เติมแรงบันดาลใจให้การบ้านเชิงโครงงาน (๑)


ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากการที่ครูพบ วิธีคิด และวิธีทำที่ “พอดี” กับ พลังความคิดสร้างสรรค์ และความรู้ความสามารถของผู้เรียนนั่นเอง

จากแบบสำรวจเจตคติในปีการศึกษาที่ผ่านมา หน่วยวิชาโครงงาน เป็นหน่วยวิชาที่ผู้เรียนในช่วงชั้นที่ ๒ มีความพึงพอใจน้อยที่สุด นั้นคือรู้สึกว่าไม่อยากเรียนที่สุดนั่นเอง

เหตุผลที่ทำให้รู้สึกว่าไม่อยากเรียนวิชานี้คือ งานยาก และไม่สนุก

ในปีการศึกษานี้เจ้าของหน่วยวิชาโครงงานในภาคฉันทะ คือ คุณครูอัม - อัมภินี เลิศปีติวาณิชย์ และคุณครูแป๊ะ – สรนัย กนกกาญจนะ ผู้สอนหน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา ชั้น ๔ จึงได้เริ่มต้นนำเอาประเด็นเรื่องแรงบันดาลใจ และการทำให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ที่ได้เห็นทั้งวิธีการและผลลัพธ์ จาก Best Practice ที่เกิดขึ้นกับผลงานของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยในระดับชั้นต่างๆ ไปลองทำดูบ้าง

ก้าวใหม่ของการบ้านเชิงโครงงาน

ปีการศึกษาที่แล้ว ครูเริ่มมอบหมายการบ้านโครงงานชิ้นที่ ๑ ให้แก่ผู้เรียนตั้งแต่ช่วงปิดภาคเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีเวลาทำงานล่วงหน้า โดยคาดหวังว่านักเรียนจะนำมาส่งครูภายในสัปดาห์แรก และ ครูจะได้เริ่มให้การบ้านชิ้นที่ ๒ ในสัปดาห์ถัดมาได้เลย เพื่อลดปัญหาเรื่องการทำงานมาส่งไม่ทันตามกำหนด แต่ก็ปรากฏว่ายังคงมีนักเรียนส่วนหนึ่งทำงานไม่ทันอยู่นั่นเอง


โจทย์ของการบ้านเชิงโครงงานชิ้นนี้คือ

“ให้นักเรียนเลือกสืบค้นข้อมูลของพืชหรือสัตว์ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติไม่ได้เพาะเลี้ยงโดยมนุษย์ ที่ตนเองสนใจหรือชื่นชอบจำนวน ๑ ชนิดอย่างน้อย ๓ สายพันธุ์ (ทั้งข้อมูลและภาพ) เพื่อนำมาจัดบอร์ดความรู้ในชั้นเรียนและเขียนอธิบายรายละเอียดดังนี้ : สายพันธุ์ ลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์ ในด้านรูปร่าง ลักษณะ อาหารที่กิน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ถิ่นอาศัยและพฤติกรรม นาเสนอในรูปแบบตาราง”



ตัวอย่างงานของนักเรียนชั้น ๔ ปีการศึกษา ๒๕๕๘


ในช่วงปิดภาคเรียนคุณครูจึงได้ใคร่ครวญกับปัญหานี้กันใหม่ ทำให้ได้ข้อสรุปว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากเรื่องของเวลา แต่น่าจะเกิดจากโจทย์งานที่ค่อนข้าง “แห้งแล้ง” ทำให้ไม่เป็นที่สนใจ และไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงานเท่าที่ควร

ปีการศึกษานี้จึงเริ่มให้โจทย์การบ้านโครงงานชิ้นที่ ๑ ในสัปดาห์ที่ ๒ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนได้ connect กับครู และ connect กับการเรียนรู้ไประยะหนึ่งแล้ว ลดเงื่อนไขของโจทย์ลง จากที่เคยกำหนดให้หาหาข้อมูลสัตว์ที่สนใจ ๓ สายพันธุ์ ให้ลดเหลือเพียง ๑ สายพันธุ์ และให้นักเรียนมีอิสระในการนำเสนอ โดยไม่ได้จำกัดรูปแบบว่าต้องนำเสนอในรูปของตารางเท่านั้น


ขั้นตอนเตรียมความพร้อมทำการบ้าน

ครูเพิ่มขั้นตอนในการสร้างความน่าสนใจ สร้างความตื่นตาตื่นใจเพื่อให้สมองของนักเรียนพร้อมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ให้ข้อมูล และสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจ





ในขั้นนี้ครูยังได้ไปเลือกสรรภาพสัตว์น่ารักน่าเอ็นดู และตัวอย่างผลงานการนำเสนอข้อมูลในหลากหลายรูปแบบมาให้นักเรียนได้ดูเพื่อกระตุ้นจินตนาการความคิดสรรค์ และสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการนำเสนอผลงานให้กับนักเรียนด้วย




ครูเริ่มจากการตั้งคำถามที่น่าสนใจ ก่อนจู่โจมเข้าสู่ตัวงาน

  • พืชและสัตว์ที่นักเรียนสนใจ คืออะไร ?


  • ทำไมนักเรียนถึงสนใจ?


  • เราควรรู้จักอะไรเกี่ยวกับพืชและสัตว์ชนิดนั้นบ้าง?


อีก ๒ วันก่อนจะถึงกำหนดนัดหมาย นักเรียนเริ่มทะยอยนำชิ้นงานมาส่งครูกันแล้ว !



ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือ

นักเรียนมีความสุขในการทำงาน และได้สร้างผลงานที่มีคุณภาพมาส่งครูก่อนเวลาที่กำหนด และกระตือรือร้นมาไต่ถามว่าครูได้ดูงานของเขาหรือยังด้วยความภาคภูมิใจ

ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากการที่ครูพบ วิธีคิด และวิธีทำที่ “พอดี” กับ พลังความคิดสร้างสรรค์ และความรู้ความสามารถของผู้เรียนนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 607765เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Learning Outcome ที่คาดหวังของวิชานี้คืออะไรครับ บรรลุในระดับใด

วิจารณ์

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

ในงานชิ้นนี้ครูต้องการให้นักเรียนสนุกกับการสืบค้นข้อมูลเรื่องพืชและสัตว์ และมีทักษะในการสืบค้น การนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ และนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ สามารถสร้างสรรค์วิธีการนำเสนอข้อมูลในแบบของตน และได้เห็นความหลากหลายจากการได้เห็นงานของเพื่อนค่ะ

ในการทำบ้านเชิงโครงงานชิ้นต่อไป นักเรียนจะต้อวนำข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้นี้ ไปวิเคราะห์ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับพืชและสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่เพื่อนสนใจว่ามีลักษณะเช่นไร และในที่สุดจะเข้าใจและเห็นภาพของระบบนิเวศค่ะ

ดังนั้นนักเรียนทุกคนจึงต้องทำงานชิ้นที่ 1 มาส่งให้เรียบร้อย จากนั้นจึงจะได้ทำงานชิ้นถัดไป เนื่องจากเป็นพื้นฐานของกันและกันค่ะ

ขณะนี้เป้าหมายขั้นที่หนึ่งที่ต้องการให้นักเรียนสนุกกับการสืบค้นข้อมูล บันทึก และนำเสนอข้อมูลที่ไปค้นคว้ามาในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ได้บรรลุผลแล้ว และสิ่งที่เกินความคาดหวังของครูผู้สอน คือ นักเรียนทุ่มเทกับงานและสร้างสรรค์รูปแบบงานออกมาได้อย่างงดงาม นอกจากนี้นักเรียนส่วนหนึ่งยังส่งงานก่อนเวลาที่กำหนดไว้อีกด้วยค่ะ

ด้วยความเคารพ

ครูใหม่





ขอบคุณค่ะ อ.ใหม่ ได้แรงบันดาลใจต่อค่ะ

จริงค่ะรู้สึกว่าโครงงานปีนี้เด็กเหมือนไม่มีพลัง

นั่งทบทวนอยู่นานค่ะ พบคำตอบที่ โจทย์งานที่ค่อนข้าง “แห้งแล้ง


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท