​ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความมั่นคง


ขอบคุณภาพประกอบจาก google

เป็นความเข้าใจผิดของมวลมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาลในเรื่องความมั่นคง ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับชาติ เชื่อได้เลยว่าเกือบทุกชาติเข้าใจผิดด้านความมั่นคง ดังต่อไปนี้

  • ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเงิน มีใครพูดไว้ว่า เงินคือพระเจ้า เชื่อว่าเงินซื้อได้ทุกอย่างเพื่อบำเรอตัวเองให้มีความสุข ซื้อช่วงชั้นของสังคมได้ เพราะต่างก็นับถือเงินเป็นใหญ่ จึงทุ่มเทร่างกายจิตใจให้หมดไปกับการหาเงิน จนไม่หลงเหลือภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บที่เข้ามารุมเร้ายามร่างกายอ่อนแอ
  • ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการงาน งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ไม่ต่างจากข้อแรกที่เห็นงานคือแหล่งที่จะได้มาซึ่งเงิน จึงยอมแลกกายและใจเต็มที่ เพื่อความเจริญก้าวหน้าด้านการงาน เพื่อผลตอบแทน จนละเลยการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจ เครียดไปกับงาน ปล่อยให้ร่างกายหมดสภาพ เสื่อมถอย ชราภาพขาดสมดุลเกินวัย
  • ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับครอบครัว ครอบครัวคือสถาบันที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แต่ในปัจจุบัน กลับละเลยไม่สนใจดูแลครอบครัว พ่อแม่ต่างก็มุ่งทำงานหาเงิน บุตรธิดาต่างก็มุ่งเล่าเรียนให้เก่งในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เพื่อจะเรียนจบมาหาเงินเหมือนพ่อแม่ หมุนเวียนไปเป็นวัฏฏจักรไม่สิ้นสุด เพราะหากครอบครัวเข้าใจผิดอย่างข้อ 1และ 2 ข้างต้น การอบรมบ่มนิสัยย่อมนำพาไปในทางที่ผิดๆเช่นกัน และคงหนีไม่พ้นเป็นครอบครัวที่อ่อนแอ ขี้โรค จนยากจะแก้ไขได้ง่าย
  • ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสังคม เข้าเมืองตาหลิ่วให้หลิ่วตาตาม โดยไม่ใช้สติ ทำกันตามสังคม นิยมตามกระแส สังคมเป็นสถาบันหน่วยใหญ่ที่อันตรายยิ่งกว่าระดับครอบครัว หากเข้าใจผิดดังกล่าว สังคมนั้นย่อมอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ อาจลุกลามจนถึงสังคมที่ใหญ่ขึ้นคือระดับชาติ

ความมั่นคงที่เข้าใจกันผิดกันอย่างที่กล่าวข้างต้นนั้น ทั้งหมดทั้งมวลคือการหลงลืม ละเลยถึงการดูแลห่วงใยสุขภาพอนามัย อันเป็นรากฐานเป็นแก่นแท้ด้านความมั่นคงของความเป็นมนุษย์ ซึ่งควรจะกำหนดให้เป็นความมั่นคงหลักอีกด้านหนึ่ง

ผู้เขียนขอเรียกความมั่นคงที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพนี้ว่า “ความมั่นคงด้านสุขภาพ”

“ความมั่นคงด้านสุขภาพ” ที่เรามนุษยชาติต้องหันกลับมารณรงค์กันใหม่ มีอยู่ 2 หัวข้อใหญ่ๆด้วยกันคือ

1.ความมั่นคงด้านสุขภาพจิต

หมายถึง การส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตที่ดี เมื่อมีจิตที่ดีจะส่งผลต่อการตัดสินใจในเกือบทุกด้าน ทั้งการบริหาร การเรียนรู้ การปรับตัวเข้ากับสังคม ซึ่งสุขภาพจิตมีองค์ประกอบดังนี้

- ด้านความคิด ต้องคิดดี คิดอย่างมีสติ คิดอย่างสร้างสรรค์

- ด้านอารมณ์ สามารถควบคุมอารมณ์ ควบคุมความเครียดได้ดี

- ด้านจิตวิญญาณ มีจิตใจที่ดี มีเมตตา มีจิตสาธารณะ จิตสำนึกที่ดีต่อสังคม

2.ความมั่นคงด้านสุขภาพกาย

หมายถึง การส่งเสริมสุขภาพกาย สุขอนามัยที่ดีต่อบุคคลทั่วไปให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิป้องกันกับโรคภัยต่างๆ มีสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพ สามารถเข้าถึงอาหารและยารักษาโรคได้อย่างพอเพียง

ซึ่งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ต่างมีความสัมพันธ์สอดคล้องกันแทบแยกออกจากกันไม่ได้ เช่นหากสุขภาพจิตไม่ดีย่อมส่งผลต่อสุขภาพกาย แสดงออกภายนอกให้กายรับรู้ ให้เห็นอาการ และหากสุขภาพกายไม่ดี เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ย่อมส่งผลต่อสุขภาพจิต ส่งผลต่อระบบประสาท ให้เกิดความเศร้าหมอง เกิดความเครียด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เป็นต้น

ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์เราจะต้องเข้าใจกันใหม่ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้างความมั่นคงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต สร้างสิ่งที่จะสามารถชะลอความสึกหรอ ความเสื่อมถอย ความชราภาพ ฟื้นฟูการทำงานทั้งร่างกายและจิตใจ ให้กลับมาแข็งแกร่ง สดใส ให้โลกใบนี้น่าอยู่ตลอดไป

...........................................

หมายเลขบันทึก: 607486เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2016 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2016 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท