ประวัติเมืองสงขลา (35) ถนนวิเชียรชม


ตำแหน่งพิกัดของถนนกลันตันนั้น ปัจจุบันคือถนนไทรงาม ผ่านหน้าวัดไทรงาม ส่วนถนนตรังกานู กลายเป็นถนนชายเขา ด้านทิศใต้ของเขาตังกวนนั่นเอง

สมัยมัธยม จำได้เคยเรียนว่าการปกครองแบบสุขาภิบาล เริ่มขึ้นที่ท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นการริเริ่มการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหัวเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อ ร.ศ. 124 (พ.ศ.2448)

สำหรับหัวเมืองชั้นนอกอย่างสงขลานั้น ก็มีประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขาภิบาลในตำบลตลาดเมืองสงขลา มณฑลนครศรีธรรมราช ประกาศ ณ วันที่ 31 สิงหาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) ตามหลังท่าฉลอมไม่นานนัก

นับถึงปีนี้ สุขาภิบาลตลาดเมืองสงขลาก็มีอายุครบ 100 ปีพอดี

แม้จะไม่มีการจัดงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ เหมือนอย่างที่ชาวท่าฉลอมต้นแบบสุขาภิบาลเคยจัด เดี๋ยวนี้สุขาภิบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศก็เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบล ยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลไปตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว

อีกทั้งตลาดเมืองสงขลาก็มีการพัฒนาขยายตัว จากเทศบาลเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2478 จนเป็นเทศบาลนครในปัจจุบัน

แต่เมื่อเหลียวหลังกลับไปมองพระราชบัญญัติอายุ 100 ปีฉบับนี้อีกครั้ง ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และสามารถหาอ่านได้จากที่บ้าน ผ่านเว็บไซต์ ratchakitcha.soc.go.th ก็พบสิ่งที่น่าสนใจ

นั่นคือในเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับนี้ มีการกำหนดเขตสุขาภิบาลในชั้นต้นเอาไว้ โดยระบุชื่อถนนและระยะทางหน่วยเป็นเส้นเป็นวาไว้ชัดเจน

น่าเสียดายที่ยุคโน้นยังไม่มีการวาดแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา พระราชบัญญัติ ไม่อย่างนั้นแล้วคงเห็นภาพอาณาเขตตัวเมืองสงขลาในยุค 100 ปีก่อนได้อย่างละเอียด ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

จากกำหนดเขตสุขาภิบาลเท่าที่มี ทำให้ได้ข้อมูลว่าตลาดเมืองสงขลามีถนนพัทลุง ถนนไทรบุรี ถนนริมน้ำ ถนนนคร และถนนวิเชียรชม

ถือเป็นถนนสายหลักกลางเมืองสงขลาก็คงไม่ผิด ส่วนถนนรามวิถีซึ่งเป็นถนนสายตรงกว้างใหญ่ในปัจจุบัน ตอนนั้นยังไม่เกิด คงเพิ่งมาสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ใกล้กับช่วงที่ทางรถไฟเข้ามาถึงสงขลาใน พ.ศ. 2456 ถนนวิเชียรชม สร้างเมื่อ พ.ศ.2444 มีพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ 8 ซึ่งเป็นสกุล ณ สงขลา คนสุดท้ายที่ได้ครองเมือง เป็นแม่กองสร้างถนนตั้งแต่หน้าศาลาว่าการมณฑล (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา) ไปถึงแหลมทราย เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากประเทศชวา แวะขึ้นเมืองสงขลา ได้ประพาสตามถนนสายนี้ และพระราชทานนามเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สร้าง

ส่วนถนนนคร สันนิษฐานว่าหมายถึงถนนนครใน เพราะมีระบุไว้ด้วยว่า ถนนริมน้ำเคียงถนนนคร คำว่าริมน้ำจึงควรหมายถึงเลียบริมทะเลสาบ ซึ่งก็คือถนนนครนอกนั่นเอง

ท้ายประกาศฉบับนี้กล่าวว่ามีถนนซอยอีก 3 สาย คือ ถนนตรังกานู ยาว 12 เส้น ถนนกลันตัน ยาว 13 เส้น ถนนบ้านใหม่ ยาว 5 เส้น รวมยาว 30 เส้น กลายเป็นปริศนาให้ค้นว่าอยู่ที่ไหนกันแน่
ผมใช้เวลาค้นหาอยู่นาน จนไปพบแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองสงขลา ปี 2478 ระบุไว้เลือนราง แต่พออ่านได้ความว่าตำแหน่งพิกัดของถนนกลันตันนั้น ปัจจุบันคือถนนไทรงาม ผ่านหน้าวัดไทรงาม ส่วนถนนตรังกานู กลายเป็นถนนชายเขา ด้านทิศใต้ของเขาตังกวนนั่นเอง

แต่ถนนบ้านใหม่ยังหาไม่พบ รอท่านผู้รู้ช่วยค้นคว้าเพิ่มเติม

หมายเลขบันทึก: 607859เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท