไม้ป่าที่ยังไม่ค่อยมีใครทำเป็นสวนเพื่อการค้า ต่างจากสละและระกำที่ปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจไปแล้ว

ตอนเด็ก ๆ ผมแยกไม่ออกระหว่างระกำ สละและหลุมพี แม่อธิบายว่าถ้าลูกเรียว ๆ มีหนามสั้นละเอียดเป็นสละ แต่ถ้าลูกอ้วน ๆ เบียดกันแน่นในช่อก็คือระกำ ส่วนหลุมพีผลไม่มีหนาม ปลายผลตัด เปลือกเป็นเกล็ดคล้ายหนังงูหรือลูกหวาย และรูปร่างผลเบี้ยว ๆ ไม่ค่อยเป็นระเบียบ

แต่ถ้าชิมเมื่อไหร่ น่าจะบอกได้ทันที หลุมพีเปรี้ยวกว่าใคร สมชื่อส้มหลุมพี ผมไม่ทราบว่าเคยมีใครจัดอันดับผลไม้ที่เปรี้ยวที่สุดในโลกไว้บ้างหรือยัง ถ้ามีเมื่อไหร่ น่าส่งหลุมพีเข้าประกวด ไปแข่งกับมะนาวได้สบาย

ข้อเสียที่ทำให้หลุมพีไม่ใช่ผลไม้ยอดนิยมเหมือนสละ เห็นจะเป็นที่เนื้อผลน้อย พูดเป็นภาษาใต้ว่าไม่ค่อยมีเยื่อ แล้วยังเปรี้ยวจัด ถ้าปล่อยให้ผลสุกเต็มที่จะหวานขึ้นมาบ้างหรือไม่ อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจ เพราะหาได้ยาก ทิ้งไว้คาต้น สัตว์ป่ามักจะมาแทะกินไปเสียก่อน

ผลอ่อนเปรี้ยวและฝาด ชาวบ้านมักเก็บไปแกงส้ม ส่วนผลดิบจิ้มเกลือเป็นของกินเล่น หรือเอาไปทำน้ำพริกได้ นอกจากนี้ก็เอาไปดองเค็มกับน้ำเกลือเก็บไว้รับประทานได้นาน

หลุมพีเก็บผลได้ในช่วงฤดูน้ำหลาก ตุลาคมถึงธันวาคม เนื่องจากลำต้นมีหนามแหลมคมและขึ้นอยู่ในป่าพรุ ชื้นแฉะ จึงยากลำบากในการเข้าไปเก็บทีเดียว

แต่การมีอยู่ของหลุมพี ก็เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าพรุ ป่าพื้นราบที่หาได้ยากและลดน้อยลงทุกทีได้

ที่ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีหมู่บ้านหนึ่ง มีชื่อไพเราะฟังดูมีเอกลักษณ์ว่า บ้านพรุหลุมพี แสดงให้เห็นสภาพภูมิศาสตร์และพันธุ์ไม้ประจำท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

เคยมีเพื่อนคนภาคกลางถามว่า หลุมพี มีชื่อภาษากลางไหม แบบเดียวกับยาร่วง หัวครกหรือกาหยูที่มีชื่อเป็นทางการว่ามะม่วงหิมพานต์

ตอนแรกผมไม่คิดว่าหลุมพีจะมีชื่อเป็นภาษากลาง ด้วยเป็นไม้เฉพาะถิ่นภาคใต้และมาเลเซีย แต่ลองเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานบนโต๊ะทำงานดู ก็แปลกใจมากที่มีจริง ๆ เรียกว่า กะลุมพี

นอกจากนี้พอค้นคว้าต่อไปก็ได้ความรู้เพิ่มอีกว่า ภาษามลายูเรียก กะลุมปี และสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อจังหวัดกระบี่ ที่เคยมีป่าพรุและต้นหลุมพีขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ที่อำเภอกะพ้อ ปัตตานีก็มีตำบลกะรุบีอีกด้วย

หลุมพี ไม่ชอบแสง ต้องการต้นไม้ใหญ่บังแดดและรักษาความชุ่มชื้น ออกดอกออกผลแล้วก็ตาย แต่แตกหน่อขยายออกไปได้เรื่อย ๆ อยากมีหลุมพีไว้คู่ปักษ์ใต้บ้านเรา ต้องรักษาป่าพรุ

คำสำคัญ (Tags): #สงขลา#ระกำ#พืช
หมายเลขบันทึก: 607865เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท