บริหารฝันให้เป็นจริง


“รางวัลแห่งฝันมีไว้สำหรับคนที่ทำสำเร็จ ไม่ได้มีไว้มอบให้กับคนที่ล้มเหลว”

องค์ประกอบสองอย่างที่มีความจำเป็นในเบื้องต้นก่อนการเริ่มการเป็นผู้ประกอบการคือ มีวิสัยทัศน์ และการกำหนดเป้าการทำธุรกิจที่แน่ชัด   

คำว่า วิสัยทัศน์อ่านแล้วดูเหมือนว่าจะสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าขององค์กรขนาดใหญ่ หรือผู้ที่ต้องการลงทุนประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ แต่อันที่จริงแล้ว วิสัยทัศน์นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ มีตัวตนและเป็นของทุกคน ข้อสำคัญคือวิสัยทัศน์ไม่ใช่สิ่งที่เกินเอื้อมจนจับต้องไม่ได้  เพราะคำว่าวิสัยทัศน์ถ้าจะมองกันในเบื้องต้นแล้วก็เป็นเหมือนคำว่า ฝันลองถามตัวเองดูซิครับว่าถ้าท่านจะทำเริ่มทำธุรกิจสักอย่างท่านมีฝันว่าอยากจะให้ธุรกิจหรือตัวของท่านเป็นอย่างไรเมื่อธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จ  หลายคนมีฝันที่อยากจะให้ลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยมีหน้าที่การงานดี เป็นยกย่องนับถือของคนในหมู่บ้านตนเองที่อาศัยอยู่เลยคิดที่จะทำธุรกิจสักอย่างเพื่อให้ฝันของเขานั้นเป็นจริงไม่ว่าเปิดร้านทำผม  ขายปาท่องโก๋  ทำงานรับซักผ้า  หรือคนที่ทำน้ำพริกได้อร่อยก็วาดฝันว่าในวันหนึ่งเขาอยากจะให้ทุกคนได้ลิ้มลองรสชาติน้ำพริกของเขา แค่เห็นใครคนใดคนหนึ่งตักน้ำพริกเข้าปาก เขาก็รู้สึกมีความสุขแล้ว เห็นหรือไม่ครับว่าการมีความฝันนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างความฝันและวิสัยทัศน์คือ การลงมือทำครับ 

ความฝันนั้นอาจผ่านมาในหัวของเราและก็ผ่านเลยไป แต่ผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์คือผู้ที่คว้าจับฝันที่ดูล่องลอยไม่มีตัวตนนั้นมาลงมือทำจนเป็นสิ่งที่จับต้องได้ มีตัวตนเกิดขึ้น และเกิดผลผลิตที่ทำให้ความฝันเริ่มมีเค้าของความเป็นจริงขึ้นมา  สำหรับผู้ประกอบการที่ฝันเห็นลูกได้เรียนหนังสือดีๆ ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดัง  ก็เริ่มคิดแล้วละครับแล้วละว่าจะต้องให้ลูกเริ่มเข้าโรงเรียนที่ไหน มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ต้องติดต่อกับใคร และเขาต้องทำธุรกิจอะไรที่จะสามารถผลิตทุนทรัพย์ที่จะทำให้สิ่งที่กล่าวมาเกิดขึ้นเป็นความจริง  ส่วนคนที่ฝันอยากเห็นผู้คนได้ลิ้มลองน้ำพริกฝีมือของเขาในทุกมื้ออาหาร  ก็ต้องนั่งคิดแล้วละครับว่าจะทำน้ำพริกแบบไหน จะเริ่มต้นหาวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นพริก กะปิ น้ำปลาจากที่ใด และจะให้ใครเริ่มเป็นคนลองทานน้ำพริกของเขาก่อน ถ้ารสชาติดี ถูกเหมาะปากจะขยายผลโดยการให้เพื่อนบ้านได้รับประทานกันอย่างสม่ำเสมอทำได้อย่างไร 

ถ้าท่านคิดจะเป็นหรือกำลังลงมือทำในสิ่งที่ผมพูดถึง  ผมก็ต้องขอแสดงความยินดีด้วยครับเพราะท่านได้เริ่มเข้าสู่บทเรียนของการบริหารฝันในรูปของการมีวิสัยทัศน์เรียบร้อยแล้วโดยไม่ต้องสมัครและเสียค่าเทอม ก้าวต่อไปของการบริหารวิสัยทัศน์คือการ กำหนดเป้าหมายเป้าหมายนั้นเปรียบเสมือนแผนที่ทางความคิดครับ เป็นแผนที่ที่ท่านเป็นคนกำหนดจุดหมาย กำหนดเวลาที่จะไปถึง  อย่างเป็นขั้นตอน เป้าหมายนั้นไม่จำเป็นที่จะมีแค่จุดเดียว อาจะเป็นการกำหนดเป้าหมายย่อยๆ ให้เกิดขึ้นตลอดระยะทางที่ท่านกำลังทำการบริหารฝันของท่านอยู่   

ผู้ประกอบการที่ไม่ประสบความส่วนใหญ่นั้น ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่มีเป้าหมายหรอกครับ  เพียงแต่เป้าหมายของพวกเขานั้นอยู่ห่างเกินไปหรือไม่ก็มีขนาดเล็กจนเกิดไป  แทบจะไม่มีฝันใดหรอกที่จะทำสำเร็จได้แค่เพียงชั่วข้ามคืน การที่พวกเขาเล็งเป้าแบบหวังผลเลิศ ต้องการให้ถูกเป้าในทันทีที่ยิงออกไป  ทั้งที่รู้ว่าเป้าหมายที่วางไว้นั้นอยู่แสนไกล  และก็รับรู้ว่ากำลังเล่นอยู่กับความเสี่ยงที่สูงที่จะทำให้มีโอกาสพลาดเป้าได้ง่าย   ทั้งๆ ที่รู้หลายคนก็เลือกที่จะทำแบบนั้น อาจเป็นเพราะรอไม่ได้เนื่องจากไม่เคยวางแผน กำหนดเป้าหมายใดๆ ไว้ล่วงหน้า ทำธุรกิจแบบยอมตามเอาดาบหน้า (ซึ่งก็มักจะตายอย่างสมหวังในแทบทุกราย)   นอกจากนี้ยังขาดความรู้ในการกำหนดเป้าหมาย หรือไม่ก็มั่นใจในตัวเองมากจนเกิดความกล้าอย่างบ้าบิ่น จนทำให้พวกเขาล้มเหลว  สิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ต้องคอยเตือนอยู่ตลอดว่า รางวัลแห่งฝันมีไว้สำหรับคนที่ทำสำเร็จ ไม่ได้มีไว้มอบให้กับคนที่ล้มเหลวนะครับ 

ฉะนั้นหากต้องการได้รับรางวัลแห่งฝัน ทางเลือกที่ดีคือค่อยๆ ก้าวครับ ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนไม่ท้าทายจนเกินไป และก็ไม่ใกล้จนขนาดที่เรียกว่า หลับตาก็ยังยิงได้ถูก กลเม็ดหนึ่งที่จะทำให้เรามีกรอบคิดในการสานฝันให้เป็นจริงคือการกำหนดเป้าหมายแบบเป็นช่วงๆ และวางกรอบเวลาให้ชัดเจน  เช่นถ้าท่านต้องการจะขายน้ำพริกให้ทุกคนในประเทศนี้ได้ลิ้มลอง ก็อาจกำหนดเป้าไว้เป็น 4 เป้าหมายดังนี้ครับ เป้าหมายแรก: ทำให้คนส่วนใหญ่ในตำบลที่ท่านอาศัยอยู่ได้ลิ้มลองฝีมือน้ำพริกของท่านเป้าหมายที่สอง: ทำให้สินค้าของท่านเป็นสินค้าแห่งอำเภอที่ใครแวะมาแถบนั้นก็ต้องถามหาเป้าหมายที่สาม: ทำให้สินค้าของท่านเป็นสินค้าดังขึ้นชื่อของจังหวัด หากใครพูดถึงจังหวัดท่านอย่างน้อยก็ต้องเอ่ยชื่อน้ำพริกของท่านขึ้นมาเป้าหมายที่สี่: เป็นน้ำพริกที่มีการวางขายอยู่ทั่วประเทศ เป็นสินค้าที่ทุกครัวเรือนต้องซื้อหามารับประทานเมื่อออกไปจับจ่ายซื้อของและเพื่อให้ฝันเกิดเป็นจริงได้มากขึ้น ท่านต้องวางกรอบเวลาไว้ด้วยนะครับ เช่น เป้าหมายแรกต้องทำให้ได้ในช่วงเวลา 1 ปี และตามด้วยกรอบเวลาของเป้าหมายที่สอง สาม สี่ ตามลำดับ ถ้าท่านทำได้อย่างที่ว่านั้นก็คือท่านได้สร้างความแตกต่างของคำว่า คนขายฝันกับ คนบริหารฝันได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วละครับ  

บุริม โอทกานนท์

8 มิถุนายน 2549

 

หมายเลขบันทึก: 60713เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท