ประวัติเมืองสงขลา (26) คลองขวาง


ไว้มีโอกาสอยากตามไปดู ย้อนรอยดูว่าคลองขวางมาจากไหน

หากไม่นับรวมเอาคลองสำโรง ที่กั้นระหว่างเขตเทศบาลนครสงขลากับเทศบาลตำบลเขารูปช้างแล้ว ดูเหมือนคลองขวางจะเป็นลำคลองเพียงสายเดียวในตัวเมืองสงขลา

ในอดีตลำคลองสายนี้จะเคยใช้เป็นเส้นทางคมนาคม มีเรือสัญจรบ้างหรือไม่ ยังไม่พบหลักฐานชัดเจน เท่าที่ผมเคยเห็นในภาพถ่ายเมืองสงขลาเก่าๆ นั้น คลองขวางก็เป็นเพียงคลองสายเล็กๆ ทำหน้าที่ระบายน้ำฝนและน้ำทิ้งจากบ้านเรือนราษฎรลงสู่ทะเลสาบสงขลา

คลองสำโรงนั้น ทะลุถึงกันระหว่างทะเลหลวงฝั่งอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลา แต่คลองขวางทะลุหากันไม่ได้ เป็นคลองตัน และไม่เชื่อมต่อกับใคร

จากปากคลองที่อยู่ริมทะเลสาบสงขลา ด้านใต้ของที่ทำการศุลกากร ใกล้ตลาดทรัพย์สิน ใจกลางเมือง คลองขวางลอดใต้ถนนนครใน ถนนไทรบุรี ถนนสงขลาบุรี ถนนรามวิถี อันเป็นถนนสายสำคัญของเมืองสงขลา แล้วผ่านเข้าไปในบริเวณสำนักงานป่าไม้ เลี้ยวลงใต้ผ่านถนนชัยมงคลและหลังวัดโรงวาส ลอดใต้ทางรถไฟเก่าไปสิ้นสุดใกล้กับวัดเพชรมงคล

ต้นทางของคลองขวางอยู่ที่ไหน ผมก็บอกไม่ได้ เข้าใจเอาเองว่าคงเป็นคลองที่รวบรวมน้ำทิ้งจากท่อระบายน้ำหลายๆ ท่อมารวมกันแถวนี้ ไว้มีโอกาสอยากตามไปดู ย้อนรอยดูว่าคลองขวางมาจากไหน

ก่อนหน้าที่จะมีสะพานติณสูลานนท์ เมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมานั้น ปากคลองขวางข้างศุลกากรนั้นเป็นท่าเรือหางยาวโดยสารไปเกาะยอและไปหมู่บ้านต่างๆ ฝั่งเขาแดง

เดี๋ยวนี้เรือไปเกาะยอไม่มีแล้ว ไปทางรถยนต์สะดวกกว่า แต่เรือข้ามไปหมู่บ้านฝั่งวัดสุวรรณคีรีน่าจะยังให้บริการอยู่ เนื่องจากเพียงข้ามฝั่งตรงนี้ระยะทางเพียงกิโลเดียวก็ถึงแล้ว ใกล้กว่าไปข้ามแพขนานยนต์

คลองขวางผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน ในอดีตเคยทะลุไปถึงฝั่งอ่าวไทยอย่างคลองสำโรงหรือไม่นั้น ไม่มีใครยืนยัน ถ้าเคยทะลุจริงคงโดนสันทรายชายหาดกลบทับไปตั้งแต่เมื่อครั้งยังไร้ผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่

แต่ทุกวันนี้คลองขวางตื้นเขิน น้ำมีสภาพเน่าเสีย จนเป็นภาพที่คุ้นชินตาของชาวสงขลามาหลายสิบปีแล้ว แม้ทางเทศบาลจะได้ทำผนังคอนกรีตกันดินตลิ่งพังสองฝั่งคลองตลอดแนว แต่ปัญหาน้ำเสียยังไม่ได้รับการแก้ไขจนทุกวันนี้

ร้อยปีเศษที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและคมนาคม เสด็จไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) เพื่อจะได้ทรงทราบถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้านการไปรษณีย์โทรเลข นอกจากนี้ท่านยังได้ทรงเปิดสะพานข้ามคลองขวางอีกด้วย ดังปรากฏในพระนิพนธ์ความว่า

...พฤหัส 12 มิ.ย. 121 ...เวลาบ่าย 5.25 ออกจากบ้านเดินไปตามถนนข้างบ้าน เลี้ยวขวามือเข้าถนนกลางเมืองหยุดพักที่โรงเขาปลูกไว้รับที่เชิงสะพานใหม่ พระยาชลปลัดเทศาอ่านรายงานการสร้างสะพานแล้วเสร็จยังไม่ได้เปิดตามธรรมเนียม เชิญเปิดแลขอให้ชื่อสะพานกลางเมือง จึงได้ตัดผ้าขวาง แลเปิดถุงป้ายข้างสะพานแล้วดูสะพาน เชิงก่อด้วยหินตัวทำด้วยไม้ยาวสัก 4 วา ข้ามคลองคูขวาง ทำเรียบร้อยดี เว้นแต่ขาสะพานกับฐานไม่กินกัน ได้แนะให้เขาทำหินโคกแล้วเดินข้ามสะพานไปตามถนนถึงวัดเลียบ...

ถนนกลางเมืองนี้หมายถึงถนนไทรบุรี ส่วนสะพานกลางเมืองนี้ เนื่องจากทำด้วยไม้ คงผุพังไปตามกาลเวลา แทนที่ด้วยสะพานคอนกรีตสมัยใหม่ เหลือไว้เพียงเรื่องราวในบันทึกประวัติศาสตร์เท่านั้น

คำสำคัญ (Tags): #สงขลา#คลอง
หมายเลขบันทึก: 607808เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2016 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท