ประวัติเมืองสงขลา (27) สงขลายุคผู้ใหญ่ลี


หันกลับมามองสงขลา เมืองสองทะเลแห่งนี้ เมื่อเกือบ 50 ปีก่อนจะมีสภาพเป็นอย่างไรบ้างหนอ

จบลงไปเรียบร้อยแล้วสำหรับละครหลังข่าวช่อง 3 ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ของกาญจนา นาคนันทน์ ที่แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506

แม้จะเป็นนิยายที่ผ่านกาลเวลามาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่สร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งใดก็ยังได้รับความนิยมอยู่ ครั้งนี้มีการดัดแปลงบทโทรทัศน์ให้เข้ากับยุคสมัย สร้างความสนุกสนานไม่แพ้นิยายของเดิม

นิยายเรื่องนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพลงลูกทุ่งที่โด่งดังมากในยุคเดียวกัน คือเพลงผู้ใหญ่ลี ที่ขับร้องโดยศักดิ์ศรี ศรีอักษร ซึ่งบันทึกเสียงในปี พ.ศ. 2507 เป็นเพลงเสียดสีสังคมในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการสื่อสารระหว่างข้าราชการกับชาวบ้านอย่างได้อารมณ์

ผู้ใหญ่ลีกับนางมา มีฉากหลังเป็นชีวิตชนบทในสุพรรณบุรียุคเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก เป็นชีวิตชาวบ้านที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงของประเทศมากนัก

หันกลับมามองสงขลา เมืองสองทะเลแห่งนี้ เมื่อเกือบ 50 ปีก่อนจะมีสภาพเป็นอย่างไรบ้างหนอ

ผมค้นชั้นหนังสือในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย พบหนังสือเก่าแก่เล่มหนึ่ง ชื่อ นำเที่ยวสงขลา พลิกดูเห็นว่าเป็นหนังสือที่ทางราชการจัดทำขึ้น มีปลัดจังหวัดสงขลาเป็นประธานกรรมการ และศึกษาธิการจังหวัด นายอำเภอต่างๆ ตลอดจนนายกเทศมนตรีเป็นกรรมการจัดทำ

ที่สำคัญ เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นในโอกาสที่สงขลาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใหญ่สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2504 (ปีที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม เรียกชาวบ้านมาชุมนุมนั่นเอง)

ผมพลิกดูเนื้อหาข้างใน ถือเป็นหนังสือนำเที่ยวที่จัดทำได้ดี ที่หนังสือไกด์บุ๊คสมัยนี้น่าเอาไว้เป็นแบบอย่าง

แม้หลายสิ่งหลายอย่างอาจจะหายไปจากสงขลานานมาก อ่านแล้วแปลกหูแปลกตาไปบ้าง อย่างการทำเหมืองแร่ดีบุก วุลแฟรม ที่ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจผมมากอย่างหนึ่งคือ การคมนาคมขนส่งติดต่อกับเมืองหลวงกรุงเทพในยุคนั้น

หากย้อนกลับไปในสมัยก่อนที่เมืองไทยจะมีรถไฟนั้น สงขลานับว่าได้เปรียบหัวเมืองทางภาคเหนือและอีสานเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถเดินทางทางเรือเดินทะเลชายฝั่งได้

แม้จะห่างจากกรุงเทพถึงหนึ่งพันกิโลเมตร แต่สมัยนั้นสามารถเดินทางถึงกันได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ขณะที่การเดินทางไปเชียงใหม่หรือหนองคายที่ระยะทางใกล้กว่า กลับต้องใช้เวลาเกือบเดือน

เมื่อทางรถไฟสร้างมาถึงสงขลาในปี พ.ศ. 2456 สามารถย่นระยะเวลาการเดินทางเหลือเพียงไม่ถึงสองวัน นำความเจริญมาสู่หาดใหญ่ พัฒนาจนกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ในปัจจุบัน

สงขลาในยุคผู้ใหญ่ลี การคมนาคมขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟสะดวกสบายและปลอดภัย มีทั้งขบวนรถด่วนและรถเร็ววิ่งทุกวัน ขณะที่ทางรถยนต์ ต้องเดินทางมาตามถนนเพชรเกษม ผ่านระนอง ตรัง พัทลุง ถนนยังไม่เสร็จเรียบร้อย ลำบากมากในหน้าฝน

ส่วนการเดินทางทางอากาศ ยังเหมาะสำหรับผู้มีฐานะ สนามบินสงขลาสมัยนั้น ตอนนี้กลายเป็นสนามบินของฐานทัพเรือไปแล้ว

ยุคนี้น้ำมันแพง รัฐบาลเริ่มหันกลับมามองการขนส่งระบบราง น่าเสียดายทางรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลา ถ้ายังอยู่ คงเป็นขนส่งมวลชนระหว่างสองนครที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

คำสำคัญ (Tags): #สงขลา#รถไฟ
หมายเลขบันทึก: 607809เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2016 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท